เฮวีเรน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮวีเรน
ผู้พัฒนาควอนติกดรีม
ผู้จัดจำหน่ายโซนี่คอมพิวเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์
กำกับเดวิด เคจ
อำนวยการผลิตCharles Coutier
เขียนบทเดวิด เคจ
แต่งเพลงNormand Corbeil
เครื่องเล่น
วางจำหน่ายเพลย์สเตชัน 3
  • JP: 18 February 2010
  • NA: 23 กุมภาพันธ์ 2010
  • EU: 24 กุมภาพันธ์ 2010
  • AU: 25 กุมภาพันธ์ 2010
เพลย์สเตชัน 4
  • NA: 1 มีนาคม 2016
  • PAL: 2 มีนาคม 2016
ไมโครซอฟท์ วินโดวส์
  • ทั่วโลก: 24 มิถุนายน 2019 [1]
แนวภาพยนตร์เชิงโต้ตอบ, แอ็กชันผจญภัย
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

เฮวีเรน (อังกฤษ: Heavy Rain) เป็นวิดีโอเกมแนวแอ็กชันผจญภัย[2][3] พัฒนาโดยบริษัทควอนติกดรีม และเผยแพร่โดยโซนี่คอมพิวเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์บนเพลย์สเตชัน 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกมเป็นฟิล์มนัวร์เขย่าขวัญ มีตัวละครหลัก 4 คน ที่เข้ามาพัวพันกับฆาตกรโอะริงะมิ (Origami killer) ฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารเหยื่อโดยการปล่อยให้จมน้ำฝนจนเสียชีวิต ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์กับเกมโดยกระทำกับก้านควบคุมตามสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนจอ ในบางกรณีอาจมีควิกไทม์อีเวนต์ในระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจของผู้เล่นและสิ่งที่ผู้เล่นกระทำในเกมจะส่งผลต่อการดำเนินเรื่อง ตัวละครหลักอาจเสียชีวิตได้ และการกระทำบางอย่างอาจทำให้ฉากบางฉากหรือตอนจบเปลี่ยนไป

เฮวีเรน ได้รับการตอบรับอย่างดี และชนะรางวัลเกมแห่งปีหลายรางวัล และขายได้มากกว่า 3 ล้านหน่วย[4] นอกจากนี้ ยังกำลังจะมีการสร้างภาพยนตร์จากเกม ส่วนรูปแบบที่เล่นบนเพลย์สเตชัน 4 ถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 โดยมีการพัฒนาด้านกราฟิกและความคมชัดของภาพ

รูปแบบการเล่น[แก้]

เฮวีเรน เป็น เกมแนวแอ็กชันผจญภัย ผู้เล่นต้องบังคับตัวละคร และทำให้เขาหรือเธอหยิบจับวัตถุ หรือพูดคุยกับตัวละครอื่นๆ ในฉากเพื่อดำเนินเรื่อง เกมถูกแบ่งเป็นหลายฉาก แต่ละฉากประกอบด้วยหนึ่งในตัวละครทั้งสี่ที่ผู้เล่นสามารถบังคับได้ การตัดสินใจหรือการกระทำของผู้เล่นจะส่งผลต่อเนื้อเรื่องของเกม ตัวอย่างเช่น มีความเป็นไปได้ที่ตัวละครจะเสียชีวิตหรือถูกจับและจะไม่ปรากฏในฉากต่อๆ ไปของเกม[5] ใน เฮวีเรน ไม่มีการแพ้เกมแบบทันที ทว่าเกมจะดำเนินต่อไปจบถึงจุดจบในหลายรูปแบบตามผลรวมการกระทำของผู้เล่นแม้ตัวละครบางตัวจะหายไปจากเกมแล้วก็ตาม[6] เมื่อเล่นจนจบเกมแล้ว ผู้เล่นสามารถย้อนกลับไปเล่นใหม่ และอาจเปลี่ยนเหตุการณ์ต่างๆ ในบทต่อ ๆ ไปได้

