เหตุปลาฉลามโจมตีที่ซาร์มอัลชีค พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ่าวนามา ซาร์มอัลชีค ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุปลาฉลามฆ่านักท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม

เหตุปลาฉลามโจมตีที่ซาร์มอัลชีค พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์ที่ปลาฉลามโจมตีนักว่ายน้ำหลายครั้งในทะเลแดง นอกชายฝั่งซาร์มอัลชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ชาวรัสเซีย 3 คน และชาวยูเครนอีก 1 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสในเวลาไล่เลี่ยกันไม่กี่นาที และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งเสียชีวิตขณะกำลังเดินลุยน้ำหรือดำน้ำด้วยท่อช่วยหายใจใกล้กับแนวชายฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาฉลามอธิบายว่าการโจมตีดังกล่าว "ไม่เคยปรากฏมาก่อน"

ในการรับมือกับเหตุปลาฉลามโจมตีดังกล่าว ได้มีการปิดชายหาดหลายแห่งในรีสอร์ตนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีการสังหารปลาฉลามไปหลายสิบตัว และรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกกฎใหม่โดยการห้ามให้อาหารปลาฉลามและจำกัดการว่ายน้ำ มีหลายทฤษฎีที่ออกมาอธิบายถึงเหตุโจมตีดังกล่าว ในตอนปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การทิ้งซากแกะลงไปในทะเลแดงระหว่างการขนส่งปศุสัตว์ ซึ่งได้ดึงดูดปลาฉลามให้ว่ายเข้ามาใกล้กับชายฝั่ง อีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่ามีการประมงที่มากเกินไปในทะเลแดง รวมไปถึงการให้อาหารปลาฉลามใกล้กับชายฝั่งอย่างผิดกฎหมายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าหน้าที่ทางการอียิปต์รายหนึ่งคาดการณ์ว่าเหตุโจมตีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการโดยเจ้าหน้าที่สายลับอิสราเอล หน่วยมอสสาด[1][2][3]

การโจมตี[แก้]

แผนที่ซาร์มอัลชีค เหตุโจมตีเกิดขึ้นในอ่าวนามาและนอกแหลมนัสรานี ห่างออกไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร

การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม เมื่อนักท่องเที่ยวสี่คนถูกทำร้ายในเวลาไล่เลี่ยกันไม่กี่นาทีในพื้นที่แหลมนัสรานี โอลกา มาร์ตีเนนโก วัย 48 ปี[4] ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังอย่างรุนแรงและมีบาดแผลตามมือและขา ในขณะที่ลุดมิลา สโตลยาโรวา วัย 70 ปี สูญเสียมือข้างขวาและขาข้างซ้าย ทั้งสองคนได้รับการตัดแขนขาในส่วนที่ได้รับบาดเจ็บบางส่วนออก ชายชาวรัสเซียวัย 54 ปีที่มิได้เอ่ยชื่อ ได้รับบาดเจ็บที่ขาอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ต้องตัดอวัยวะออกบางส่วน ในขณะที่ชาวยูเครนวัย 49 ปี อเลคซานดร์ ดีกูซารอฟ ได้รับบาดเจ็บที่ขาเช่นกัน แต่อาการดีขึ้นจนสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในวันรุ่งขึ้น[5][6][7]

