เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย
เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย | |
---|---|
เคานต์ฟอนแครมม์อธิบายสถานการณ์ของเขาต่อโฮมส์และวัตสัน ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ตในปี ค.ศ. 1891 | |
ผู้ประพันธ์ | อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ |
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | A Scandal in Bohemia |
ผู้แปล | อ. สายสุวรรณ |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
ภาษา | อังกฤษ |
ชุด | เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย |
ประเภท | เรื่องสั้นนวนิยายนักสืบ |
วันที่พิมพ์ | มิถุนายน ค.ศ. 1891 |
เรื่องก่อนหน้า | จัตวาลักษณ์ |
เรื่องถัดไป | สันนิบาตผมแดง |
ข้อความ | เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ที่ วิกิซอร์ซ |
"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย"[1] หรือ "เรื่องอื้อฉาวในโบฮีเมีย"[2] (อังกฤษ: A Scandal in Bohemia) เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกและและเป็นผลงานลำดับที่ 3 ของอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ที่มีเชอร์ล็อก โฮมส์เป็นตัวละครนักสืบหลัก เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกจากเรื่องสั้นเกี่ยวกับโฮมส์ทั้งหมด 56 เรื่องที่เขียนโดยดอยล์และเป็นเรื่องแรกจากทั้งหมด 38 เรื่องที่วาดภาพประกอบโดยซิดนีย์ พาเก็ต เรื่องสั้นเรื่องนี้มีชื่อเสียงจากการเป็นเรื่องราวเปิดตัวของตัวละครไอรีน อัดเลอร์ ผู้เป็นหนึ่งในตัวละครหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในซีรีส์เชอร์ล็อก โฮมส์ แม้จะปรากฏตัวในเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียว[3] ดอยล์จัดให้ "เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" อยู่ในอันดับที่ 5 ของรายการเรื่องราวเกี่ยวกับโฮมส์ 12 เรื่องที่ชื่นชอบ[4]
"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" ตีพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1891 ใน นิตยสารสแตรนด์ฉบับเดือนกรกฎาคม[5] และเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย ในปี ค.ศ. 1892
เนื้อเรื่อง
[แก้]แกรนด์ดยุกแห่งคัสเซล-เฟลชไตน์และพระราชาผู้สืบราชสันตติวงศ์แห่งโบฮีเมียเสด็จมาเยือนบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ พระราชาตรัสว่าเมื่อ 5 ปีก่อน พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ลับ ๆ กับไอรีน อัดเลอร์นักร้องอุปรากรชาวอเมริกา พระองค์ทรงมีกำหนดจะอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงแห่งสแกนดิเนเวีย แต่พระองค์ทรงกังวลว่าราชวงศ์ของเจ้าหญิงจะเพิกถอนการสมรสหากเรื่องความไม่เหมาะไม่ควรนี้ถูกเปิดเผย พระราชาทรงพยายามจะนำภาพถ่ายที่ทรงฉายด้วยกันกับอัดเลอร์ซึ่งพระองค์มอบให้อัดเลอร์เป็นที่ระลึกคืนมา แต่อัดเลอร์ข่มขู่ว่าจะส่งภาพถ่ายนี้ไปยังราชวงศ์ของคู่หมั้นของพระองค์