ในฉากส่วนใหญ่ ผู้เล่นสามารถบังคับตัวละครหลักโดยขยับพวกเขาไปมา และยังสามารถกดปุ่มค้างไว้เพื่อฟังความคิดของตัวละคร เมื่อผู้เล่นอยู่ใกล้วัตถุหรือตัวละครอื่นที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ จะมีสัญรูปปุ่มกดขึ้นบนหน้าจอให้ผู้เล่นเลือกสิ่งที่อยากจะทำ บางฉากอาจมีการจับเวลาทำให้ผู้เล่นต้องพยายามรีบเล่นเพื่อรักษาชีวิตของตัวละครไว้ ในฉากอื่นๆ ผู้เล่นอาจไม่สามารถบังคับตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แต่อาจต้องโต้ตอบแบบควิกไทม์อีเวนต์ เช่น ขณะต่อสู้หรือขับรถย้อนศร

นอกจากนี้ เกมยังมีระดับความยากที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ในเมนูทุกเวลา การเปลี่ยนแปลงระดับความยากจะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องในเกมโดยตรง ทว่าระดับความยากที่สูงกว่าอาจเปลี่ยนการบังคับ เช่น อาจต้องกดปุ่มมากขึ้นเพื่อให้การกระทำสำเร็จ

เนื้อเรื่อง[แก้]

ตัวละคร[แก้]

เกมมีตัวละครหลักที่บังคับได้อยู่ทั้งหมด 4 ตัวละคร ผู้เล่นสามารถบังคับครั้งละหนึ่งตัวละคร โดยสลับกันในบทต่างๆ ตัวละครในเกมถูกให้เสียง และคัดลอกรูปแบบท่าทางมาจากนักแสดงหลายคน[7] ตัวละครชายทั้งสามคนถูกออกแบบตามผู้พากย์เสียง ส่วนตัวละครหญิงออกแบบตามนางแบบมืออาชีพ โดยในบางบทของเกม ผู้เล่นอาจบังคับมากกว่าหนึ่งตัวละคร