สามีของลุดมิลา สโตลยาโรวา วลาดีมีร์ กล่าวว่า: "ผมวิ่งไปหาเธอและได้ยินเสียงกระหืดกระหอบว่า "ฉลาม! ฉลาม! ฉลาม!" ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เธอสามารถผลักปลาฉลามให้พ้นไปจากเธอ ปลาฉลามกัดเข้าที่แขนของเธอจนขาด แต่เธอก็สามารถว่ายน้ำเข้ามาใกล้ฝั่งมากขึ้นได้ ก่อนที่เธอจะขึ้นมาพ้นน้ำ ปลาฉลามเข้าโจมตีอีกครั้งและกัดเอาเท้าของเธอขาดไป"[5] พยานรายอื่นอธิบายการโจมตีที่เกิดกับโอลกา มาร์ตีเนนโกว่า "ผู้หญิงคนนั้นพยายามว่ายน้ำเข้าไปหาสะพาน แต่เมื่อผู้คนบนสะพานเริ่มดึงเธอขึ้นมาจากน้ำ ปลาฉลามก็ได้กัดเอาสะโพกซ้ายของเธอไป เธอเสียเลือดมาก มีนักท่องเที่ยวบนสะพาน และพวกเขาช่วยดึงผู้หญิงให้พ้นจากอันตราย บางคนตบไล่ปลาฉลามด้วยตีนเป็ดยาง ไม่มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตอยู่บนสะพานในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตวิ่งขึ้นมาหาเราแต่ไกล โดยไม่มีทั้งเชือกหรือเปลหามอยู่ในมือ เราใช้ชุดว่ายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลทะลักออกจากบาดแผลที่เหวอะหวะและคว้าเอาเตียงอาบแดดเพื่อเคลื่อนย้ายผู้หญิงคนดังกล่าวไปยังฝั่ง"[5]

การโจมตีชายอีกสองคนมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์จากชายฝั่ง พนักงานบาร์อธิบายเหตุการณ์ว่าเหยื่อรายหนึ่ง "กำลังวิ่งขึ้นมาจากทะเลด้วยเลือดที่ไหลออกมาจากแผลเหวอะหวะที่ขา" ในขณะที่ชายที่ตกเป็นเหยื่อออกรายหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกศูนย์ดำน้ำท้องถิ่น ตามคำบอกเล่าของพนักงานบาร์ "ทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดง ... [เท้าของเขา] หายไป"[8]

ในการรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการได้สั่งปิดชายหาดและยับยั้งกิจกรรมดำน้ำและกีฬาทางน้ำทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมอียิปต์ถูกเรียกตัวมาในการสืบสวนเหตุการณ์และสามารถจับปลาฉลามหูขาวความยาวลำตัว 2.25 เมตร น้ำหนักกว่า 150 กิโลกรัม ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นตัวที่ได้โจมตีนักท่องเที่ยวดังกล่าว ปลาฉลามตัวดังกล่าวได้รับ "การพิสูจน์เอกลักษณ์" โดยนักดำน้ำท้องถิ่นผู้ซึ่งอ้างว่าสามารถจดจำมันได้เนื่องจากครีบที่ได้รับบาดเจ็บของมัน[9] ปลาฉลามมาโกที่มีความยาวลำตัว 2.5 เมตร และหนักกว่า 250 กิโลกรัม อีกตัวหนึ่งได้ถูกจับด้วยเช่นกัน[10] อย่างไรก็ตาม นักดำน้ำและนักอนุรักษ์กล่าวว่า ปลาฉลามตัวที่ถูกจับได้มิใช่ตัวเดียวกับที่ถูกพบเห็นและถูกถ่ายภาพในพื้นที่ไม่นานก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าว[11]

เหตุโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่น โมฮัมเหม็ด ราชาด บาร์เทนเดอร์ที่ร้านอาหารอัล-บาฮร์บีช ผู้ซึ่งกำลังทำงานอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น กล่าวว่า: "คนทั้งหมดวิ่งหนีกลับไปยังโรงแรม ไม่มีใครต้องการจะอยู่บนชายหาดอีกแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างมันเงียบมาก ผู้คนหวาดกลัวที่จะมาที่ชายหาด พวกเขาเพียงแค่มาที่บาร์เพื่อหาเครื่องดื่ม พวกเขาไม่แม้แต่จะต้องการนอนบนเตียงอาบแดด"[8]

