เวลวิชเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวลวิชเซีย
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Gnetophyta
ชั้น: Gnetopsida
อันดับ: Welwitschiales
วงศ์: Welwitschiaceae
สกุล: Welwitschia nom.  cons.
สปีชีส์: W.  mirabilis
ชื่อทวินาม
Welwitschia mirabilis
Hook.f.
พื้นที่การกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[2]
  • Tumboa Welw. nom. rej.
  • Tumboa strobilifera Welw. ex Hook. f. nom. provis.
  • Tumboa bainesii Hook. f. nom. provis.
  • Welwitschia bainesii (Hook. f.) Carrière
  • Welwitschia mirabilis subsp. namibiana Leuenb.
  • Welwitschia namibiana (Leuenb.) Christenh. & Byng
Friedrich Welwitsch แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบปีศาจทะเลทรายเป็นคนแรก

ปีศาจทะเลทราย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Welwitschia mirabilis) เป็นพืชเมล็ดเปลือยที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายนามิบ ในประเทศนามิเบียและแองโกลา เป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวของสกุล Welwitschia วงศ์ Welwitschiaceae และอันดับ Welwitschiales มีลักษณะสำคัญคือ เป็นพืชทนแล้ง มีลำต้นสั้น รากแก้วหยั่งลึกลงใต้ผิวดิน ไม่มีการเจริญเติบโตทางยอด มีใบรูปแถบจำนวน 2 ใบ ที่สามารถเจริญได้อย่างต่อเนื่องจากเนื้อเยื่อเจริญส่วนฐานที่สองข้างของลำต้น และสามารถมีอายุได้มากกว่า 1,000 ปี[3] เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพืชเมล็ดเปลือยอีก 2 สกุล คือ สกุลมะเมื่อย (Gnetum) และสกุลมาฮวง (Ephreda)

การค้นพบและการตั้งชื่อ[แก้]

มีบันทึกไว้ว่า “เมื่อนักสำรวจพบพืชชนิดนี้ครั้งแรก เขาทำได้เพียงคุกเข่าล้มลงบนพื้นทรายอันร้อนระอุ สายตาจับจ้องไปที่มันด้วยความตกตะลึง ใจหนึ่งเกรงว่าแค่ปลายนิ้วสัมผัส อาจทำให้เขารู้ตัวว่ามันเป็นเพียงภาพที่เขาจินตนาการขึ้นมาเองเท่านั้น”[4]

นักสำรวจที่กล่าวถึงนี้มีชื่อว่า Friedrich Welwitsch แพทย์ชาวออสเตรีย แต่ด้วยความหลงใหลในพรรณไม้ เขาจึงผันตัวมาทำงานในฐานะหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศโปรตุเกส ภายหลังถูกมอบหมายให้ออกสำรวจทรัพยากรในดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปแอฟริกาในยุคนั้น และเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 1859 ณ ทะเลทราย Moçâmedes พื้นที่ทางเหนือสุดของทะเลทรายนามิบ ในประเทศแองโกลา ในที่นั้นเอง เป็นครั้งแรกที่เขาได้พบกับพืชสุดประหลาดจนทำให้เขาต้องตกอยู่ในอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้น ความตื่นเต้นของเขาสามารถรับรู้ได้จากข้อความในสมุดบันทึกที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) และถูกเขียนอย่างเร่งรีบแตกต่างจากบันทึกอื่น [5] ในบันทึกนั้นเขาตั้งชื่อสกุลพืชนี้ว่า Tumboa[6] มาจากชื่อพื้นเมืองว่า Tumbo จากนั้นเขาได้เขียนจดหมายแจ้งการค้นพบนี้ถึง Sir William Hooker ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว สหราชอาณาจักร ข้อความในจดหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชนี้ประกอบด้วยสภาพภูมิประเทศและลักษณะของพืชโดยละเอียดที่ถูกอธิบายด้วยภาษาละตินตามธรรมเนียมของนักพฤกษศาสตร์ จดหมายดังกล่าวถูกนำขึ้นแจ้งแก่ที่ประชุมของสมาคม Linnean Society และถูกตีพิมพ์ในรายงานประชุมในครั้งนั้น[7][8] จากนั้นจึงมีการเผยแพร่ชื่อพืชนี้ที่เสนอโดย Friedrich Welwitsch ว่า Tumboa strobilifera[9]