  • อีธาน มาส์ อีธานเป็นสถาปนิก เขามีภรรยาและลูกชายสองคน สองปีก่อนลูกชายคนโตของเขาที่ชื่อว่าเจสัน เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ทำให้อีธานต้องอยู่ในสภาวะโคม่าถึงหกเดือน เมื่อตื่นมา เขามีอาการหดหู่และเศร้าโศก เขาป่วยเป็นโรคกลัวที่ชุมชนและอยู่ตัวคนเดียว ห่างเหินจากภรรยาของเขา เกรซ มาส์ และลูกชาย ชอน มาส์ ต่อมาอีธานพบว่าชอนอาจตกเป็นเหยื่อคนต่อไปของฆาตกรโอะริงะมิ เขาถูกบังคับให้ทำแบบทดสอบ 5 อย่าง (ความอันตราย การทรมาณ การทรมาณอย่างโหดร้าย การฆาตกรรม และการเสียสละ) ตัวละครนี้เล่นและพากย์เสียงตามปาสกาล แลงเดล
  • สก็อต เชลบี: เชลบี้เป็นอดีตตำรวจและทหารเรือผู้เป็นโรคหืด ปัจจุบันเขาทำงานเป็นนักสืบเอกชน และกำลังสืบสวนเกี่ยวกับฆาตกรโอะริงะมิ ในช่วงหลังของเกม เขาทำงานร่วมกับลอเรน วินเทอร์ ผู้ที่เป็นแม่ของ จอห์นนี่ วินเทอร์ หนึ่งในเหยื่อของฆาตกรโอะริงะมิ ตัวละครนี้เล่นและพากย์เสียงโดยแซม ดักลาส
  • นอร์แมน เจย์เดน (Normal Jayden): เจย์เดนเป็นผู้ทำประวัติจากสำนักงานสอบสวนกลาง และถูกส่งมาจากวอชิงตัน ดี.ซี.เพื่อช่วยกองตำรวจสืบเกี่ยวกับฆาตกรโอะริงะมิ เจย์เดนมีแว่นตาความเป็นจริงเสริม และถุงมือข้างเดียว ที่เรียกว่า อาริ (ARI)[8] หรือ "Added Reality Interface" ทำให้เขาสามารถตรวจสถานที่เกิดเหตุและวิเคราะห์หลักฐานอย่างรวดเร็ว เขายังกำลังต่อสู้กับอาการติดสารเสพติดที่ชื่อว่าทริปโตเคน (triptocaine) ที่ช่วยให้เขารับมือกับผลกระทบทางจิตเมื่อใช้อาริ ผู้ทำงานร่วมกับนอร์แมน คือ ตำรวจยศร้อยโท คาร์เตอร์ เบรก ทว่าด้วยการที่มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับฆาตกรโอะริงะมิทำให้นอร์แมนเกิดไม่ถูกกับเบรก ตัวละครนี้เล่นและพากย์เสียงโดยลีออน อ็อกเคนเดน (Leon Ockenden)
  • เมดิสัน เพจ: เมดิสันเป็นนักถ่ายภาพวารสารศาสตร์ผู้อาศัยอยู่ในเมืองเพียงลำพัง เธอมีอาการนอนไม่หลับและฝันร้ายอยู่บ่อยครั้ง เธอมักเข้าพักในโมเต็ลซึ่งเป็นที่ๆ เธอสามารถหลับสนิทได้ ในที่สุดเธอพบว่าตนเองเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรโอะริงะมิ และทำการสืบสวนด้วยตนเอง เธอยังกลายเป็นเพื่อนกับอีธาน ช่วยรักษาแผลและช่วยทำบททดสอบ มีตอนจบสองแบบที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน (หนึ่งในนั้นเป็นการอยู่อย่างมีความสุข และอีกหนึ่งแบบเป็นการอยู่กับความเศร้าโศก) ตัวละครถูกออกแบบตามแจ็กกี แอนสลี ผู้ทำการแสดงการเคลื่อนไหวในเกม ส่วนหน้าและเสียงพากย์ทำโดยจูดี บีเชอร์

นอกจากตัวละครที่บังคับได้ทั้ง 4 ตัวละครแล้ว ยังมีตัวละครอื่นๆ อีกเช่น

  • ลอเรน วินเทอร์: ลอเรนเป็นแม่ของจอห์นนี่ วินเทอร์ หนึ่งในเหยื่อของฆาตกรโอะริงะมิ เธอทำงานเป็นโสเภณี ตัวละครนี้เล่นและพากย์เสียงโดย Aurélie Bancilhon
  • พาโค แมนเดส: พาโคเป็นเจ้าของไนท์คลับที่ชื่อ บลู ลากูน และเป็นจ้าของหนึ่งในสถานที่ที่อีธานต้องผ่านบททดสอบ ตัวละครนี้เล่นและพากย์เสียงโดย เดวิด กัสแมน

ตัวละครมีความโดดเด่นขึ้น เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไป เกมส์เรดาร์ ชื่นชมบทบาทตัวร้ายของฆาตกรโอะริงะมิ และยกให้เป็นผู้ร้ายดีเด่นอันดับที่ 42 ในพ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013)[9] ในปีเดียวกัน เมดิสัน ถูกจัดอันดับให้เป็นฮีโร่หญิงในวิดีโอเกมดีเด่นโดยคอมเพล็กซ์[10]

เนื้อเรื่อง[แก้]

