เอลีซาเบตาแห่งบอสเนีย
เอลีซาเบตาแห่งบอสเนีย | |
---|---|
ขณะทรงถูกจองจำกับพระราชธิดา ภาพวาดตามจินตนาการของโซมา ออร์ไล เพทริช | |
สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีและโครเอเชีย | |
ดำรงพระยศ | 20 มิถุนายน ค.ศ. 1353 – 10 กันยายน ค.ศ. 1382 |
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์ | |
ดำรงพระยศ | 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1370 – 10 กันยายน ค.ศ. 1382 |
พระราชสมภพ | ราว ค.ศ. 1339 |
สวรรคต | มกราคม ค.ศ. 1387 (ราว 48 พรรษา) ณ ปราสาทนอวิการ์ด นอวิการ์ด ราชอาณาจักรโครเอเชีย |
คู่อภิเษก | พระเจ้าลาโยสที่ 1 แห่งฮังการี |
พระราชบุตร | เจ้าหญิงแคทเทอรีน สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งฮังการี สมเด็จพระราชินีนาถยัดวีกาแห่งโปแลนด์ |
ราชวงศ์ | คอโตรมานิค(โดยประสูติ) อ็องฌู (โดยการอภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | สตีเฟนที่ 2 บานแห่งบอสเนีย |
พระราชมารดา | เอลิซาเบธแห่งคูยาเวีย |
เอลีซาเบตาแห่งบอสเนีย[1] (ราวค.ศ. 1339 – มกราคม ค.ศ. 1387) เป็นสมเด็จพระราชินีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งราชอาณาจักรฮังการีและราชอาณาจักรโครเอเชีย และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์ เป็นพระธิดาในบานสตีเฟนที่ 2 แห่งบาเนทบอสเนีย เอลิซาเบธอภิเษกสมรสกับพระเจ้าลาโยสที่ 1 แห่งฮังการีในปี ค.ศ. 1353 ในปี ค.ศ. 1370 พระนางทรงมีพระประสูติกาล เจ้าหญิงแคทเทอรีน ทายาทองค์แรกหลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน และพระนางทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ต่อจาก พระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระมาตุลา ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาอีกสององค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแมรี และเจ้าหญิงยัดวีกา แต่เจ้าหญิงแคทเทอรีนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1378 ในช่วงต้นเป็นพระมเหสีที่ไร้อำนาจและไม่มีอิทธิพลมากมาย ต่อมาพระนางเอลีซาเบตาทรงแวดล้อมไปด้วยขุนนางที่จงรักภักดี นำโดยคนโปรดของพระนาง คือ นิโคลัสที่ 1 การาย เมื่อพระเจ้าลาโยสที่ 1 สวรรคตในปี ค.ศ. 1382 เจ้าหญิงแมรีทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์ฮังการี และพระนางเอลีซาเบตาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการที่ไม่สามารถรักษารัฐร่วมประมุขของสหภาพฮังการีและโปแลนด์ได้ สมเด็จพระพันปีหลวงจึงทรงรักษาราชบัลลังก์โปแลนด์ให้แก่เจ้าหญิงยัดวีกา พระราชธิดาองค์สุดท้อง
ในระหว่างทรงสำเร็จราชการในฮังการี สมเด็จพระพันปีหลวงเอลีซาเบตาทรงต้องเผชิญกับการกบฏหลายครั้งนำโดย จอห์น ฮอร์วัตและจอห์นแห่งปาลิสนา ซึ่งพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากรัชสมัยที่ไม่มั่นคงของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ในปี ค.ศ. 1385 ทั้งสองเชิญพระเจ้าคาร์โลที่ 3 แห่งนาโปลีมาเพื่อปลดสมเด็จพระราชินีนาถแมรีออกจากราชบัลลังก์และขึ้นสืบบัลลังก์แทน สมเด็จพระพันปีหลวงเอลีซาเบตาทรงตอบโต้ด้วยการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าคาร์โลหลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกผ่านไปสองเดือน ในปี ค.ศ. 1386 พระนางทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์ของพระราชธิดาอีกครั้ง แต่ทรงถูกจับกุม จองจำและท้ายที่สุดทรงถูกปลงพระชนม์ด้วยการบีบพระศอโดยศัตรูของพระนาง
เชื้อสายและช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เอลิซาเบธประสูติราวปี ค.ศ. 1339 เป็นพระราชธิดาในสตีเฟนที่ 2 บานแห่งบอสเนีย ประมุขราชวงศ์คอโตรมานิค[2] พระราชมารดาของพระนางคือ เอลิซาเบธแห่งคูยาเวีย ซึ่งเป็นสมาชิกราชวงศ์เพียส[3]และเป็นพระนัดดาในพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์[4] สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งฮังการี คือ พระนางเอลิซาเบธแห่งโปแลนด์ เป็นพระญาติชั้นหนึ่งของพระราชมารดาในเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย หลังจากพระสุนิสาของพระพันปีหลวงคือ สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตสิ้นพระชนม์จากเหตุการณ์แบล็กเดทในปี ค.ศ. 1349[5] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงสนพระทัยในพระญาติสาวของพระนาง ซึ่งทรงวางแผนที่จะจับคู่กับพระโอรสซึ่งเป็นม่ายและยังไร้รัชทายาทของพระนาง คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการี พระนางทรงยืนกรานในทันทีที่จะให้นำเอลิซาเบธมายังราชสำนักของพระนางในวีเซกราดเพื่อพระนางจะทรงอุปถัมภ์ ถึงแม้ว่าพระบิดาของเอลิซาเบธจะไม่เต็มพระทัย แต่อย่างไรก็ตามเอลิซาเบธก็ทรงมายังราชสำนักของพระพันปีหลวง[6]
