เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย

เอลิซาเบธ โคโทรมานิค
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งแห่งฮังการีและโปแลนด์
สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรี พระราชธิดาขณะทรงถูกจองจำ ภาพวาดตามจินตนาการของโซมา ออร์ไล เพทริช
สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีและโครเอเชีย
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์
ประสูติราว ค.ศ. 1339
สวรรคตมกราคม ค.ศ. 1387 (ราว 48 พรรษา)
ปราสาทนอวิการ์ด นอวิการ์ด ราชอาณาจักรโครเอเชีย
พระราชสวามีพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการี
พระราชบุตรเจ้าหญิงแคทเทอรีน
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งฮังการี
สมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาแห่งโปแลนด์
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งแห่งฮังการีและโปแลนด์
ราชวงศ์คอโตรมานิค(โดยประสูติ)
อ็องชู (โดยการอภิเษกสมรส)
พระราชบิดาสตีเฟนที่ 2 บานแห่งบอสเนีย
พระราชมารดาเอลิซาเบธแห่งคูยาเวีย

เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย[1] (ราวค.ศ. 1339 – มกราคม ค.ศ. 1387) เป็นสมเด็จพระราชินีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งราชอาณาจักรฮังการีและราชอาณาจักรโครเอเชีย และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์ เป็นพระธิดาในบานสตีเฟนที่ 2 แห่งบาเนทบอสเนีย เอลิซาเบธอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการีในปี ค.ศ. 1353 ในปี ค.ศ. 1370 พระนางทรงมีพระประสูติกาล เจ้าหญิงแคทเทอรีน ทายาทองค์แรกหลังจากรอคอยมาอย่างยาวนาน และพระนางทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ต่อจาก พระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระมาตุลา ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาอีกสององค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแมรี และเจ้าหญิงเจดวิกา แต่เจ้าหญิงแคทเทอรีนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1378 ในช่วงต้นเป็นพระมเหสีที่ไร้อำนาจและไม่มีอิทธิพลมากมาย ต่อมาพระนางเอลิซาเบธทรงแวดล้อมไปด้วยขุนนางที่จงรักภักดี นำโดยคนโปรดของพระนาง คือ นิโคลัสที่ 1 การาย เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 สวรรคตในปี ค.ศ. 1382 เจ้าหญิงแมรีทรงขึ้นสืบราชบัลลังก์ฮังการี และพระนางเอลิซาเบธเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการที่ไม่สามารถรักษารัฐร่วมประมุขของสหภาพฮังการีและโปแลนด์ได้ สมเด็จพระพันปีหลวงจึงทรงรักษาราชบัลลังก์โปแลนด์ให้แก่เจ้าหญิงเจดวิกา พระราชธิดาองค์สุดท้อง

ในระหว่างทรงสำเร็จราชการในฮังการี สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงต้องเผชิญกับการกบฏหลายครั้งนำโดย จอห์น ฮอร์วัตและจอห์นแห่งปาลิสนา ซึ่งพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากรัชสมัยที่ไม่มั่นคงของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ในปี ค.ศ. 1385 ทั้งสองเชิญพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์มาเพื่อปลดสมเด็จพระราชินีนาถแมรีออกจากราชบัลลังก์และขึ้นสืบบัลลังก์แทน สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตอบโต้ด้วยการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลหลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกผ่านไปสองเดือน ในปี ค.ศ. 1386 พระนางทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์ของพระราชธิดาอีกครั้ง แต่ทรงถูกจับกุม จองจำและท้ายที่สุดทรงถูกปลงพระชนม์ด้วยการบีบพระศอโดยศัตรูของพระนาง

เชื้อสายและช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

เอลิซาเบธประสูติราวปี ค.ศ. 1339 เป็นพระราชธิดาในสตีเฟนที่ 2 บานแห่งบอสเนีย ประมุขราชวงศ์คอโตรมานิค[2] พระราชมารดาของพระนางคือ เอลิซาเบธแห่งคูยาเวีย ซึ่งเป็นสมาชิกราชวงศ์เพียส[3]และเป็นพระนัดดาในพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์[4] สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งฮังการี คือ พระนางเอลิซาเบธแห่งโปแลนด์ เป็นพระญาติชั้นหนึ่งของพระราชมารดาในเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย หลังจากพระสุนิสาของพระพันปีหลวงคือ สมเด็จพระราชินีมาร์กาเร็ตสิ้นพระชนม์จากเหตุการณ์แบล็กเดทในปี ค.ศ. 1349[5] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงสนพระทัยในพระญาติสาวของพระนาง ซึ่งทรงวางแผนที่จะจับคู่กับพระโอรสซึ่งเป็นม่ายและยังไร้รัชทายาทของพระนาง คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการี พระนางทรงยืนกรานในทันทีที่จะให้นำเอลิซาเบธมายังราชสำนักของพระนางในวีเซกราดเพื่อพระนางจะทรงอุปถัมภ์ ถึงแม้ว่าพระบิดาของเอลิซาเบธจะไม่เต็มพระทัย แต่อย่างไรก็ตามเอลิซาเบธก็ทรงมายังราชสำนักของพระพันปีหลวง[6]

ในปี ค.ศ. 1350 พระเจ้าซาร์สเตฟาน ยูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียทรงยกทัพโจมตีบอสเนียเพื่อยึดดินแดนซัคลูเมียคืน แต่การรุกรานไม่ประสบความสำเร็จ และพระเจ้าซาร์ทรงพยายามเจรจาสงบศึก ซึ่งได้มีเนื้อหาจัดแจงการสมรสให้เอลิซาเบธเสกสมรสกับพระโอรสและรัชทายาทของพระองค์ คือ เจ้าชายสเตฟาน ยูรอส มาฟโร ออร์บินี ซึ่งมั่นใจว่าการเจรจานี้ "เป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง" โดยเขาบันทึกว่า พระเจ้าซาร์ทรงคาดหวังว่า แคว้นซัคลูเมียจะถูกรวมอยู่ในสินสอด (ให้แก่ฝ่ายชาย) ของเอลิซาเบธ ซึ่งพระบิดาของเอลิซาเบธปฏิเสธข้อเสนอ[7] หลังจากนั้นเอลิซาเบธทำการหมั้นกับพระเจ้าหลุยส์ซึ่งมีพระชนมายุ 24 พรรษา อย่างเป็นทางการ[8] ผู้ทรงหวังจะตอบโต้นโยบายขยายดินแดนของพระเจ้าซาร์สเตฟาน โดยทรงได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาของเอลิซาเบธ หรือทั้งการมี "รัชทายาทของพระองค์ในที่สุด" ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ออสการ์ ฮาเลคกี