เกมเปิดฉากโดยมี อีธาน มาส์ กำลังใช้เวลากับครอบครัวในวันเกิดปีที่ 10 ของเจสันผู้เป็นลูกชายคนโต ขณะอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนแน่น เจสันเดินหลงไป ทำให้อีธานต้องตามหา จนพบเจสันข้างนอกที่อีกฝั่งของถนน เมื่อเห็นพ่อ เจสันวิ่งข้ามถนนกลับมาหาอีธานจนไม่ทันดูรถที่วิ่งมาด้วยความเร็ว อีธานกระโดดออกไปเพื่อช่วยเจสัน ทว่าสุดท้ายเจสันถูกรถชนจนเสียชีวิต และอีธานเองต้องตกอยู่ในสภาวะโคม่าถึงหกเดือน สองปีหลังจากอุบัติเหตุ อีธานมีอาการโศกเศร้า กลัวที่ชุมชน และบางครั้งมีอาการหมดสติไปหลายชั่วโมง เขาห่างเหินจากภรรยา และชอน ลูกชายอีกคน วันหนึ่งขณะอยู่ในสวนสาธารณะกับชอน อีธานหมดสติไป และตื่นมาพบว่าชอนหายตัวไป

ต่อมาเขาพบว่าการหายตัวไปของชอนมีความเกี่ยวเนื่องกับ 'ฆาตกรโอะริงะมิ' ฆาตกรมีรูปแบบการฆ่าโดยการลักพาตัวเด็กผู้ชายในหน้าฝน จากนั้นไม่กี่วันใน ศพของเด็กเหล่านั้นมักถูกพบในที่ลับตาคน โดยสาเหตุการตายคือการจมน้ำ มีโอะริงะมิรูปสัตว์ในมือ และกล้วยไม้บนหน้าอก นักสืบประวัติ FBI นอร์แมน เจย์เดน เข้ามาช่วยตำรวจสืบเกี่ยวกับฆาตกรโอะริงะมิ และสรุปว่าเด็กถูกขังในที่ซึ่งหากฝนตกครบ 6 นิ้ว ร่างของพวกเขาจะถูกท่วมและพวกเขาจะจมน้ำตาย พวกเขารู้ว่ามีเวลาน้อยกว่าสามวันในการช่วยชอน

อีธานกลับไปที่โมเต็ลเพื่อหลบสื่อ เขาได้รับจดหมายบอกให้ไปที่ล็อกเกอร์ และเจอกล่องรองเท้าที่มีโทรศัพท์มือถือ ปืนพก และโอะริงะมิรูปต่างๆ โทรศัพท์มือถือสั่งให้เขาทำชุดบททดสอบที่เขียนไว้บนโอะริงะมิแต่ละชิ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถทำเพื่อชอนได้แค่ไหน เมื่อทำบททดสอบแต่ละอันเสร็จ เขาจะได้รับคำใบ้ที่อยู่ของชอน บททดสอบมีระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละอัน ตั้งแต่การขับรถย้อนศรเป็นระยะทาง 5 ไมล์ในความเร็วสูงบนทางด่วน รับความเจ็บปวดทางร่างกายและการถูกไฟฟ้าช็อต ตัดส่วนหนึ้งของนิ้วตนเอง ฆ่าชายคนหนึ่ง และดื่มยาพิษ[11] ขณะทำตามบททดสอบเหล่านี้ เขาพบกับ เมดิสัน เพจ ผู้หญิงที่เป็นโรคนอนไม่หลับ และผู้ช่วยฟื้นฟูทั้งด้านจิตใจและร่างกายให้กับเขาหลังบททดสอบต่างๆ เมดิสันเริ่มสืบสวนด้วยตนเองและพยายามหาคนที่ตั้งบททดสอบเหล่านี้

