วัดเส้าหลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เส้าหลิน)

พิกัดภูมิศาสตร์: 34°30′01″N 112°54′56″E / 34.50028°N 112.91556°E / 34.50028; 112.91556

วัดเส้าหลิน
บริเวณด้านหน้าอาราม "ต้าฉงเป่าเทียน"
แผนที่
ชื่อสามัญเส้าหลินซื่อ
ที่ตั้งนครเติงเฟิง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
ประเภทพระอารามหลวง
นิกายนิกายมหายาน
พระประธานพระเมตไตรยโพธิสัตว์
พระพุทธรูปสำคัญพระโพธิสัตว์มัญชุศรี
พระโพธิสัตว์โลเกศวร
เจ้าอาวาสหลวงจีน ซือ หย่งซิน
จุดสนใจป่าเจดีย์
เทือกเขาซงซาน
โรงเรียนฝึกสอนกังฟู
กิจกรรมการแสดงโชว์กังฟูเส้าหลิน
เว็บไซต์http://www.shaolin.com
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
วัดเส้าหลิน
"วัดเส้าหลิน" เขียนด้วยอักษรจีน
ภาษาจีน少林寺
ความหมายตามตัวอักษร"วัดป่าบนเขาเช่าชื่อ"

วัดเส้าหลินหรือสำนักเส้าหลิน (จีน: 少林寺; พินอิน: Shàolínsì เช่าหลินซื่อ; แต้จิ๋ว: เสี้ยวลิ้มยี่; ฮกเกี้ยน: เชี้ยวหลิมซี; คำแปล: วัดป่าบนเขาเส้าซื่อ) เป็นวัดทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเก่าแก่อายุมากกว่า 1,500 ปี[1][2][3] ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน หนึ่งในจำนวนห้ายอดเขาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวจีน[4] เป็นเทือกเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทั้งในด้านของประวัติศาสตร์และในแวดวงยุทธภพ ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่จำนวน 72 ยอด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ (จีน: 太室山) จำนวน 36 ยอด และกลุ่มของเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室山) จำนวน 36 ยอด ในนครเติงเฟิง จังหวัดเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจวและเมืองลั่วหยาง[5] [6] บริเวณรอบ ๆ วัดเส้าหลินเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ใช้สำหรับฝึกวิทยายุทธของหลวงจีน รายล้อมด้วยป่าเจดีย์หรือถ่าหลิน ซึ่งเป็นสุสานของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีน ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของราชวงศ์ถัง

วัดเส้าหลินมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศจีนและในต่างประเทศ ได้รับการกล่าวขานในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งวิชาการต่อสู้และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ปรากฏชื่อในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงวิชาเพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินอยู่เสมอ[7] โดยเฉพาะนิยายกำลังภายในของกิมย้งเช่น มังกรหยก, จอมใจจอมยุทธ์, จิ้งจอกภูเขาหิมะ เป็นต้น ปัจจุบันมีหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูจำนวน 180 รูป[8] มีหลวงจีน ซือ หย่งซิน (จีน: 釋永信) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน[9] เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่ทางรัฐบาลจีนได้ร้องขอต่อองค์กรยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลก[10] และได้รับการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ร่วมกับโบราณสถานอีก 5 แห่ง[11][12]

ประวัติ[แก้]

พระโพธิธรรมเถระ ต้นกำเนิดกังฟูเส้าหลิน
รูปปั้นตั๊กม้อ บริเวณหน้าวัดเส้าหลิน

วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1038 ในสมัยของไท่เหอเจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ ในปี พ.ศ. 929 - พ.ศ. 1077[13] เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาเส้าซื่อ (จีน: 少室) ทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน (จีน: 松山) ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่เกือบทั้งหมดด้วยป่าหรือ "หลิน" (จีน: ) ในภาษาจีนกลาง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดเส้าหลิน ในยุคสมัยบุกเบิกยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ภายหลังจากสร้างขึ้นมาได้ประมาณ 32 ปี ในปี พ.ศ. 1070 พระโพธิธรรมเถระหรือตั๊กม้อ (สำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ต๋าหมอในสำเนียงจีนกลาง คำเรียกในภาษาจีนทั้งสองสำเนียงมาจากคำว่า (โพธิ)"ธรรมะ" ในภาษาสันสกฤต) พระภิกษุจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนที่วัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก[14] อีกทั้งแลเห็นว่าวัดเส้าหลินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความสงบร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมตามนัยของพุทธศาสนานิกายเซน (เซน เป็นสำเนียงญี่ปุ่น ตรงกับคำว่า ฉาน ในสำเนียงจีนกลาง หรือ เซี้ยง ในสำเนียงแต้จิ๋ว รากศัพท์มาจากคำว่า ธยานะ ในภาษาสันสกฤต หรือ ฌาน ในภาษาบาลีนั่นเอง) ปรมาจารย์ตั๊กม้อจึงเข้าพำนักและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรก ทำให้ชื่อเสียงของวัดเส้าหลิน อยู่ในฐานะเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น[15]

ตั๊กม้อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ชาวจีนเป็นอันมาก โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยายุทธเส้าหลินให้ลึกล้ำขึ้นกว่าเดิม ถ่ายทอดธรรมะและวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนได้ฝึกฝนเพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ เนื่องจากเห็นว่าหลวงจีนส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถนั่งสมาธิวิปัสสนาและเจริญกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จึงหัดให้หลวงจีนเริ่มฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งควบคู่กับการปฏิบัติธรรม การฝึกสอนวิทยายุทธและกังฟูของตั๊กม้อ ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นที่มาของวิทยายุทธเส้าหลินที่สง่างามและทรงพลังเช่น หมัดเส้าหลิน (อังกฤษ: Shaolin Chuan) หรือเพลงหมัดเส้าหลิน (อังกฤษ: Shaolin Ch'uan Fa) รวมทั้งหมด 18 กระบวนท่า อีกทั้งเป็นการปฏิรูปวิทยายุทธครั้งสำคัญเช่น การขยายท่าฝ่ามืออรหันต์จาก 18 ท่า เป็น 72 ท่า[16] โดยเล็งเห็นว่าวิชากังฟูเส้าหลิน ควรได้รับการถ่ายทอดให้ขยายออกไป เช่นเดียวกับนิกายเซนที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่

เจตนารมณ์ของตั๊กม้อประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ศิษย์ของตั๊กม้อเมื่อลาสิกขาออกไปจากวัดเส้าหลินแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นวีรบุรุษของชาวจีนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น งักฮุยหรือแม้กระทั่งจางซานฟง แม้ในประเทศจีนจะมีวัดนิกายต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากความเก่าแก่ประกอบกับชื่อเสียงอันโด่งดัง เลื่องลือกล่าวขานในด้านวิชากังฟูของเส้าหลิน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลวงจีนหลาย ๆ องค์ นิยมเดินทางมาบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ กระบวนท่าวิทยายุทธและกังฟู ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มเดินทางมาวัดเส้าหลินเพื่อฝึกฝนวิชากังฟูของตั๊กม้อ จนได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และกลายเป็นมหาอำนาจกำลังภายในของจีนมากว่าพันปี รวมทั้งยังเกิดสาขาของวัดเส้าหลินอีกนับสิบแห่งทั่วทุกมุมของโลก[17]

ตามตำนานจีนโบราณ ศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลิน มีต้นกำเนิดจากการที่หลวงจีนใช้วิชากังฟู ฝึกฝนร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อเป็นการขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งสมาธิวิปัสนากรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดเส้าหลิน ชาวจีนเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูคือตั๊กม้อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกบน "ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย" แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลินระบุว่า หลวงจีน 13 องค์ ได้เข้าช่วยเหลือจักรพรรดิถังไท่จงหรือหลี่ซื่อหมินแห่งราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ. 1161 - พ.ศ. 1450 ฝ่าวงล้อมในระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลายจนได้รับชัยชนะ[18]

ต่อมาถังไท่จงได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีนที่ร่วมในการสู้รบให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่และสิงโตหิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอารามหน้าวัดเส้าหลินจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทรงอนุญาตให้หลวงจีนเข้าร่วมฝึกซ้อมแบบทหารร่วมกับกองกำลังทหารในราชสำนัก[19] รวมทั้งให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และสามารถฉันเนื้อสัตว์ได้[20] จากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากทางราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศในสมัยซ่งหรือซ้อง

ในปี พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822 วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ในปี พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2454 และในปี พ.ศ. 2270 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงได้ประมาณ 5 ปี จากเหตุผลทางด้านการเมือง ราชสำนักได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง แม้ว่าหลวงจีนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีการลักลอบแอบฝึกกังฟูกันอย่างลับ ๆ ทั้งในบริเวณวัดและตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้วิชากังฟูเส้าหลินไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดเส้าหลินดั้งเดิมนั้นถูกจักรพรรดิหยงเจิ้ง ส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาทำลาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามกังฟูที่มีรากฐานมาจากวัดเส้าหลินแห่งแรกในเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนและทั่วทุกแห่งในโลก ในส่วนที่ถูกเผาทำลาย ปัจจุบันมีการทำนุบำรุงบูรณะหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 1,500 ปี วัดเส้าหลินการถูกเผาครั้งยิ่งใหญ่จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน และตั้งแต่ใน ปี พ.ศ. 2000 มีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ รื้อบริเวณรอบ ๆ ที่ถูกไฟเผาไหม้ ปลูกต้นไม้ มีการสร้างอารามต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างสวยงามในปี พ.ศ. 2400