อภิเษกสมรส[แก้]

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธและพระเจ้าหลุยส์ทรงคุกพระชานุเบื้องหน้านักบุญแคเธอรินแห่งอะเล็กซานเดรีย ภาพโครนิคอนพิกตัม

เอลิซาเบธทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ซึ่งมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองในบูดอ วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1353[9] ทั้งสองพระองค์ทรงความสัมพันธ์ในระดับที่ต้องห้ามสำหรับเครือญาติ ดยุกเครซิเมียร์ที่ 1 แห่งคูยาเวีย มีศักดิ์เป็นพระบิดาของพระปัยกาฝ่ายพระมารดาของเอลิซาเบธ และมีศักดิ์เป็นพระปัยกาของพระเจ้าหลุยส์ กฎหมายการงดเว้นของพระสันตะปาปาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันเป็นเพียงความพยายามที่เกิดขึ้นในสี่เดือนหลังจากการอภิเษกสมรสผ่านพ้นไปแล้ว อีวาน เบอเตนยี นักประวัติศาสตร์ เสนอว่า พระราชพิธีอาจจะถูกเร่งรัดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ติดต่อพบปะกันมาเป็นเวลานานหลายปี ถ้าเป็นเช่นนั้นการที่ทรงพระครรภ์ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงโดยทารกตายคลอด[10] พระมารดาของพระราชินีเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ไปแล้วในช่วงที่พระนางอภิเษกสมรส[11] พระเจ้าหลุยส์ทรงตกพระทัยเมื่อพระสัสสุระของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ทวตโก คอโตรมานิค พระญาติหนุ่มผู้ทะเยอทะยานของพระนางเอลิซาเบธขึ้นสืบบัลลังก์บานแห่งบอสเนีย[12] ในปี ค.ศ. 1357 พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกตัวองค์บานหนุ่มมายังพอเซกา ทรงบังคับให้พระองค์ยอมจำนนและมอบซัคลูเมียตะวันตกในฐานะสินสมรสของพระนางเอลิซาเบธ[2][13]

พระราชินีพระองค์ใหม่แห่งฮังการีและโครเอเชียทรงอยู่ภายใต้การควบคุมของ พระพันปีหลวงเอลิซาเบธแห่งโปแลนด์ พระราชชนนี ผู้เป็นพระสัสสุ เป็นความจริงที่ว่าข้าราชบริพารของพระราชินีนั้นเป็นข้าราชบริพารกลุ่มเดียวกันกับที่ถวายการรับใช้พระราชชนนี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพระราชินีเอลิซาเบธแห่งบอสเนียไม่ได้ทรงมีราชสำนักเป็นของพระนางเอง อิทธิพลของพระสัสสุทรงมีเด่นชัดจนกระทั่ง ค.ศ. 1370 เมื่อพระจเหลุยส์ทรงสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ต่อจากพระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระมาตุลา ดังนั้นพระองค์จึงมีฐานะเป็นพระมหากษัตริย์โปแลนด์[5] พระมาตุลาของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธคือ วลาดิสเลาสเดอะไวท์ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งราชบัลลังก์โปแลนด์[14] หลังจากพระเจ้าหลุยส์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในโปแลนด์ พระเจ้าหลุยส์ทรงนำพระราชธิดาของพระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 ซึ่งยังทรงพระเยาว์ คือ เจ้าหญิงแอนน์และเจ้าหญิงเฮกวิก ให้มาอยู่ภายใต้การอบรมอภิบาลโดยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แม้ว่าพระนางเอลิซาเบธจะเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์[15] แต่พระนางก็ไม่ทรงเคยสวมมงกุฎ[16]

ปัญหาการสืบราชบัลลังก์เป็นปัญหาตลอดรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงถูกพิจารณาว่าเป็นหมันมาเป็นเวลานาน และมีการคาดว่าวิกฤคการสืบราชบัลลังก์จะเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์สวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท เจ้าชายสตีเฟน พระอนุชาในพระสวามีของพระนางเป็นทายาทโดยสันนิษฐานจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1354 จอห์น ดยุกแห่งสลาโวเนีย พระโอรสของเจ้าชายสตีเฟนเป็นทายาทสืบต่อ อย่างไรก็ตามดยุกจอห์นสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1360[17] ในที่สุดพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีทรงมีพระราชธิดาในปี ค.ศ. 1365 แต่พระราชธิดาสิ้นพระชนม์ในปีถัดมา[18] ในเวลาไม่กี่ปีถัดมา เอลิซาเบธแห่งสลาโวเนีย พระขนิษฐาของดยุกจอห์นที่สิ้นพระชนม์ ได้รับการปฏิบัติในฐานะทายาทโดยสมมติและมีการเจรจาถึงคู่เสกสมรสที่เหมาะสม แต่ทันใดก็เกิดเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อสมเด็จพระราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 3 พระองค์ เจ้าหญิงแคทเทอรีนประสูติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1370 เจ้าหญิงแมรีประสูติในปี ค.ศ. 1371 และเจ้าหญิงเจดวิกาประสูติในปี ค.ศ. 1373 หรือ 1374[17] สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเป็นที่รู้จักจากการที่ทรงพระนิพนธ์หนังสือเพื่อการศึกษาสำหรับพระราชธิดา ฉบับสำเนาได้ส่งไปยังฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1374 แต่ปัจจุบันสำเนาทุกฉบับสูญหายไปหมดสิ้น[19][20]

Woman handing a sarcophagus to a saint with her three daughters kneeling in front of her
ภาพพิมพ์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงประทานหีบแก่นักบุญซีโมน โดยพระราชธิดากำลังทรงสวดมนต์

ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1374 พระเจ้าหลุยส์ทรงพระราชทานสิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ขุนนางโปแลนด์โดยผ่านเอกสิทธิ์คอชชิเซ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับสัญญาให้พระราชธิดาสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ โดยพระองค์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ หรือพระราชชนนีจะเป็นผู้กำหนดองค์ใดองค์หนึ่ง[21] ในฮังการี พระองค์ทรงมุ่งเน้นไปที่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจะเป็นการสร้างความมั่นพระทัยว่าสิทธิของพระราชธิดาจะได้รับการเคารพ[22] ความพยายามเสกสมรสกับเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งๆถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญลำดับแรกในราชสำนักยุโรป[17] เจ้าหญิงแมรีทรงมีพระชนมายุไม่ถึงหนึ่งพรรษาก็มีสัญญาการเสกสมรสกับเจ้าชายซีกิสมุนด์แห่งลักเซมเบิร์ก[23] ในปี ค.ศ. 1374 เจ้าหญิงแคทเทอรีนทรงถูกหมั้นหมายกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส[17] แต่เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปลายปี ค.ศ. 1378 ในปีเดียวกัน เจ้าหญิงเจดวิกาทรงหมั้นหมายกับวิลเลี่ยมแห่งออสเตรียในกฎสปอนซาเลียเดอฟูตูโร (Sponsalia de futuro;การแต่งงานในอนาคต) เจ้าหญิงต้องออกจากราชสำนักของพระราชมารดาและย้ายไปประทับที่เวียนนา ซึ่งเจ้าหญิงประทับอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปี[24] เหล่าขุนนางโปแลนด์ได้สาบานว่าจะสนับสนุนสิทธิของเจ้าหญิงแมรีในปี ค.ศ. 1379 ในขณะที่เจ้าชายซีกิสมุนด์ได้รับการยอมรับในสามปีถัดมา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธปรากฏพระองค์ พร้อมพระสวามีและพระสัสสุ ในการประชุมขุนนางที่ซอลโยมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1380 ที่ซึ่งขุนนางฮังการียอมรับการจับคู่สมรสกับออสเตรียของเจ้าหญิงเจดวิกา ซึ่งแสดงว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงตั้งพระทัยที่จะมอบราชบัลลังก์ฮังการีให้แก่เจ้าหญิงเจดวิกาและวิลเลียม[25]

เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ทรงพระประชวร ทำให้ช่วงปลายรัชกาลทรงมีความกระตือรือร้นน้อยลง ทรงอุทิศเวลาไปกับการสวดมนต์หลายครั้ง เช่นเดียวกับพระราชชนนีซึ่งทรงพระชราและเพิ่งเสด็จกลับมาจากโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1374 สถานการณ์เหล่านี้ทำให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมีโอกาสและทรงแสดงบทบาทที่โดดเด่นในราชสำนัก อิทธิพลของพระนางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทรงมีทายาทให้พระสวามี ดูเหมือนจะเป็นไปได้ที่ราชบัลลังก์จะถูกส่งผ่านไปยังหนึ่งในพระราชธิดาของพระนางเอลิซาเบธผู้ทรงพระเยาว์และในปี ค.ศ. 1374 สิทธิของพระราชธิดาได้รับการยืนยัน[26] ในเบื้องหลัง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมั่นพระทัยว่าการสืบราชบัลลังก์จะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่ทำได้โดยทรงให้การสนับสนุนอย่างช้าๆ แต่จะเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอนในบุคลากรของคณะรัฐบาลขุนนาง เหล่าบารอนที่นิยมสงครามและไม่รู้หนังสือค่อยๆถูกแทนที่ด้วยขุนนางกลุ่มเล็กๆซึ่งมีความเหนือกว่าในด้านทักษะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องชาติกำเนิดและความสามารถทางการทหาร พาลาทีน นิโคลัสที่ 1 การาย เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวและสนับสนุนสมเด็จพระราชินีอย่างเต็มที่ และทำให้อำนาจของกลุ่มของเขากลายเป็นอำนาจที่ไร้ขอบเขตอย่างแท้จริง[26]

ตกพุ่มม่ายและการสำเร็จราชการ[แก้]

Map of Eastern and Southeast Europe
แผนที่ดินแดนที่พระเจ้าหลุยส์ปกครอง

พระเจ้าหลุยส์สวรรคตในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1382 โดยพระนางเอลิซาเบธและพระราชธิดาประทับอยู่เคียงข้าง[27] ตอนนี้พระราชชนนีเอลิซาเบธเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง เจ้าหญิงแมรีทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็น "พระมหากษัตริย์"แห่งฮังการีในเวลาเจ็ดวันถัดมา นักประวัติศาสตร์ ฮาเล็คกี เชื่อว่า เหตุที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงเร่งรีบและการใช้พระอิสริยยศสำหรับบุรุษแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรี เป็นความปรารถนาของสมเด็จพระพันปีหลวงเพื่อกีดกันเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระชามาดาของพระนางในอนาคต ออกจากอำนาจในรัฐบาลขุนนาง[28] พระนางทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระนามของพระประมุขซึ่งมีพระชนมายุ 11 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแต่งตั้งให้การายเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของพระนาง การปกครองของพระนางไม่ได้สงบสุข ราชสำนักพอใจกับการจัดการเช่นนี้ แต่เหล่าขุนนางฮังการีกลับไม่พอใจที่จะต้องเคารพสตรีและคัดค้านการสืบราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี กลุ่มขุนนางพยายามยืนยันสิทธิในราชบัลลังก์ตามกฎหมายของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ ซึ่งเป็นเชื้อสายอานเจวินฝ่ายชายเพียงคนเดียวที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ในขณะนั้นพระเจ้าชาร์ลไม่ทรงสามารถเรียกร้องราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีได้ เนื่องจากพระองค์เองยังทรงถูกคุกคามจากหลุยส์ที่ 1 ดยุกแห่งอ็องชู[29]