เจย์เดน ผู้ที่ทำงานร่วมกับตำรวจที่ชื่อว่า คาร์เตอร์ เบรก สืบสวนผู้ต้องสงสัย 2 คน ทว่ายังไม่พบฆาตกรโอะริงะมิตัวจริง อดีตภรรยาของอีธานไปที่สถานีตำรวจเพื่อบอกตำรวจเกี่ยวกับอาการหมดสติของอีธาน ชี้ทางให้ตำรวจไปหาจิตแพทย์ของอีธาน เบรกมั่นใจว่าอีธาน คือ ฆาตกรโอะริงะมิ ส่วนเจย์เดนยังคงพยายามหาหลักฐานเพื่อบอกว่าอีธานบริสุทธิ์ ระหว่างเหตุการณ์เหล่านี้ สก็อต เชลบี้ เข้าเยี่ยมผู้ปกครองของเหยื่อเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับฆาตกรโอะริงะมิ และได้หลักฐานหลายชิ้นเกี่ยวกับฆาตกร หนึ่งในผู้ปกครอง ลอเรน วินเทอร์ ยืนยันจะช่วยเขาสืบสวน พวกเขาหลงผิดและเชื่อว่าเพล์บอยหนุ่มคนหนึ่งเป็นฆาตกร และยังถูกขู่ให้เลิกสืบสวนโดยพ่อของเพล์บอยหนุ่ม[11]

ฉากจบ[แก้]

ขณะใกล้ถึงจุดจบของเกม ผู้เล่นบังคับเด็กคนหนึ่ง 34 ปีก่อน เขาและแฝดชาย จอห์น เชพเพิร์ด กำลังเล่นในเขตก่อสร้าง จากนั้นจอห์นตกลงไปในท่อระบายน้ำซึ่งแตก และตะโกนขอความช่วยเหลือ เมื่อฝาแฝดของเขาพบตัว กลับไม่สามารถดึงตัวจอห์นขึ้นมาได้เนื่องจากขาของเขาติดอยู่กับท่อ ด้วยฝนที่ตกหนักและท่อที่มีน้ำขังอยู่เกือบเต็ม จอห์นกำลังจะจมน้ำต่อหน้าฝาแฝดของเขา ภาพในอดีตจบลงเท่านี้ โดยธรรมชาติ ผู้เล่นสันนิษฐานว่าแฝดชายของจอห์นเป็นฆาตกรโอะริงะมิ ต่อมาภาพในอดีตกลับมาอีกครั้ง และเผยว่าฝาแฝดของจอห์นวิ่งไปหาพ่อเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ด้วยความเมา พ่อของเขาไม่เชื่อและไม่สนใจ จนทำให้เด็กชายต้องกลับไปหาฝาแฝดและมองดูเขาจมน้ำจนเสียชีวิต สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจให้ฆาตกรโอะริงะมิลักพาตัวเด็กและพยายามให้พ่อมาช่วยชีวิตพวกเขา เพื่อหาพ่อที่ทำทุกอย่างได้เพื่อลูก ฝาแฝดของจอห์นถูกเปิดเผยว่าคือ สก็อต เชลบี้ หรือ ชื่อเก่าคือ สก็อต เชพเพิร์ด การกระทำของเชลบี้ในเกมนั้นไม่ได้เพื่อสืบสวนหาฆาตกร แต่เพื่อหาหลักฐานและทำลายเพื่อให้ไม่สามารถสืบมาที่ตัวเขาได้

บทสุดท้ายของเกม โกดังเก่า เป็นฉากสำคัญที่ชี้ฉากจบ ตัวละครทั้งสาม (อีธาน เมดิสัน และนอร์แมน) ต่างได้รับหลักฐานซึ่งชี้ทางสู่โกดัง ช่วยชอน และสู้กับฆาตกรโอะริงะมิ (สก็อต) ฉากนี้ดำเนินได้ถึง 8 แบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น หากอีธานไปคนเดียว เขาจะช่วยชอน แล้วฆ่าหรือไว้ชีวิตสก็อต ทว่าจะโดนยิงโดยตำรวจเมื่อเดินออกจากโกดัง หากตัวละครทั้งสามไปที่โกดัง อีธานจะช่วยชอน นอร์แมนจะสู้กับฆาตกรโอะริงะมิ และเมดิสันจะเตือนชอนเกี่ยวกับตำรวจด้านนอก หลังบทนี้จะมีฉากจบ 5 ส่วน ประกอบด้วย รายงานข่าว และฉากจบของแต่ละตัวละคร ฉากจบของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การที่ฆาตกรโอะริงะมิถูกจับกุม, การที่ ชอน มาส์ ได้รับการช่วยเหลือ, และการที่แต่ละตัวละครมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว ตัวอย่างเช่น ในฉากจบที่ดีที่สุด อีธาน เมดิสัน และชอนใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข สก็อตเสียชีวิต นอร์แมนลาออกจาก FBI และใช้ชีวิตเรียบง่าย ส่วนลอเรนกำลังสาปแช่งที่หลุมศพของสก็อต ในฉากจบที่แย่ที่สุด อีธานแขวนคอตายในคุก ส่วนเมดิสัน ลอเรน และนอร์แมน เสียชีวิต และสก็อตรอดจากคดีทั้งหมด