ในปี ค.ศ. 1350 พระเจ้าซาร์สเตฟาน ยูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียทรงยกทัพโจมตีบอสเนียเพื่อยึดดินแดนซัคลูเมียคืน แต่การรุกรานไม่ประสบความสำเร็จ และพระเจ้าซาร์ทรงพยายามเจรจาสงบศึก ซึ่งได้มีเนื้อหาจัดแจงการสมรสให้เอลิซาเบธเสกสมรสกับพระโอรสและรัชทายาทของพระองค์ คือ เจ้าชายสเตฟาน ยูรอส มาฟโร ออร์บินี ซึ่งมั่นใจว่าการเจรจานี้ "เป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง" โดยเขาบันทึกว่า พระเจ้าซาร์ทรงคาดหวังว่า แคว้นซัคลูเมียจะถูกรวมอยู่ในสินสอด (ให้แก่ฝ่ายชาย) ของเอลิซาเบธ ซึ่งพระบิดาของเอลิซาเบธปฏิเสธข้อเสนอ[7] หลังจากนั้นเอลิซาเบธทำการหมั้นกับพระเจ้าหลุยส์ซึ่งมีพระชนมายุ 24 พรรษา อย่างเป็นทางการ[8] ผู้ทรงหวังจะตอบโต้นโยบายขยายดินแดนของพระเจ้าซาร์สเตฟาน โดยทรงได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาของเอลิซาเบธ หรือทั้งการมี "รัชทายาทของพระองค์ในที่สุด" ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ออสการ์ ฮาเลคกี
อภิเษกสมรส
[แก้]เอลิซาเบธทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ซึ่งมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองในบูดอ วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1353[9] ทั้งสองพระองค์ทรงความสัมพันธ์ในระดับที่ต้องห้ามสำหรับเครือญาติ ดยุกเครซิเมียร์ที่ 1 แห่งคูยาเวีย มีศักดิ์เป็นพระบิดาของพระปัยกาฝ่ายพระมารดาของเอลิซาเบธ และมีศักดิ์เป็นพระปัยกาของพระเจ้าหลุยส์ กฎหมายการงดเว้นของพระสันตะปาปาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันเป็นเพียงความพยายามที่เกิดขึ้นในสี่เดือนหลังจากการอภิเษกสมรสผ่านพ้นไปแล้ว อีวาน เบอเตนยี นักประวัติศาสตร์ เสนอว่า พระราชพิธีอาจจะถูกเร่งรัดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ติดต่อพบปะกันมาเป็นเวลานานหลายปี ถ้าเป็นเช่นนั้นการที่ทรงพระครรภ์ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงโดยทารกตายคลอด[10] พระมารดาของพระราชินีเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ไปแล้วในช่วงที่พระนางอภิเษกสมรส[11] พระเจ้าหลุยส์ทรงตกพระทัยเมื่อพระสัสสุระของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ทวตโก คอโตรมานิค พระญาติหนุ่มผู้ทะเยอทะยานของพระนางเอลิซาเบธขึ้นสืบบัลลังก์บานแห่งบอสเนีย[12] ในปี ค.ศ. 1357 พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกตัวองค์บานหนุ่มมายังพอเซกา ทรงบังคับให้พระองค์ยอมจำนนและมอบซัคลูเมียตะวันตกในฐานะสินสมรสของพระนางเอลิซาเบธ[2][13]
พระราชินีพระองค์ใหม่แห่งฮังการีและโครเอเชียทรงอยู่ภายใต้การควบคุมของ พระพันปีหลวงเอลิซาเบธแห่งโปแลนด์ พระราชชนนี ผู้เป็นพระสัสสุ เป็นความจริงที่ว่าข้าราชบริพารของพระราชินีนั้นเป็นข้าราชบริพารกลุ่มเดียวกันกับที่ถวายการรับใช้พระราชชนนี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพระราชินีเอลิซาเบธแห่งบอสเนียไม่ได้ทรงมีราชสำนักเป็นของพระนางเอง อิทธิพลของพระสัสสุทรงมีเด่นชัดจนกระทั่ง ค.ศ. 1370 เมื่อพระจเหลุยส์ทรงสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ต่อจากพระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระมาตุลา ดังนั้นพระองค์จึงมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์โปแลนด์[5] พระมาตุลาของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธคือ วลาดิสเลาสเดอะไวท์ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งราชบัลลังก์โปแลนด์[14] หลังจากพระเจ้าหลุยส์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในโปแลนด์ พระเจ้าหลุยส์ทรงนำพระราชธิดาของพระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 ซึ่งยังทรงพระเยาว์ คือ เจ้าหญิงแอนน์และเจ้าหญิงเฮกวิก ให้มาอยู่ภายใต้การอบรมอภิบาลโดยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แม้ว่าพระนางเอลิซาเบธจะเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์[15] แต่พระนางก็ไม่ทรงเคยสวมมงกุฎ[16]
ปัญหาการสืบราชบัลลังก์เป็นปัญหาตลอดรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงถูกพิจารณาว่าเป็นหมันมาเป็นเวลานาน และมีการคาดว่าวิกฤคการสืบราชบัลลังก์จะเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์สวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท เจ้าชายสตีเฟน พระอนุชาในพระสวามีของพระนางเป็นทายาทโดยสันนิษฐานจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1354 จอห์น ดยุกแห่งสลาโวเนีย พระโอรสของเจ้าชายสตีเฟนเป็นทายาทสืบต่อ อย่างไรก็ตามดยุกจอห์นสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1360[17] ในที่สุดพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงมีพระราชธิดาในปี ค.ศ. 1365 แต่พระราชธิดาสิ้นพระชนม์ในปีถัดมา[18] ในเวลาไม่กี่ปีถัดมา เอลิซาเบธแห่งสลาโวเนีย พระขนิษฐาของดยุกจอห์นที่สิ้นพระชนม์ ได้รับการปฏิบัติในฐานะทายาทโดยสมมติและมีการเจรจาถึงคู่เสกสมรสที่เหมาะสม แต่ทันใดก็เกิดเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อสมเด็จพระราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 3 พระองค์ เจ้าหญิงแคทเทอรีนประสูติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1370 เจ้าหญิงแมรีประสูติในปี ค.ศ. 1371 และเจ้าหญิงเจดวิกาประสูติในปี ค.ศ. 1373 หรือ 1374[17] สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงพระนิพนธ์หนังสือเพื่อการศึกษาสำหรับพระราชธิดา ฉบับสำเนาได้ส่งไปยังฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1374 แต่ปัจจุบันสำเนาทุกฉบับสูญหายไปหมดสิ้น[19][20]
ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1374 พระเจ้าหลุยส์ทรงพระราชทานสิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ขุนนางโปแลนด์โดยผ่านเอกสิทธิ์คอชชิเซ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับสัญญาให้พระราชธิดาสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ โดยพระองค์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ หรือพระราชชนนีจะเป็นผู้กำหนดองค์ใดองค์หนึ่ง[21] ในฮังการี พระองค์ทรงมุ่งเน้นไปที่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจะเป็นการสร้างความมั่นพระทัยว่าสิทธิของพระราชธิดาจะได้รับการเคารพ[22] ความพยายามเสกสมรสกับเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งๆถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญลำดับแรกในราชสำนักยุโรป[17] เจ้าหญิงแมรีทรงมีพระชนมายุไม่ถึงหนึ่งพรรษาก็มีสัญญาการเสกสมรสกับเจ้าชายซีกิสมุนด์แห่งลักเซมเบิร์ก[23] ในปี ค.ศ. 1374 เจ้าหญิงแคทเทอรีนทรงถูกหมั้นหมายกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส[17] แต่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปลายปี ค.ศ. 1378 ในปีเดียวกัน เจ้าหญิงเจดวิกาทรงหมั้นหมายกับวิลเลี่ยมแห่งออสเตรียในกฎสปอนซาเลียเดอฟูตูโร (Sponsalia de futuro;การแต่งงานในอนาคต) เจ้าหญิงต้องออกจากราชสำนักของพระราชมารดาและย้ายไปประทับที่เวียนนา ซึ่งเจ้าหญิงประทับอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปี[24] เหล่าขุนนางโปแลนด์ได้สาบานว่าจะสนับสนุนสิทธิของเจ้าหญิงแมรีในปี ค.ศ. 1379 ในขณะที่เจ้าชายซีกิสมุนด์ได้รับการยอมรับในสามปีถัดมา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธปรากฏพระองค์ พร้อมพระสวามีและพระสัสสุ ในการประชุมขุนนางที่ซอลโยมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1380 ที่ซึ่งขุนนางฮังการียอมรับการจับคู่สมรสกับออสเตรียของเจ้าหญิงเจดวิกา ซึ่งแสดงว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงตั้งพระทัยที่จะมอบราชบัลลังก์ฮังการีให้แก่เจ้าหญิงเจดวิกาและวิลเลียม[25]
เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ทรงพระประชวร ทำให้ช่วงปลายรัชกาลทรงมีความกระตือรือร้นน้อยลง ทรงอุทิศเวลาไปกับการสวดมนต์หลายครั้ง เช่นเดียวกับพระราชชนนีซึ่งทรงพระชราและเพิ่งเสด็จกลับมาจากโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1374 สถานการณ์เหล่านี้ทำให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมีโอกาสและทรงแสดงบทบาทที่โดดเด่นในราชสำนัก อิทธิพลของพระนางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทรงมีทายาทให้พระสวามี ดูเหมือนจะเป็นไปได้ที่ราชบัลลังก์จะถูกส่งผ่านไปยังหนึ่งในพระราชธิดาของพระนางเอลิซาเบธผู้ทรงพระเยาว์และในปี ค.ศ. 1374 สิทธิของพระราชธิดาได้รับการยืนยัน[26] ในเบื้องหลัง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมั่นพระทัยว่าการสืบราชบัลลังก์จะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่ทำได้โดยทรงให้การสนับสนุนอย่างช้าๆ แต่จะเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอนในบุคลากรของคณะรัฐบาลขุนนาง เหล่าบารอนที่นิยมสงครามและไม่รู้หนังสือค่อยๆถูกแทนที่ด้วยขุนนางกลุ่มเล็กๆซึ่งมีความเหนือกว่าในด้านทักษะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องชาติกำเนิดและความสามารถทางการทหาร พาลาทีน นิโคลัสที่ 1 การาย เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวและสนับสนุนสมเด็จพระราชินีอย่างเต็มที่ และทำให้อำนาจของกลุ่มของเขากลายเป็นอำนาจที่ไร้ขอบเขตอย่างแท้จริง[26]
ตกพุ่มม่ายและการสำเร็จราชการ
[แก้]พระเจ้าหลุยส์สวรรคตในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1382 โดยพระนางเอลิซาเบธและพระราชธิดาประทับอยู่เคียงข้าง[27] ตอนนี้พระราชชนนีเอลิซาเบธเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าหญิงแมรีทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็น "พระมหากษัตริย์"แห่งฮังการีในเวลาเจ็ดวันถัดมา นักประวัติศาสตร์ ฮาเล็คกี เชื่อว่า เหตุที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงเร่งรีบและการใช้พระอิสริยยศสำหรับบุรุษแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรี เป็นความปรารถนาของสมเด็จพระพันปีหลวงเพื่อกีดกันเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระชามาดาของพระนางในอนาคต ออกจากอำนาจในรัฐบาลขุนนาง[28] พระนางทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระนามของพระประมุขซึ่งมีพระชนมายุ 11 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแต่งตั้งให้การายเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของพระนาง การปกครองของพระนางไม่ได้สงบสุข ราชสำนักพอใจกับการจัดการเช่นนี้ แต่เหล่าขุนนางฮังการีกลับไม่พอใจที่จะต้องเคารพสตรีและคัดค้านการสืบราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี กลุ่มขุนนางพยายามยืนยันสิทธิในราชบัลลังก์ตามกฎหมายของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ ซึ่งเป็นเชื้อสายอานเจวินฝ่ายชายเพียงคนเดียวที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ในขณะนั้นพระเจ้าชาร์ลไม่ทรงสามารถเรียกร้องราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีได้ เนื่องจากพระองค์เองยังทรงถูกคุกคามจากหลุยส์ที่ 1 ดยุกแห่งอ็องชู[29]
