เสาแห่งการก่อกำเนิด
เสาแห่งการก่อกำเนิด | |
---|---|
ภาพของเสาแห่งการก่อกำเนิด ในเนบิวลานกอินทรี
รูปซ้าย: จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล รูปขวา: จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ | |
ข้อมูลสังเกตการณ์: ต้นยุคอ้างอิง เจ 2000.0 | |
ประเภท | เนบิวลาเปล่งแสง |
ไรต์แอสเซนชัน | 18h 18m 48s[1] |
เดคลิเนชัน | -13° 49′[1] |
ระยะห่าง | 7,000 ly |
กลุ่มดาว | กลุ่มดาวงู |
ลักษณะทางกายภาพ | |
ชื่ออื่น | เมซีเย 16, เอ็นจีซี 6611[1], ชาร์ปเลส 49, อาร์ซีดับเบิลยู 165, กัม 83 |
ดูเพิ่ม: เนบิวลา, รายการเนบิวลา | |
เสาแห่งการก่อกำเนิด (อังกฤษ: Pillars of Creation) เป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของเสาอันเกิดจากก๊าซและฝุ่นระหว่างดวงดาวในเนบิวลานกอินทรีซึ่งก่อขึ้นเป็นรูปเสา ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิบภาพที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลโดยสเปซ.คอม[2] นักดาราศาสตร์ที่รับผิดชอบการถ่ายภาพดังกล่าวคือ เจฟ เฮสเตอร์ และ พอล สโกเวน จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต เสาที่สูงที่สุด (เสาซ้ายสุดในภาพ) มีความสูงประมาณ 4 ปีแสง ดาวฤกษ์ในส่วนนี้ของเนบิวลานกอินทรีก่อตัวขึ้นจากดาวฤกษ์ดวงอื่นที่กำลังกัดกร่อนที่ส่วนที่ก๊าซยื่นออกมา ซึ่งทำให้ก่อตัวเป็นรูป"ไข่" หรือ"เม็ดก๊าซกลมที่กำลังระเหย" (อังกฤษ: Evaporating Gaseous Globules - EGGs) ออกจากส่วนที่ยื่นออกมานี้ "ไข่" แต่ละฟองมีขนาดราวกับระบบสุริยะและเป็นที่พักของดาวฤกษ์เกิดใหม่ ดาวที่เห็นบริเวณกลางภาพค่อนข้างไปทางซ้ายเป็นดาวมวลมากที่เกิดใหม่ ซึ่งจะใช้ชีวิตไปอีกไม่กี่ล้านปีก่อนที่จะระเบิดเป็นซุเปอร์โนวาส่งธาตุที่ผลิตขึ้นใหม่ไปทั่งบริเวณ[3] อาจเป็นสาเหตุให้โครงสร้างเสาได้ถูกทำลายลงด้วยซุเปอร์โนวาแห่งหนึ่ง
ภาพนี้ได้จากภาพถ่าย 32 ภาพนำมาติดกัน[4] จากกล้องสี่ตัว[5] ในกล้องถ่ายภาพสนามกว้างและดาวเคราะห์ 2 ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล[6] ภาพถ่ายประกอบด้วยแสงที่ปลดปล่อยออกมาจากธาตุที่อยู่ในเมฆ และมองเห็นได้เป็นสีแตกต่างกันในภาพถ่าย: สีเขียวสำหรับไฮโดรเจน สีแดงสำหรับกำมะถันที่ถูกแปลงให้เป็นไอออนครั้งเดียว และสีฟ้าสำหรับออกซิเจนที่ถูกแปลงให้เป็นไอออนสองครั้ง[7]
ส่วนที่หายไปตรงมุมขวาบนเป็นเพราะกล้องหนึ่งในสี่ตัวได้พบขยายในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทำให้นักดาราศาสตร์มองเห็นรายละเอียดที่ดีกว่าส่วนอื่น ดังนั้น ภาพจากกล้องนี้จึงได้ถูกปรับลดขนาดลงให้เป็นสัดส่วนเหมาะสมกับภาพที่ได้จากกล้องอีกสามตัวที่เหลือ[8]
โครงสร้างทางกายภาพ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
โครงสร้างเสาทั้งสามต้นประกอบไปด้วยก๊าซและฝุ่นละอองที่มีความหนาแน่นมาก อยู่ในขอบตะวันออกเฉียงใต้ของเนบิวลานกอินทรี เสาทั้งสามต้นก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวของลมดาวฤกษ์จากดาวยักษ์ เสาแต่ละต้นมีชื่อเฉพาะตัวว่า I II และ III จากซ้ายไปขวา (จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก)
มวลรวมของพื้นที่ๆมีความหนาแน่นสูงคือประมาณ 200 M☉ ดาวฤกษ์ที่กำลังถูกเปลี่ยนเป็นไอออนอยู่ห่างออกไปจากพื้นที่เหล่านี้ประมาณ 2 พาร์เซกในโครงสร้างเสา
ปรากฏการณ์ของการเกิดดาว
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การรวมภาพของฮับเบิลและจันทราได้แสดงให้เห็นว่าแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ในเนบิวลาและดาวฤกษ์เกิดใหม่ไม่ตรงกันกับรูปร่างของเสา ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าจุดสูงสุดของความเข้มข้นพลังงานในการก่อกำเนิดดาวได้เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งล้านปีที่ผ่านมา ดาวฤกษ์ก่อนเกิดในเนบิวลาจึงร้อนพอที่จะปลดปล่อยปล่อยรังสีเอกซ์ออกมา
การพังทลายลงมาของเสา
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ราวต้นปี พ.ศ. 2550 นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่แสดงว่า โครงสร้างเสาได้ถูกทำลายลงโดยการระเบิดของซูเปอร์โนวาแห่งหนึ่งเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว แต่แสงที่แสดงรูปร่างใหม่ของเนบิวลายังเดินทางมาไม่ถึงโลกจนกว่าจะถึงสหัสวรรษหน้า[9]
คลังภาพ
[แก้]-
ภาพของเนบิวลานกอินทรี โดยมีเสาแห่งการก่อกำเนิดอยู่ตรงกลาง
-
เม็ดก๊าซกลมที่กำลังระเหยในโครงสร้างเสาต้นแรก
-
เสาแห่งการก่อกำเนิดในแสงอินฟราเรด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "SIMBAD Astronomical Database". Results for NGC 6611. 2006-11-16.
- ↑ Best Hubble Space telescope images จาก Space.com
- ↑ วิภู รุโจปการ. (2547). เอกภพ เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาล. บริษัท นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น จำกัด. หน้า 244
- ↑ http://www.pbs.org/wgbh/nova/origins/hubb-03.html
- ↑ http://www.pbs.org/wgbh/nova/origins/hubb-02.html
- ↑ http://www.pbs.org/wgbh/nova/origins/hubb-01.html
- ↑ Embryonic Stars Emerge from Interstellar "Eggs" - ข่าวจากกล้องฮับเบิล
- ↑ http://www.pbs.org/wgbh/nova/origins/hubb-02.html
- ↑ Famous Space Pillars Feel the Heat of Star's Explosion เก็บถาวร 2008-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - ห้องทดลองการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น