เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดา Landau.jpg
เกิด22 มกราคม พ.ศ. 2451
เมืองบากู จักรวรรดิรัสเซีย
(กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานในปัจจุบัน)
เสียชีวิต1 เมษายน พ.ศ. 2511
กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต
สัญชาติชาวรัสเซีย
การศึกษาดอกเตอร์ด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
อาชีพนักฟิสิกส์
มีชื่อเสียงจากรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำ พ.ศ. 2505

เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดา (อังกฤษ: Lev Davidovich Landau; รัสเซีย: Лев Дави́дович Ланда́у) เป็นนักฟิสิกส์คนสำคัญของสหภาพโซเวียตในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีผลงานที่โดดเด่นในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านฟิสิกส์ของสสารควบแน่น ลันเดาเกิดเมื่อวันที่ 9(22) มกราคม พ.ศ. 2451 ที่เมืองบากู จักรวรรดิรัสเซีย ได้รับรางวัลทางวิทยาศาสตร์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรางวัลเลนิน รางวัลสตาลินรวมถึงรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน พ.ศ. 2505

ประวัติ[แก้]

ชีวิตในวัยเยาว์และการศึกษา[แก้]

เลฟ ดาวิโดวิช ลันเดาเกิดในครอบครัวของวิศวกรปิโตรเลียม ดาวิด ลวาวิช ลันเดากับภรรยาคือ ลูบอฟ เวียนีอามินอฟนา โดยอัจฉริยภาพทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ของเขานั้นได้แสดงออกมาตั้งแต่อายุยังน้อย ลันเดาศึกษาแคลคูลัสอนุพันธ์และปริพันธ์ตั้งแต่ที่เขามีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น ด้วยวัยเพียง 13 ปีลันเดาจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแต่ด้วยอายุที่น้อยเกินไปทำให้ทางครอบครัวไม่ได้ให้เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยทันที แต่ในอีก 1 ปีต่อมาลันเดาสามารถสอบเข้าศึกษาได้ในคณะฟิสิกส์และคณะเคมีของมหาวิทยาลัยบากู ซึ่งถือว่าเขาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลาต่อมาเขาเลือกศึกษาต่อในคณะฟิสิกส์เพียงคณะเดียว ลันเดาศึกษาที่มหาวิทยาลัยบากูเพียง 2 ปีการศึกษาก็ได้ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเลนินกราดตามคำแนะนำของอาจารย์ต่อแม่ของเขาใน พ.ศ. 2467 ซึ่งเวลานั้นเลนินกราดได้ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ลันเดาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเลนินกราดเพียง 2 ปีก็จบการศึกษาพร้อมกับการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกออกมา ใน พ.ศ. 2469 ลันเดากลายเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกของสถาบันฟิสิกส์และเทคนิคแห่งเลนินกราดซึ่งเวลานั้นลันเดาได้ทำงานวิจัยด้านกลศาสตร์ควอนตัม

การไปทำงานและศึกษาที่เดนมาร์ก[แก้]

ใน พ.ศ. 2472 เลฟ ลันเดาได้เดินทางไปทำงานวิจัยและศึกษาต่อนอกสหภาพโซเวียต โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เขาได้พบและทำความรู้จักกับนิลส์ โปร์

ที่สถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งโคเปนเฮเกน โดยโปร์ได้เอ็นดูและชื่นชอบในตัวของลันเดาเป็นอย่างมาก โดยลันเดาได้ทำการศึกษาปัญหาทางฟิสิกส์ที่ำกำลังเป็นที่สนใจในเวลานั้นและมักจะถกเถียงกับโปร์เป็นประจำ ลันเดาใช้เวลาช่วงนี้ในการศึกษาปัญหา diamagnetism ของโลหะโดยใช้หลักทฤษฎีควอนตัมในการอธิบาย รวมถึงการค้นพบระดับพลังงานควอนตัมของอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ภายใต้สนามแม่เหล็กที่คงที่ ซึ่งระดับพลังงานนี้ได้รับการเรียกในเวลาต่อมาว่าระดับพลังงานลันเดา