การลุกฮือครั้งแรกในการต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธ ปี ค.ศ. 1383 นำโดยจอห์นแห่งปาลิสนา เจ้าคณะแห่งวรานา นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฟาน แอนต์เวิร์ป ไฟน์ จูเนียร์ กล่าวว่า เจ้าคณะ "เหมือนจะต่อต้านเป็นสำคัญ"ต่อนโยบายการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางซึ่งพระสวามีของพระนางได้ประกาศใช้ พระเจ้าทวตโกที่ 1 แห่งบอสเนีย พระญาติของพระนางใช้โอกาสในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์สวรรคตและการที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ได้รับความนิยม โดยทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่ทรงสูญเสียไปในปี ค.ศ. 1357 คืนมา พระเจ้าทวตโกและเจ้าคณะจอห์นได้เป็นพันธมิตรกันในการต่อต้านพระนางเอลิซาเบธ แต่ในที่สุดกองทัพของพระองค์และจอห์นพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระพันปีหลวง โดยจอห์นหลบหนีไปยังบอสเนีย[30]
การสืบราชบัลลังก์โปแลนด์
[แก้]แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงระบุให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ทั้งสองราชอาณาจักร แต่เหล่าขุนนางโปแลนด์ต้องการยุติรัฐร่วมประมุขของสหภาพฮังการีและโปแลนด์ ดังนั้นเหล่าขุนนางจึงไม่เต็มใจที่จะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หม้นให้มาเป็นพระประมุข[31] พวกเขาจะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ถ้าหากพระนางทรงย้ายมาประทับที่กรากุฟและปกครองราชอาณาจักรทั้งสองที่เมืองนี้มากกว่าที่ฮังการี และทรงต้องรับฟังคำปรึกษาจากขุนนางโปแลนด์มากกว่าขุนนางฮังการี อีกทั้งต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าชายที่เหล่าขุนนางเลือกให้ ความตั้งใจของเหล่าขุนนางนี้กลับทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่พอพระทัย ซึ่งถ้าหากพระนางต้องเสด็จย้ายไปที่กรากุฟ พระนางจะขาดกลุ่มขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระนางซึ่งจะทำให้พระนางไม่สามารถใช้พระราชอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ได้ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตระหนักถึงความยากลำบากที่พระสัสสุของพระนางต้องเผชิญเมื่อทรงสำเร็จราชการในโปแลนด์ ซึ่งทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงองค์ก่อนที่พระชราต้องเสด็จหนีกลับราชอาณาจักรเดิม (ฮังการี) ของพระนางด้วยความอัปยศอดสูแม้ว่าจะเป็นเจ้าหญิงจากโปแลนด์ก็ตาม[32]
ข้อตกลงระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับคณะผู้แทนจากโปแลนด์บรรลุผลที่เซียรัดส์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1383[33] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเสนอเจ้าหญิงเจดวิกา พระราชธิดาองค์สุดท้องให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าหลุยส์ในโปแลนด์[32][34] และทรงอภัยโทษแก่ขุนนางโปแลนด์ที่เคยให้สัตย์ปฏิญาณแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์เมื่อปี ค.ศ. 1382[33][34] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงยินยอมให้เจ้าหญิงเจดวิกาประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในกรากุฟ แต่ทรงร้องขอให้เจ้าหญิงเจดวิกาต้องประทับที่บูดอเป็นเวลามากกว่าสามเดือนก่อนจะถึงวันพระราชพิธี เนื่องจากทรงมองว่าพระราชธิดายังมีเยาว์พระชันษา ชาวโปลซึ่งกำลังวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองโปแลนด์ครั้งยิ่งใหญ่ ได้ให้การยินยอมข้อเรียกร้องของพระนางในช่วงต้นแต่ภายหลังยอมรับไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์ของพวกเขาประทับอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลานาน การประชุมครั้งที่สองที่เซียรัดส์ ในวันที่ 28 มีนาคม เหล่าขุนนางไตร่ตรองว่าควรมอบราชบัลลังก์ให้กับ ซีโมวิทที่ 4 ดยุกแห่งมาโซเวีย พระญาติห่างๆของเจ้าหญิงเจดวิกา[34] แต่ท้ายที่สุดเหล่าขุนนางก็เลือกที่จะต่อต้านข้อเสนอนี้ แต่ในการประชุมครั้งที่สาม ดยุกซีโมวิทตัดสินใจอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ด้วยตนเอง สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตอบสนองด้วยการส่งกองทัพที่มีทหาร 12,000 นายเข้าไปกวาดล้างกองทัพของมาโซเวียในเดือนสิงหาคม เพื่อให้เขายกเลิกการอ้างสิทธิ[35] ในขณะเดียวกันพระนางก็ตระหนักแล้วว่าไม่ทรงสามารถคาดหวังให้ขุนนางยอมรับข้อเรียกร้องของพระนางได้และพระนางทรงแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนการเสด็จถึงของเจ้าหญิงเจดวิกาให้ช้าลงแทน ทั้งๆที่ขุนนางโปแลนด์พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งให้เจ้าหญิงเจดวิกาเสด็จมาถึงโดยเร็ว แต่เจ้าหญิงเจดวิกาก็ยังเสด็จไม่ถึงกรากุฟจนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1384[36] เจ้าหญิงเจดวิกาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1384[37][38] ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถพระชนมายุ 10 พรรษาทรงสามารถใช้พระราชอำนาจภายใต้คำปรึกษาของขุนนางผู้มีอิทธิพลในกรากุฟ[39] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ทรงได้พบกับพระราชธิดาองค์นี้อีกเลย[40]
