เลออโคออนและบุตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งานประติมากรรม
เลออโคออนและบุตร
ไม่ทราบนามศิลปิน

ประติมากรรมหินอ่อน
ก่อนคริสต์ศักราช
พิพิธภัณฑ์วาติกัน, นครรัฐวาติกัน, อิตาลี
ประติมากรรมกรีกโบราณ

เลออโคออนและบุตร (อังกฤษ: Laocoön and His Sons) หรือ กลุ่มเลออโคออน (Laocoön Group) เป็นประติมากรรมหินอ่อนขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วาติกันในนครรัฐวาติกันในประเทศอิตาลี

นักประพันธ์และนักปรัชญาพลินิผู้อาวุโสกล่าวว่าเป็นงานที่อาจจะสร้างโดยประติมากรสามคนจากเกาะโรดส์: อเจซานเดอร์แห่งโรดส์ (Agesander of Rhodes), เอธีโนโดรอส (Athenodoros) หรือโพลิโดรัส (Polydorus) ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นภาพของนักบวชโทรจันเลออโคออนและบุตรอันทิฟานทีส (Antiphantes) และ ไทม์บราเอียส (Thymbraeus) ถูกกำลังถูกรัดโดยงูทะเล

ประวัติ[แก้]

เรื่องราวของเลออโคออนเป็นหัวเรื่องของบทละครโดยโซโฟคลีส (Sophocles) ที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว และกล่าวถึงโดยนักเขียนกรีกคนอื่นๆ ที่กล่าวว่าเลออโคออนถูกสังหารหลังจากที่พยายามเปิดเผยอุบายของม้าโทรจันที่ฝ่ายกรีกส่งเข้ามาในทรอยโดยการพุ่งด้วยหอก อพอลโลหรือโพไซดอนจึงส่งงูทะเลสองตัวมาสังหารเลออโคออนและบุตร[1] ซึ่งทำให้ฝ่ายโทรจันตีความหมายว่าม้าโทรจันเป็นม้าศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์นี้บรรยายโดยเวอร์จิลใน "แอเนียด" (Aeneid) แต่อาจจะเป็นคำบรรยายที่เขียนหลังจากประติมากรรมชิ้นนี้สร้างเสร็จแล้วก็เป็นได้

เวลาที่สร้างก็สันนิษฐานกันว่าอาจจะประมาณระหว่างราว 160 ปีไปจนถึงราว 20 ปีก่อนคริสต์ศักราช คำจารึกที่พบที่ลินดอส (Lindos) ในโรดส์กล่าวถึงอเจซานเดอร์แห่งโรดส์ และ เอธีโนโดรอส ในช่วง 42 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งทำให้ช่วงเวลาระหว่าง 42 ถึง 20 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นช่วงเวลาที่มีเหตุผลที่สุดสำหรับเวลาที่ใช้ในการสร้างงานชิ้นนี้ อีกข้อหนึ่งที่ยังไม่ทราบกันคือไม่ทราบว่าเป็นงานต้นฉบับหรือเป็นงานก็อปปีจากงานต้นฉบับที่สร้างก่อนหน้านั้น มีผู้เสนอว่าประติมากรทั้งสามคนที่กล่าวเป็นนักก็อปปีผู้อาจจะก็อปปีจากประติมากรรมสัมริดจากเพอร์กามอน (Pergamon) ที่สร้างราว 200 ก่อนคริสต์ศักราช[2] ในหนังสือ "Natural History" (XXXVI, 37) พลินิกล่าวว่าเป็นประติมากรรมที่ตั้งอยู่ที่พระราชวังของจักรพรรดิไททัส และอ้างต่อไปอีกว่าเป็นงานที่แกะสลักจากหินอ่อนก้อนเดียว แต่ต่อมาพบว่าเป็นงานที่แกะสลักจากหินอ่อนเจ็ดก้อนที่ผสานกันอย่างแนบเนียน[3].[4]

ประติมากรรมชิ้นนี้อาจจะเป็นงานต้นฉบับที่ถูกสั่งให้ทำสำหรับบ้านของชาวโรมันผู้มั่งคั่งที่หายไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่มาพบอีกครั้งในปี ค.ศ. 1506 ไม่ไกลจากพระราชวังทอง (Domus Aurea) ของจักรพรรดิเนโรผู้ครองจักรวรรดิโรมันระหว่างปี ค.ศ. 54 ถึงปี ค.ศ. 68 อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นงานที่เป็นของพระองค์เอง เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ผู้เป็นนักสะสมงานศิลปะกรีกโรมันตัวยงได้งานชิ้นนี้มาเป็นเจ้าของ พระองค์ก็ได้นำไปตั้งไว้ที่สวนเบลเวเดียร์ในวังวาติกันที่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วาติกัน ในปี ค.ศ. 2005 ลินน์ แค็ทเทอร์สันเสนอว่าเป็นงานปลอมที่แกะสลักโดยไมเคิล แอนเจโล[5] แต่ริชาร์ด บริลเลียนท์ผู้ประพันธ์ "เลออโคออนของฉัน" ค้านว่าข้อเสนอนี้ "ไม่มีมูลใดใดทั้งสิ้น" [6]