การลุกฮือครั้งแรกในการต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธ ปี ค.ศ. 1383 นำโดยจอห์นแห่งปาลิสนา เจ้าคณะแห่งวรานา นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฟาน แอนต์เวิร์ป ไฟน์ จูเนียร์ กล่าวว่า เจ้าคณะ "เหมือนจะต่อต้านเป็นสำคัญ"ต่อนโยบายการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางซึ่งพระสวามีของพระนางได้ประกาศใช้ พระเจ้าทวตโกที่ 1 แห่งบอสเนีย พระญาติของพระนางใช้โอกาสในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์สวรรคตและการที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ได้รับความนิยม โดยทรงพยายามกอบกู้ดินแดนที่ทรงสูญเสียไปในปี ค.ศ. 1357 คืนมา พระเจ้าทวตโกและเจ้าคณะจอห์นได้เป็นพันธมิตรกันในการต่อต้านพระนางเอลิซาเบธ แต่ในที่สุดกองทัพของพระองค์และจอห์นพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระพันปีหลวง โดยจอห์นหลบหนีไปยังบอสเนีย[30]

การสืบราชบัลลังก์โปแลนด์[แก้]

แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงระบุให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ทั้งสองราชอาณาจักร แต่เหล่าขุนนางโปแลนด์ต้องการยุติรัฐร่วมประมุขของสหภาพฮังการีและโปแลนด์ ดังนั้นเหล่าขุนนางจึงไม่เต็มใจที่จะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หม้นให้มาเป็นพระประมุข[31] พวกเขาจะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี ถ้าหากพระนางทรงย้ายมาประทับที่กรากุฟและปกครองราชอาณาจักรทั้งสองที่เมืองนี้มากกว่าที่ฮังการี และทรงต้องรับฟังคำปรึกษาจากขุนนางโปแลนด์มากกว่าขุนนางฮังการี อีกทั้งต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าชายที่เหล่าขุนนางเลือกให้ ความตั้งใจของเหล่าขุนนางนี้กลับทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่พอพระทัย ซึ่งถ้าหากพระนางต้องเสด็จย้ายไปที่กรากุฟ พระนางจะขาดกลุ่มขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระนางซึ่งจะทำให้พระนางไม่สามารถใช้พระราชอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ได้ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตระหนักถึงความยากลำบากที่พระสัสสุของพระนางต้องเผชิญเมื่อทรงสำเร็จราชการในโปแลนด์ ซึ่งทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงองค์ก่อนที่พระชราต้องเสด็จหนีกลับราชอาณาจักรเดิม (ฮังการี) ของพระนางด้วยความอัปยศอดสูแม้ว่าจะเป็นเจ้าหญิงจากโปแลนด์ก็ตาม[32]

ข้อตกลงระหว่างสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับคณะผู้แทนจากโปแลนด์บรรลุผลที่เซียรัดส์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1383[33] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเสนอเจ้าหญิงเจดวิกา พระราชธิดาองค์สุดท้องให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าหลุยส์ในโปแลนด์[32][34] และทรงอภัยโทษแก่ขุนนางโปแลนด์ที่เคยให้สัตย์ปฏิญาณแก่สมเด็จพระราชินีนาถแมรีและเจ้าชายซีกิสมุนด์เมื่อปี ค.ศ. 1382[33][34] สมเด็จพระพันปีหลวงทรงยินยอมให้เจ้าหญิงเจดวิกาประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในกรากุฟ แต่ทรงร้องขอให้เจ้าหญิงเจดวิกาต้องประทับที่บูดอเป็นเวลามากกว่าสามเดือนก่อนจะถึงวันพระราชพิธี เนื่องจากทรงมองว่าพระราชธิดายังมีเยาว์พระชันษา ชาวโปลซึ่งกำลังวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองโปแลนด์ครั้งยิ่งใหญ่ ได้ให้การยินยอมข้อเรียกร้องของพระนางในช่วงต้นแต่ภายหลังยอมรับไม่ได้ที่พระมหากษัตริย์ของพวกเขาประทับอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลานาน การประชุมครั้งที่สองที่เซียรัดส์ ในวันที่ 28 มีนาคม เหล่าขุนนางไตร่ตรองว่าควรมอบราชบัลลังก์ให้กับ ซีโมวิทที่ 4 ดยุกแห่งมาโซเวีย พระญาติห่างๆของเจ้าหญิงเจดวิกา[34] แต่ท้ายที่สุดเหล่าขุนนางก็เลือกที่จะต่อต้านข้อเสนอนี้ แต่ในการประชุมครั้งที่สาม ดยุกซีโมวิทตัดสินใจอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ด้วยตนเอง สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงตอบสนองด้วยการส่งกองทัพที่มีทหาร 12,000 นายเข้าไปกวาดล้างกองทัพของมาโซเวียในเดือนสิงหาคม เพื่อให้เขายกเลิกการอ้างสิทธิ[35] ในขณะเดียวกันพระนางก็ตระหนักแล้วว่าไม่ทรงสามารถคาดหวังให้ขุนนางยอมรับข้อเรียกร้องของพระนางได้และพระนางทรงแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนการเสด็จถึงของเจ้าหญิงเจดวิกาให้ช้าลงแทน ทั้งๆที่ขุนนางโปแลนด์พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งให้เจ้าหญิงเจดวิกาเสด็จมาถึงโดยเร็ว แต่เจ้าหญิงเจดวิกาก็ยังเสด็จไม่ถึงกรากุฟจนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1384[36] เจ้าหญิงเจดวิกาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1384[37][38] ไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถพระชนมายุ 10 พรรษาทรงสามารถใช้พระราชอำนาจภายใต้คำปรึกษาของขุนนางผู้มีอิทธิพลในกรากุฟ[39] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธไม่ทรงได้พบกับพระราชธิดาองค์นี้อีกเลย[40]

ในปี ค.ศ. 1385 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธเสด็จรับคณะผู้แทนจากแกรนด์ดยุกโยไกลาแห่งแกรนด์ดัชชีลิทัวเนีย ผู้ประสงค์จะอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกา ตามพระราชบัญญัติเครวา แกรนด์ดยุกโยไกลาทรงสัญญาที่จะจ่ายค่าชดเชยให้แก่วิลเลียมแห่งออสเตรียในพระนามของพระนางเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นพระมเหสีม่ายของพระเจ้าหลุยส์และทายาทหญิงแห่งโปแลนด์ในฐานะพระราชปนัดดาของพระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์ (ซึ่งสันนิษฐานว่าแกรนด์ดยุกโยไกลาทรงใช้พระนามของพระองค์เมื่อทรงเข้าพิธีบัพติศมาครั้งแรก) โดยทรงรับแกรนด์ดยุกเป็นพระโอรสของพระนางตามกฎหมายเพื่อที่จะทำให้พระองค์มีสิทธิในราชบัลลังก์โปแลนด์เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาสวรรคต[41][42] พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1386[37]

การอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถแมรี[แก้]

เจ้าชายซีกิสมุนด์ พระคู่หมั้นในสมเด็จพระราชินีนาถแมรี และพระเจ้าเวนสเลาสแห่งเยอรมนีและโบฮีเมีย ซึ่งเป็นพระอนุชาในเจ้าชายซีกิสมุนด์ ทรงต่อต้านสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและการาย ในทางกลับกันสมเด็จพระพันปีหลวงและพาลาทีนการายก็ไม่ได้รีบเร่งให้เจ้าชายซีกิสมุนด์ครองราชย์ร่วมกับพระนางแมรี ทั้งเจ้าชายซีกิสมุนด์และพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ต่างทรงวางแผนที่จะบุกฮังการี ซึ่งในอดีตทรงพยายามอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีและครองราชย์ร่วมกับพระนาง แต่ในภายหลังทรงมีจุดประสงค์ที่จะถอดถอนพระนางออกจากราชบัลลังก์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมุ่งมั่นที่จะไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และในปี ค.ศ. 1384 ทรงเริ่มพิจารณาการอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส แม้ว่าพระราชธิดาจะทรงหมั้นกับเจ้าชายซีกิสมุนด์อยู่แล้ว ข้อเสนอนี้มีการพิจารณาขึ้นหลังจากเจ้าหญิงแคทเทอรีน พระราชธิดาองค์โตสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1378 ซึ่งเหตุการณ์ศาสนเภทตะวันตกทำให้เกิดปัญหา ด้วยฝรั่งเศสยอมรับผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ในฐานะสมเด็จพระสันตะปาปา ส่วนฮังการียอมรับสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ทรงหมดหวังที่จะหลีกเลี่ยงการรุกรานในปี ค.ศ. 1384 และไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะให้ความแตกแยกทางศาสนามาขัดขวางการดำเนินการเจรจากับฝรั่งเศส ผู้อ้างตนเป็นพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ทรงออกประกาศยกเลิกการหมั้นระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถแมรีกับเจ้าชายซีกิสมุนด์ และประกาศจัดพิธีอภิเษกสมรสผ่านตัวแทนกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ค.ศ. 1385 แต่การดำเนินการนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากขุนนางฮังการี ซึ่งยึดมั่นในสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6[43]

สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงมีแผนที่จะให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์โดยแบ่งราชสำนักกัน ตระกูลลัคโกวิก นิโคลัส ซัมโบ เจ้ากรมพระคลังและนิโคลัส สเซคซี ตุลาการหลวง ออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยและประกาศละทิ้งความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระพันปีหลวงในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นผลให้พระนางทรงปลดพวกเขาออกจากตำแหน่งทั้งหมดและแทนที่ตำแหน่งเหล่านั้นด้วยคนของการาย ราชอาณาจักรจึงอยู่ในสภาพที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งทำให้พระเจ้าชาร์ลทรงปรารถนาที่จะเข้าโจมตี โดยได้รับการสนับสนุนจากจอห์น ฮอร์วัตและน้องชายคือ ปอล ฮอร์วัต บิชอปแห่งซาเกร็บ การใกล้เข้ามาของกองทัพพระเจ้าชาร์ลได้บีบให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธยอมแพ้และละทิ้งความคิดเรื่องการอภิเษกสมรสกับฝรั่งเศส ในขณะที่คณะทูตของพระนางในกรุงปารีสกำลังเตรียมตัวสำหรับการเดินทางของเจ้าชายหลุยส์ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงทำข้อตกลงกับฝ่ายตรงข้ามของพระนางและทรงแต่งตั้งให้สเซคซีเป็นพาลาทีนคนใหม่[44]

สี่เดือนหลังจากการอภิเษกสมรสผ่านตัวแทน (โดยฉันทะ) กับเจ้าชายหลุยส์ เจ้าชายซีกิสมุนด์เสด็จถึงฮังการีและอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรี แต่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายต่างๆสายเกินไปที่จะขัดขวางการรุกรานของพระเจ้าชาร์ล พระเจ้าซีกิสมุนด์เสด็จลี้ภัยไปยังราชสำนักของพระอนุชาในกรุงปรากในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1385[44]

การปลดออกจากราชบัลลังก์และการฟื้นฟูราชบัลลังก์[แก้]

Young woman crying at a tomb with her mother standing above her
สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธ (ประทับยืน) และอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรี (คุกพระชานุ) ทรงไว้อาลัยต่อหน้าโลงพระศพพระเจ้าหลุยส์ในระหว่างพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ล วาดโดยซันดอร์ ลีเซน-มาเยอร์ วาดในปี ค.ศ. 1864

การเสด็จมาถึงของพระเจ้าชาร์ลมีการเตรียมการอย่างดี พระองค์เสด็จมาพร้อมกับผู้สนับสนุนชาวฮังการีของพระองค์ และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธก็ไม่ทรงสามารถจัดกองทัพออกมาต่อต้านหรือขัดขวางไม่ให้พระองค์เข้าไปในสภาได้ ซึ่งที่สภาพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์ เพื่อเปิดโอกาสให้พระเข้าชาร์ลประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1385[44] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกบังคับให้เข้าร่วมพระราชพิธี[45] และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาร์ล[46]

