เหตุเครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม พ.ศ. 2533
![]() | ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สรุปเหตุการณ์ | |
---|---|
วันที่ | 2 ตุลาคม ค.ศ. 1990 |
สรุป | การจี้เครื่องบินซึ่งนำไปสู่เหตุเครื่องบินชนกัน |
จุดเกิดเหตุ | ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม กว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 23°11′14″N 113°16′05″E / 23.1872°N 113.2680°Eพิกัดภูมิศาสตร์: 23°11′14″N 113°16′05″E / 23.1872°N 113.2680°E |
เสียชีวิต | 128 |
บาดเจ็บ | 53 |
รอดชีวิต | 97 |
อากาศยานลำแรก | |
![]() เครื่องบินโบอิง 737-200 ของเซี่ยเหมินแอร์ไลน์ซึ่งยังคงใช้ลายของสายการบินซีเอเอซีแอร์ไลน์คล้ายกับเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภท | โบอิง 737-247 |
ดําเนินการโดย | เซี่ยเหมินแอร์ไลน์ |
หมายเลขเที่ยวบิน IATA | MF8301 |
หมายเลขเที่ยวบิน ICAO | CXA8301 |
รหัสเรียก | XIAMEN AIR 8301 |
ทะเบียน | B-2510 |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี เซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม |
จำนวนคน | 102 |
ผู้โดยสาร | 93 |
ลูกเรือ | 9 |
เสียชีวิต | 82 |
บาดเจ็บ | 18 |
รอดชีวิต | 20 |
อากาศยานลำที่สอง | |
![]() เครื่องบินโบอิง 757-200 ของไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ซึ่งยังคงใช้ลายของสายการบินซีเอเอซีแอร์ไลน์คล้ายกับเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภท | โบอิง 757-21B |
ดำเนินการโดย | ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ |
หมายเลขเที่ยวบิน IATA | CZ3523 |
หมายเลขเที่ยวบิน ICAO | CSN3523 |
รหัสเรียก | CHINA SOUTHERN 3523 |
ทะเบียน | B-2812 |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติช่างไห่หงเฉียว นครเซี่ยงไฮ้ |
จำนวนคน | 122 |
ผู้โดยสาร | 110 |
ลูกเรือ | 12 |
เสียชีวิต | 46 |
บาดเจ็บ | 34 |
รอดชีวิต | 76 |
อากาศยานลำที่สาม | |
![]() เครื่องบินโบอิง 707-300บี ของไชนาเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ซึ่งยังคงใช้ลายของสายการบินซีเอเอซีแอร์ไลน์คล้ายกับเครื่องบินลำที่เกิดเหตุ | |
ประเภท | โบอิง 707-3J6B |
ดำเนินการโดย | ไชนาเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ |
หมายเลขเที่ยวบิน IATA | SZ4305 |
หมายเลขเที่ยวบิน ICAO | CXN4305 |
รหัสเรียก | CHINA SOUTHWEST 4305 |
ทะเบียน | B-2402 |
ต้นทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูชวงหลิว เฉิงตู มณฑลเสฉวน |
ปลายทาง | ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม |
จำนวนคน | 1 |
ผู้โดยสาร | 0 |
ลูกเรือ | 1 |
เสียชีวิต | 0 |
บาดเจ็บ | 1 |
รอดชีวิต | 1 (ทั้งหมด) |
เหตุเครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม พ.ศ. 2533 (จีน: 广州白云机场劫机相撞事件; พินอิน: Guǎngzhōu Báiyún Jīchǎng jiéjī xiāngzhuàng shìjiàn; แปลตรงตัว: "เหตุจี้เครื่องบินและเครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานกว่างโจวไป๋-ยฺหวิน"; อังกฤษ: 1990 Guangzhou Baiyun airport collisions) เป็นอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิม ในเหตุการณ์นี้เครื่องบินโบอิง 737 ของเซี่ยเหมินแอร์ไลน์ (เที่ยวบินที่ 8301) ที่ถูกสลัดอากาศจี้ชนกับเครื่องบินอีกสองลำบนรันเวย์ของท่าอากาศยานขณะพยายามลงจอด เครื่องบินสองลำที่ถูกชนได้แก่เครื่องบินโบอิง 707 ของไชนาเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ (เที่ยวบินที่ 4305) ซึ่งได้รับความเสียหายเล็กน้อย และเครื่องบินโบอิง 757 ของไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ (เที่ยวบินที่ 3523) ซึ่งรอบินขึ้นจากท่าอากาศยาน มีผู้เสียชีวิตรวม 128 คนจากเที่ยวบินที่ 8301 และเที่ยวบินที่ 3523
อากาศยานและเที่ยวบิน[แก้]




เครื่องบินที่เกี่ยวข้องในอุบัติเหตุครั้งนี้จำนวน 3 ลำเป็นเครื่องบินของโบอิงทั้งหมด ได้แก่