การบูรณปฏิสังขรณ์[แก้]

ด้านหน้าของประติมากรรมที่ได้รับการบูรณะก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20
ด้านหน้าของประติมากรรมในปัจจุบัน
ด้านข้างที่เห็นแขนบิดไปข้างหลัง
"ความช่วยเหลือ" โดยโฮราชิโอ กรีนโน
"เลออโคออน" โดย เอล เกรโร

เมื่อพบประติมากรรมชิ้นนี้ถูกขุดพบ บางส่วนก็หายไปบ้างเช่นแขนขวาของเลออโคออน และมือและแขนของลูก นักนิยมศิลปะต่างก็ถกเถียงกันถึงรูปทรงที่ควรจะเป็นของส่วนที่หายไป ไมเคิล แอนเจโลเสนอว่าแขนที่หายไปเป็นท่าที่เอี้ยวข้ามไหล่ไปทางข้างหลัง แต่ผู้อื่นเชื่อว่าควรจะยื่นขึ้นไปเหนือศีรษะอย่างแสดงความเป็นวีรบุรุษ พระสันตะปาปาจูเลียสจึงทรงจัดให้มีการแข่งขันกันอย่างลำลองในการสร้างแขนใหม่โดยมีราฟาเอลเป็นผู้ตัดสิน ฝ่ายที่ชนะคือฝ่ายที่อ้างว่าเป็นแขนที่เหยียดขึ้นไป แขนใหม่ในรูปนี้จึงได้รับการต่อเติม

ในปี ค.ศ. 1906 นักโบราณคดี, นักค้าขายศิลปะ และผู้อำนายการพิพิธภัณฑ์บาร์รัคโคลุดวิก พอลลัค (Ludwig Pollak) พบแขนหินอ่อนในลานการก่อสร้างในกรุงโรม เมื่อสังเกตเห็นความคล้ายคลึงของสิ่งที่พบกับประติมากรรมเลออโคออน พอลลัคก็นำไปให้พิพิธภัณฑ์วาติกัน แต่พิพิธภัณฑ์นำไปเก็บทิ้งไว้ในห้องเก็บของอยู่ราวห้าสิบ จนในคริสต์ทศวรรษ 1950 ทางพิพิธภัณฑ์ก็ตัดสินใจว่าแขนที่พบนี้—ที่เอี้ยวไปทางข้างหลังเช่นที่ไมเคิล แอนเจโลเสนอ—เป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมเลออโคออน ส่วนที่ได้รับการต่อเติมก็ถูกถอดออกและแทนที่ด้วยแขนที่พบใหม่[7] ส่วนมือและแขนของลูกที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ก็ถูกถอดออก จากการสังเกตองค์ประกอบต่างๆ ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ผู้ทำการก็พบว่าทรงเดิมของกลุ่มประติมากรรมนี้เป็นทรงที่แน่นหรือบีบตัวกว่าส่วนที่มาขยายให้โปร่งขึ้นโดยการซ่อมแซมในภายหลัง ลักษณะที่เปิดกว้างออกไปที่เห็นกันอย่างคุ้นเคยเป็นผลมาจากการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยโรมันจนมาถึงสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา[8]

งานชิ้นนี้ได้รับการเลียนแบบหลายครั้งรวมทั้งชิ้นที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปที่วังแกรนด์มาสเตอร์ (Palace of the Grand Master of the Knights of Rhodes) ของอัศวินเซนต์จอห์นที่โรดส์ งานก็อปปีหลายชิ้นยังเป็นงานที่เป็นแขนยืดขึ้นไปเหนือศีรษะ แต่งานก็อปปีที่วังแกรนด์มาสเตอร์ได้รับการแก้ไขให้เป็นแขนเอี้ยวไปข้างหลังแล้ว

อิทธิพล[แก้]