ในปี ค.ศ. 1385 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธเสด็จรับคณะผู้แทนจากแกรนด์ดยุกโยไกลาแห่งแกรนด์ดัชชีลิทัวเนีย ผู้ประสงค์จะอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกา ตามพระราชบัญญัติเครวา แกรนด์ดยุกโยไกลาทรงสัญญาที่จะจ่ายค่าชดเชยให้แก่วิลเลียมแห่งออสเตรียในพระนามของพระนางเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นพระมเหสีม่ายของพระเจ้าหลุยส์และทายาทหญิงแห่งโปแลนด์ในฐานะพระราชปนัดดาของพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์ (ซึ่งสันนิษฐานว่าแกรนด์ดยุกโยไกลาทรงใช้พระนามของพระองค์เมื่อทรงเข้าพิธีบัพติศมาครั้งแรก) โดยทรงรับแกรนด์ดยุกเป็นพระโอรสของพระนางตามกฎหมายเพื่อที่จะทำให้พระองค์มีสิทธิในราชบัลลังก์โปแลนด์เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาสวรรคต[41][42] พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1386[37]
การอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี
[แก้]เจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หมั้นในสมเด็จพระราชินีนาถแมรี และพระเจ้าเวนสเลาสแห่งเยอรมนีและโบฮีเมีย ซึ่งเป็นพระอนุชาในเจ้าชายซีกิสมุนด์ ทรงต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและการาย ในทางกลับกันสมเด็จพระพันปีหลวงและพาลาทีนการายก็ไม่ได้รีบเร่งให้เจ้าชายซีกิสมุนด์ครองราชย์ร่วมกับพระนางแมรี ทั้งเจ้าชายซีกิสมุนด์และพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ต่างทรงวางแผนที่จะบุกฮังการี ซึ่งในอดีตทรงพยายามอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและครองราชย์ร่วมกับพระนาง แต่ในภายหลังทรงมีจุดประสงค์ที่จะถอดถอนพระนางออกจากราชบัลลังก์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมุ่งมั่นที่จะไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และในปี ค.ศ. 1384 ทรงเริ่มพิจารณาการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส แม้ว่าพระราชธิดาจะทรงหมั้นกับเจ้าชายซีกิสมุนด์อยู่แล้ว ข้อเสนอนี้มีการพิจารณาขึ้นหลังจากเจ้าหญิงแคทเทอรีน พระราชธิดาองค์โตสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1378 ซึ่งเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตกทำให้เกิดปัญหา ด้วยฝรั่งเศสยอมรับผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปา ส่วนฮังการียอมรับสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ทรงหมดหวังที่จะหลีกเลี่ยงการรุกรานในปี ค.ศ. 1384 และไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะให้ความแตกแยกทางศาสนามาขัดขวางการดำเนินการเจรจากับฝรั่งเศส ผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ทรงออกประกาศยกเลิกการหมั้นระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายซีกิสมุนด์ และประกาศจัดพิธีอภิเษกสมรสผ่านตัวแทนกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ค.ศ. 1385 แต่การดำเนินการนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากขุนนางฮังการี ซึ่งยึดมั่นในสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6[43]
สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมีแผนที่จะให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์โดยแบ่งราชสำนักกัน ตระกูลลัคโกวิก นิโคลัส ซัมโบ เจ้ากรมพระคลังและนิโคลัส สเซคซี ตุลาการหลวง ออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยและประกาศละทิ้งความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระพันปีหลวงในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลให้พระนางทรงปลดพวกเขาออกจากตำแหน่งทั้งหมดและแทนที่ตำแหน่งเหล่านั้นด้วยคนของการาย ราชอาณาจักรจึงอยู่ในสภาพที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งทำให้พระเจ้าชาร์ลทรงปรารถนาที่จะเข้าโจมตี โดยได้รับการสนับสนุนจากจอห์น ฮอร์วัตและน้องชายคือ ปอล ฮอร์วัต บิชอปแห่งซาเกร็บ การใกล้เข้ามาของกองทัพพระเจ้าชาร์ลได้บีบให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธยอมแพ้และละทิ้งความคิดเรื่องการอภิเษกสมรสกับฝรั่งเศส ในขณะที่คณะทูตของพระนางในกรุงปารีสกำลังเตรียมตัวสำหรับการเดินทางของเจ้าชายหลุยส์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงทำข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามของพระนางและทรงแต่งตั้งให้สเซคซีเป็นพาลาทีนคนใหม่[44]
สี่เดือนหลังจากการอภิเษกสมรสผ่านตัวแทน (โดยฉันทะ) กับเจ้าชายหลุยส์ เจ้าชายซีกิสมุนด์เสด็จถึงฮังการีและอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี แต่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายต่างๆสายเกินไปที่จะขัดขวางการรุกรานของพระเจ้าชาร์ล พระเจ้าซีกิสมุนด์เสด็จลี้ภัยไปยังราชสำนักของพระอนุชาในกรุงปรากในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1385[44]