เมื่อปราศจากอำนาจ สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงแสร้งทำเป็นมิตรกับพระเจ้าชาร์ลในขณะที่ผู้ติดตามของพระเจ้าชาร์ลยังอยู่ในราชสำนัก แต่หลังจากผู้สนับสนุนเหล่านั้นเดินทางกลับ พระองค์ก็ทรงไร้ทางป้องกันพระองค์เอง[47] พระนางเอลิซาเบธทรงรีบเร่งเชิญพระเจ้าชาร์ลให้เสด็จมาเยี่ยมอดีตสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ปราสาทบูดอ เมื่อพระเจ้าชาร์ลเสด็จมาถึงในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1386 สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงให้ข้าราชบริพารของพระนางแทงพระเจ้าชาร์ลในห้องที่ประทับของพระนางและทรงแสดงตนที่นั่นด้วย พระองค์ทรงถูกนำเสด็จออกไปที่วิเซกราด ซึ่งพระองค์ทรงพระประชวรจากการบาดเจ็บและเสด็จสวรรคตในวันที่ 24 กุมภาพันธ์[45][47]

พระนางสามารถฟื้นฟูราชบัลลังก์ให้แก่พระราชธิดาได้ พระนางทรงประทานรางวัลแก่ผู้ที่ช่วยเหลือพระนางโดยทันที ทรงประทานปราสาทในเยเลเนคแก่ไบลซ์ ฟอร์กาช พนักงานเชิญจอกเสวย ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลบาดเจ็บ ในเดือนเมษายน พระเจ้าซีกิสมุนด์ทรงถูกนำเสด็จมาที่ฮังการีโดยพระเจ้าเวนสเลาส พระอนุชา และสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธกับสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกกดดันให้ยอมรับพระเจ้าซีกิสมุนด์เป็นพระประมุขร่วมกับพระนางแมรีในอนาคตตามสนธิสัญญากูร์[47] การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลไม่ได้ทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงพอพระทัยตามที่คาดหวัง ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลได้ยอมรับพระเจ้าลาดิสเลาสแห่งเนเปิลส์ พระโอรสให้เป็นองค์รัชทายาท[48]และหนีไปรวมกำลังที่ซาเกร็บ บิชอปปอลได้จำนองที่ดินของโบสถ์เพื่อรวบรวมเงินในการจัดตั้งกองกำลังต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถ[49]

สิ้นพระชนม์และผลที่ตามมา[แก้]

Man defending a carriage containing two women from a group of armed men
การายปกป้องสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรีจากการซุ่มโจมตี วาดโดยมิฮาลี โควักส์ เมื่อราว ค.ศ. 1895

สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงเชื่อว่าการปรากฏพระองค์ของพระราชธิดาจะช่วยให้ฝ่ายต่อต้านสงบลงได้[47] พระนางพร้อมด้วยการายและกลุ่มผู้ติดตามที่ไม่ก้าวร้าว[47]และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีเสด็จไปยังดาโกโว[48] แต่พระนางเอลิซาเบธทรงคาดการณ์ผิด ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1386 ขบวนเสด็จถูกซุ่มโจมตีระหว่างทางโดยจอห์น ฮอร์วัตในกอร์จานี[47][48] คณะผู้ติดตามซึ่งมีขาดเล็กล้มเหลวในการต่อสู้กับกองกำลังที่โจมตี่ การายถูกสังหารโดยกลุ่มกบฏและศีรษะของเขาถูกส่งไปให้สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์กาเร็ต พระมเหสีม่ายในพระเจ้าชาร์ล ในขณะที่สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกจองจำในปราสาทของบิชอปแห่งซาเกร็บที่กอมแน็ค[47] สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงยอมรับโทษทั้งหมดในฐานะกบฏและทรงร้องขอให้กลุ่มที่โจมตีไว้ชีวิตพระราชธิดา[50]

สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธและสมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกส่งไปยังปราสาทนอวิการ์ดโดยจอห์นแห่งปาลิสนาเป็นผู้คุมคนใหม่[48] สมเด็จพระพันปีหลวงมาร์กาเร็ตทรงยืนกรานว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธจะต้องถูกประหารชีวิต[51] มีความพยายามให้พระนางทรงมีความผิดฐานส่งเสริมการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ล หลังจากการพิจารณาคดีความถูกเลื่อนเนื่องจากวันคริสต์มาส[52] พระเจ้าซีกิสมุนด์ทรงยกทัพเข้าสลาโวเนียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1387 โดยทรงตั้งพระทัยให้ถึงนอวิการ์ดเพื่อช่วยเหลือสมเด็จพระราชินีทั้งสองพระองค์[53] ในช่วงกลางเดือนมกราคม เมื่อข่าวการรุกรานของกองทัพพระเจ้าซีกิสมุนด์ใกล้มาถึงนอวิการ์ด สมเด็จพระพันปีหลวงเอลิซาเบธทรงถูกบีบพระศอโดยทหารจนสิ้นพระชนม์ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถแมรี[48][52][53]

สมเด็จพระราชินีนาถแมรีทรงถูกปลดพระองค์ออกจากที่คุมขังโดยกองทัพของพระเจ้าซีกิสมุนด์ในวันที่ 4 มิถุนายน[52] พระศพของสมเด็จพระพันปีหลวงทรงถูกฝังอย่างลับๆที่โบสถ์แห่งนักบุญคริสโซโกนัสในซาดาร์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1387 พระศพของพระนางเอลิซาเบธถูกขุดขึ้นมาในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1390 ถูกเคลื่อนย้ายโดยทางทะเลไปยังโอโบรวักและจากนั้นถูกเคลื่อนย้ายมาทางภาคพื้นดินมาฝังพระศพที่บาซิลิกาซีเคสเฟเฮวาร์[54]

มรดก[แก้]

A street sign
"ถนนสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ คอโตรมานิค ผู้บริจาคหีบแห่งนักบุญซีโมน" ในซาดาร์