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีกล่องพัสดุถูกส่งมายังสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ผู้ส่งคือ Thomas Baines จิตรกรและนักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้ท่องไปในดินแดนของชนเผ่า Damara ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศนามิเบียในปัจจุบัน ภายในกล่องบรรจุตัวอย่างพรรณไม้ที่อยู่ในสภาพไม่ดีนัก มีภาพวาดทิวทัศน์อันงดงาม และภาพวาดของพรรณไม้ในกล่องนั้นด้วย Joseph Hooker นักพฤกษศาสตร์และบุตรชายของ Sir William Hooker กล่าวว่า เขาทราบได้ทันทีว่าพืชในกล่องนั้นมีลักษณะคล้ายกับ Tumboa ของ Friedrich Welwitsch แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว และเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีจดหมายอธิบายลักษณะของพืชนี้แนบมาด้วย ทราบเพียงพิกัดทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่เก็บพืชนี้ ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตรไปทางใต้จากตำแหน่งของ Friedrich Welwitsch รวมถึงภาพวาดของ Thomas Baines ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างเพียงพอ มันมีความเป็นศิลปะมากกว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น Joseph Hooker ก็ได้ตั้งชื่อพืชนี้ในเบื้องต้นว่า Tumboa bainesii[10] เผื่อไว้ในกรณีที่ตัวอย่างพรรณไม้ของ Thomas Baines เป็นคนละชนิดกับของ Friedrich Welwitsch[8]

หลังจากนั้น Joseph Hooker จึงเร่งเร้าให้ Friedrich Welwitsch ส่งตัวอย่างพรรณไม้ของเขามาเพื่อศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงยังได้รับตัวอย่างพรรณไม้จากเพื่อนนักสัตววิทยา Joachim Monteiro ในประเทศแองโกลา และจาก Charles Andersson ที่ส่งตัวอย่างพรรณไม้มาแทน Thomas Baines เนื่องจาก Baines ได้เดินทางไปที่อื่นแล้ว เมื่อ Joseph Hooker ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนทั้งทางสัณฐานวิทยา จุลสัณฐานวิทยา และกายวิภาคศาสตร์ เขาจึงได้ข้อสรุปว่า ตัวอย่างพรรณไม้ทั้งหมดนั้นเป็นชนิดเดียวกัน ในระหว่างนั้นเขาได้ส่งจดหมายขอความยินยอมจาก Friedrich Welwitsch เพื่อเปลี่ยนชื่อสกุลของพืชเป็น Welwitschia[11] เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบพืชนี้ รวมถึงเหตุผลที่ว่าชื่อสกุล Tumboa ที่มาจากชื่อพื้นเมือง Tumbo ไม่ได้ใช้เรียกเจาะจงถึงพืชนี้เพียงชนิดเดียว ซึ่ง Friedrich Welwitsch ก็อนุญาตทันที และในท้ายที่สุด พืชสุดประหลาดนี้จึงมีชื่อที่เป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบันว่า Welwitschia mirabilis[12] โดยคำระบุชนิดนี้มีความหมายว่า มหัศจรรย์[8][13]

ความพิเศษของ Welwitschia mirabilis ถูกถ่ายทอดโดย Joseph Hooker ผ่านข้อความที่ว่า “ฉันไม่ลังเลที่จะบอกว่ามันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในทางพฤกษศาสตร์ที่ถูกเปิดเผยในช่วงศตวรรษนี้ จากการศึกษาอย่างพิถีพิถันทั้งในส่วนระบบท่อลำเลียง โครงสร้างสืบพันธุ์ และหลักฐานเชิงหน้าที่และพัฒนาการ แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในทุก ๆ ส่วน ซึ่งบางลักษณะก็ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปในปัจจุบัน”[8] นอกจากนั้นแล้ว Charles Darwin นักชีววิทยาชื่อดังผู้สร้างแนวคิดทางวิวัฒนาการด้วยการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ยังเคยกล่าวถึงพืชชนิดนี้ในจดหมายตอบโต้กับ Joseph Hooker ว่า “มันช่างเป็นสิ่งที่ประหลาดจริง ๆ เป็นเหมือนฟอสซิลที่มีชีวิตในสภาพสมบูรณ์ ที่ถูกคงสภาพมาแต่อดีตกาล”[5]

ลักษณะสำคัญ[แก้]

