ข้ามไปเนื้อหา

เอลโดราโด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แพมูอิสกา หรือ แพทองแห่งเอลโดราโด (ค.ศ. 1295–1410) ซึ่งแสดงภาพ ซีปา (ผู้ปกครอง) ที่ทาตัวด้วยฝุ่นทอง ล่องแพไปกลางทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะทำพิธีเซ่นเทพแห่งทะเลสาบด้วยเครื่องทองและลงไปชำระกายในทะเลสาบ[1]

เอลโดราโด (สเปน: El Dorado; ภาษาสเปน: [el doˈɾaðo], ภาษาอังกฤษ: /ˌɛl dəˈrɑːd/) เป็นนครทองคำในตำนานที่เชื่อว่าอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ตำนานกล่าวว่ากษัตริย์ของเมืองนี้มั่งคั่งมากจนใช้ฝุ่นทองทาตัวทุกวันหรือเนื่องในโอกาสพิเศษ ก่อนที่จะล่องแพไปยังกลางทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำพิธีเซ่นให้แก่เทพแห่งทะเลสาบและล้างตัวที่นั่น[2] ผู้ตั้งอาณานิคมชาวสเปนเป็นผู้บันทึกเรื่องราวนี้ครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเรียกกษัตริย์ว่า "เอลโดราโด" หรือ "ผู้ที่เป็นทองคำ" ในภาษาสเปน ก่อนที่คำนี้จะกลายมาเป็นชื่อของเมืองทองคำในตำนาน[3]

ไม่ทราบแน่ชัดว่าตำนานเอลโดราโดมีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่เชื่อกันว่าอาจได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมมูอิสกา ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงแถบเทือกเขาแอนดีสในประเทศโคลอมเบียปัจจุบัน[4] ชาวมูอิสกามีความสามารถในงานช่างทอง พวกเขาทำเครื่องทองเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา และยังผลิตเครื่องประดับและอัญมณีสำหรับค้าขายกับชนเผ่าใกล้เคียง[5] ต่อมาผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปยุคแรกที่กำลังค้นหาที่มาของทองที่พวกเขาพบจากชนเผ่าอาศัยในที่ราบพยายามเดินทางมาที่ที่ราบสูงแห่งนี้หลายครั้ง ใน ค.ศ. 1537 กอนซาโล ฆิเมเนซ เด เกซาดา นักสำรวจและกองกิสตาดอร์ชาวสเปนนำกำลังพิชิตชาวมูอิสกา และปล้นชิงเครื่องทองจำนวนมากจากพระราชวังและศาสนสถานของพวกเขา[6]

ไม่นานหลังจากนั้น ตำนานเอลโดราโดเริ่มแพร่กระจายไปยังบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป มีความพยายามในการค้นหานครแห่งนี้หลายต่อหลายแห่งทั่วทั้งทวีปในทศวรรษต่อมา อันโตนีโอ เด แบร์ริโอ ผู้สืบทอดการสำรวจของเกซาดาเชื่อว่าเอลโดราโดตั้งอยู่ในกีอานา ภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เขาพยายามสำรวจที่สูงแถบนั้นหลายครั้ง ก่อนจะถูกวอลเตอร์ รอลีห์ นักสำรวจชาวอังกฤษที่ทำการสำรวจกีอานาเช่นกันจับกุมใน ค.ศ. 1595[7]

รอลีห์เองก็ประสบความล้มเหลวในการค้นหาเอลโดราโดเช่นกัน แต่เขากลับบรรยายถึงความสำเร็จในการสำรวจครั้งนี้อย่างเกินจริงในหนังสือ The Discovery of Guiana (ค.ศ. 1596) ซึ่งมีส่วนในการขยายตำนานนี้[8] ต่อมาลอว์เรนซ์ คีมิส ผู้ช่วยของรอลีห์ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับทะเลสาบปาริเม ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเอลโดราโด[9] จึงทำการค้นหาทะเลสาบแห่งนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่ถูกสำรวจอย่างละเอียดมากขึ้น จึงเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีอยู่ของทะเลสาบปาริเมมากขึ้น จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ นักภูมิศาสตร์และนักสำรวจชาวเยอรมันได้สรุปว่าทะเลสาบปาริเมเป็นเพียงตำนาน ทำให้ความเชื่อเรื่องเอลโดราโดสิ้นสุดลง[10]

อย่างไรก็ดี เรื่องราวของเอลโดราโดได้สร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ยาวนาน ความลึกลับเกี่ยวกับนครที่สาบสูญและความร่ำรวยของชาวเมืองเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุคของวอลแตร์ นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเรื่องนี้ในนวนิยาย ก็องดีด (ค.ศ. 1759)[11] การค้นหาเอลโดราโดยังเป็นแก่นของสื่อยุคหลังอย่างภาพยนตร์ ผจญภัยแดนมหัศจรรย์ เอลโดราโด้ (ค.ศ. 2000) แพดดิงตัน คุณหมีผจญภัยป่าอะเมซอน (ค.ศ. 2024) และวิดีโอเกม อันชาร์ทิด: เดรกส์ฟอร์ชูน (ค.ศ. 2007)[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. King 2002, p. 25.
  2. Drye, Willie (March 1, 2021). "El Dorado". National Geographic. สืบค้นเมื่อ February 26, 2025.
  3. Cooper, Jago (January 14, 2013). "El Dorado: The truth behind the myth". BBC. สืบค้นเมื่อ February 26, 2025.
  4. Cartwright, Mark (July 6, 2015). "Muisca Civilization". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ February 26, 2025.
  5. Ocampo López, 2007, p.214
  6. (ในภาษาสเปน) Las sociedades indígenas de los LlanosBanco de la República
  7. Nicholl 1995, p. 97.
  8. Marley, p. 132.
  9. Marc Aronson, Sir Walter Ralegh and the Quest for El Dorado, Houghton Mifflin Harcourt, 2000. ISBN 039584827X
  10. Burnett 2000, p. 36.
  11. McNamee, Gregory Lewis (November 14, 2023). "Candide - Introduction & Summary". Britannica. สืบค้นเมื่อ February 26, 2025.
  12. Jakobsson & Ojeda-Ramirez 2024, p. 3.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]