เช้าวันต่อมา โฮมส์ปลอมตัวเป็นคนว่างงานสะกดรอยตามอัดเลอร์ อัดเลอร์นั้นเข้าพิธีสมรสกับนอร์ตันสามีในโบสถ์ใกล้เคียง โฮมส์ที่กำลังปลอมตัวได้รับการขอร้องให้ช่วยเป็นพยานในพิธีสมรส ไม่นานหลังจากนั้น โฮมส์และวัตสันดำเนินแผนทำให้โฮมส์ที่ปลอมตัวเป็นบาทหลวงได้รับอนุญาตจากอัดเลอร์ให้เข้ามาในบ้าน แล้วสร้างสถานการณ์ให้เกิดควันเหมือนเกิดไฟไหม้เพื่อล่อให้อัดเลอร์เผยที่ซ่อนของภาพถ่าย คืนนั้นหลังจากโฮมส์และวัตสันหนีมาจากบ้านของอัดเลอร์แล้ว ได้ทูลเสนอให้พระราชาเสด็จไปที่บ้านของอัดเลอร์ในเช้าวันรุ่งขึ้น
เมื่อโฮมส์ วัตสัน และพระราชามาถึงบ้านของอัดเลอร์ในเช้าวันถัดมาเพื่อไปเอารูปถ่าย คนรับใช้หญิงชราแจ้งว่าอัดเลอร์ออกนอกประเทศทางรถไฟไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า โฮมส์เข้าไปยังจุดที่ซ่อนภาพถ่าย ก็พบกับภาพถ่ายของไอรีน อัดเลอร์ในชุดราตรี และจดหมายที่เขียนถึงโฮมส์ ในจดหมายอัดเลอร์บอกว่าเธอได้ออกจากอังกฤษกับนอร์ตันและให้คำมั่นว่าเธอจะไม่ทำตัวเป็นภัยต่อพระราชาอีก
วัตสันสรุปเรื่องราวนี้ว่าโฮมส์มักจะกล่าวถึงอัดเลอร์ด้วยความให้เกียรติว่า "ยอดสตรี"
ความสัมพันธ์ระหว่างโฮล์มส์และอัดเลอร์
[แก้]อัดเลอร์ได้รับการชื่นชมจากโฮล์มส์เป็นอย่างสูง[6] เมื่อพระราชาแห่งโบฮีเมียตรัสว่า "อย่างนี้แล้วหล่อนจะไม่เป็นราชินีที่น่าบูชาหรือ มันน่าเสียดายไหมที่หล่อนไม่มาเกิดในระดับเดียวกันฉัน" โฮล์มส์ทูลตอบว่าอัดเลอร์อยู่ในระดับที่แตกต่างจากพระราชาจริง ๆ บ่งบอกว่าเธออยู่ในฐานะเหนือกว่าพระราชามาโดยตลอด[7]
ช่วงต้นเรื่องของ "เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" บรรยายถึงความนับถืออย่างสูงที่โฮล์มส์มีต่ออัดเลอร์:
สำหรับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ แล้ว หล่อนเป็นยอดหญิงเสมอ ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้ยินเขาเอ่ยถึงหล่อนในชื่ออื่นเลย ในสายตาของเขานั้น เพศของหล่อนไม่มีความสำคัญหรืออิทธิพลเหนือตัวหล่อนเลย ทั้งนี้ใช้ว่าเขาจะมีอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ที่เนื่องไปในทางพิศวาสต่อไอรีน อัดเลอร์ ก็หาไม่ อารมณ์ทั้งปวงโดยเฉพาะอารมณ์เช่นว่านั้น ย่อมเป็นสิ่งพึงชังแก่จิตใจอันสุขุมเยือกเย็นและสม่ำเสมออย่างน่าเลื่อมใสของเขา ข้าพเจ้าถือว่าเขาเป็นเครื่องจักรที่ใช้ความสังเกตและทบทวนเหตุผลได้รอบคอบสมบูรณ์ที่สุดที่โลกได้พบเห็นมา แต่สำหรับการเป็นเจ้าชู้สู่สาวแล้ว เขาคงกำหนดฐานะของเขาผิดเป็นแน่ เขาไม่เคยที่จะพูดถึงความรู้สึกรักใคร่ละมุนละไม เว้นแต่ในลักษณะล้อเลียนและเย้ยหยันเท่านั้น อารมณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับผู้สังเกต--ประเสริฐสำหรับการเผยเหตุจูงใจและพฤติกรรมของคนก็จริง แต่สำหรับผู้ที่ใช้เหตุผลมาเสียจนช่ำชองแล้วนั้น การที่ยอมให้อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาพ้องพานจิตใจอันมีระเบียบและสุขุมเยือกเย็น ย่อมเป็นปัจจัยอันยุ่งเหยิงที่อาจก่อความสงสัยให้เกิดแก่ผลงานทางจิตใจของเขาได้ ฝุ่นละอองในเครื่องมืออันบอบบาง หรือรอยร้าวในแว่นขยายที่มีกำลังกล้าอันใดอันหนึ่งของเขา จะไม่เป็นที่ระคายเคืองมากไปกว่าอารมณ์อันรุนแรงในลักษณะจิตใจเยี่ยงเขานี้เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งสำหรับเขา และผู้หญิงคนนั้นคือไอรีน อัดเลอร์ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผู้ซึ่งทิ้งเรื่องราวอันชวนพิศวงสงสัยไว้ในความทรงจำ