รางวัล[แก้]

เกียรติคุณ รางวัล ผู้จัด
นวัตกรรมทางเทคนิค บริติชอะคาเดมีวิดีโอเกมส์อะวอดส์ ครั้งที่ 7[12] รางวัลแบฟตา
เพลงประกอบ
เนื้อเรื่อง
ความสำเร็จโดดเด่นในด้านวิศวกรรมภาพ อินเตอร์แอกทิฟอะชีฟเมนต์อะวอดส์ 2011[13] เอไอเอเอส
นวัตกรรมเกมดีเด่น
เพลงประกอบดีเด่น
เกมผจญภัยแห่งปี[14] เกมแห่งปี 2010 เกมสปาย
เกมเพลย์สเตชัน 3 แห่งปี[15]
เกมเพลย์สเตชัน 3 แห่งปี[16] เกมแห่งปี 2010 ไอจีเอ็น

อ้างอิง[แก้]

  1. Sarkar, Samit (20 March 2019). "Detroit: Become Human, Heavy Rain, Beyond: Two Souls coming to PC this year". Polygon.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. Stuart, Keith (21 March 2011). "Heavy Rain creator: I am fed up with space marines! | The Guardian". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  3. "Heavy Rain is 'interactive drama' – Sony". สืบค้นเมื่อ 19 February 2008.
  4. "Heavy Rain tops 3 million sales". 19 August 2013. สืบค้นเมื่อ 7 November 2014.
  5. Heavy Rain Hands-On: Meeting Mad Jack. Shacknews. 3 June 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-07. สืบค้นเมื่อ 4 June 2009.
  6. Heavy Rain Preview for the PS3 from 1UP. 1UP.com. 22 May 2009. สืบค้นเมื่อ 14 June 2009.
  7. Reality blurs between Heavy Rain characters and actors. arstechnica. 17 February 2010. สืบค้นเมื่อ 17 February 2010.
  8. Heavy Rain. Sony Computer Entertainment / Quantic Dream. 2009. p. 9.
  9. "100 best villains in video games". GamesRadar. 17 May 2013. สืบค้นเมื่อ 21 June 2013.
  10. Rougeau, Michael (4 March 2013). "50 Greatest Heroines in Video Game History". Complex. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-04. สืบค้นเมื่อ 24 March 2013.
  11. 11.0 11.1 Post, Emily (14 April 2010). "Analysis: Heavy Rain's Storytelling Gaps". Gamasutra. สืบค้นเมื่อ 14 April 2010.
  12. Fred Dutton (16 March 2011). "Gaming BAFTA winners revealed News – - Page 1". Eurogamer.net. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  13. Academy of Interactive Arts & Sciences (1 April 2015). "14th Annual Interactive Achievement Awards". interactive.org.
  14. "Game of the Year 2010 – Adventure Game of the Year". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-08. สืบค้นเมื่อ 24 December 2010.
  15. "Game of the Year 2010 – PlayStation 3 Game of the Year". GameSpy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-09. สืบค้นเมื่อ 15 December 2010.
  16. "Game of the Year 2010 – PlayStation 3 Game of the Year". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-13. สืบค้นเมื่อ 15 December 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]