เอ็กเบิร์ต กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอ็กเบิร์ต
ภาพวาดของเอ็กเบิร์ตจากพงศาวดารวงศ์วานของกษัตริย์อังกฤษ ปลายศตวรรษที่ 13 ต้นฉบับอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติของอังกฤษ
กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
ครองราชย์ค.ศ.802 – 839
ก่อนหน้าบอร์นธริค
ถัดไปเอเธลวูล์ฟ
กษัตริย์แห่งเคนต์
ครองราชย์ค.ศ.825 – 839
ก่อนหน้าบาลด์เร็ด
ถัดไปเอเธลวูล์ฟ
ประสูติราวค.ศ.770-780
สวรรคตค.ศ.839 (อายุ 69-79 ปี)
ฝังพระศพวินเชสเตอร์
ชายาเร็ดเบลก้าแห่งฟรานเซีย
พระราชบุตรเอเธล์วูลฟ์ กษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์
ราชวงศ์เวสเซ็กซ์
พระราชบิดาเอลมุนด์แห่งเคนต์

เอ็กเบิร์ต (อังกฤษ: Egbert, อังกฤษเก่า: Ecgberht) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอังกฤษ รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งในยุคนั้นอังกฤษเป็นดินแดนที่ประกอบด้วยราชอาณาจักรเล็กๆ จำนวนมากมายและกำลังถูกชาวนอร์สโจมตี พระองค์เป็นกษัตริย์คนแรกที่รวมราชอาณาจักรเล็กๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันทำให้ได้รับการขนานนามว่า "เบร็ตวัลดา (bretwalda)" หรือ "ผู้ปกครองในวงกว้าง" ของดินแดนแองโกล-แซกซัน

พระองค์มีเชื้อสายของกษัตริย์แองโกล-แซกซันและปกครองเวสเซ็กซ์มาก่อนตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 802 ซึ่งพระองค์ได้ประกาศตัวเป็นกษัตริย์ของชาวเวสเซ็กซ์ (หรือชาวแซกซันตะวันตก) ในปี ค.ศ. 827 พระองค์พิชิตเมอร์เซีย, นอร์ธัมเบรีย, เคนต์, ซัสเซ็กซ์, เซอร์รีย์ และเวลส์ ดินแดนทั้งหมดของพระองค์ถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นอาณาเขตของอังกฤษทั้งหมด ต่อมาพระองค์ได้ทำสงครามกับผู้รุกรานชาวไวกิงแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการขับไล่ผู้รุกรานออกไปอย่างถาวร

วัยเยาว์และการขึ้นมาเรืองอำนาจ[แก้]

เอ็กเบิร์ตน่าจะประสูติในเคนต์ในราวปี ค.ศ. 771 ถึง ค.ศ. 775 ตามพงศาวดารแองโกล-แซกซันทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าอีล์มันด์แห่งเคนต์ "ผู้ปกครองราชอาณาจักรในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงปี ค.ศ. 784 ถึง ค.ศ. 785" ทว่านักวิชาการยุคใหม่แย้งว่าพระองค์น่าจะชาวเวสเซ็กซ์มากกว่าชาวเคนต์ พงศาวดารแองโกล-แซกซันได้ไล่สายตระกูลและอ้างว่าบรรพบุรุษของพระองค์คือพระเจ้าเซอร์ดิก ปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 519 – 540) ทว่าพงศาวลีวิทยาในยุคต่อมาสันนิษฐานว่าพงศาวดารฉบับนี้น่าจะเขียนขึ้นตามคำกล่าวอ้างของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตที่ต้องการสร้างอำนาจให้กับการเป็นกษัตริย์ของตนเองจึงเชื่อถือไม่ได้

หากเอ็กเบิร์ตเป็นชาวเคนต์ พระองค์น่าจะเติบโตในยุคที่เมอร์เซียกำลังครองความเป็นใหญ่เหนือราชอาณาจักรและได้ตั้งอนุกษัตริย์ขึ้นมาปกครองเคนต์โดยมีเมอร์เซียชักใยอยู่เบื้องหลัง ในปี ค.ศ. 786 พระเจ้าซีนวูล์ฟแห่งเวสเซ็กซ์เสด็จสวรรคต เบออร์ทริก ขุนนางเวสเซ็กซ์ได้อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์โดยมีเอ็กเบิร์ตเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง (จึงทำให้มีคนแย้งว่าพระองค์น่าจะเป็นชาวเวสเซ็กซ์) พระเจ้าออฟฟาแห่งเมอร์เซียให้การหนุนหลังเบออร์ทริกและได้ผนึกข้อตกลงกับเวสเซ็กซ์ด้วยการให้อีดเบอร์ พระราชธิดาของพระองค์สมรสกับพระเจ้าเบออร์ทริก เอ็กเบิร์ตถูกขับไล่ออกจากดินแดนและหนีไปราชอาณาจักรแฟรงก์