"ความทรงจำ" นี้คงอยู่ในรูปภาพถ่ายของไอรีน อัดเลอร์ ซึ่งอัดเลอร์จงใจทิ้งไว้เมื่อเธอและสามีใหม่ออกเดินทางไปพร้อมกับภาพถ่ายของเธอกับพระราชา โฮล์มส์ทูลของภาพถ่ายของอัดเลอร์จากพระราชาเพื่อเป็นค่าจ้างสำหรับการไขคดีนี้[7] ใน "เมล็ดส้มห้าเมล็ด" โฮล์มส์กล่าวกับลูกความของตนว่าเขาเคยพ่ายแพ้เพียงไม่กี่ครั้งและพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวให้กับผู้หญิง
ประวัติการตีพิมพ์
[แก้]"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหราชอาณาจักรในนิตยสารสแตรนด์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1891 และในสหรัฐอเมริกาในในนิตยสารสแตรนด์ฉบับสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1891[8] ภาพวาดประกอบเนื้อเรื่อง 10 ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ต ตีพิมพ์ในนิตยสารสแตรนด์[9] เรื่องสั้นถูกรวมในหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย ซีงตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1892[9]
อ้างอิงและบรรณานุกรม
[แก้]- อ้างอิง
- ↑ "เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ชุดการผจญภัย". SE-ED.
- ↑ "Sherlock Holmes : ชุดเรื่องอื้อฉาวในโบฮีเมีย / เซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์, เขียน ; ปิยะภา, แปล". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา. 2020.
- ↑ Rosemary., Herbert (1 January 2003). Whodunit? : a who's who in crime & mystery writing. Oxford University Press. pp. 4. ISBN 0195157613. OCLC 252700230.
- ↑ Temple, Emily (22 May 2018). "The 12 Best Sherlock Holmes Stories, According to Arthur Conan Doyle". Literary Hub. สืบค้นเมื่อ 6 January 2019.
- ↑ Conan Doyle, Sir Arthur; Klinger, Leslie S. (2005). The New Annotated Sherlock Holmes, Vol. 1. W. W. Norton & Company. p. 5. ISBN 0-7394-5304-1.
- ↑ Bunson, Matthew (1997). Encyclopedia Sherlockiana. Simon & Schuster. p. 3. ISBN 0-02-861679-0.
- ↑ 7.0 7.1 Thompson, Dave (2013). Sherlock Holmes FAQ. Applause. p. 74. ISBN 9781480331495.
- ↑ Smith (2014), p. 43.
- ↑ 9.0 9.1 Cawthorne (2011), p. 54.
- บรรณานุกรม
- Cawthorne, Nigel (2011). A Brief History of Sherlock Holmes. Running Press. ISBN 978-0762444083.
- Dickerson, Ian (2019). Sherlock Holmes and His Adventures on American Radio. BearManor Media. ISBN 978-1629335087.
- Smith, Daniel (2014) [2009]. The Sherlock Holmes Companion: An Elementary Guide (Updated ed.). Aurum Press. ISBN 978-1-78131-404-3.
- LitChart.com
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อความเต็มของ เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ที่วิกิซอร์ซ
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย
- เชอร์ล็อก โฮมส์ ชุดการผจญภัย รวมถึงเรื่อง เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ที่ Standard Ebooks
- “A Scandal in Bohemia”, The Adventures of Sherlock Holmes ที่ โครงการกูเทนแบร์ก
- A Scandal in Bohemia หนังสือเสียงสาธารณสมบัติที่ LibriVox