การปลดออกจากราชบัลลังก์และการฟื้นฟูราชบัลลังก์
[แก้]การเสด็จมาถึงของพระเจ้าชาร์ลมีการเตรียมการอย่างดี พระองค์เสด็จมาพร้อมกับผู้สนับสนุนชาวฮังการีของพระองค์ และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ไม่ทรงสามารถจัดกองทัพออกมาต่อต้านหรือขัดขวางไม่ให้พระองค์เข้าไปในสภาได้ ซึ่งที่สภาพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ เพื่อเปิดโอกาสให้พระเข้าชาร์ลประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1385[44] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้เข้าร่วมพระราชพิธี[45] และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาร์ล[46]
เมื่อปราศจากอำนาจ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแสร้งทำเป็นมิตรกับพระเจ้าชาร์ลในขณะที่ผู้ติดตามของพระเจ้าชาร์ลยังอยู่ในราชสำนัก แต่หลังจากผู้สนับสนุนเหล่านั้นเดินทางกลับ พระองค์ก็ทรงไร้ทางป้องกันพระองค์เอง[47] พระนางเอลิซาเบธทรงรีบเร่งเชิญพระเจ้าชาร์ลให้เสด็จมาเยี่ยมอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ปราสาทบูดอ เมื่อพระเจ้าชาร์ลเสด็จมาถึงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1386 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงให้ข้าราชบริพารของพระนางแทงพระเจ้าชาร์ลในห้องที่ประทับของพระนางและทรงแสดงตนที่นั่นด้วย พระองค์ทรงถูกนำเสด็จออกไปที่วิเซกราด ซึ่งพระองค์ทรงพระประชวรจากการบาดเจ็บและเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กุมภาพันธ์[45][47]
พระนางสามารถฟื้นฟูราชบัลลังก์ให้แก่พระราชธิดาได้ พระนางทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่ช่วยเหลือพระนางโดยทันที ทรงประทานปราสาทในเยเลเนคแก่ไบลซ์ ฟอร์กาช พนักงานเชิญจอกเสวย ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลบาดเจ็บ ในเดือนเมษายน พระเจ้าซีกิสมุนด์ทรงถูกนำเสด็จมาที่ฮังการีโดยพระเจ้าเวนสเลาส พระอนุชา และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกกดดันให้ยอมรับพระเจ้าซีกิสมุนด์เป็นพระประมุขร่วมกับพระนางแมรีในอนาคตตามสนธิสัญญากูร์[47] การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลไม่ได้ทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงพอพระทัยตามที่คาดหวัง ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลได้ยอมรับพระเจ้าลาดิสเลาสแห่งเนเปิลส์ พระโอรสให้เป็นองค์รัชทายาท[48]และหนีไปรวมกำลังที่ซาเกร็บ บิชอปปอลได้จำนองที่ดินของโบสถ์เพื่อรวบรวมเงินในการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถ[49]
สิ้นพระชนม์และผลที่ตามมา
[แก้]สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงเชื่อว่าการปรากฏพระองค์ของพระราชธิดาจะช่วยให้ฝ่ายต่อต้านสงบลงได้[47] พระนางพร้อมด้วยการายและกลุ่มผู้ติดตามที่ไม่ก้าวร้าว[47]และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีเสด็จไปยังดาโกโว[48] แต่พระนางเอลิซาเบธทรงคาดการณ์ผิด ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1386 ขบวนเสด็จถูกซุ่มโจมตีระหว่างทางโดยจอห์น ฮอร์วัตในกอร์จานี[47][48] คณะผู้ติดตามซึ่งมีขาดเล็กล้มเหลวในการต่อสู้กับกองกำลังที่โจมตี่ การายถูกสังหารโดยกลุ่มกบฏและศีรษะของเขาถูกส่งไปให้สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์กาเร็ต พระมเหสีม่ายในพระเจ้าชาร์ล ในขณะที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกจองจำในปราสาทของบิชอปแห่งซาเกร็บที่กอมแน็ค[47] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงยอมรับโทษทั้งหมดในฐานะกบฏและทรงร้องขอให้กลุ่มที่โจมตีไว้ชีวิตพระราชธิดา[50]
สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกส่งไปยังปราสาทนอวิการ์ดโดยจอห์นแห่งปาลิสนาเป็นผู้คุมคนใหม่[48] สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์กาเร็ตทรงยืนกรานว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธจะต้องถูกประหารชีวิต[51] มีความพยายามให้พระนางทรงมีความผิดฐานส่งเสริมการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ล หลังจากการพิจารณาคดีความถูกเลื่อนเนื่องจากวันคริสต์มาส[52] พระเจ้าซีกิสมุนด์ทรงยกทัพเข้าสลาโวเนียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1387 โดยทรงตั้งพระทัยให้ถึงนอวิการ์ดเพื่อช่วยเหลือสมเด็จพระราชินีทั้งสองพระองค์[53] ในช่วงกลางเดือนมกราคม เมื่อข่าวการรุกรานของกองทัพพระเจ้าซีกิสมุนด์ใกล้มาถึงนอวิการ์ด สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงถูกบีบพระศอโดยทหารจนสิ้นพระชนม์ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถแมรี[48][52][53]
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกปลดพระองค์ออกจากที่คุมขังโดยกองทัพของพระเจ้าซีกิสมุนด์ในวันที่ 4 มิถุนายน[52] พระศพของสมเด็จพระพันปีหลวงทรงถูกฝังอย่างลับๆที่โบสถ์แห่งนักบุญคริสโซโกนัสในซาดาร์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1387 พระศพของพระนางเอลิซาเบธถูกขุดขึ้นมาในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1390 ถูกเคลื่อนย้ายโดยทางทะเลไปยังโอโบรวักและจากนั้นถูกเคลื่อนย้ายมาทางภาคพื้นดินมาฝังพระศพที่บาซิลิกาซีเคสเฟเฮวาร์[54]