ภาพวาดปีศาจทะเลทรายโดย Walter Fitch เผยแพร่ในปี 1863

ปีศาจทะเลทราย เป็นพืชทนแล้ง มีวิสัยไม้พุ่ม สามารถสูงได้ถึง 2 เมตร มีอายุได้มากกว่า 1,000 ปี ลำต้นสั้น มีเนื้อไม้ รากแก้วยาวหยั่งลึกลงใต้ผิวดิน มีใบที่ปรากฏ 2 ใบ เจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากเนื้อเยื่อเจริญส่วนฐานที่อยู่สองข้างของลำต้น ใบรูปแถบ เหนียวเหมือนหนัง เส้นใบขนาน สามารถยาวได้ถึง 4 เมตร มักฉีกลุ่ยออกเป็นหลายแถบเมื่อมีอายุมาก มีปากใบอยู่ทั้งสองด้านของใบ และมีการสังเคราะห์ด้วยแสงแบบ CAM (crassulacean acid metabolism)[14] เป็นพืชแยกเพศต่างต้น ต้นเพศผู้สร้างโคนเพศผู้ (หรือ male strobili) ต้นเพศเมียสร้างโคนเพศเมีย (หรือ female strobili) เนื่องจากเป็นพืชเมล็ดเปลือยจึงไม่มีโครงสร้างที่เรียกว่าดอกและผล โคนซึ่งประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันหลายชั้น เจริญเป็นช่อขึ้นมาจากเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ใกล้กับใบ เมื่อพัฒนาเต็มที่อับเรณูจะแตกออกในโคนเพศผู้และมีการสร้างหยดของเหลวที่ปลายท่อ micropyle ในโคนเพศเมีย รวมถึงมีการสร้างน้ำหวานในโคนทั้งสองเพศเพื่อล่อแมลงจำพวกแมลงวันมาเพื่อเป็นพาหะถ่ายเรณู ในอดีตเคยเข้าใจว่าแมลงที่ชื่อว่า Welwitschia bug (Probergrothius angolensis) เป็นพาหะถ่ายเรณูของปีศาจทะเลทราย แต่แท้จริงแล้วมันมีพฤติกรรมเพียงแค่ดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืชเท่านั้น[15] เมล็ดมีปีกแบนบางอาศัยลมพัดพาไปยังที่ต่าง [3]

การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่[แก้]

ปีศาจทะเลทรายกระจายพันธุ์ในทะเลทรายนามิบห่างจากชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 80 กิโลเมตรแต่ไม่เกิน 200 กิโลเมตร[3] จากเส้นละติจูดที่ 24 ในประเทศนามิเบีย ขึ้นไปถึงเส้นละติจูดที่ 15 ในทางตอนใต้ของประเทศแองโกลา ซึ่งเป็นระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตร[16] สันนิษฐานว่าพวกมันได้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาเป็นเวลากว่า 105 ล้านปีแล้ว[17] มักพบในสภาพภูมิประเทศ 2 ลักษณะ คือหุบเขาที่แห้งแล้งและทะเลทรายใกล้ชายฝั่ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 50 มิลลิเมตร คาดว่าพวกมันได้รับความชื้นจากหมอกและแหล่งน้ำใต้ดินเป็นหลัก[18]

การจำแนกในระดับที่ต่ำกว่าชนิด[แก้]

ในปี 2001 Beat Leuenberger เสนอให้มีการจำแนก Welwitschia mirabilis ออกเป็น 2 ชนิดย่อย ตามลักษณะของโคนเพศผู้[19] ได้แก่ W. mirabilis ssp. mirabilis ซึ่งเป็นชนิดย่อยที่มีโคนเรียบ สีน้ำตาลม่วง ไม่มีนวลเคลือบ พบในประเทศแองโกลา และ W. mirabilis ssp. namibiana เป็นชนิดย่อยที่มีโคนขรุขระ สีเขียวหม่นถึงสีส้ม มีนวลเคลือบ พบในประเทศนามิเบีย อย่างไรก็ตามสำหรับข้อเสนอนี้มีงานวิจัยในภายหลังทั้งที่ให้การสนับสนุนและไม่สนับสนุน[20][16] จึงทำให้สถานะของทั้งสองชนิดย่อยยังไม่เป็นที่แน่นอน

สถานภาพทางการอนุรักษ์[แก้]