ในตอนนั้นราชอาณาจักรแฟรงก์รวมตัวกันเป็นจักรวรรดิที่เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ จักรพรรดิได้ให้การคุ้มครองเอ็กเบิร์ต พระเจ้าออฟฟาสวรรคตในปี ค.ศ. 796 และเมื่อพระเจ้าเบออร์ทริกสวรรคตในปี ค.ศ. 802 เอ็กเบิร์ตได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อสืบทอดตำแหน่งต่อ แม้ผู้ปกครองของเมอร์เซีย ดินแดนเพื่อนบ้านจะพยายามขัดขวางไม่ให้พระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์ แต่จักรพรรดิชาร์เลอมาญน่าจะหนุนหลังเอ็กเบิร์ตจนทำให้พระองค์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเวสเซ็กซ์

ในช่วงเอ็กเบิร์ตอยู่ในราชอาณาจักรแฟรงก์ มีบันทึกว่าพระองค์ได้สมรสกับเจ้าหญิงชาวแฟรงก์นามว่าเรดเบอร์กาที่เชื่อกันว่าเป็นพี่น้องของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน เป็นบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน

การรวบรวมอังกฤษ[แก้]

แผนที่ดินแดนอังกฤษที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเอ็กเบิร์ต

20 ปีแรกของการครองราชย์ของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตแทบไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ พระองค์น่าจะประกาศเอกราชให้เวสเซ็กซ์ได้ (ก่อนหน้านี้เวสเซ็กซ์อยู่ภายใต้การปกครองของเมอร์เซีย) ในปี ค.ศ. 815 พระเจ้าเอ็กเบิร์ตไปนำทัพไปพิชิตแคว้นดุมโนเนีย (ปัจจุบันคือคอร์นวอลล์) ดินแดนของชาวเคลต์และชาวบริตันที่ตั้งอยู่บนพรมแดนทางตะวันตก ในปี ค.ศ. 821 พระเจ้าเซนวูล์ฟแห่งเมอร์เซียสวรรคต พระเจ้าเซออล์วูล์ฟที่ 1 พระอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อแต่ถูกเบออร์นวูล์ฟ ขุนนางเมอร์เซียปลดออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันกองทัพของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตได้รับชัยชนะที่สมรภูมิเอลแลนดุน ชัยชนะครั้งนี้ทำให้เมอร์เซียเสื่อมความยิ่งใหญ่

พงศาวดารกล่าวว่าในปี ค.ศ. 825 พระเจ้าเอ็กเบิร์ดได้ส่งเอเธล์วูล์ฟ พระราชโอรสไปเคนต์ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของเมอร์เซีย เพื่อถอดพระเจ้าบอลด์เร็ด อนุกษัตริย์แห่งเคนต์ที่อยู่ภายใต้กษัตริย์แห่งเมอร์เซียออกจากตำแหน่ง หลังพระเจ้าบอลด์เร็ดหนีไป พระเจ้าเอ็กเบิร์ตได้อ้างตนปกครองเคนต์ในฐานะเจ้าเหนือหัวและตั้งเอเธล์วูล์ฟเป็นอนุกษัตริย์แห่งเคนต์ ต่อมาทั้งเอสเซ็กซ์, ซัสเซ็กซ์ และเซอร์รีย์ต่างตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์เช่นกัน เอเธล์วูล์ฟถูกตั้งเป็นอนุกษัตริย์ปกครองดินแดนทั้งสามเช่นเดียวกับเคนต์

พระเจ้าเอ็กเบิร์ตเดินหน้าขยายอาณาจักรต่อไปโดยแย่งชิงดินแดนมาจากเมอร์เซีย ชาวอีสต์แองเกลีย (หรือชาวแองเกิลตะวันออก) ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าเบออร์นวูล์ฟแห่งเมอร์เซียที่พยายามจะกลับมาเป็นเจ้าเหนือหัวของอีสต์แองเกลียอีกครั้ง ชาวอีสต์แองเกลียได้ร้องขอการคุ้มครองจากพระเจ้าเอ็กเบิร์ต พระเจ้าเอ็กเบิร์ตตอบรับคำขอ พระเจ้าเบออร์นวูล์ฟสวรรคตในสงครามที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น วิกลาฟได้รับเลือกเป็นผู้นำของเมอร์เซียในปี ค.ศ. 829 แต่พระเจ้าเอ็กเบิร์ตรีบเข้าโจมตีและขับไล่เขาออกไปจากดินแดน ในปีเดียวกันพระเจ้าเอ็กเบิร์ตได้พิชิตนอร์ธัมเบรีย ทำให้พระองค์ปกครองทั้งอังกฤษและประกาศตัวเป็นเบร็ตวัลดา ทรงเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่ปกครองอังกฤษที่รวมเป็นหนึ่งเดียว