การพบประติมากรรม "เลออโคออนและบุตร" สร้างความประทับใจและมีผลต่อประติมากรชาวอิตาลี และมีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการงานศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี กล่าวกันว่าไมเคิล แอนเจโลมีความประทับใจในขนาดและความยั่วยวนของงานประติมากรรมของกรีกเป็นอันมาก โดยเฉพาะการแกะสลักร่างกายของชาย อิทธิพลของ "เลออโคออน" จะเห็นได้ชัดในงานประติมากรรมหลายชิ้นที่สร้างโดยไมเคิล แอนเจโลในตอนปลายเช่น "ทาสปฏิวัติ" (Rebellious Slave) หรือ "ทาสใกล้ตาย" (Dying Slave) ที่สร้างสำหรับอนุสรณ์ผู้ตายของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2

กอทโธลด์ เอเฟรม เลสซิง (Gotthold Ephraim Lessing) เขียนบทความศึกษางานประติมากรรมชิ้นนี้ในบทความ "เลออโคออน" ที่กล่าวถึงการเสียชีวิตอย่างวีรบุรุษในหัวข้องหนึ่ง บทความ "เลออโคออน" ถือกันว่าเป็นงานเขียนวิจารณ์ศิลปะหนึ่งในบรรดางานเขียนประเภทนี้เป็นครั้งแรก

สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ทรงจ้างให้ประติมากรชาวฟลอเรนซ์บาร์โทโลเมโอ บันดิเนลลิ สร้างก็อปปีของงานชิ้นนี้ "เลออโคออน" ของบาดิเนลลิ (ที่ได้รับการก็อปปีหลายครั้ง) ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ[9] ส่วนงานชิ้นที่หล่อด้วยสำริดที่หล่อจากพิมพ์ที่สร้างจากงานต้นฉบับสำหรับพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสเพื่อนำไปตั้งที่พระราชวังฟงแตนบโลในปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

ทิเชียนสร้างงานล้อชิ้นหนึ่งที่เป็นภาพลิงสามตัวแทนที่จะเป็นมนุษย์ งานล้อนี้ตีความหมายกันว่าเป็นการเยาะเย้ยงานก็อปปีที่ไม่ถึงขั้นของบันดิเนลลิ แต่ก็มีผู้ค้านว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อโต้ตอบการโต้เถียงกันเกี่ยวกับความคล้ายคลึงของกายวิภาคระหว่างมนุษย์และลิง[10]

ประติมากรรมชิ้นที่เป็นต้นฉบับถูกจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นำกลับไปปารีสหลังจากที่ทรงพิชิตอิตาลีได้ในปี ค.ศ. 1799 และทรงนำไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์นโปเลียนที่ลูฟร์ ที่กลายมาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะในฝรั่งเศสในสมัยฟื้นฟูคลาสสิก หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนสิ้นอำนาจแล้ว "เลออโคออน" ก็ถูกนำกลับไปยังวาติกันโดยฝ่ายอังกฤษในปี ค.ศ. 1816

เลออโคออนในปรัชญาศิลปะ[แก้]

คำบรรยาย "เลออโคออน" ของพลินิที่ว่า "เป็นงานที่ควรจะเป็นที่ชื่นชมกว่างานใดใด ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมตั้งแต่ได้ที่ได้สร้างกันขึ้นมา"[11] นำไปสู่การอภิปรายที่อ้างว่างานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะที่ดีที่สุดในบรรดางานศิลปะทั้งหมดที่สร้างกันมา นักประวัติศาตร์ชาวเยอรมันโยฮันน์ โยฮาคิม วิงเคลมันน์ (Johann Joachim Winkelmann) เขียนถึงความขัดแย้งของการชื่นชมความงามขณะที่เป็นฉากของความตายและความหายนะ แต่ความเห็นที่มีอิทธิพลที่สุดคือความเห็นของกอทโธลด์ เอเฟรม เลสซิง ในบทความ "เลออโคออน: บทความเกี่ยวกับความจำกัดของจิตรกรรมและร้อยกรอง" (Laocoon: An Essay on the Limits of Painting and Poetry) ที่พิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างการสร้างศิลปะทางตาและการสร้างศิลปะทางวรรณกรรม โดยเปรียบเทียบประติมากรรม "เลออโคออน" กับ งานเขียนของเวอร์จิล เลสซิงกล่าวว่าศิลปินไม่อาจจะสร้างงานที่แสดงความทุกขทรมานทางกายอย่างเป็นจริงเป็นจังได้นอกไปจากว่าจะต้องสร้างให้มีความงามในตัว ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นภาพที่ทารุณจนเกินกว่าที่จะดูได้