มรดก
[แก้]พระนางเอลิซาเบธทรงได้รับการยกย่องโดยเชื้อสายของพระนางว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถแต่มีความโหดเหี้ยม โดยเป็นผู้วางกลอุบายทางการเมืองเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของพระราชธิดา[55] พระนางเป็นมารดาผู้ห่วงใยและเอาใจใส่ แต่ก็ไม่ทรงมีทั้งความสามารถและอำนาจทางการเมืองในการเตรียมความพร้อมให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีและสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาแสดงบทบาทในฐานะพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงล้มเหลวในการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระราชธิดา และพระอุปนิสัยที่เอนเอียงกับกลวิธีทางการเมืองอันเป็นที่น่าเคลือบแคลงของพระนางกลายเป็นข้อย้ำเตือนแก่ผู้ปกครองวัยเยาว์ การไร้ความสามารถและการรีรอของพระนางในการตัดสินพระทัยให้ชัดเจนเป็นสิ่งที่คุกคามสถานะของสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกา ในขณะที่พระนางทรงมีปัญหาที่ไม่รู้จบกับขุนนางโครเอเชียและทรงล้มเหลวในการพัฒนาความสัมพันธ์กับขุนนางบอสเนียซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกับพระนาง สิ่งเหล่านี้ทำให้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีสั่นคลอนและวุ่นวาย[40]
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมีบทบาทในการจัดสร้างหีบแห่งนักบุญซีโมนในปี ค.ศ. 1381 หีบประดิษฐานอยู่ที่ซาดาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น การสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาของพระนาง และการสิ้นพระชนม์ของพระนางเอง ตามตำนานกล่าวว่า พระนางทรงขโมยนิ้วมือของนักบุญและทรงจัดสร้างหีบนี้ขึ้นมาเพื่อชดใช้บาปของพระนางเอง[56] หีบนี้มีฉากแสดงถึงการกล่าวหาว่าสมเด็จพระราชินีทรงมีพระสติวิปลาสหลังจากทรงขโมยชิ้นส่วนของนักบุญไป[57]
แผนผังตระกูล
[แก้]นี่คือแผนผังแสดงเครือญาติของพระนางเอลิซาเบธและพระสวามี และรวมทั้งความสัมพันธ์ของพระนางและพระราชธิดากับศัตรูของพระนาง[11][12][58][59]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ บอสเนีย : Елизабета Котроманић; ฮังการี: Kotromanics Erzsébet; โปแลนด์: Elżbieta Bośniaczka
- ↑ 2.0 2.1 Engel 1999, pp. 163.
- ↑ Kellogg 1936, pp. 9.
- ↑ Rudzki 1990, pp. 47.
- ↑ 5.0 5.1 Engel 1999, pp. 171.
- ↑ InstytutHistorii 2004.
- ↑ Van Antwerp Fine 1994, pp. 323.
- ↑ Várdy 1986, pp. 226.
- ↑ Michael 1997, pp. 303.
- ↑ Bertényi 1989, pp. 89.
- ↑ 11.0 11.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 88.
- ↑ 12.0 12.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 40.
- ↑ Van Antwerp Fine 1994, pp. 369.
- ↑ Várdy, Grosschmid, Domonkos 1986, pp. 147.
- ↑ Jasienica 1978, pp. 6.
- ↑ Rożek 1987, pp. 49.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 Engel 1999, pp. 169.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 49.
- ↑ Jansen 2004, pp. 13.
- ↑ Johnson & Wogan-Browne 1999, pp. 203.
- ↑ Reddaway 1950, pp. 193.
- ↑ Engel 1999, pp. 174.
- ↑ Engel 1999, pp. 170.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 69.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 73.
- ↑ 26.0 26.1 Engel 1999, pp. 188.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 75.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 97.
- ↑ Engel 1999, pp. 195.
- ↑ Van Antwerp Fine 1994, pp. 395.
- ↑ Goodman & Gillespie 2003, pp. 208.
- ↑ 32.0 32.1 Varga 1982, pp. 41.
- ↑ 33.0 33.1 Przybyszewski 1997, pp. 7.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 Gromada & Halecki 1991, pp. 101.
- ↑ Przybyszewski 1997, pp. 8.
- ↑ Przybyszewski 1997, pp. 97.
- ↑ 37.0 37.1 Goodman & Gillespie 2003, pp. 221.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 109.
- ↑ Przybyszewski 1997, pp. 10.
- ↑ 40.0 40.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 85.
- ↑ McKitterick 2000, pp. 709–712.
- ↑ Lithuanian historical studies 1996, pp. 10–11.
- ↑ Goodman & Gillespie 2003, pp. 222–223.
- ↑ 44.0 44.1 44.2 Engel 1999, pp. 196–197.
- ↑ 45.0 45.1 Grierson & Travaini 1998, pp. 236.
- ↑ Gromada & Halecki 1991, pp. 146.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 47.6 Engel 1999, pp. 198.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 48.3 48.4 Van Antwerp Fine 1994, pp. 396–397.
- ↑ Šišić 1902, pp. 50.
- ↑ Duggan 2002, pp. 231.
- ↑ Gaži 1973, pp. 61.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 Gromada & Halecki 1991, pp. 164.