ปัจจุบันในประเทศจีนมีวัดเส้าหลินทั้งหมดสามแห่ง แห่งแรกตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอนาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซนและกังฟูเส้าหลิน แห่งที่สองตั้งอยู่ที่เทือกเขาผานซาน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หงวน และแห่งที่สามตั้งอยู่ที่เทือกเขาจิ่วเหลียนซาน มณฑลฮกเกี้ยน เรียก "สำนักเสี้ยวลิ้มใต้"[21] คู่กับ "สำนักเสี้ยวลิ้มเหนือ" ที่เทือกเขาซงซาน สำนักใหญ่ของวัดเส้าหลิน[22] แบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ๆ คือสายพระบู๊ซึ่งเป็นสายของการการสืบทอดศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของตั๊กม้อ และสายพระวินัยซึ่งเป็นสายที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ[23]

สถาปัตยกรรม[แก้]

ป่าเจดีย์ สุสานเจ้าอาวาสและหลวงจีน
พระพุทธรูปภายในวิหารเจ้าอาวาส

สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในวัดเส้าหลินมีเป็นจำนวนมาก บริเวณด้านหน้าของอารามต้าฉงเป่าเทียน ประกอบด้วยอารามและวิหารหลวงหลายหลัง ซึ่งล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่น อารามตั๊กม้อ, อารามไป๋อี, อารามพระพุทธ, อารามเจ้าอาวาส โดยเฉพาะอารามเจ้าอาวาส เคยใช้เป็นสถานที่สำคัญสำหรับต้อนรับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียซึ่งเป็นผู้มีความสนใจส่วนตัวและความเชี่ยวชาญในศิลปะป้องกันตัวหลายแขนง [24] ที่เยือนวัดเส้าหลินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2549 [25][26]

ภายในอารามหลวงหรืออารามตั๊กม้อ เป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นิยมเดินทางมากราบไว้สักการบูชา ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ภายรอบนอกบริเวณอารามหลวง มีรูปสลักวิชากังฟูเส้าหลินทั้งชายและหญิงในกระบวนท่าต่าง ๆ จำนวน 24 กระบวนท่า โดยแบ่งออกเป็นแต่ละโซนเช่น โซนกระบวนท่าการฝึกขั้นพื้นฐาน ที่แสดงพื้นฐานของกระบวนการฝึกวิชากังฟู โซนกระบวนท่านั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ที่แสดงความสงบของสมาธิ รวมทั้งศึกษาพระพุทธศาสนา ฯลฯ และรูปปั้นพระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ ผู้ให้กำเนิดวิชากังฟูเส้าหลิน[27]

พื้นที่รอบ ๆ วัดเส้าหลินรายล้อมด้วยป่าเจดีย์จำนวนมากกว่า 200 องค์ ซึ่งใช้สำหรับเป็นสุสานฝังศพของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีนภายหลังจากมรณภาพ[27] ป่าเจดีย์จำนวนมากนั้น มีรูปแบบและลักษณะที่งดงามแตกต่างลดหลั่นกันไปตามแต่ตำแหน่งและฐานะของผู้ที่เสียชีวิต จัดเป็นแหล่งโบราณสถานที่มีวัตถุก่อสร้างทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันมีคุณค่า ควรค่าแก่การศึกษาค้นคว้าของประเทศจีน บริเวณด้านหน้าวัดมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และรูปปั้นสัตว์มงคลตามตำนานเทพเจ้าจีนเช่น "ปี่ซี" ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเคารพบูชาของชาวจีน

ปีซีนั้น มีร่างกายเป็นเต่าแต่มีส่วนหัวเป็นมังกร มีความแข็งแรง ซุกซน และดื้อดึง จึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฏรชาวจีนเป็นอย่างมาก จนเรื่องทราบถึงเจ้าแม่กวนอิม จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อปราบปรามความซุกซนของปี่ซี ด้วยการใช้แผ่นหินขนาดใหญ่ทับไว้บนหลัง เพื่อให้ฟังพระสวดมนต์และคำสอนของพุทธศาสนา รูปสลักปี่ซีในบริเวณวัดเส้าหลินจึงมักปรากฏอยู่ใกล้ ๆ กับกระถางธูปสำริด ตามความเชื่อแต่โบราณเพื่อให้ปีซีได้กลิ่นธูปและฟังเสียงพระสวดมนต์

ชาวจีนนิยมเดินทางมาวัดเส้าหลิน และขอพรจากปีซีด้วยการใช้มือลูบคลำไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น ถ้าลูบบริเวณส่วนหัวของปีซีเชื่อว่าจะโชคดี ถ้าลูบบริเวณลำคอเชื่อว่าจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์และอายุยืนยาว ถ้าลูบไปตามซี่ฟันแหลมคมเชื่อว่าจะมีโชคลาภ อำนาจวาสนาและทรัพย์สิน แต่สำหรับผู้ที่มีบุตรยากหรือต้องการจะมีบุตร ให้ลูบบริเวณทางด้านส่วนหลังของปีซี ซึ่งเชื่อกันว่าจะได้บุตรสมตามความปรารถนา

ปัจจุบันวัดเส้าหลินบนเทือกเขาซงซาน กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจีน ไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในปักกิ่งเช่น พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ชาวจีนเองก็นิยมเดินทางมาเที่ยวชมและสักการบูชาพระพุทธรูปทีวัดเส้าหลินเช่นกัน เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาสูง จึงมีอากาศบริสุทธิ์และค่อนข้างหนาวเย็น[27]

วิทยายุทธวัดเส้าหลิน[แก้]

พระและเณรวัดเส้าหลิน ผู้ฝึกวิทยายุทธและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

วิทยายุทธวัดเส้าหลิน เป็นการฝึกฝนและเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกายที่ดีที่สุดทางหนึ่งของหลวงจีน เป็นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย เสริมสร้างสมาธิ สติปัญญา ความมีระเบียบวินัยและคุณธรรม มีความรุนแรงในการปะทะเป็นอย่างมาก เกิดจากลมปราณภายในร่างกายที่ผ่านการฝึกมาเป็นเวลานาน สามารถเจาะทะลวงพื้นอิฐให้เป็นรอยยุบได้อย่างง่ายดาย สามารถเพิ่มความรุนแรงในการต่อสู้ด้วยกำลังภายในหรือลมปราณที่หมั่นฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา

จุดเริ่มต้นจากรากฐานของวิทยายุทธ มีความแตกต่างจากสำนักอื่น โดยเฉพาะศิลปะการต่อด้วยสู้มือเปล่า เป็นที่เลื่องลือมากที่สุดในกระบวนท่าทั้งหมด เกิดจากการประยุกต์ขึ้นจากธรรมชาติแวดล้อมผนวกกับวิทยายุทธลมปราณที่เกิดจากการนั่งสมาธิวิปัสสนา กลายเป็นกำลังภายในที่มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่หลายอย่างอันเป็นเอกลักษณ์ได้แก่[28] [29]

  • เพลงหมัดอรุโณทัย (อังกฤษ: First Strike) เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่มีความรวดเร็วในการโจมตี ซึ่งเร็วกว่าศัตรูเมื่อปล่อยหมัดออกพร้อมกัน
  • วิทยายุทธตัวเบาเส้าหลิน (อังกฤษ: Flying) เป็นพื้นฐานเพื่อใช้สำหรับหลบหนีสัตว์ร้ายในป่าเช่น เสือ หมาป่า ที่วิ่งได้เร็วกว่า เมื่อใช้วิทยายุทธตัวเบา ทำให้สามารถลอยตัวกลางอากาศได้ในระยะหนึ่ง
  • วิทยายุทธคงกระพันเส้าหลิน (อังกฤษ: Protection) หลวงจีนวัดเส้าหลินมักใช้ว่านชนิดหนึ่งผสมน้ำอาบชำระล้างร่างกายทุกวัน ซึ่งว่านที่ใช้ผสมน้ำอาบนั้นมีสรรพคุณทางป้องกันร่างกายจากอาวุธทุกประเภทได้เป็นอย่างดี
  • วิทยายุทธลมปราณ (อังกฤษ: Trample) เกิดจากการกำหนดจิตและกายรวมเป็นหนึ่ง ลมปราณจากการกำหนดพลังแฝงภายในร่างกายจะแสดงออกมาในรูปของเพลงหมัดและเพลงเตะที่มีความหนักแน่นและดุดัน

รากฐานกังฟูเส้าหลิน[แก้]

รากฐานกังฟูเส้าหลินได้แก่ พลังลมปราณและวิทยายุทธ ให้กำเนิดโดยตั๊กม้อ สาเหตุสำคัญของการฝึกกังฟูนอกเหนือจากการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการในการฝึกกังฟู มาจากสถานที่ตั้งของวัดเส้าหลินซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน รายล้อมด้วยป่าไม้จำนวนมาก รวมทั้งในป่ารอบ ๆ วัดเส้าหลินมีสัตว์ร้ายนานาชนิด หลวงจีนวัดเส้าหลินจึงจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกวิทยายุทธไว้สำหรับต่อสู้ป้องกันตัว และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งรากฐานกังฟูวัดเส้าหลินแต่โบราณ มีที่มาจากท่วงท่าการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของสัตว์เช่น หงเฉวี๋ยน หรือเพลงหมัดตระกูลหงส์ เป็นการเลียนแบบท่าทางของหงส์ เป็นต้น[30]