ทางการอียิปต์สั่งเปิดชายหาดอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมหลังจากมีการจับปลาฉลามแล้ว ในวันต่อมา วันที่ 5 ธันวาคม หญิงชาวเยอรมันวัย 71 ปีที่ไม่ออกนามถูกปลาฉลามฆ่าขณะว่ายน้ำในอ่าวนามาใกล้กับโรงแรมไฮแฮท โจเชน ฟาน ไลเซเบทเทนส์ จากวิทยาลัยดำน้ำทะเลแดง เห็นเหตุการณ์ และให้สัมภาษณ์แก่สกายนิวส์ว่า: "ในทันทีทันใดนั้นก็ได้มีเสียงกรีดร้องขอควมช่วยเหลือและความรุนแรงมากมายได้เกิดขึ้นในน้ำ เจ้าหน้าที่ชีพบาลสามารถไปถึงเธอได้บนปะการังและเขาได้ทราบว่าเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส" ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แขนของเธอได้รับบาดเจ็บจากปลาฉลามและเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีหลังจากนั้น[12]

ปลาฉลามหูขาว หนึ่งในสองสปีชีส์ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์

หลังจากเหตุดังกล่าว กิจกรรมกีฬาทางน้ำได้ถูกชะลออีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นที่คาดการณ์กันว่า การดำน้ำลึก ซึ่งได้รับการพิจารณาว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการโจมตีของปลาฉลามน้อยมาก จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมต่อได้ในอีกไม่ช้า ทางการอียิปต์ได้เรียกตัวผู้เชี่ยวชาญด้านปลาฉลามระหว่างประเทศเพื่อประเมินสถานการณ์และเสนอทางแก้ไข[13] กระทรวงการท่องเที่ยวของอียิปต์ยังได้ประกาศว่านักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินชดเชย 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐเป็นค่าชดเชย จ่ายโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่น[14][15] เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการอธิบายอย่างกว้างขวางว่า "ไม่เคยปรากฏมาก่อน" ในสื่อกีฬาและโดยซามูเอล เอช. กรูเบอร์ ทางชีววิทยาทางทะเล ผู้ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปลาฉลามที่สถานีสนามชีววิทยาบีมินีในไมอามี รัฐฟลอริดา[16][17]

สาเหตุที่เป็นไปได้[แก้]

ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในซาร์มอัลชีค แต่การโจมตีที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นพบเห็นได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีเพียงเก้าครั้งเท่านั้นที่มีรายงานว่าปลาฉลามหูขาวทำร้ายมนุษย์ทั่วโลกในรอบ 430 ปีหลังสุด และมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ถึงแก่ชีวิต[9] ประธานของชาร์กทรัสต์ องค์กรการกุศลของอังกฤษซึ่งอุทิศให้แก่การอนุรักษ์ปลาฉลาม แสดงความคิดเห็นว่า "มันอาจเป็นไปได้ที่การโจมตีอันน่าเศร้าสลดเกิดขึ้นจากกิจกรรมหรือเหตุการณ์เฉพาะ ... การโจมตีมนุษย์ของปลาฉลามเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งและสายพันธุ์นี้ โดยปกติแล้ว จะไม่ถูกพบใกล้กับชายฝั่งบนหาดอาบแดด"[9] โมฮัมเหม็ด ซาลาม จากองค์กรอนุรักษ์ไซนายใต้ หน่วยงานของรัฐซึ่งรับผิดชอบการป้องกันสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กล่าวว่า "โดยปกติแล้ว ปลาฉลามสายพันธุ์นี้จะไม่โจมตีมนุษย์ แต่บางครั้งพวกมันอาจมีปัญหากับระบบประสาท จึงได้ว่ายเข้าหามนุษย์โดยอุบัติเหตุ"[10]

ประธานสภาการดำน้ำและกีฬาทางน้ำซาร์มอัลชีค (CDWS) ออกความคิดเห็นว่า การโจมตีอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการประมงอย่างหนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ ในแถลงการณ์ ฮีชาม กาบร์ ระบุว่า "มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนจากการอภิปรายเริ่มต้นของเรากับผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมปลาฉลามว่าเหตุการณ์ปลาฉลามหูขาวโจมตีมนุษย์บ่อยครั้งนี้มีสาเหตุมาจากกิจกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การประมงผิดกฎหมายหรือการให้อาหารในพื้นที่"[12]