- ↑ 53.0 53.1 Engel 1999, pp. 199.
- ↑ Petricioli 1996, pp. 196.
- ↑ Parsons 1997, pp. 16.
- ↑ Stewart 2006, pp. 210.
- ↑ Filozofski fakultet u Zadru 1976, pp. 455.
- ↑ Creighton 2011, pp. 69.
- ↑ Kosáry & Várdy 1969, pp. 418.
อ้างอิง
[แก้]- Bertényi, Iván (1989). Nagy Lajos király. Kossuth Könyvkiadó. ISBN 963-09-3388-8.
- Creighton, Mandell (2011). A History of the Papacy During the Period of the Reformation. Cambridge University Press. ISBN 1-108-04106-X.
- Duggan, Anne J. (2002). Queens and Queenship in Medieval Europe: Proceedings of a Conference Held at King's College London, April 1995. Boydell Press. ISBN 0-85115-881-1.
- Engel, Pal (1999). Ayton, Andrew (บ.ก.). The realm of St. Stephen: a history of medieval Hungary, 895–1526 Volume 19 of International Library of Historical Studies. Penn State Press. ISBN 0-271-01758-9.
- Radovi: Razdio filoloških znanosti. Vol. 9. Filozofski fakultet u Zadru. 1976.
- Gaži, Stephen (1973). A History of Croatia. Philosophical Library.
- Goodman, Anthony; Gillespie, James (2003). Richard II: The Art of Kingship. Oxford University Press. ISBN 0-19-926220-9.
- Grierson, Philip; Travaini, Lucia (1998). Medieval European coinage: with a catalogue of the coins in the Fitzwilliam Museum, Cambridge, Volume 14. Cambridge University Press. ISBN 0-521-58231-8.
- Gromada, Tadeusz; Halecki, Oskar (1991). Jadwiga of Anjou and the rise of East Central Europe. Social Science Monographs. ISBN 0-88033-206-9.
- Instytut Historii (Polska Akademia Nauk) (2004). Acta Poloniae historica, Issues 89–90. Zakład Narodowy im. Ossolińskich.
- Jansen, Sharon L. (2004). Anne of France : lessons for my daughter – Library of medieval women. DS Brewer. ISBN 1-84384-016-2.
- Jasienica, Paweł (1978). Jagiellonian Poland. American Institute of Polish Culture. ISBN 978-1-881284-01-7.
- Johnson, Ian Richard; Wogan-Browne, Jocelyn (1999). The idea of the vernacular: an anthology of Middle English literary theory, 1280–1520 Library of medieval women. Penn State Press. ISBN 0-271-01758-9.
- Kellogg, Charlotte (1936). Jadwiga, Queen of Poland. Anderson House.
- Lietuvos Istorijos institutas (Lietuvos Mokslų akademija) (1996). Lithuanian historical studies, Volume 1. The Institute.
- McKitterick, Rosamond (2000). Jones, Michael (บ.ก.). The New Cambridge Medieval History: c. 1300–c. 1415. Cambridge University Press. ISBN 0-521-36290-3.
- Kosáry, Domokos G.; Várdy, Steven Béla (1969). History of the Hungarian Nation. Danubian Press.
- Maurice, Michael (1997). The Annals of Jan Długosz: An English Abridgement, Part 1480. IM Publications. ISBN 1-901019-00-4.
- Parsons, John Carmi (1997). Medieval Queenship. Palgrave Macmillan. ISBN 0-312-17298-2.
- Petricioli, Ivo (1996). Srednjovjekovnim graditeljima u spomen (ภาษาโครเอเชีย). Književni krug.
- Przybyszewski, Bolesław (1997). Saint Jadwiga, Queen of Poland 1374–1399. Veritas Foundation Publication Centre. ISBN 0-948202-69-6.
- Reddaway, William Fiddian (1950). The Cambridge history of Poland. Cambridge University Press.
- Rożek, Michał (1987). Polskie koronacje i korony (ภาษาโปแลนด์). Krajowa Agencja Wydawnicza. ISBN 83-03-01913-9.
- Rudzki, Edward (1990). Polskie królowe (ภาษาโปแลนด์). Instytut Prasy i Wydawnictw "Novum".
- Stewart, James (2006). Croatia. New Holland Publishers. ISBN 1-86011-319-2.
- Šišić, Ferdo (1902). Vojvoda Hrvoje Vukc̆ić Hrvatinić i njegovo doba (1350–1416) (ภาษาโครเอเชีย). Zagreb: Matice hrvatske.
- Van Antwerp Fine, John (1994). The Late Medieval Balkans: A Critical Survey from the Late Twelfth Century to the Ottoman Conquest. University of Michigan Press. ISBN 0-472-08260-4.
- Várdy, Steven Béla; Grosschmid, Géza; Domonkos, Leslie S. (1986). Louis the Great: King of Hungary and Poland. East European Monographs. ISBN 0-88033-087-2.
- Varga, Domonkos (1982). Hungary in greatness and decline: the 14th and 15th centuries. Hungarian Cultural Foundation. ISBN 0-914648-11-X.
ก่อนหน้า | เอลีซาเบตาแห่งบอสเนีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ว่าง ตำแหน่งก่อนหน้า เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งโบฮีเมีย |
สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีและโครเอเชีย (20 มิถุนายน ค.ศ. 1353 – 10 กันยายน ค.ศ. 1382) |
ว่าง ตำแหน่งถัดไป มาร์กาเร็ตแห่งดูราซโซ | ||
เฮดวิกแห่งซากัน | สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์ (5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1370 – 10 กันยายน ค.ศ. 1382) |
ว่าง ตำแหน่งถัดไป แอนนาแห่งซิลลี |