- เซี่ยเหมินแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 8301 (เซี่ยเหมิน–กว่างโจว) เครื่องบินโบอิง 737-200 หมายเลขทะเบียน B-2510[1] จากท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมินเกาฉี นครเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน
- ไชนาเซาท์เวสต์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 4305 (เฉิงตู–กว่างโจว) เครื่องบินโบอิง 707-300บี หมายเลขทะเบียน B-2402[2] จากท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูชวงหลิว นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน
- ไชนาเซาเทิร์นแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 3523 (กว่างโจว–เซี่ยงไฮ้) เครื่องบินโบอิง 757-200 หมายเลขทะเบียน B-2812[3] ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติช่างไห่หงเฉียว นครเซี่ยงไฮ้
เครื่องบินทั้งสามลำยังคงใช้ลายของสายการบินซีเอเอซีแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินประจำสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (ซีเอเอซี) หลังจากที่ซีเอเอซีแอร์ไลน์ได้แยกกิจการออกเป็นหกสายการบินตามภูมิภาคที่ตั้ง
ลำดับเหตุการณ์[แก้]
ในบทความนี้จะแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสองช่วง ได้แก่การจี้เที่ยวบินที่ 8301 และการลงจอดที่ท่าอากาศยานซึ่งเครื่องบินได้ชนกับเครื่องบินอีกสองลำ
การจี้เที่ยวบินที่ 8301[แก้]
หลังจากที่เที่ยวบิน 8301 บินขึ้นจากเซี่ยเหมิน สลัดอากาศผู้ก่อเหตุเดินถือช่อดอกไม้ไปยังห้องนักบิน ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอนุญาตให้เข้าไปได้ รายงานในนิตยสาร ไทม์ ระบุว่าเจ้าหน้าที่น่าจะคิดว่าช่อดอกไม้ดังกล่าวเป็นของขวัญเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่จะนำไปมอบให้นักบิน และระบุเพิ่มเติมว่าเมื่อเข้าไปในห้องนักบินแล้ว สลัดอากาศเปิดเสื้อแสดงให้เห็นว่ามีระเบิดผูกติดตัว และสั่งให้ลูกเรือออกไปจากห้องนักบินทั้งหมดยกเว้นกัปตัน[4]เฉิน หลงยฺวี่ (จีน: 岑龍裕; พินอิน: Cén Lóngyù)[5] ซึ่งสลัดอากาศได้สั่งให้บินไปยังไทเป ประเทศไต้หวัน กัปตันเฉินขัดขืนและบินมุ่งหน้าไปยังกว่างโจวตามเส้นทางบินเดิม รายงานจากสำนักข่าวซินหัวไม่ได้ระบุสาเหตุที่กัปตันไม่ยอมทำตามคำขอของสลัดอากาศ[6]
เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศไม่สามารถติดต่อกับเที่ยวบินที่ 8301 ได้ชั่วขณะ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานกว่างโจวไป๋-ยฺหวินเดิมจะสามารถติดต่อได้ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้นำเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานแห่งใดก็ได้ไม่ว่าจะนอกหรือในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ตาม กัปตันแจ้งกลับไปว่าเครื่องบินมีเชื้อเพลิงเหลือพอที่จะไปยังกว่างโจวหรือไขตั๊กในฮ่องกงเท่านั้น เจ้าหน้าที่จราจรอนุญาตให้นำเครื่องลงจอดที่ไขตั๊กเพื่อเติมเชื้อเพลิงและบินต่อไปยังไทเป แต่สลัดอากาศไม่ยินยอมและขู่ว่าจะระเบิดเครื่องบินถ้ากัปตันนำเครื่องลงที่ฮ่องกง กัปตันพยายามเจรจากับสลัดอากาศและนำเครื่องบินวนรอบกว่างโจวจนกระทั่งเชื้อเพลิงใกล้หมดและลงจอดที่กว่างโจว[5]
เที่ยวบินที่ 8301 ลงจอดและชนกับเครื่องบินอีกสองลำ[แก้]
ก่อนลงจอด สลัดอากาศได้ต่อสู้กับนักบินเพื่อเข้าควบคุมเครื่องบินแทน เที่ยวบินที่ 8301 ลงจอดด้วยความเร็วสูงกว่าปกติ และเฉี่ยวกับเที่ยวบินที่ 4305 ซึ่งเพิ่งเดินทางจากเฉิงตูมาถึงกว่างโจว นักบินของเที่ยวบินที่ 4305 ซึ่งเป็นคนเดียวที่อยู่บนเครื่องบินได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย[2] เที่ยวบินที่ 8301 ยังคงเคลื่อนที่ต่อไปและชนเข้ากับเที่ยวบินที่ 3523[7]ซึ่งกำลังรอบินขึ้นเพื่อเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ เที่ยวบินที่ 8301 พลิกหงายท้องและไถลต่อไประยะหนึ่งจึงหยุด[8]
ลูกเรือ 7 คนจาก 9 คน และผู้โดยสาร 75 คนจาก 93 คนบนเที่ยวบินที่ 8301 เสียชีวิต ในจำนวนนี้มีผู้โดยสารชาวไต้หวันจำนวน 30 คน ชาวฮ่องกงจำนวน 3 คน และชาวอเมริกันจำนวน 1 คน[1] ในขณะที่ผู้โดยสาร 46 คนจาก 110 คนบนเที่ยวบินที่ 3523 เสียชีวิต ส่วนลูกเรือทั้ง 12 คนรอดชีวิตทั้งหมด[3] ผู้โดยสาร 46 คนที่เสียชีวิตเป็นชาวไต้หวัน 8 คน[9] โดยสรุปแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 128 คน[6] ซึ่งรวมถึงสลัดอากาศด้วย[4]