เพลงมวยหมัดเมา เป็นหนึ่งในเพลงหมัดมวยและกังฟูที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยกฎของทางวัดเส้าหลิน การดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิดเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ท่วงท่าและลีลาของเพลงมวยหมัดเมาที่เดินไม่ตรงทาง เอียงซ้าย เอียงขวา ตัวโก่งงอ บิดเอวและแขนขาไปมา ในขณะที่มือทำท่าราวกับจับไหเหล้าเอาไว้ตลอดเวลา นาน ๆ ครั้งจึงทำท่ายกขึ้นมาด้วยท่าทางราวกับกำลังดื่มกิน พร้อมกับเดินไม่ตรงทาง เซหน้าเซหลังไปมา ตีลังกาหน้าและหลัง ซึ่งลักษณะของคนที่เมาสุราทั้งหมดนี้ รวมทั้งกระบวนท่าต่าง ๆ ที่หลวงจีนทำการฝึกฝน แทบจะไม่ต่างจากบุคลิกและลักษณะท่าทางของคนเมาแม้แต่น้อย เป็นการใช้จินตนาการในการเลียนแบบท่าทางและความรู้สึกของคนเมา ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงมวยหมัดเมาเป็นการฝึกกำลังช่วงขาและเอวให้มีความแข็งแรง[28]

พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ[แก้]

การฝึกพลังลมปราณแบบกังฟูจีนโบราณ
การฝึกพลังลมปราณแบบใช้อาวุธ

พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการฝึกกังฟูเส้าหลิน กำลังภายในเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ต้องกำหนดจิตลมหายใจและประสาท เพื่อรวบรวมพลังลมปราณและเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ได้มากที่สุด ลมปราณเป็นพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาในขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือต่อสู้กับศัตรู เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็นพลังแผงที่มีอยู่จริงในร่างกายของมนุษย์ทุกคน[31] สามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้ด้วยการเพ่งพิจารณาโดยจิตที่เป็นสมาธิ

คำว่า "กำลังภายใน" หมายถึงแรงที่เกิดจากภายในโดยผ่านการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ ในระหว่างการฝึกจุดสำคัญที่สุดคือต้องระวังให้จิตใจนำการเคลื่อนไหว ใช้จิตไม่ใช้แรง ให้จิตใจเป็นตัวชักนำ ฝึกแปลงลมปราณให้เป็นพลังจิตประสาท การเคลื่อนไหวต้องช้า นุ่มนวลแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแรง ให้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อและข้อต่อของร่างกายเคลื่อนไหวไปด้วยกัน ภายนอกเกิดการเคลื่อนไหว ภายในก็เคลื่อนไหวตามไปด้วย การเคลื่อนไหวต้องต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ผ่อนคลาย สงบและเป็นธรรมชาติ ใช้จิตใจจินตนาการถึงความงดงามของท่วงท่าในการร่ายรำ ควบคุมการหายใจเข้าออกแบบลึกยาว เป็นต้น

การฝึกกำลังภายในไม่ใช่การฝึกเพื่อแสดงถึงพละกำลังภายนอก แต่เป็นการฝึกเพื่อให้แสดงออกถึงกำลังภายในที่อยู่ใน ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า บนท้องฟ้ามีสิ่งวิเศษสามสิ่งคือพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาว ในร่างกายจึงมีของวิเศษสามสิ่งเช่นกันคือ "จิง ชี่ เสิน" หรือพลังชีวิต พลังภายใน พลังจิตประสาท ชีวิตที่สามารถเคลื่อนไหวได้นั้น ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของจิง ชี่ เสิน ถ้าหากต้องการจะมีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง จึงจำเป็นที่จะต้องทำตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฟ้าให้ได้ โดยผ่านการหายใจที่ถูกต้อง[32] การเกิด โต แก่ เจ็บและตาย ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลมปราณทั้งสิ้น และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตการเคลื่อนไหวของคน[33]

ลมปราณเป็นพลังที่ดำรงอยู่ในจักรวาลประกอบจากพลังงาน 6 ชนิด ตามความเชื่อของวิชาการแพทย์โบราณของจีน เป็นสิ่งที่ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและมีชีวิตอยู่ได้[34] ดังคำพังเพยของจีนที่กล่าวว่า "ชีวิตขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว" การฝึกเคลื่อนย้ายพลังลมปราณ จะเป็นการฝึกฝนร่างกาย จิตใจและลมหายใจให้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว[35] เพื่อเค้นเอาพลังแฝงในร่างกายออกมาปรับปรุงเลือดให้สมดุลกลมกลืนกันอย่างสูงสุด รูปแบบการฝึกเป็นแบบเคลื่อนไหวและแบบสงบ ในความสงบมีการเคลื่อนไหว

การฝึกเป็นการนำเอาความสงบเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหว ประสานจิตและลมหายใจเพื่อเค้นลมปราณในร่างกายให้เกิดการไหลเวียน ทำให้เกิดความร้อน ส่งผลให้ร่างกายได้รับการนวดคลึง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดมีการขยายตัว เกิดกระแสไฟฟ้าบนผิวหนัง ต่อมน้ำลายจะซึมออกมามากขึ้น การเคลื่อนไหวของแขนและขาจะแข็งแรงขึ้นกว่าปกติ 3-4 เท่า อวัยวะภายในช่องท้องเช่นกระเพาะอาหารและลำไส้ถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัว หยินและหยางมีดุลยภาพ เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง[36]

หลักทฤษฎีพื้นฐานของกังฟูคือ "จิตใจชักนำพลัง จิตใจและพลังเคลื่อนตามกัน" หมายความถึงเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว จิตใจจะเป็นตัวชักนำพลังลมปราณให้เคลื่อนย้ายไหลเวียนไปทั่ว บนล่างสอดคล้องกัน นอกในประสานกัน รากอยู่ที่ขา เกิดที่น่อง บงการไปที่เอว ลักษณะเหมือนกับการร่ายรำ จิตใจก็จะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามไปด้วย ดั่งคำกล่าวที่ว่าจิตประสาทเป็นแม่ทัพ ร่างกายอยู่ใต้บังคับบัญชา การเคลื่อนไหวและจิตใจต้องหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถรวบรวมลมปราณไว้ยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ได้ตามต้องการ[37]

การฝึกฝนร่างกายของหลวงจีน เพื่อให้สามารถใช้ลมปราณได้นั้น มีวิธีการฝึกฝนอยู่สองแบบคือการฝึกกำลังภายในและการฝึกกำลังภายนอก การฝึกกำลังภายในการคือการฝึกหัดกระบวนท่าวิชาหมัดมวยและพลังลมปราณในการร่ายรำท่วงท่าต่าง ๆ ตามคำสอนของตั๊กม้อ การฝึกกำลังภายนอกคือการฝึกหัดกังฟู ฝึกเส้นเอ็น กระดูกและผิวหนัง รวมทั้งศิลปะการต่อสู้และอาวุธทุกชนิด ซึ่งการฝึกกำลังภายในทั้งสองประเภท ทางการแพทย์โบราณของจีนถือว่า พลังลมปราณคือวัตถุธาตุมูลฐานที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์สามารถเคลื่อนไหวได้ การที่หลวงจีนผ่านการฝึกพลังชีวิตแปลงธาตุเป็นพลังภายใน ฝึกพลังภายในแปลงธาตุให้เป็นพลังจิตประสาท ฝึกพลังจิตประสาทให้แข็งแกร่ง เน้นการฝึกจิตประสาทและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวจนกลายเป็นพลังเคลื่อนย้ายลมปราณ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงเกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะทำได้[38]

กังฟูเส้าหลิน[แก้]

กังฟูเส้าหลิน กังฟูแบบโบราณของจีน

กังฟู หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยการใช้เทคนิคในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสำคัญ มีรูปแบบการร่ายรำ วิทยายุทธและชั้นเชิงในการต่อสู้เป็นหลัก ในการฝึกกังฟูเส้าหลินจะมีหลักศิลปะกายบริหารที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอกซึ่งเป็นจุดเด่นโดยเฉพาะ เป็นการถ่ายทอดวิชาแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่าพันปี การฝึกกังฟูควบคู่กับการศึกษาพระธรรมของหลวงจีนวัดเส้าหลิน ไม่ได้เป็นการฝึกฝนไว้เพื่อต่อสู้หรือทำร้ายผู้อื่น แต่เป็นการฝึกเพื่อให้เข้าถึงธรรมะและเป็นอีกทางที่เข้าสู่พระธรรม ทำให้มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น มีความรู้กว้างขวาง ทำสมาธิเพื่อให้จิตใจโล่งและสงบทำให้เข้าถึงแก่นธรรมได้มากขึ้น[28]

ภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนในจีนและพำนักที่วัดเส้าหลิน ได้สังเกตเห็นว่าการที่หลวงจีนแต่ละองค์มีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เมื่อนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐานนาน ๆ มักเกิดอาการปวดเมื่อย อาจทำให้สุขภาพร่างกายเกิดการเสื่อมถอยเนื่องจากไม่ได้ออกกำลังกาย จึงคิดค้นวิชากังฟูและเพลงหมัดมวยขึ้น โดยพิจารณารากฐานจากท่วงท่าและกิริยาของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในป่าบนเทือกเขาซงซาน นำมาดัดแปลงเป็นกระบวนท่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้หลวงจีนได้ฝึกฝน ภายใต้การเคลื่อนไหวร่างกายและความสงบนิ่ง เพาะบ่มจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมะ และนำไปใช้ในการป้องกันตัว[39]