สมมุติฐานอื่นยังรวมไปถึงความเป็นไปได้ที่ว่าเรือขนส่งปศุสัตว์ที่บรรทุกแกะเตรียมเชือดระหว่างเทศกาสอีดิลอัฎฮาของอิสลาม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ซึ่งอาจมีซากแกะบนดาดฟ้าเรือร่วงลงไปในทะเล ทำให้ปลาฉลามเข้ามาใกล้กับแนวชายฝั่งผิดปกติ บริษัทดำน้ำซึ่งไม่มีจริยธรรมหลายบริษัทยังได้ถูกประณามเพราะมีการให้อาหารปลาฉลามเพื่อให้มันว่ายมาหาลูกค้าของบริษัท[18]

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศประะกาศว่าปลาฉลามมาโกและปลาฉลามหูขาวเป็นปลาฉลามสองสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีดังกล่าว โดยได้ลำดับปัจจัยที่อาจเป็นไปได้ที่นำไปสู่เหตุดังกล่าวไว้ดังนี้ "เหตุการณ์เทซากสัตว์ในพื้นที่น้ำใกล้เคียงหนึ่งครั้งหรือมากกว่า การลดปริมาณเหยื่อตามธรรมชาติในพื้นที่เนื่องจากการประมงเกินขอบเขต การจำกัดวงการให้อาหารปลาปะการัง หรือปลาฉลาม หรือทั้งสอง โดยนักว่ายน้ำ นักว่ายน้ำโดยอาศัยท่อหายใจ และนักดำน้ำบางส่วน และอุหณภูมิน้ำทะเลที่สูงผิดปกติที่ซาร์มอัลชีค"[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Conspiracy alert: Is Egypt's shark-attack crisis the work of Israel?", The week, December 9, 2010
  2. Knell, Yolande. "Shark attacks not linked to Mossad says Israel". BBC News, 7 December 2010
  3. Jones, Sam; Meikle, James. "Shark specialists fly to Egypt to help stop attacks". The Guardian, 6 December 2010
  4. "Come on in... the water's lovely, says Sharm el Sheikh tourism chief (shame about the sharks)". Daily Mail, 8 December 2010
  5. 5.0 5.1 5.2 "Russian tourists lose arms and legs in shark attack in Egypt". Pravda, 3 December 2010
  6. "Russians injured by sharks in stable condition". ITAR-TASS, 3 December 2010
  7. "Ukrainian attacked by shark in Egypt discharged from hospital". Kyiv Post, 2 December 2010
  8. 8.0 8.1 Sherwood, Harriet. "Sharm el-Sheikh shark attacks leave beaches deserted". The Guardian, 3 December 2010
  9. 9.0 9.1 9.2 "Egyptian killer shark caught after mauling four tourists in Red Sea resort". RIA-Novosti, 2 December 2010
  10. 10.0 10.1 "Sharks suspected in Egypt tourist attacks nabbed[ลิงก์เสีย]". The Associated Press, 2 December 2010
  11. "Shark attack kills German tourist at resort in Egypt". BBC News, 5 December 2010
  12. 12.0 12.1 Sherwood, Harriet. "Sharm el-Sheikh tourist killed in new shark attack". The Guardian, 5 December 2010
  13. "Swimming death escalates attacks crisis เก็บถาวร 2010-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Divernet, 6 December 2010
  14. Sharm el-Sheikh: scientists give initial findings on shark attacks". The Guardian, 9 December 2010
  15. "Victims of Egyptian shark attacks to receive $50,000". RIA Novosti, 9 December 2010
  16. [1] | Egypt resort reopens some beaches after shark attack, AP, Dec. 9 2010
  17. [2] | Shark attack kills German woman off Egypt, AFP via National Post, Dec. 5 2010
  18. Scholl, Michael C. "Sharm el-Sheikh deaths: Don't blame the sharks". Channel 4 News, 9 December 2010
  19. "Diving continues as experts investigate เก็บถาวร 2010-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Divernet, 9 December 2010