แต่ปฏิกิริยาที่แตกต่างจากสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับการอภิปรายของหัวข้อนี้คืองานของวิลเลียม เบลคที่เป็นภาพ "เลออโคออน"[1] พร้อมด้วยความเห็นที่เขียนเป็นกราฟฟิตีเป็นอักขระภาษาต่างๆ รอบทิศทางรอบภาพ ที่เป็นการแสดงทฤษฎีของเบลคที่ว่าการเลียนแบบศิลปะกรีกและโรมันเป็นสิ่งที่มีอันตรายต่อความสร้างสรรค์ทางศิลปะ และงานประติมากรรมของกรีกและโรมันเป็นสัญลักษณ์ของความงามที่ไม่น่าสนใจเท่าใดนักเมื่อเปรียบเทียบกับศิลปะจูเดโอ-คริสเตียน

"เลออโคออน" ในประติมากรรม "เลออโคออนและบุตร" มีอิทธิพลต่อตัวแบบอเมริกันอินเดียนในงานประติมากรรม "ความช่วยเหลือ" (The Rescue) โดยโฮราชิโอ กรีนโน (Horatio Greenough) ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของตึกรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (U.S. Capitol) มาเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว

ในตอนใกล้จะจบของหนังสือ "คริสมัสต์แคโรล" (A Christmas Carol) โดยชาร์ลส์ ดิคเก้นส์ เอเบเนเซอร์ สครูจออกความเห็นกับตัวเองว่าทำตัวสมเป็น "เลออโคออน" ด้วยถุงเท้าถุงน่องของตัวเอง เพราะความรีบที่จะแต่งตัวจนพัวพันไปด้วยเสื้อผ้ารุงรังรอบตัว ซึ่งเป็นการอ้างอิงโดยตรงถึงประติมากรรมเลออโคออน

ในปี ค.ศ. 1910 นักวิจารณ์เออร์วิง แบ็บบิทตั้งชื่อบทความว่า "เลออโคออนใหม่: บทความเกี่ยวกับความสับสนของศิลปะ" (The New Laokoon: An Essay on the Confusion of the Arts) ที่เป็นบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปี ค.ศ. 1940 เคลเมนต์ กรีนเบิร์ก เขียนบทความ "ทางไปสู่เลออโคออนใหม่" ที่กรีนเบิร์กกล่าวว่าศิลปะนามธรรมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการวัดคุณค่าของงาน ชื่อเดียวกันนี้นำไปเป็นชื่องานแสดงศิลปะ เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนที่สถาบันเฮนรี มัวร์ ในปี ค.ศ. 2007 ที่เป็นงานแสดงศิลปะที่แสดงงานของศิลปินสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากประติมากรรม "เลออโคออนและบุตร"

อ้างอิง[แก้]

  1. William Smith, Dictionary of Greek and Roman Biography and Mythology, Taylor and Walton, 1846, p. 776.
  2. Stewart, Andrew W. (1996), "Hagesander, Athanodorus and Polydorus", in Hornblower, Simon, Oxford Classical Dictionary, Oxford: Oxford University Press.
  3. Richard Brilliant, My Laocoön - alternative claims in the interpretation of artworks, University of California Press, 2000, p.29
  4. Rose, Herbert Jennings (1996), "Laocoön", ใน Hornblower, Simon (บ.ก.), Oxford Classical Dictionary, Oxford: Oxford University Press
  5. Catterson, Lynn, "Michelangelo's 'Laocoön?'" Artibus et historiae. 52 2005: 29
  6. An Ancient Masterpiece Or a Master's Forgery?, New York Times, April 18, 2005
  7. See Beard, Mary (2 February 2001), "Arms and the Man: The restoration and reinvention of classical sculpture", Times Literary Supplement. Beard, in fact, is highly sceptical of the identification, noting that ‘the new arm does not directly join with the father's broken shoulder (a wedge of plaster has had to be inserted); it appears to be on a smaller scale and in a slightly differently coloured marble’.
  8. Seymour Howard, "Laocoon Re-restored" American Journal of Archaeology 93.3 (July 1989, pp. 417-422), p. 422.
  9. (BANDINELLI, Baccio. Web Gallery of Art. Retrieved on March 27, 2009.
  10. H. W. Janson, "Titian's Laocoon Caricature and the Vesalian-Galenist Controversy", The Art Bulletin, Vol. 28, No. 1 (Mar., 1946), pp. 49-53
  11. Pliny The Laocoon in Antiquity เก็บถาวร 2008-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Institute of Design + Culture, Rome. Retrieved on March 27, 2009.
  • Haskell, Francis, and Nicholas Penny, 1981. Taste and the Antique: The Lure of Classical Sculpture 1500-1900 (Yale University Press), cat. no. 52, pp. 243-47 (illustrated with the extended arm).
  • Catterson, Lynn. "Michelangelo's 'Laocoön?'" Artibus et historiae. 52. 2005

ดูเพิ่ม[แก้]