วิชากังฟูในยุคแรกเริ่มจากกระบวนท่าพื้น ๆ จากเหล่าสรรพสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้เช่น เสือที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการล่าเหยื่อ กวางที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเดิน ลิงที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็ว นกที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการลอยตัวอยู่กลางอากาศ และหมีที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะของความแข็งแรง บึกบึนในการต่อสู้[28] และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่กระบวนท่าอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหลังจากตั๊กม้อถ่ายทอดวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนควบคู่กับการปฏิบัติธรรม กิจวัตรประจำวันหลังจากทำวัตรเช้า ทำสมาธิสวดมนต์เสร็จสิ้น หลวงจีนวัดเส้าหลินทุกองค์ ต่างฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรำเพลงมวย และฝึกกังฟูมาเป็นเวลานานกว่าพันปีจนถึงปัจจุบัน[28]

การฝึกของหลวงจีนจะเริ่มฝึกในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการศึกษาและท่องพระธรรม และในขณะเดียวกันใช้ช่วงเวลาเช้า 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก 2 ชั่วโมงในการฝึกกังฟู โดยคงรูปแบบกระบวนท่าต่าง ๆ จากวัฒนธรรมการฝึกดั้งเดิมของกังฟูเส้าหลิน จากประวัติที่บันทึกกระบวนท่าทั้งหมด 708 ชุด โดยที่หลวงจีนสามารถที่จะเลือกฝึกเพียงบางกระบวนท่าเท่านั้น ยกเว้นการฝึกขั้นพื้นฐานคือเพลงหมัดวัดเส้าหลิน ในส่วนของเพลงหมัดมวย ยังคงเอกลักษณ์สำคัญที่การดัดแปลงท่วงท่ามาจากสัตว์นานาชนิดหลากหลายรูปแบบ โดยกระบวนท่าที่ได้รับความนิยมคือ เพลงหมัดพยัคฆ์ เพลงมวยเหยี่ยว เพลงหมัดตั๊กแตนสวดมนต์ เพลงหมัดกระเรียนขาว เพลงหมัดเสือดาว เพลงหมัดราชสีห์ เพลงมวยนาคี เพลงมวยมังกร[28] ฯลฯ ซึ่งในการฝึกเพลงหมัดมวยนั้นจะได้ทั้งพละกำลังภายนอกภายในและการสงบจิตใจตามมาด้วย

การฝึกกังฟูในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บท่ามกลางหิมะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมปกติของหลวงจีน ความยากลำบากในการฝึกฝน ถือเป็นการเพาะบ่มจิตใจและร่างกายให้แข็งแกร่ง การนั่งทำสมาธิท่ามกลางหิมะ ถือเป็นการฝึกบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของวัดเส้าหลิน ถ้าหลวงจีนองค์ไหนนั่งทำสมาธิสาย หรือไม่สามารถทำสมาธิได้ จะถูกลงโทษด้วยการให้นั่งคุกเข่าบนพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ จนกว่าจะหมดธูปหนึ่งก้าน[40] ในประเทศจีนกังฟูเส้าหลินมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กังฟูหลายอย่างในจีนล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากวัดเส้าหลินแทบทั้งสิ้น รวมถึงเพลงหมัดมวยที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งมักปรากฏภาพหมัดนกกระเรียนขาว หมัดมังกรเส้าหลินเหนือ กระบวนท่าเพลงหมัดมวยของเส้าหลินเหนือมักเน้นการเตะต่อยเป็นหลัก ในขณะที่เส้าหลินใต้เน้นกระบวนท่าที่ใช้ฝ่ามือจู่โจม เพลงหมัดมวยเด่น ๆ เช่นหมัดเสือดำ หมัดนกกระเรียนของวัดเส้าหลิน แท้จริงแล้ววิชากังฟูไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝ่ามือและเท้า กังฟูของตั๊กม้อเป็นวิชาที่ใช้ในการต่อสู้จู่โจมพร้อมกันด้วยหมัด มือและฝ่าเท้า

กระบวนท่าและเพลงหมัดมวย[แก้]

ภาพวาดกระบวนท่ากังฟูและเพลงหมัดมวยเส้าหลิน

กระบวนท่าและเพลงหมัดมวยเส้าหลิน เป็นกระบวนท่าที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความแข็งแรง ลักษณะและท่วงท่าในการร่ายรำกังฟูของตั๊กม้อ จะมุ่งเน้นไปที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกเป็นหลัก เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบการร่ายรำที่เหยียดกว้าง แกร่งกร้าว เต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังและความดุดัน เคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าที่เรียบง่าย มีกระบวนท่าการรุกและรับได้ทั้งแปดทิศ สามารถใช้ในการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงยุทธจักร ปรากฏให้เห็นในนิยายกำลังภายในและภาพยนตร์เช่น

  • กระบวนท่าการจี้สกัดจุด เป็นการฝึกการใช้นิ้วจี้ตามจุดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทภายในร่างกาย ทำให้คู่ต่อสู้เกิดเป็นอัมพาตชั่วขณะ ไม่สามารถขยับร่างกายได้ การจี้สกัดจุดจะทำให้เลือดภายในร่างกายถูกปิดกั้นการไหลเวียนชั่วขณะ ทำให้เกิดอาการชาเป็นลำดับและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา[41]
  • กระบวนท่าวิชาตัวเบา เป็นการฝึกที่ทำให้ร่างกายเบาและว่องไวราวกับปุยนุ่น กระบวนท่านี้เป็นเทคนิคการฝึกฝนร่างกายเพื่อให้สามารถกระโดดหรือปีนไต่กำแพงได้อย่างคล่องแคล่ว
  • กระบวนท่าพลังดัชนี เป็นการฝึกฝนให้นิ้วมีความแข็งแรงด้วยการฝึกทิ่มแทงทะลวงต้นกล้วย ต้นไม้ อิฐตลอดจนถึงกำแพงและก้อนหินขนาดใหญ่
  • กระบวนท่ากำลังภายใน เป็นกระบวนท่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการฝึกกังฟูโบราณ ทุกกระบวนท่าของตั๊กม้อมีจุดสำคัญคือพลังลมปราณหรือกำลังภายใน ทักษะในการต่อสู้หรือการฝึกกังฟูต้องมีจุดเริ่มต้นจากสมาธิและจิตใจที่สงบนิ่งตลอดเวลา มีการควบคุมและฝึกฝนกำหนดลมหายใจให้แผ่วเบาอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อสามารถควบคุมลมหายใจและสมาธิได้สำเร็จ ก็สามารถรวบรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้หรือฝึกฝนกังฟูได้อย่างง่ายดาย

สำหรับเพลงหมัดมวย จากหลักฐานตามตำนานจีนโบราณที่ปรากฏเป็นภาพแกะสลักไม้ของกระบวนท่าวิทยายุทธเส้าหลิน มีการกล่าวถึงถึงเพลงหมัดมวยหรือกระบวนท่ามือเปล่าอยู่ถึง 72 กระบวนท่า[42] เช่น เพลงหมัดยาวเส้าหลิน เพลงหมัดอรหันต์ เพลงหมัดพลังกรงเล็บมังกร เพลงมวยหมัดเมา ซึ่งมีลักษณะพิเศษและรูปแบบเฉพาะตัว เป็นวิทยายุทธที่ใช้หลักการเคลื่อนไหวเป็นรูปวงกลม

แต่ละกระบวนท่าเป็นการประสานร่างกายอย่างต่อเนื่องและกลมกลืน ลำตัวคล่องแคล่ว ฝ่ามือและเท้าว่องไวด้วยวิธีก้าวพลางเปลี่ยนแปลงไปพลางอยู่เสมอเช่น การคว้า การจับกด การปล้ำและคลุกวงในคู่ต่อสู้ รวมแล้วทั้งหมด 255 กระบวนท่าเพลงหมัดมวยและกระบวนท่าอาวุธที่ใช้ฝึกในปัจจุบัน[43] นอกจากการฝึกกระบวนท่ากังฟูโบราณและเพลงหมัดมวยแล้ว หลวงจีนยังต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้และป้องกันตัวเองอีกด้วย อาวุธที่ใช้สำหรับในการฝึกกังฟูของวัดเส้าหลินมีมากมายหลากหลายชนิดเช่น ดาบ ธนู ง้าว หอก ทวน เป็นต้น

อาวุธ[แก้]

อาวุธโบราณสำหรับฝึกกังฟูและวิทยายุทธเส้าหลิน

หลวงจีนวัดเส้าหลิน นอกจากศึกษาปฏิบัติธรรมควบคู่ไปการฝึกวิทยายุทธ กังฟูและเพลงหมัดมวยเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว จะต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ทุกชนิดได้อย่างเชี่ยวชาญ อาวุธแบบจีนโบราณที่ใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัวมีเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่อาวุธประเภทสั้นแบบการโจมตีประชิดตัวเช่น กระบี่ ดาบ กระบองสองท่อน ตุ้มเหล็ก สนับมือ อาวุธซัด โล่ ฯลฯ และอาวุธประเภทยาวแบบการโจมตีระยะไกลเช่น กระบอง หอก ง้าว ทวน พลอง เป็นต้น[44]

การศึกษาวิชาอาวุธมีจุดเริ่มต้นมาจากในสมัยโบราณ ในการเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน จะต้องอาศัยกระบองเพื่อใช้ในการค้ำยันตัว หรือใช้สำหรับเป็นคานหาบของ รวมทั้งใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและโจรผู้ร้ายที่ชุกชุม ต่อมาภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เริ่มนำคำสอนของพุทธศาสนาและวิชากังฟูเข้ามาเผยแพร่ การใช้กระบองของวัดเส้าหลินจึงถือกำเนิดขึ้นและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในวิชาอาวุธเส้าหลินอันโด่งดัง