ในปี ค.ศ. 830 พระเจ้าเอ็กเบิร์ตเสียเมอร์เซียไปเมื่อพระเจ้าวิกลาฟกลับมาครองบัลลังก์เมอร์เซีย สาเหตุที่เมอร์เซียกลับมายืนหยัดได้มีหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่เข้าเค้าที่สุดคือจักรวรรดิการอแล็งเฌียงของชาวแฟรงก์เลิกหนุนหลังเวสเซ็กซ์เนื่องจะประสบปัญหาภายในครั้งใหญ่หลังจักรพรรดิชาร์เลอมาญสวรรคตและจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธา พระราชโอรสของพระองค์ขึ้นสืบทอดบัลลังก์ต่อ

การรุกรานของชาวไวกิง[แก้]

ผู้รุกรานชาวไวกิงจากเดนมาร์กและนอร์เวย์เริ่มโจมตีอังกฤษในปี ค.ศ. 793 พงศาวดารแองโกล-แซกซันบรรยายถึงช่วงเริ่มต้นของการรุกรานว่า

"ในปีนี้ได้เกิดลางร้ายขึ้นในนอร์ธัมเบรียทำให้ผู้คนหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เกิดพายุหมุนขนาดมหึมาพร้อมฟ้าแล่บและมังกรไฟบินว่อนอยู่ในอากาศ หลังการอุบัติของสัญญาณดังกล่าวได้เกิดทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ขึ้นทันที และไม่นานนักในปีเดียวกัน ในวันที่ 8 มิถุนายน พวกนอกรีตได้ทำลายล้างผลาญโบสถ์ของพระเจ้าในลินดิส์ฟาร์นอย่างน่าสังเวช ทั้งปล้นสะดมและสังหารผู้คน"

การโจมตีของชาวไวกิงดำเนินต่อไปและสร้างความหวาดกลัวมากขึ้นในช่วงปีท้ายๆ ของรัชสมัยของพระเจ้าเอ็กเบิร์ต ในปี ค.ศ. 836 ชาวเดนส์รุกรานชาร์เมาธ์ (ปัจจุบันคือย่านคาแรมตันในมณฑลซัมเมอร์เซต) พระเจ้าเอ็กเบิร์ตนำทัพต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานได้สำเร็จ นับเป็นชัยชนะเหนือผู้รุกรานชาวไวกิงครั้งสำคัญ ชาวเคลต์ในเดวอนและคอร์นวอลล์ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับชาวเดนส์ กองทัพพันธมิตรกับกองทัพของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตเผชิญหน้ากันที่สมรภูมิฮิงสตันดาวน์ กองกำลังของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตเอาชนะกองทัพศัตรูได้

การสวรรคต[แก้]

ป้ายหลุมฝังศพในอาสนวิหารวินเชสเตอร์ในวินเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่มีกระดูกของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตแห่งเวสเซ็กซ์ติดอยู่

ในปี ค.ศ. 839 พระเจ้าเอ็กเบิร์ตสวรรคตด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ เอเธล์วูล์ฟ พระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งโดยไร้ผู้คัดค้านเนื่องจากพระองค์มีคริสตจักรให้การหนุนหลัง

ร่างของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตถูกฝังที่วินเชสเตอร์ หลังการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันได้มีการสร้างอาสนวิหารวินเชสเตอร์ กระดูกของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตถูกขุดขึ้นมาและนำไปฝังบริเวณแท่นบูชานักบุญสวิธินในโบสถ์ ในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทหารของครอมเวลล์ใช้กระดูกของพระเจ้าเอ็กเบิร์ตพังหน้าต่างกระจกย้อมสีของอาสนวิหาร กระดูกเปื้อนติดป้ายหลุมฝังศพของกษัตริย์ราชวงศ์แองโกล-แซกซันคนอื่นๆ ป้ายหลุมศพของบิชอป และป้ายหลุมศพของพระเจ้าวิลเลียมรูฟัส กษัตริย์ราชวงศ์นอร์มัน นักโบราณคดีได้เข้าตรวจสอบซากที่ติดอยู่บนป้าย

อ้างอิง[แก้]