พระนางเอลิซาเบธทรงได้รับการยกย่องโดยเชื้อสายของพระนางว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถแต่มีความโหดเหี้ยม โดยเป็นผู้วางกลอุบายทางการเมืองเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของพระราชธิดา[55] พระนางเป็นมารดาผู้ห่วงใยและเอาใจใส่ แต่ก็ไม่ทรงมีทั้งความสามารถและอำนาจทางการเมืองในการเตรียมความพร้อมให้สมเด็จพระราชินีนาถแมรีและสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาแสดงบทบาทในฐานะพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงล้มเหลวในการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระราชธิดา และพระอุปนิสัยที่เอนเอียงกับกลวิธีทางการเมืองอันเป็นที่น่าเคลือบแคลงของพระนางกลายเป็นข้อย้ำเตือนแก่ผู้ปกครองวัยเยาว์ การไร้ความสามารถและการรีรอของพระนางในการตัดสินพระทัยให้ชัดเจนเป็นสิ่งที่คุกคามสถานะของสมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกา ในขณะที่พระนางทรงมีปัญหาที่ไม่รู้จบกับขุนนางโครเอเชียและทรงล้มเหลวในการพัฒนาความสัมพันธ์กับขุนนางบอสเนียซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกับพระนาง สิ่งเหล่านี้ทำให้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีสั่นคลอนและวุ่นวาย[40]

สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงมีบทบาทในการจัดสร้างหีบแห่งนักบุญซีโมนในปี ค.ศ. 1381 หีบประดิษฐานอยู่ที่ซาดาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น การสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาของพระนาง และการสิ้นพระชนม์ของพระนางเอง ตามตำนานกล่าวว่า พระนางทรงขโมยนิ้วมือของนักบุญและทรงจัดสร้างหีบนี้ขึ้นมาเพื่อชดใช้บาปของพระนางเอง[56] หีบนี้มีฉากแสดงถึงการกล่าวหาว่าสมเด็จพระราชินีทรงมีพระสติวิปลาสหลังจากทรงขโมยชิ้นส่วนของนักบุญไป[57]

แผนผังตระกูล[แก้]

นี่คือแผนผังแสดงเครือญาติของพระนางเอลิซาเบธและพระสวามี และรวมทั้งความสัมพันธ์ของพระนางและพระราชธิดากับศัตรูของพระนาง[11][12][58][59]

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เครซิเมียร์ที่ 1 แห่งคูยาเวีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เจ้าหญิงแมรีแห่งฮังการี
 
 
 
 
 
พระเจ้าวลาดิสเลาสที่ 1 แห่งโปแลนด์
 
 
ซีโมมิสแห่งคูยาเวีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
จอห์น ดยุกแห่งดูราซโซ
 
 
 
พระเจ้าชาร์ล มาร์แตลแห่งโครเอเชีย
 
 
 
 
พระเจ้าเครซิเมียร์ที่ 3 แห่งโปแลนด์
 
เครซิเมียร์ที่ 2 แห่งคูยาเวีย
 
 
 
เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งเซอร์เบีย
 
สตีเฟนที่ 1 บานแห่งบอสเนีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ชาร์ล ดยุกแห่งดูราซโซ
 
หลุยส์ เคานท์แห่งกราวินา
 
พระเจ้าชาร์ลที่ 1 แห่งฮังการี
 
เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งโปแลนด์
 
วลาดิสเลาสแห่งคูยาเวีย
 
เอลิซาเบธแห่งคูยาเวีย
 
สตีเฟนที่ 2 บานแห่งบอสเนีย
 
วลาดิสลาฟแห่งบอสเนีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
มาร์กาเร็ตแห่งดูราซโซ
 
พระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์
 
 
 
พระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการี
 
 
 
 
 
 
 
 
 
เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย
 
 
 
พระเจ้าทวตโกที่ 1 แห่งบอสเนีย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
พระเจ้าลาดิสเลาสแห่งเนเปิลส์
 
 
 
 
 
 
 
เจ้าหญิงแคทเทอรีนแห่งฮังการี
 
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งฮังการี
 
สมเด็จพระราชินีนาถเจดวิกาแห่งโปแลนด์
 
 

เชิงอรรถ[แก้]

  1. บอสเนีย : Елизабета Котроманић; ฮังการี: Kotromanics Erzsébet; โปแลนด์: Elżbieta Bośniaczka
  2. 2.0 2.1 Engel 1999, pp. 163.
  3. Kellogg 1936, pp. 9.
  4. Rudzki 1990, pp. 47.
  5. 5.0 5.1 Engel 1999, pp. 171.
  6. InstytutHistorii 2004.
  7. Van Antwerp Fine 1994, pp. 323.
  8. Várdy 1986, pp. 226.
  9. Michael 1997, pp. 303.
  10. Bertényi 1989, pp. 89.
  11. 11.0 11.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 88.
  12. 12.0 12.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 40.
  13. Van Antwerp Fine 1994, pp. 369.
  14. Várdy, Grosschmid, Domonkos 1986, pp. 147.
  15. Jasienica 1978, pp. 6.
  16. Rożek 1987, pp. 49.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 Engel 1999, pp. 169.
  18. Gromada & Halecki 1991, pp. 49.
  19. Jansen 2004, pp. 13.
  20. Johnson & Wogan-Browne 1999, pp. 203.
  21. Reddaway 1950, pp. 193.
  22. Engel 1999, pp. 174.
  23. Engel 1999, pp. 170.
  24. Gromada & Halecki 1991, pp. 69.
  25. Gromada & Halecki 1991, pp. 73.
  26. 26.0 26.1 Engel 1999, pp. 188.
  27. Gromada & Halecki 1991, pp. 75.
  28. Gromada & Halecki 1991, pp. 97.
  29. Engel 1999, pp. 195.
  30. Van Antwerp Fine 1994, pp. 395.
  31. Goodman & Gillespie 2003, pp. 208.
  32. 32.0 32.1 Varga 1982, pp. 41.
  33. 33.0 33.1 Przybyszewski 1997, pp. 7.
  34. 34.0 34.1 34.2 Gromada & Halecki 1991, pp. 101.
  35. Przybyszewski 1997, pp. 8.
  36. Przybyszewski 1997, pp. 97.
  37. 37.0 37.1 Goodman & Gillespie 2003, pp. 221.
  38. Gromada & Halecki 1991, pp. 109.
  39. Przybyszewski 1997, pp. 10.
  40. 40.0 40.1 Gromada & Halecki 1991, pp. 85.
  41. McKitterick 2000, pp. 709–712.
  42. Lithuanian historical studies 1996, pp. 10–11.
  43. Goodman & Gillespie 2003, pp. 222–223.
  44. 44.0 44.1 44.2 Engel 1999, pp. 196–197.
  45. 45.0 45.1 Grierson & Travaini 1998, pp. 236.
  46. Gromada & Halecki 1991, pp. 146.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 47.6 Engel 1999, pp. 198.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 48.4 Van Antwerp Fine 1994, pp. 396–397.
  49. Šišić 1902, pp. 50.
  50. Duggan 2002, pp. 231.
  51. Gaži 1973, pp. 61.
  52. 52.0 52.1 52.2 Gromada & Halecki 1991, pp. 164.
  53. 53.0 53.1 Engel 1999, pp. 199.
  54. Petricioli 1996, pp. 196.
  55. Parsons 1997, pp. 16.
  56. Stewart 2006, pp. 210.
  57. Filozofski fakultet u Zadru 1976, pp. 455.
  58. Creighton 2011, pp. 69.
  59. Kosáry & Várdy 1969, pp. 418.