ความหมายของคำว่าอาวุธ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า "อาวุธ คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำร้ายร่างกาย ใช้สำหรับป้องกันตัวหรือต่อสู้ ซึ่งในการต่อสู้จำเป็นที่จะต้องมีอาวุธ เพราะอาวุธคือสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้"[45] อาวุธที่ใช้ในการฝึกควบคู่กับกังฟู เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ มีลักษณะท่าต่อสู้เป็นส่วนประกอบหลักและมีรูปแบบยุทธลีลาเป็นแม่แบบในการต่อสู้ป้องกันตัว

หลวงจีนจะต้องฝึกรากฐานของการเรียนเพลงหมัดมวยหลายประเภท โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ฉางเฉวี๋ยนหรือเพลงหมัดยาว เพื่อเป็นบทเรียนขั้นพื้นฐานของการฝึก ประกอบขึ้นจากกระบวนท่ากังฟูและวิทยายุทธจำนวน 5 สกุล คือ "ฉา, หวา, เผ้า, หง, และเส้าหลิน" คุณสมบัติของฉางเฉวี๋ยน ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะสามรูปลักษณ์ของกระบวนท่ามือคือ

  1. กระบวนท่าหมัด
  2. กระบวนท่าฝ่ามือ
  3. กระบวนท่ามือตะขอ

และห้ารูปลักษณ์ของกระบวนท่าเท้าคือ

  1. กระบวนท่ากงปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าคันธนู
  2. กระบวนท่าหม่าปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าขี่ม้า
  3. กระบวนท่าพูปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าหมอบ
  4. กระบวนท่าซีปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าว่างเปล่า
  5. กระบวนท่าเซียปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้านั่งไขว้

โดยเฉพาะกระบวนท่าหม่าปู้ ซึ่งเป็นการฝึกกระบวนท่าพื้นฐานของการต่อสู้ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสะโพกขา จุดเด่นของฉางเฉวี่ยนคือเป็นกระบวนท่าที่งามสง่า วิทยายุทธว่องไว กระฉับกระเฉง ในแต่ละกระบวนท่าเป็นการพลิกแพลงรวดเร็วและทรงพลัง มีความชัดเจนในจังหวะวิชาอาวุธ มีลักษณะเด่นคือโลดโผนโจนทะยาน รวมทั้งการเคลื่อนไหวไปมาด้วยรูปแบบของการรุกและรับด้วยชั้นเชิงของการต่อสู้ มีกระบวนท่าขี้นลงในทิศทางต่าง ๆ คือ เมื่อเป็นฝ่ายรุกขึ้นรูปลักษณ์สูงตระหง่าน เมื่อเป็นฝ่ายรับลงราบเรียบระดับแนวพื้น มีเคล็ดลับวิธีการในการทิ้งตัวม้วนหมุนเมื่อร่างกายสัมผัสกับพื้น วิชาอาวุธเส้าหลินนั้นมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งมีจุดเด่นและรูปแบบกระบวนท่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของอาวุธเช่น

ดาบจีนสองคม หนึ่งในอาวุธทรงพลังของเส้าหลิน


  • ดาบจีน

ดาบจีน (อังกฤษ: Chinese Swords) จัดเป็นอาวุธประเภทยาวปลายแหลมชนิดหนึ่ง ลักษณะตรงหรือโค้งงอ สันแอ่นปลายงอนเล็กน้อย มักนิยมใช้สำหรับเป็นอาวุธฟันแทงแบบประชิดตัว มีรัศมีการโจมตีในระดับกลาง มีการพลิกแพลงรูปแบบและกระบวนท่าในการโจมตีได้ตลอดเวลา สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซาง เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว[46] การโจมตีคู่ต่อสู้หรือศัตรูด้วยดาบ จะใช้รูปแบบในการโจมตีทั้งหมด 9 รูปแบบคือ การฟันผ่าลง การฟันทวนขึ้น การฟันตัดซ้าย การฟันตัดขวา การฟันเฉียงลงซ้าย การฟันเฉียงลงขวา การฟันเฉียงขึ้นซ้าย การฟันเฉียงลงขวา และการแทง ซึ่งผลของการโจมตีขึ้นอยู่กับขนาดของดาบ

โดยมาตรฐานทั่วไปดาบแบบจีนโบราณจะมีขนาดความยาวประมาณหนึ่งเมตรและไม่เกินเมตรครึ่ง มีสันขนาดใหญ่ ใบมีดคมสองด้านเรียกว่า "เจี้ยน" (อังกฤษ: Jian; จีนตัวย่อ: ; จีนตัวเต็ม: ) และใบมีดคมด้านเดียวเรียกว่า "เตา" (อังกฤษ: Dao; จีน: ; พินอิน: dāo) ยาวเท่ากับช่วงแขนของผู้ถือ น้ำหนักมาก สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้เป็นอย่างดี[47] โลหะที่สำหรับนำมาใช้ตีเป็นดาบ ต้องมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความแข็งแกร่ง หนา ไม่หักง่าย ตีขึ้นรูปเป็นดาบด้วยช่างที่ชำนาญและมีฝีมือ[48]

  • หอกจีน

หอกจีน (อังกฤษ: Spear, Pike) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ลักษณะด้ามจับตรง ยาวประมาณสองเมตรถึงสองเมตรครึ่ง ส่วนปลายจะเป็นส่วนที่มีความคมทั้งสองด้านยึดติดอยู่ ทำจากสำริดและเหล็ก หอกจีนโบราณจะมีใบขอติดอยู่สองชิ้น เป็นอาวุธที่นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้าและบนพื้นดินแบบประชิดตัว สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้วเช่นเดียวกับดาบจีน จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว[49]

หอกจีนแบบมีใบขอ เป็นอาวุธที่มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก สามารถสับ ตัด ฟัน เกี่ยว กระชากและคว้าร่างกายได้เป็นอย่างดี นิยมใช้ในกองทัพและสูญหายไปในสมัยราชวงศ์ถัง คงเหลือแต่เพียงหอกด้ามยาวในปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างจากดาบและกระบี่ตรงที่จะไม่สามารถใช้ฟันได้ ประสิทธิภาพและผลของการใช้หอกในการต่อสู้ จะได้ผลเป็นอย่างดีในด้านของการแทงเท่านั้น เนื่องจากส่วนที่เป็นคมทั้งสองด้านของหอก ที่สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้มีอยู่เพียงส่วนปลายเท่านั้น การใช้หอกด้ามยาวในการฝึกกังฟูและวรยุทธของหลวงจีนวัดเส้าหลิน จะเน้นฝีกในส่วนของกระบวนท่าแทงและฟาดด้วยด้ามหอกเป็นหลัก รวมทั้งใช้สำหรับปัดป้องอาวุธชนิดอื่น ๆ

  • ทวน

ทวน (อังกฤษ: Lance) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ยาวประมาณสามเมตร ส่วนปลายยาวและคม ใช้สำหรับแทงและฟันเช่นเดียวกับดาบ มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับหอก เพียงแต่ทวนนั้นยาวกว่าหอกมาก นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้ามากกว่าพื้นดินเพื่อให้เกิดแรงปะทะและประสิทธิภาพอย่างสูงสุด แม่ทัพในสมัยโบราณมักใช้ทวนในการต่อสู้แบบประชิดตัวบนหลังม้า โดยใช้วามเร็วของม้าเป็นตัวเร่งและเพิ่มความเร็วในการแทง

  • กระบี่
  • พลอง
  • กระบอง
  • ตุ้มเหล็ก
  • ง้าว
  • มีดสั้น
  • โล่
  • อาวุธซัด

18 อรหันต์[แก้]

18 อรหันต์ (จีน: 十八罗汉的来历) ในวัดเส้าหลินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงด่าน 18 อรหันต์, ค่ายกล 18 อรหันต์, 18 ด่านมนุษย์ทองคำและการฝึกเพลงหมัดมวยในสมัยโบราณ เมื่อหลวงจีนสำเร็จวิชาถึงขั้นสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝ่าด่าน 18 อรหันต์ให้ได้เสียก่อน จึงจะถือว่าสำเร็จวิชากังฟูจากวัดเส้าหลินอย่างแท้จริง และสามารถเดินทางลงจากเทือกเขาซงซานได้ แท้จริงแล้วคำว่า "18 อรหันต์" ที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนและนวนิยายกำลังภายในในวัดเส้าหลินคือพระพุทธรูปจำนวน 18 องค์ที่ประดิษฐานล้อมองค์พระประธานในอารามหลวง

ในอารามหลวงต้าโสวงเป่าเตี้ยนหรือพระอุโบสถใหญ่ในพระพุทธศาสนานิกายอาจริยวาท หรือมหายาน บริเวณกึ่งกลางของอุโบสถ จะประดิษฐานพระประธานสามองค์คือ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี และพระโพธิสัตว์โลเกศวร บริเวณด้านขวามือของพระประธานทั้งสามองค์ จะเรียงรายด้วยรูปสลักของพระจำนวน 18 องค์ ซึ่งคือ 18 อรหันต์ โดยคำว่าอรหันต์หมายถึงสาวกจำนวน 16 รูปของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระอรหันต์ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาสายมหายาน

คำว่า "อรหันต์" อ่าน "อะ-ระ-หัน" เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ในทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญตนเพื่อสำเร็จมรรคผลนั้นไม่เหมือนกัน จึงมีการแบ่งความสำเร็จในการเข้าถึงมรรคผลที่แตกต่างกัน การสำเร็จขั้นอรหันต์นั้นถือเป็นการสำเร็จขั้นสูงสุดของการบำเพ็ญตนเองในพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน สำหรับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน การสำเร็จขั้นอรหันต์แบ่งออกเป็นขั้นพุทธโพธิสัตว์และขั้นอรหันต์ ซึ่งการสำเร็จมรรคผลในขั้นอรหันต์คือ จะต้องสามารถละกิเลสต่าง ๆ และสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วยคุณธรรมและพระพุทธศาสนา หลุดพ้นจากวงจรชีวิตการเวียนว่ายตายเกิด จึงเรียกว่าสำเร็จขั้นอรหันต์

เดิมทีพระอรหันต์มีทั้งหมด 16 องค์ ซึ่งยังไม่สำเร็จขั้นปรินิพพาน คงอยู่ในโลกมนุษย์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและธรรมะแก่มนุษย์โลก ได้แก่

  • พระปินโฑ
  • พระกนกวัจฉ
  • พระกนกการัทวาช
  • พระสุปิณฑ
  • พระนกุล
  • พระภัทร
  • พระกาลิก
  • พระวัชรบุตร
  • พระอิงคท
  • พระวันวาลี
  • พระอชิต
  • พระจุฑะปันถา

พระอรหันต์ทั้ง 16 องค์นี้ มีพระปิณโฑดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระอรหันต์ และพระปันถกหนึ่งใน 16 อรหันต์คือพระเมตไตรย ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง 16 องค์ในอารามหลวงวัดเส้าหลินตรงกับพระอรหันต์ที่พระราชวังปักกิ่ง และต่อมาได้มีการเพิ่มพระนนทมิตรและพระปินโทลขึ้น ทำให้จากเดิมพระอรหันต์มีเพียง 16 องค์กลายเป็น 18 องค์ จากหลักฐานทางพระพุทธศานาระบุไว้ไม่เหมือนกัน บ้างเรียกพระอรหันต์ทั้งหมดรวมกันว่า 18 อรหันต์ บ้างว่าเป็นศากกะและพระสงฆ์ถุงผ้า

ต่อมาจักรพรรดิเฉียนหลง (จีน: 乾隆) ในปี พ.ศ. 2278 - พ.ศ. 2339 ถือพระอรหันต์องค์ที่ 17 เป็นอรหันต์สยบมังกร องค์ที่ 18 เป็นองค์ปราบเสือคือองค์พระสังกัจจายน์ การถือกำเนิดของ 18 อรหันต์ ยังไม่มีคัมภีร์เล่มใดกล่าวยืนยันหลักฐานได้แน่นอน เนื่องจากในสมัยนั้นจิตกรชาวจีนได้วาดภาพพระอรหันต์เพิ่มขึ้นอีกสององค์ จึงกลายเป็น 18 อรหันต์ ทำให้ภาพของ 18 อรหันต์กลายเป็นที่สามารถพบเห็นอย่างแพร่หลายต่อมา และมักประดิษฐานพระอรหันต์ 18 องค์ไว้สองข้างของพระอุโบสถใหญ่โดยเฉพาะวัดจีนนิกายมหายาน[50]

คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น[แก้]

คัมภีร์กังฟูโบราณของเส้าหลิน

คัมภีร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของวัดเส้าหลินคือ "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น" (จีน: 易筋經; พินอิน: Yì Jīn Jīng) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณที่ตั๊กม้อใช้สำหรับฝึกสอนกังฟูและกระบวนท่าวิทยายุทธต่าง ๆ ให้แก่หลวงจีนวัดเส้าหลิน มีอายุกว่า 1,400 ปี[51] มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาจีนในสมัยของพระเจ้าถังไท่จง ใช้สำหรับยืดหยุ่นและผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น รวมทั้งล้างพิษไขกระดูกของร่างกาย โดยคำว่าเปลี่ยนเส้นเอ็นนั้น ไม่ได้หมายความถึงการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเส้นเอ็นดังชื่อของคัมภีร์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนและแก้ไขสภาพของเส้นเอ็น ด้วยการแกว่งแขวนและเคลื่อนไหวไปมา เพื่อให้เลือดลมภายในร่างกายไหลเวียนได้อย่างสะดวก[52]

รายละเอียดของคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น แบ่งออกเป็น 2 กระบวนท่าคือ "กระบวนท่ายืน" และ "กระบวนท่านั่ง" กระบวนท่าละ 12 กระบวนท่า[53] เป็นการฝึกร่างกายโดยใช้สติเป็นจุดควบคุมร่างกาย เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้า ๆ นุ่มนวล แต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบริการร่างกาย ควบคุมลมหายใจอย่างช้า ๆ และแผ่วเบา โดยท่ายืนจะเป็นการบริหารจากภายนอกร่างกาย เพื่อช่วยรักษาให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายแข็งแรง และท่านั่งจะเป็นการบริหารโดยเน้นการใช้ลมปราณในการสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนทั่วทั้งร่างกาย สามารถรักษาอวัยวะภายในให้แข็งแรงได้เช่นกัน

การเดินทางของพลังในการเคลื่อนไหวร่างกาย ฝ่ามือและฝ่าเท้า จะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของพลังลมปราณไปสู่อวัยวะภายในอย่างเป็นระบบ ผู้ที่ฝึกฝนพลังลมปราณจะสามารถใช้จิตในการฝึกเป็นสมาธิในการควบคุมร่างกาย กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงตามจุดต่าง ๆ ตามแต่ต้องการได้อย่างน่าประหลาด การฝึกคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นของตั๊กม้อ จึงเป็นการฝึกให้ร่างกายแข็งแรงไปพร้อมกับการฝึกจิต เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังลมปราณได้อย่างเต็มที่ ชะลอการเสื่อมโทรมของร่างกาย ซึ่งผลของการฝึกคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ฝึกเป็นหลัก

ปัจจุบันคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็นที่เก่าแก่และมีค่าของวัดเส้าหลิน ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือและวีซีดี วางจำหน่ายในเมืองปักกิ่งและเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นการแนะนำให้ชาวจีนที่นิยมรักและดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพ ได้ศึกษาการควบคุมลมหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกายและพลังลมปราณ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งคล้ายกับการฝึกกระบวนท่ากังฟูของหลวงจีนวัดเส้าหลิน เพื่อช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ไม่ติดขัด อายุยืนยาวตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ[54] [55]

โรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลิน[แก้]

การฝึกศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของชาวต่างชาติ
โรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลินแห่งหนึ่งในประเทศจีน

รอบบริเวณ ๆ วัดเส้าหลิน ตรงเชิงเขาของเทือกเขาซงซาน มีโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการต่อสู้เป็นจำนวนมาก[56] สำหรับฝึกสอนกังฟู กายกรรม การฝึกพลังลมปราณและการใช้อาวุธเช่น ดาบ หอก กระบี่ พลอง ง้าว ทวน กระบองสองท่อน ฯลฯ ตลอดเส้นทางจากเมืองเติงเฟิงจนถึงหน้าประตูของวัดเส้าหลิน มีโรงเรียนสอนกังฟูมากถึง 83 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 40,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าหลังจากจบหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว อาจมีอนาคตและโอกาสได้ก้าวเข้าสู่อาชีพบอดี้การ์ดหรือนักแสดงบทบู๊เช่น เฉินหลง, เจ็ท ลี เป็นต้น[57]

ในการฝึกกังฟูไม่เฉพาะเจาะจงฝึกสอนแต่ชาวจีนเท่านั้น ชาวต่างชาติทั้งชายและหญิงที่สนใจศึกษาและคลั่งไคล้ในศิลปะการต่อสู้แบบจีนโบราณ ต่างเดินทางมาเพื่อศึกษาวิทยายุทธและกังฟูเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คน กลายเป็นธุรกิจในด้านของศิลปะการป้องกันตัวและการต่อสู้ภายใต้ชื่อของ "เส้าหลิน" จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดเส้าหลินองค์ปัจจุบัน ต้องจัดตั้งบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมวัดเส้าหลินแห่งเหอหนานขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิทางปัญญาที่สืบทอดมานานกว่า 1,500 ปี[58]

ปัจจุบันโรงเรียนสอนกังฟูในประเทศจีน มีนักเรียนให้ความสนใจศึกษาเล่าเรียนเรียนเป็นจำนวนมาก เป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบโรงเรียนประจำ นักเรียนที่เข้ารับการฝึกสอนกังฟูจะต้องเรียนหนังสือตามหลักสูตรภาคบังคับเหมือนกับโรงเรียนทั่วไปในประเทศจีนในช่วงเช้า และฝึกวิทยายุทธ์กังฟูในช่วงบ่าย โกนศีรษะและแต่งกายแบบหลวงจีน ซึ่งนอกจากให้การเรียนการสอนตามหลักสูตรแบบบังคับแล้ว โรงเรียนสอนกังฟูในประเทศจีนเหล่านี้ ได้นำความสามารถในด้านศิลปะการต่อสู้ของนักเรียน เปิดการแสดงโชว์ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เยี่ยมชมโรงเรียนสอนกังฟู เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนอีกด้วย