ผู้ก่อเหตุ[แก้]
สลัดอากาศผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ได้แก่เจี๋ยง เสี่ยวเฟิง[note 1] (จีนตัวย่อ: 蒋晓峰; จีนตัวเต็ม: 蔣曉峰; พินอิน: Jiăng Xiăofēng) เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1969 ที่อำเภอหลินหลี่ มณฑลหูหนาน[5][10] ซึ่งต้องการลี้ภัยทางการเมืองไปไต้หวัน
เจี่ยงเคยถูกจับกุมข้อหาลักทรัพย์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1988 และต่อมาขณะที่เขาทำงานเป็นตัวแทนจัดซื้อสินค้าใน ค.ศ. 1990 เขาขโมยเงินซึ่งบริษัทมอบหมายให้เขาจัดซื้อสินค้ามูลค่า 17000 เหรินหมินปี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เขาถูกออกหมายจับซึ่งยังคงมีผลอยู่ในช่วงที่เขาก่อเหตุ[10]
สองเดือนถัดมาในวันที่ 29 กันยายน เจี่ยงเช็กอินเข้าพักในโรงแรมใกล้เขตเมืองเซี่ยเหมินและจองที่นั่งบนเที่ยวบินที่ 8301 ในวันถัดมา ในวันเกิดเหตุเขาเช็กเอาต์จากโรงแรมประมาณ 6 นาฬิกา และพยานระบุว่าเขาสวมสูทสีดำและรองเท้าสีดำ มีกระเป๋าเสื้อผ้าสีดำและช่อดอกกุหลาบพลาสติก เจี่ยงขึ้นเครื่องบินคนสุดท้าย และที่นั่งของเขาคือ 16ดี[11]
หมายเหตุ[แก้]
- ↑ นามสกุล "เจี่ยง" เป็นคำวรรณยุกต์เสียงสาม เมื่อประสมกับชื่อ "เสี่ยวเฟิง" ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำวรรณยุกต์เสียงสามเช่นกัน "เจี่ยง" จะเปลี่ยนเสียงเป็นเสียงสองหรือ "เจี๋ยง"
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 Hijacking description for B-2510 at the Aviation Safety Network
- ↑ 2.0 2.1 Accident description for B-2402 at the Aviation Safety Network
- ↑ 3.0 3.1 Accident description for B-2812 at the Aviation Safety Network
- ↑ 4.0 4.1 "World Notes CHINA". TIME. 15 October 1990. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 23, 2012. สืบค้นเมื่อ 24 November 2009.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "Lessons Learned from Hijacking" (PDF). Flight Safety Digest. Flight Safety Foundation. December 1990. p. 13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 February 2013. สืบค้นเมื่อ 23 November 2012.
- ↑ 6.0 6.1 Kristof, Nicholas D. (10 October 1990). "Hijacking Prompts Beijing Shake-Up". The New York Times. p. 3. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ November 24, 2009.
- ↑ "广州10.2空难回顾" [Guangzhou 10.2 air crash review] (ภาษาจีน). Guangzhou Daily. 2015-02-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-04. สืบค้นเมื่อ 2019-07-19.
- ↑ Wudunn, Sheryl (3 October 1990). "127 Killed in Jetliner Collision in China". The New York Times. p. 3. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 24 November 2009.
- ↑ FCJ Editors. "Relatives Bring Ashes Home In Sorrow, Anger" (Archive). Taiwan Journal. 15 October 1990.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 10.0 10.1 周益 朱林 (2009-06-12). 白云机场"10·2"特大空难揭秘 ["10·2" Extraordinary Air Accident at Baiyun Airport Revealed]. 周末 (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-22. สืบค้นเมื่อ 2011-06-12.
- ↑ "1990年厦航客机空难揭秘 客机遭劫撞毁空姐玉殒" [The secret of the 1990 Xiamen Airlines passenger plane crash revealed. The passenger plane was hijacked and crashed and the flight attendant Yu died]. www.fjsen.com (ภาษาจีน). 2009-06-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-06-17.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- Special Report: Xiamen Airlines Flight 8301 บนเว็บไซต์ AirDisaster.Com (สำเนา)
- รายละเอียดเหตุการณ์ในวารสาร Flight Safety Digest ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. 1990( เก็บถาวร 2013-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)