อ้างอิง[แก้]

  • Bertényi, Iván (1989). Nagy Lajos király. Kossuth Könyvkiadó. ISBN 963-09-3388-8.
  • Creighton, Mandell (2011). A History of the Papacy During the Period of the Reformation. Cambridge University Press. ISBN 1-108-04106-X.
  • Duggan, Anne J. (2002). Queens and Queenship in Medieval Europe: Proceedings of a Conference Held at King's College London, April 1995. Boydell Press. ISBN 0-85115-881-1.
  • Engel, Pal (1999). Ayton, Andrew (บ.ก.). The realm of St. Stephen: a history of medieval Hungary, 895–1526 Volume 19 of International Library of Historical Studies. Penn State Press. ISBN 0-271-01758-9.
  • Radovi: Razdio filoloških znanosti. Vol. 9. Filozofski fakultet u Zadru. 1976.
  • Gaži, Stephen (1973). A History of Croatia. Philosophical Library.
  • Goodman, Anthony; Gillespie, James (2003). Richard II: The Art of Kingship. Oxford University Press. ISBN 0-19-926220-9.
  • Grierson, Philip; Travaini, Lucia (1998). Medieval European coinage: with a catalogue of the coins in the Fitzwilliam Museum, Cambridge, Volume 14. Cambridge University Press. ISBN 0-521-58231-8.
  • Gromada, Tadeusz; Halecki, Oskar (1991). Jadwiga of Anjou and the rise of East Central Europe. Social Science Monographs. ISBN 0-88033-206-9.
  • Instytut Historii (Polska Akademia Nauk) (2004). Acta Poloniae historica, Issues 89–90. Zakład Narodowy im. Ossolińskich.
  • Jansen, Sharon L. (2004). Anne of France : lessons for my daughter – Library of medieval women. DS Brewer. ISBN 1-84384-016-2.
  • Jasienica, Paweł (1978). Jagiellonian Poland. American Institute of Polish Culture. ISBN 978-1-881284-01-7.
  • Johnson, Ian Richard; Wogan-Browne, Jocelyn (1999). The idea of the vernacular: an anthology of Middle English literary theory, 1280–1520 Library of medieval women. Penn State Press. ISBN 0-271-01758-9.
  • Kellogg, Charlotte (1936). Jadwiga, Queen of Poland. Anderson House.
  • Lietuvos Istorijos institutas (Lietuvos Mokslų akademija) (1996). Lithuanian historical studies, Volume 1. The Institute.
  • McKitterick, Rosamond (2000). Jones, Michael (บ.ก.). The New Cambridge Medieval History: c. 1300–c. 1415. Cambridge University Press. ISBN 0-521-36290-3.
  • Kosáry, Domokos G.; Várdy, Steven Béla (1969). History of the Hungarian Nation. Danubian Press.
  • Maurice, Michael (1997). The Annals of Jan Długosz: An English Abridgement, Part 1480. IM Publications. ISBN 1-901019-00-4.
  • Parsons, John Carmi (1997). Medieval Queenship. Palgrave Macmillan. ISBN 0-312-17298-2.
  • Petricioli, Ivo (1996). Srednjovjekovnim graditeljima u spomen (ภาษาโครเอเชีย). Književni krug.
  • Przybyszewski, Bolesław (1997). Saint Jadwiga, Queen of Poland 1374–1399. Veritas Foundation Publication Centre. ISBN 0-948202-69-6.
  • Reddaway, William Fiddian (1950). The Cambridge history of Poland. Cambridge University Press.
  • Rożek, Michał (1987). Polskie koronacje i korony (ภาษาโปแลนด์). Krajowa Agencja Wydawnicza. ISBN 83-03-01913-9.
  • Rudzki, Edward (1990). Polskie królowe (ภาษาโปแลนด์). Instytut Prasy i Wydawnictw "Novum".
  • Stewart, James (2006). Croatia. New Holland Publishers. ISBN 1-86011-319-2.
  • Šišić, Ferdo (1902). Vojvoda Hrvoje Vukc̆ić Hrvatinić i njegovo doba (1350–1416) (ภาษาโครเอเชีย). Zagreb: Matice hrvatske.
  • Van Antwerp Fine, John (1994). The Late Medieval Balkans: A Critical Survey from the Late Twelfth Century to the Ottoman Conquest. University of Michigan Press. ISBN 0-472-08260-4.
  • Várdy, Steven Béla; Grosschmid, Géza; Domonkos, Leslie S. (1986). Louis the Great: King of Hungary and Poland. East European Monographs. ISBN 0-88033-087-2.
  • Varga, Domonkos (1982). Hungary in greatness and decline: the 14th and 15th centuries. Hungarian Cultural Foundation. ISBN 0-914648-11-X.
ก่อนหน้า เอลิซาเบธแห่งบอสเนีย ถัดไป
ว่าง
ตำแหน่งก่อนหน้า
เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งโบฮีเมีย

สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีและโครเอเชีย
(20 มิถุนายน ค.ศ. 135310 กันยายน ค.ศ. 1382)
ว่าง
ตำแหน่งถัดไป
มาร์กาเร็ตแห่งดูราซโซ
เฮดวิกแห่งซากัน
สมเด็จพระราชินีแห่งโปแลนด์
(5 พฤศจิกายน ค.ศ. 137010 กันยายน ค.ศ. 1382)
ว่าง
ตำแหน่งถัดไป
แอนนาแห่งซิลลี