การแสดงการต่อสู้ป้องกันตัวในโรงเรียนสอนกังฟู มีมากมายหลากหลายรูปแบบเช่น การแสดงการต่อสู้ด้วยกระบวนท่ามือเปล่าหรือกระบวนท่าเพลงหมัดมวย การใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ ผสมผสานกับท่วงท่าการร่ายรำที่แข็งแกร่ง อ่อนไหว สะบัดพลิ้ว การแสดงโชว์เพลงหมัดมวย เพลงดาบ เพลงกระบี่ เพลงทวน เพลงกระบอง ฯลฯ โรงเรียนสอนกังฟูบางแห่งมีนักเรียนจำนวนหลายร้อยคน ในขณะที่โรงเรียนบางแห่งมีมากมายนับพันคน เนื่องจากจีนมีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากที่สนใจศึกษากังฟู เพื่อต้องการให้ตนเองเป็นผู้ที่มีความสามารถโดนเด่นแตกต่างจากผู้อื่น รวมทั้งเป็นเส้นทางในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในประเทศจีนอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนกังฟูหลายแห่งเช่น โรงเรียนไทย-จีนเส้าหลินกังฟู ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของสวนลุมพินี เป็นโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการป้องกันตัว โดยหลวงจีนจากโรงเรียนสอนกังฟูเส้าหลินเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน[59] โรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์ ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีนครินทร์ บริเวณด้านหลังเสรีเซ็นเตอร์ เป็นโรงเรียนสอนกังฟูที่อาจารย์ผู้ฝึกสอนเป็นหลวงจีนจากโรงเรียนสอนกังฟูและศิลปะการป้องกันตัววัดเส้าหลิน รุ่นที่ 34 จำนวน 3 คน ในการฝึกสอนกังฟูให้แก่ผู้ที่สนใจศิลปะการต่อสู้และเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวจีน

การเรียนการสอนของโรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์ จะเน้นการนั่งสมาธิและการอบอุ่นร่างกาย การกระโดดตีลังกา การใช้กระบองผสมผสานท่วงท่าร่ายรำตามแบบจีนโบราณ มีนักเรียนที่สนใจฝึกกังฟูเกือบ 200 คน ซึ่งมีเหตุผลแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล[60] ในการเรียนการสอนนักเรียนทุกคนต้องฝึกฝนในท่าพื้นฐานการยืน 5 ท่าคือ หม่าปู้หรือท่าขี่ม้า, กงปู้หรือท่าธนู, พู่ปู้หรือท่าทอดขา, ตู๋ลี่ปู้หรือท่ายืนขาเดียว และชูปู้หรือท่าลวง ซึ่งถือว่าเป็นท่ามวยจีนพื้นฐาน และท่ามือพื้นฐานหรือจีเปิ่นโส่วฝ่าคือท่าหมัดตรง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการต่อยมวยจีนเกือบทุกสายวิชา โดยหมัดสองข้างจะเก็บไว้ที่สีข้างหรือเหนือกระดูกสะโพก หนีบศอกชี้ไปด้านหลังและหงายหมัดขึ้น รวมทั้งการฝึกท่าผลักฝ่ามือคือการใช้ฝ่ามือกระแทกเข้าที่เป้าหมายแทนหมัด นิ้วทั้งสี่ตั้งตรง พับเก็บนิ้งโป้งเพื่อป้องกันนิ้วหัก เมื่อฝึกฝนจนชำนาญแล้ว จะฝึกฝนการใช้อาวุธและฝึกเพลงมวยตามลำดับ

นอกจากนั้นวิชากังฟูของเส้าหลินยังได้พัฒนาไปเป็นกีฬาวูซู ซึ่งกีฬาชนิดนี้เป็นหนึ่งในกีฬาในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และ เอเชียนเกมส์อีกด้วย [61]

ธุรกิจและการขยายสาขา[แก้]

ภายหลังจากมีปรับเปลี่ยนรูปแบบและขยายสาขาของวัดเส้าหลิน ที่มีการควบคุมการจัดการของวัดต่าง ๆ ในจีนจำนวน 4 แห่งในภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยแต่งตั้งหลวงจีนจำนวน 10 องค์ เพื่อเข้าดูแลความเรียบร้อยภายในวัด[62] ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และประณามของชาวจีนในอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ที่กล่าวหาว่าเตรียมนำเอาระบอบทุนนิยมเข้าไปปะปนกับพุทธศาสนาจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์ โดยใช้การขยายสาขาไปในด้านธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเป็นการดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวชม นอกจากนี้ทางวัดยังมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมวัด การแสดงโชว์กังฟูและการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินอีกเป็นจำนวนมาก[63] รวมทั้งมีสินค้าเช่น รองเท้า ใบชา ชุดหลวงจีน อาวุธและคู่มือในการฝึกกังฟู[64][65]

การเปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับทางวัดเพื่อขายสินค้า[66][67] ตลอดจนการก่อตั้งบริษัทและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์[68] ในปี พ.ศ. 2551 ในชื่อ "บริษัทเส้าหลิน"[69] การเริ่มนำสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะการเริ่มดำเนินกิจการของวัดในรูปแบบของธุรกิจ มีการจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าภายใต้ชื่อ "Shaolin" และ "Shaolin Temple"[70][71] ทำให้ถูกสื่อต่าง ๆ เพ่งเล็งว่าวัดเส้าหลินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมเป็นวัดพุทธ นิกายเซน ที่ได้รับการยกย่องอย่างแพร่หลายจากชาวจีนและชาวต่างประเทศ ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมชั้นสูง เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวโดยเฉพาะกังฟูที่โด่งดังไปทั่วโลก ปัจจุบันกลายเป็นวัดในแง่ของธุรกิจและการค้าเชิงพาณิชย์ ทำให้ ซือ หย่งซิน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ถูกชาวจีนจำนวนมากที่เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อวัดเส้าหลิน ตั้งฉายาล้อเลียนว่า "นักธุรกิจในคราบพระ" และ "พระซีอีโอ" (CEO Monk) [72]

นอกจากประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าภายใต้แบรนด์ "Shaolin" แล้ว ศิลปะการป้องกันตัวและกังฟูยังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายสาขาไปทั่วประเทศถึงสิบกว่าแห่ง และได้เตรียมวางแผนขยายสาขาเพิ่มเติมในฮ่องกง เพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยายุทธและกังฟูอันโด่งดังของเส้าหลิน ให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติและคนทั่วโลก ซือ หย่งซิน ได้วางงบประมาณในการก่อสร้างเพื่อขยายสาขาในฮ่องกงเป็นจำนวนเงินถึง 420 ล้านหยวน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยมีสถาปัตยกรรมป่าเจดีย์ แผ่นศิลาจารึกเช่นเดียวกับวัดเส้าหลินที่เทือกเขาซงซานซึ่งเป็นสาขาใหญ่ที่จีน และให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการขยายสาขาในครั้งนี้ว่า "ที่ผ่านมาวัฒนธรรมของเส้าหลินเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากชาวต่างชาติ อีกอย่างฮ่องกงก็เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ขณะที่คนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ดังนั้นการจัดตั้งสาขาวัดเส้าหลินในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนในฮ่องกงสามารถเข้าถึงพุทธศาสนา และมีโอกาสเรียนรู้ศิลปะกังฟู"[73]

ศึกชิงเจ้ายุทธจักร[แก้]

ศึกชิงเจ้ายุทธจักร เป็นความร่วมมือระหว่างวัดเส้าหลินและสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเซินเจิ้น ในการจัดมหกรรมการแข่งขัน "ดาวดังกังฟู" หรือ "K-STAR" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการค้นหาสุดยอดเจ้ายุทธจักรกังฟูแห่งเส้าหลิน เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันทั้งชายและหญิง โดยห้ามหลวงจีนวัดเส้าหลินเข้าร่วมในการแข่งขันโดยเด็ดขาด แบ่งการแข่งขันออกเป็น 11 โซน เพื่อเป็นการครอบคลุมพื้นที่การแข่งขันในทวีปต่าง ๆ ทั่วทุกแห่งในโลก ได้แก่ 6 เขตในประเทศจีน ดังนี้[74]

การแข่งขันในต่างประเทศ แบ่งเป็นโซนทวีปอเมริกาที่สหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรปที่เยอรมนี ทวีปโอเชียเนียที่ออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกาจัดที่อียิปต์ ส่วนทวีปเอเชียจัดขึ้น 2 ประเทศที่เกาหลีใต้และไทย เปิดรับสมัครในวันที่ 16 มีนาคม15 เมษายน พ.ศ. 2549 ใช้ระยะเวลาประมาณสองเดือนครึ่ง เพื่อทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบแรกและรอบรองชนะเลิศ ระหว่างวันที่ 16 เมษายน30 มิถุนายน และรอบชิงชนะเลิศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม15 สิงหาคม พ.ศ. 2549 โดยศึกชิงเจ้ายุทธจักรในประเทศจีน จะเริ่มจากคัดเลือกผู้มีฝีมือเขตการแข่งขันละ 18 คน ก่อนเข้าไปปะทะหมัดมวยกันในรอบรองชนะเลิศ จนได้จอมยุทธ์ "18 อรหันต์" จาก 6 เขตในจีน ส่วน 5 ทวีปที่เหลือจะคัดเลือกให้ได้ "สุดยอดจองหงวนฝ่ายบู๊" เขตละเพียง 1 คนเท่านั้น

หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการแข่งขัน "18 อรหันต์" และ "จองหงวนฝ่ายบู๊" ซึ่งจะเป็นตัวแทนในแต่ละทวีปรวม 23 คน จะร่วมเก็บตัวเพื่อฝึกวิทยายุทธที่วัดเส้าหลินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมทั้งเข้าร่วมรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับการแสดงหมัดมวยก่อนจะเข้าต่อสู้ชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ จนในที่สุดจะได้ "ดาวดังกังฟู" จำนวน 3 รางวัล ตามรูปแบบการสอบคัดเลือกบัณฑิตจีนในสมัยโบราณ ซึ่งแบ่งเป็นจอหงวนหรือจ้วงหยวน รองลงมาเป็นปั้งเหยี่ยนและทั่นฮวา โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 108 คนที่ผ่านรอบแรก จะมีโอกาสร่วมแสดงในละครโทรทัศน์เรื่อง "ตำนานพระนักรบแห่งวัดเส้าหลิน" ส่วนผู้ชนะเลิศอาจได้ร่วมแสดงหนังฮอลิวูด ซึ่งอาจจะกลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งดาวดังกังฟูเหมือนกับ เฉิงหลง และเจ็ท ลี ในอนาคต

การแสดงศิลปะการต่อสู้และกังฟู[แก้]

การแสดงโชว์ความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ
การแสดงโชว์ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

วัดเส้าหลินในรูปแบบอื่น[แก้]

นิยายกำลังภายใน[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

สิ่งสืบเนื่องจากอิทธิพลของวัดเส้าหลินในแง่ของวัฒนธรรมภาพยนตร์มีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ ภาพยนตร์เรื่องเสี่ยวลิ้มยี่ ที่นำแสดงโดยเจท ลี[75], นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ ที่นำแสดงโดยโจว ซิงฉือ รวมถึงเส้าหลิน สองใหญ่ ซึ่งนำแสดงโดยเฉินหลง และหลิว เต๋อหัว[75]

การ์ตูน[แก้]

เกม[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "การก่อตั้งวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-12-25.
  2. สุดยอดวิชา วัดเส้าหลิน เรียกข้อมูลจากคอลัมน์ "กระบี่พลิ้ว" ผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2548
  3. Shaolin Temple Quanfa
  4. "Shaolin Temples-Most Famous Temple in China". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-12-29.
  5. "สถานที่ตั้งวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  6. "เหอหนาน เมืองแห่งเจ้ายุทธจักร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
  7. "เส้าหลินซื่อ แหล่งกำเนิดของวิชาเพลงหมัดมวย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-12-24.
  8. จำนวนหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูในวัดเส้าหลิน
  9. ซือ หย่งซิน เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของเส้าหลิน
  10. วัดเส้าหลิน ถิ่นยอดกังฟูแดนมังกร การร้องขอให้เป็นมรดกโลก
  11. วัดเส้าหลินจีนได้รับรองจากองศ์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
  12. วังโบราณเวียดนาม-วัดเส้าหลินเป็นมรดกโลก[ลิงก์เสีย]
  13. "ต้นกำเนิดวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
  14. ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ภิกษุอินเดียผู้เหยียบกิ่งอ้อข้ามแม่น้ำ
  15. "พระโพธิธรรม เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
  16. คัมภีร์เก้าอิมจินเก็ง 72 กระบวนท่ากังฟูเส้าหลิน
  17. "ความนิยมในการฝึกกังฟูเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-24. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  18. "13 หลวงจีนเส้าหลิน ผู้ช่วยเหลือจักรพรรดิเพื่อปราบกบฏ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  19. ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลิน
  20. การอนุญาตให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์และฉันเนื้อสัตว์
  21. เส้าหลินใต้ สำนักกังฟูแห่งราชวงศ์หมิง
  22. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก, ถาวร สิกขโกศล, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ (ตีพิมพ์ครั้งที่ 3) , พ.ศ. 2543, หน้า 23
  23. สายพระวัดเส้าหลิน
  24. อารามเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน สถานที่สำหรับต้อนรับ วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
  25. อดีตสายลับ KGB 'บุก' เส้าหลิน พิชิตคัมภีร์วรยุทธ[ลิงก์เสีย]
  26. ประธานาธิบดีหมีขาว เยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ถิ่นกังฟู[ลิงก์เสีย]
  27. 27.0 27.1 27.2 DVD National Geographic:History of China, สารคดี National Geographic เรื่องย้อนรอยประวัติศาสตร์จีน, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 28.5 DVD National Geographic : Kung Fu Dragons of Wudang, สารคดี National Geographic เรื่องหุบเขาปรมาจารย์กังฟู, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
  29. "สุดยอดเพลงหมัดกังฟูแดนมังกร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-25. สืบค้นเมื่อ 2010-07-29.
  30. กังฟู กระบวนท่าจากสรรพสัตว์[ลิงก์เสีย]
  31. การฝึกพลังภายใน, มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2550, หน้า 75
  32. "พลังลมปราณ สิ่งที่มองไม่เห็นในร่างกายมนุษย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-24. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  33. ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 2-4
  34. มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2550, หน้า 49
  35. การฝึกพลังลมปราณ
  36. ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า กระบวนท่าการเคลื่อนไหว, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 9
  37. ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า จิตประสาทและร่างกายเป็นหนึ่งเดียว, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 12
  38. ไท่จี๋ชี่กง 18 ท่า การฝึกฝนจิน ชี่ เสิน, ศิริ ทรวงแสวง, สำนักพิมพ์เดลินิวส์, พ.ศ. 2547, หน้า 10
  39. "การฝึกเพลงมวย กังฟูเส้าหลินของหลวงจีนวัดเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
  40. การนั่งสมาธิบำเพ็ญตบะท่ามกลางหิมะ หนึ่งในการฝึกฝนสมาธิของหลวงจีนวัดเส้าหลิน
  41. "จุดสำคัญในร่างกายในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-08-06.
  42. 72 กระบวนท่าวิชาหมัดมวย
  43. 255 กระบวนท่าอาวุธและกังฟูโบราณวัดเส้าหลิน
  44. DVD 10 อันดับอาวุธโบราณของจีน, สารคดีประวัติศาสตร์ 10 อันดับอาวุธโบราณของจีน, บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) , DVD Subtitle:English/Thai, 2550
  45. "ความหมายของอาวุธตามราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2010-08-04.
  46. สำริดและทองแดง ยุคเริ่มแรกของอาวุธจีนโบราณ, อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 270
  47. Chinese Swords
  48. อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 272
  49. อาวุธโบราณในประวัติศาสตร์จีนสามยุค, ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ลูเซี่ยน ดับเบิลยู พาย ผู้เขียน, คณิน บุญสุวรรณ ผู้แปล, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร, 2547, หน้า 275
  50. ความเป็นมาของ 18 อรหันต์
  51. "คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น มรดกทางวัฒนธรรมของชาติจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  52. ความหมายของคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
  53. 12 กระบวนท่าคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น[ลิงก์เสีย]
  54. เส้าหลิน เจาะตลาด CEO คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น[ลิงก์เสีย]
  55. "สุดยอดคัมภีร์เส้าหลิน ต๋า โม๋ อี้ จิน จิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  56. กังฟูหนูน้อย เรียกข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 8:03:02 น.[ลิงก์เสีย]
  57. โรงเรียนสอนกังฟูวัดเส้าหลิน ถิ่นกำเนิดนักแสดงบู๊แห่งจีน
  58. การจดสิทธิทางปัญญา วิทยายุทธวัดเส้าหลิน
  59. เส้าหลินไทยแลนด์
  60. โรงเรียนเส้าหลิน วูซู ไทยแลนด์
  61. Wushu Thailand
  62. "ทุนนิยมเส้าหลิน การปะปนระหว่างเศรษฐกิจและพุทธศาสนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  63. "ค่าตั๋วเข้าชมวัดเส้าหลิน ปีละ 60 ล้านหยวน (266 ล้านบาท)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-17. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  64. "ข่าวสารผ่านโลก เส้าหลินเตรียมเข้าสู่วงการธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-14. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  65. เส้าหลินเปิดเว็บไซต์เอาใจจอมยุทธ เรียกข้อมูลจากเว็บไทยสามก๊ก โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 มิถุนายน 2551 13:57 น.[ลิงก์เสีย]
  66. shop.shaolingongfu สินค้าแบนรด์วัดเส้าหลิน
  67. Shaolin The Stage of Joy เว็บไซต์วัดเส้าหลิน
  68. "หลวงจีนหนีทุนนิยมไม่พ้น "วัดเส้าหลิน" เตรียมลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อขยายธุรกิจท่องเที่ยว เรียกข้อมูลจากมติชนออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13:30:02 น." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2010-07-31.
  69. "การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจ CEO ของเส้าหลิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  70. หลวงจีนเส้าหลินหนีทุนนิยมไม่พ้น เตรียมเข้าสู่ตลาดหุ้น[ลิงก์เสีย]
  71. "เส้าหลินรวยแล้ว จากสุดยอดกังฟูสู่ธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-17. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  72. นักธุรกิจในคราบพระ ซีอีโอวัดเส้าหลิน
  73. เส้าหลิน เจรจาเสนอรัฐบาลฮ่องกงเพื่อขยายสาขา[ลิงก์เสีย]
  74. วัดเส้าหลินจัดศึกชิงจ้าวยุทธจักร เฟ้นหายอดฝีมือหนึ่งในใต้หล้า! เรียกข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2548[ลิงก์เสีย]
  75. 75.0 75.1 "Jackie Chan, Andy Lau to star in new Shaolin movie". China Daily. 2009-10-22. สืบค้นเมื่อ 2009-12-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]