ในปัจจุบัน ปีศาจทะเลทราย Welwitschia mirabilis ยังไม่ได้รับการประเมินสถานภาพตาม IUCN อย่างไรก็ถามมันถูกจัดไว้ในบัญชีแนบท้ายที่สองของอนุสัญญาไซเตส (CITES)[1] หมายความว่าเป็นชนิดที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์และจะอนุญาตให้มีการค้าในเชิงพาณิชย์ได้ในกรณีที่มีการควบคุมไม่ให้ผลกระทบจากการค้าเป็นเหตุให้ชนิดนั้นตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ในขณะเดียวกันมันยังถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศนามิเบีย

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Welwitschia Mirabilis | CITES". cites.org.
  2. "Welwitschia mirabilis Hook.f." Plants of the World Online.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Welwitschia mirabilis Hooker 1863". The Gymnosperm Database. 23 พฤศจิกายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มกราคม 2013.
  4. Trimen, H. (1873). Friedrich Welwitsch. Ranken and Company.
  5. 5.0 5.1 Kury, L., & Albuquerque, S. (2021). Global Affinities: The Natural Method and Anomalous Plants in the Nineteenth Century.
  6. International Plant Name Index: Tumboa
  7. Welwitsch, F. (1861). Extract from a Letter, addressed to Sir William J. Hooker, on the Botany of Benguela, Mossamedes, &c., in Western Africa. Botanical Journal of the Linnean Society, 5(20), 182-187.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Hooker, J. D. (1863). I. On Welwitschia, a new Genus of Gnetaceæ. Transactions of the Linnean Society of London, 24(1), 1-48.
  9. International Plant Name Index: Tumboa strobilifera
  10. International Plant Name Index: Tumboa bainesii
  11. International Plant Name Index: Welwitschia
  12. International Plant Name Index: Welwitschia mirabilis
  13. Bustard, L. (1990). The ugliest plant in the world the story of Welwitsghia mirabilis. The Kew Magazine, 7(2), 85-90.
  14. von Willert, Dieter J.; Armbrüster, Nicole; Drees, Tobias; Zaborowski, Maik (2005). "Welwitschia mirabilis: CAM or not CAM — what is the answer?". Functional Plant Biology. 32 (5): 389. doi:10.1071/fp01241. ISSN 1445-4408.
  15. Wetschnig, W., & Depisch, B. (1999). Pollination biology of Welwitschia mirabilis Hook. f.(Welwitschiaceae, Gnetopsida). Phyton.
  16. 16.0 16.1 Jürgens, Norbert; Oncken, Imke; Oldeland, Jens; Gunter, Felicitas; Rudolph, Barbara (27 มกราคม 2021). "Welwitschia: Phylogeography of a living fossil, diversified within a desert refuge". Scientific Reports (ภาษาอังกฤษ). 11 (1): 2385. doi:10.1038/s41598-021-81150-6. ISSN 2045-2322.
  17. Jacobson, K. M. (1 พฤษภาคม 2003). "A First Assessment of Genetic Variation in Welwitschia mirabilis Hook". Journal of Heredity. 94 (3): 212–217. doi:10.1093/jhered/esg051. eISSN 1465-7333. ISSN 0022-1503.
  18. Wan, Tao; Liu, Zhiming; Leitch, Ilia J.; Xin, Haiping; Maggs-Kölling, Gillian; Gong, Yanbing; Li, Zhen; Marais, Eugene; Liao, Yiying; Dai, Can; Liu, Fan (12 กรกฎาคม 2021). "The Welwitschia genome reveals a unique biology underpinning extreme longevity in deserts". Nature Communications (ภาษาอังกฤษ). 12 (1): 4247. doi:10.1038/s41467-021-24528-4. ISSN 2041-1723.
  19. Leuenberger, Beat Ernst (กันยายน 2001). "Welwitschia mirabilis (Welwitschiaceae), male cone characters and a new subspecies". Willdenowia. 31 (2): 357–381. doi:10.3372/wi.31.31206. ISSN 0511-9618.
  20. Jacobson, Nicholas; Jacobson, Peter; van Jaarsveld, Ernst; Jacobson, Kathryn (2 กันยายน 2014). "Field evidence from Namibia does not support the designation of Angolan and Namibian subspecies of Welwitschia mirabilis Hook". Transactions of the Royal Society of South Africa. 69 (3): 179–186. doi:10.1080/0035919X.2014.950187. ISSN 0035-919X.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]