เลโอนิด โรโกซอฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลโอนิด โรโกซอฟ
Leonid Rogozov
เกิด14 มีนาคม พ.ศ. 2477
สถานีวิจัยดาอูรียา ชีตาอ็อบลัสต์ สหภาพโซเวียต
เสียชีวิต21 กันยายน พ.ศ. 2543 (66 ปี)
เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย
สัญชาติสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐรัสเซีย
อาชีพแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ศัลยแพทย์
มีชื่อเสียงจากศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดไส้ติ่งตนเอง ณ สถานีอันห่างไกลท่ามกลางพายุหิมะในทวีปแอนตาร์กติกา

เลโอนิด อีวาโนวิช โรโกซอฟ (รัสเซีย: Леонид Иванович Рогозов; อักษรโรมัน: Leonid Ivanovich Rogozov; 14 มีนาคม พ.ศ. 2477 — 21 กันยายน พ.ศ. 2543) เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปชาวรัสเซียซึ่งเข้าร่วมคณะสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งโซเวียตในระหว่าง พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2505 และขณะที่เป็นแพทย์ประจำอยู่ ณ สถานีวิจัยโนโวลาซาเรฟสกายาแต่เพียงผู้เดียว เยื่อบุช่องท้องของโรโกซอฟเกิดอักเสบ เป็นเหตุให้เขาต้องผ่าตัดไส้ติ่งตนเอง จนขึ้นชื่อว่าเป็นอัตศัลยกรรมครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง[1][2]

ต้นชีวิต[แก้]

โรโกซอฟเกิด ณ หมู่บ้านชนบทในภาคตะวันออกของไซบีเรีย ห่างจากชายแดนระหว่างมองโกเลียกับประเทศจีนไปราวสิบเจ็ดกิโลเมตร ใกล้เคียงกิ่งจังหวัดมั่นโจวหลี่ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน บิดาของโรโกซอฟตายในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2486 ครั้น พ.ศ. 2496 เมื่อเขาสำเร็จมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในแขวงมีนูซิงสก์ เขตครัสโนยาส์กแล้ว ก็เข้าศึกษาต่อที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์เลนินกราด (Leningrad Pediatric Medical Institute) จนสำเร็จเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2502 จากนั้น โรโกซอฟเข้ารับการอบรมทางคลินิกเพื่อความเชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์ แต่ต้องพักไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2503 เพื่อเข้าร่วมคณะสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งโซเวียต คณะที่หก ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยสิบสามคน ในจำนวนนี้มีโรโกซอฟเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

การสำรวจแอนตาร์ติกา[แก้]

โรโกซอฟปฏิบัติหน้าที่ในทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2503 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 ในระหว่างนั้น มีการตั้งสถานีวิจัยโนโวลาซาเรฟสกายาขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2504 โรโกซอฟซึ่งเป็นแพทย์ผู้เดียวในคณะจึงต้องเป็นแพทย์ประจำสถานีวิจัยนี้เพียงลำพัง

เช้าวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2504 โรโกซอฟรู้สึกอ่อนเพลียตามธรรมดา คลื่นไส้ และมีไข้อ่อน สักพักจึงรู้สึกปวดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านขวา แม้ใช้วิธีบำบัดรักษาแบบอนุรักษ์ทุกประการแล้วก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2504 จึงปรากฏอาการแสดงภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบอย่างแจ้งชัด เย็นลงวันนั้น สภาวะร่างกายของเขาก็ย่ำแย่ลงถนัดตา เมื่อพิเคราะห์ว่า สถานีวิจัยเมอร์นีซึ่งเป็นสถานีวิจัยของสหภาพโซเวียตที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งพันหกร้อยกิโลเมตร ทั้งสถานีวิจัยของชาติอื่นก็ไม่มีอากาศยานจะรับส่งเขา และแม้จะมีก็คงไม่อาจลงจอดท่ามกลางพายุหิมะหนักเช่นนี้ได้ โรโกซอฟจึงตัดสินใจผ่าตัดรักษาตนเอง

การผ่าตัดเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 22:00 นาฬิกาของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2504 ในการผ่าตัด โรโกซอฟนอนเอนหลัง เอี้ยวกายมาด้านซ้าย แล้วให้พลขับคนหนึ่งกับนักอุตุนิยมวิทยาอีกคนหนึ่งคอยช่วยจัดส่งอุปกรณ์และถือกระจกส่องบริเวณที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรง เขาฉีดน้ำยาโนโวเคน 0.5% เข้าที่ผนังท้องเพื่อทำให้ชา แล้วกรีดท้องเป็นรอยยาวราวสิบถึงสิบสองเซนติเมตร ก่อนจะดึงไส้ติ่งออกมา หลังเริ่มผ่าตัดได้ราวสามสิบถึงสี่สิบนาที โรโกซอฟก็ให้รู้สึกอ่อนเพลียและคลื่นไส้ด้วย การผ่าตัดจึงต้องทำ ๆ หยุด ๆ เขาบันทึกรายงานว่า ตรวจพบว่า ที่ฐานไส้ติ่งของตนเองมีรูขนาดสองคูณสองเซนติเมตร เขาจึงฉีดยาปฏิชีวนะเข้ารูนั้นโดยตรง การผ่าตัดดำเนินไปด้วยดีและลุล่วงในเวลาเกือบเที่ยงคืน

เขามีอาการอ่อนเพลียหลังผ่าตัดอยู่ครู่หนึ่ง เมื่ออาการนั้นหายแล้ว ความเจ็บปวดในช่องท้องก็หายตามไป อุณหภูมิร่างกายของเขาฟื้นคืนเป็นปรกติภายในห้าวัน เขาตัดไหมเย็บแผลออกในวันที่เจ็ด สองสัปดาห์ให้หลังก็สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม[1]

ความหาญกล้าของเขาในครั้งนี้ยังผลให้เขาได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน (Order of the Red Banner of Labour) ใน พ.ศ. 2504 นั้นเองด้วย

ปีต่อ ๆ มา[แก้]

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 โรโกซอฟกลับกรุงเลนินกราดเพื่อศึกษาปริญญาเอกต่อที่สถาบันเดิม เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การตัดหลอดอาหารเพื่อรักษามะเร็งหลอดอาหาร (Resection of the esophagus for treating esophageal cancer) จนสำเร็จเป็นดุษฎีบัณฑิต แล้วทำงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ณ กรุงเลนินกราดซึ่งเวลานั้นเปลี่ยนชื่อเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้ว

ในปี 2526 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรม สถาบันวิจัยวัณโรคปอดเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg Research Institute for Tubercular Pulmonology) เขาดำรงตำแหน่งนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 เพราะมะเร็งลำไส้

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 L.I. Rogozov (1964). "Self-operation" (PDF). Soviet Antarctic Expedition Information Bulletin: 223–224. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-09-19. สืบค้นเมื่อ 2013-01-26.
  2. Rogozov, V.; Bermel, N.; Rogozov, LI. (2009). "Auto-appendectomy in the Antarctic: case report". BMJ. 339: b4965. doi:10.1136/bmj.b4965. PMID 20008968.
[[วิกิพีเดีย:|ข้อมูลบุคคล]]
ชื่อ Rogozov, Leonid}
ชื่ออื่น
รายละเอียดโดยย่อ
วันเกิด 14 March 1934
สถานที่เกิด Chita Oblast, Soviet Union
วันตาย 21 September 2000
สถานที่ตาย Saint Petersburg, Russia