ข้ามไปเนื้อหา

เหนียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประติมากรรมหินสลักเหนียน ในยุคราชวงศ์หมิง อันเป็นส่วนผสมของสัตว์หลายชนิด ที่สุสานราชวงศ์หมิง

เหนียน (จีนตัวเต็ม: 年獸; จีนตัวย่อ: 年兽; พินอิน: nián shòu) เป็นสัตว์ประหลาดหรือปีศาจตามเทพปกรณัมของจีน

เหนียน เป็นสัตว์ประหลาดตัวใหญ่ หัวมีขนรุงรัง ดุร้ายเป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่สัตว์ร้ายอย่าง หมี, เสือ, สิงโต หรืองูพิษ ไม่อาจทำอะไรได้ เหนียน อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกเป็นเวลายาวนาน ทุกปีพอถึงวันสิ้นปีก็จะปีนขึ้นฝั่ง มาทำร้ายผู้คนและสัตว์เลี้ยง ดังนั้นทุกปีพอถึงวันสิ้นปี (คืนก่อนวันตรุษจีน) ผู้คนในหมู่บ้านบนภูเขาต่างก็อุ้มลูกจูงหลานเข้าไปในหุบเขาลึก เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ เหนียน มาทำร้าย ทุกครั้งที่เหนียนอาละวาด ผู้คนจะหวาดกลัวมาก

มีอยู่ปีหนึ่ง ในคืนก่อนวันตรุษจีน ชาวบ้านก็พากันไปหลบซ่อนเช่นเดิม แต่มีชายแก่ขอทานคนหนึ่ง ลักษณะผมขาว หน้าแดงมีเลือดฝาด กระปรี้กระเปร่า ท่าทางมีน้ำใจ ไม่ยอมหนีไปไหน ทั้งที่ชาวบ้านได้เตือนให้เขาไปหลบซ่อนตัวจากเหนียน

ชายแก่ลูบเคราแล้วยิ้ม กล่าวว่า “ หากแม้นว่าท่านให้ข้าพักที่นี่หนึ่งคืน ข้าจะขับไล่ปีศาจเหนียนให้ท่าน ” ยายแก่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน และเป็นผู้ที่เคยให้อาหารกับชายแก่ขอทานมองเขาอย่างตกตะลึง แต่ก็ยังคงแนะให้เขาหลบหนีต่อไป ชายแก่ขอทานยิ้มแต่ไม่ได้พูดอะไร ยายแก่ไม่มีทางเลือก จำต้องทิ้งบ้านขึ้นเขาไปหลบภัย และปล่อยชายแก่ขอทานไว้ตามลำพัง

พอถึงเที่ยงคืน ปีศาจเหนียนก็ตรงดิ่งมายังหมู่บ้าน มันพบว่าบรรยากาศในหมู่บ้านไม่เหมือนกับทุกปี

บ้านของยายแก่ทางด้านตะวันออก มีกระดาษสีแดงแปะไว้บนบานประตู ในบ้านจุดเทียนสว่างไสว ปีศาจเหนียนตัวสั่นเทาไปหมดทั้งร่าง ส่งเสียงร้องออกมาทีหนึ่ง ปีศาจเหนียนจ้องเขม็งยังบ้านของยายแก่ชั่วครู่ ทันใดนั้นมันก็วิ่งเข้าไปอย่างบ้าคลั่ง

พอเข้าไปใกล้ประตู ภายในบ้านก็มีเสียงประทัดดัง “ปัง ปัง” ขึ้นมา ปีศาจเหนียนตัวสั่นเทิ้ม ไม่กล้าเข้าไปใกล้อีก แท้จริงแล้ว ปีศาจเหนียนกลัวสีแดง แสงไฟ และเสียงประทัดที่สุด เวลานั้นเองประตูบ้านของยายแก่ก็เปิดออก

มีเพียงชายชราที่ใส่ชุดยาวสีแดงยืนหัวเราะเสียงดังอยู่ เจ้าเหนียนหน้าถอดสี แล้ววิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงไป[1]

จากความเชื่อตรงนี้ เป็นที่มาของการจุดประทัดในช่วงตรุษจีน ประดับบ้านเรือนหรือสถานที่ต่าง ๆ ด้วยสีแดงของชาวจีนในโอกาสต่าง ๆ และกลายเป็นสีที่เชื่อว่า เป็นสีมงคล ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ตามคตินิยมของชาวจีน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://baike.baidu.com/item/%E5%B9%B4%E5%85%BD/1558021
  2. เรื่องของเหนียน หน้า 41-47. สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง, แปลและเรียบเรียงโดย แสงจินดา กันยาทิพย์, (พ.ศ. 2541) สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ISBN 974-604-217-3