เรื่องอื้อฉาวฝ้ายอุซเบก

เรื่องอื้อฉาวฝ้ายอุซเบก หรือเรียกอีกอย่างว่า เรื่องอื้อฉาวฝ้าย (รัสเซีย: хлопковое дело, อุซเบก: paxta ishi) หรือ เรื่องอื้อฉาวอุซเบก (รัสเซีย: Узбекское дело, อุซเบก: oʻzbek ishi) เป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตที่แพร่หลายในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายสมัยการปกครองของเลโอนิด เบรจเนฟและดำเนินต่อไปจนถึงปี 2532
การพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวฝ้ายได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง เพื่อพยายามเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลภายหลังจากความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำ มีการดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 800 คดี และมีผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวนี้มากกว่า 4,000 ราย
พื้นหลัง
[แก้]ชารอฟ ราชีดอฟได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการลำดับที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2502 ภายใต้การปกครองของเขา สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกกลายเป็นแหล่งฝ้ายหลักสำหรับสหภาพโซเวียต ร่วมกับสาธารณรัฐสหภาพอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 พื้นที่เพาะปลูกเกือบทั้งหมดในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกถูกเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ในการปลูกฝ้าย[1] แม้ว่าจะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตฝ้ายได้อีก แต่คณะกรรมการวางแผนรัฐหรือโกซพลานกลับเรียกร้องให้เพิ่มผลผลิตเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเข้าฝ้าย[2]
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือความหายนะ การใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยพิษอย่างกว้างขวาง และการปฏิเสธการปลูกพืชหมุนเวียน ส่งผลให้เกิดหายนะต่อสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อทะเลอารัลถูกระบายออกเพื่อเร่งการเติบโตของฝ้าย อย่างไรก็ตาม ระดับการผลิตฝ้ายกลับไม่เพิ่มขึ้น ปรีปีสกี หรือการเพิ่มผลลัพธ์ของแผนห้าปีโดยเทียม ส่งผลให้สูญเสียเงินหลายล้านดอลลาร์ และสถิติที่ไม่น่าเชื่อถือทำให้ไม่สามารถตัดสินใจทางเศรษฐกิจได้ แม้จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่ราชีดอฟยังคงปกครองอุซเบกิสถานได้ โดยได้รับเงินจากรัฐบาลโซเวียตเป็นจำนวนรวมสี่พันล้านรูเบิลสำหรับการผลิตฝ้ายที่ไม่มีอยู่จริง[2]
รองจากราชีดอฟก็มีการทุจริตอย่างกว้างขวางเช่นกัน หัวหน้าคณะกรรมการระดับภูมิภาคของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกเป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่และละเมิดกฎหมายบ่อยครั้งในการกระทำของพวกเขา กระทรวงกิจการภายในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากร และในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 ถือเป็นช่วงที่อัตราการก่ออาชญากรรมของอุซเบกิสถานพุ่งสูงสุด โดยมีการฆาตกรรม การโจรกรรม และการโจมตีเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง[3]
ความพยายามที่จะสอบสวนรัฐบาลอุซเบกิสถานเกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1970 ในปี 2518 ความพยายามที่จะนำผู้กระทำความผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมประสบความสำเร็จ เนื่องจากประธานศาลฎีกาของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกถูกจำคุก นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนยัดการ์ นาสรีดดีโนวา ประธานสภาโซเวียตแห่งชนชาติ แต่การสอบสวนนี้ล้มเหลวในการสรุปผล เนื่องจากนาสรีดดีโนวามีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อเลโอนิด เบรจเนฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต โดยวลาดีมีร์ คาลีนีเชนโค ซึ่งเป็นผู้สืบสวนถูกวางไว้ภายใต้การคุ้มครองของกลุ่มอัลฟา เพื่อตอบสนองต่อการคุกคามต่อชีวิตของเขา.[4]
การสืบสวนเบื้องต้น
[แก้]หลังจากเลโอนิด เบรจเนฟถึงแก่อสัญกรรม ยูรี อันโดรปอฟเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการต่อจากเบรจเนฟ อันโดรปอฟซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับราชีดอฟ ได้เริ่มการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตด้วยความตั้งใจที่จะฟื้นความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสถาบันของรัฐกระทรวงกิจการภายในได้จัดตั้ง ห้องปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลางเพื่อระบุและขจัดสาเหตุและเงื่อนไขของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (รัสเซีย: Центральная Научно-исследовательская Лаборатория по выявлению и устранению причин и условий способствующих экономическим преступлениям, อักษรโรมัน: Tsentralnaya Nauchno-issledovatelskaya Laboratoriya po vyyavleniyu i ustraneniyu prichin i uslovy sposobstvuyushchikh ekonomicheskim prestupleniyam) หรือซนีล (รัสเซีย: ЦНИЛ, อักษรโรมัน: TsNIL) ซนีลเปิดเผยขอบเขตของการทุจริตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐในภูมิภาคเอเชียกลาง ส่งผลให้อันโดรปอฟร้องขอให้ราชีดอฟลาออกในเดือนมกราคม 2526 อย่างไรก็ตาม ราชีดอฟปฏิเสธที่จะลาออก และคณะกรรมการกลางได้มีมติในอีกหนึ่งเดือนต่อมาโดยขอให้อัยการสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียตสอบสวนการทุจริตในอุซเบกิสถาน
ในเดือนเมษายน 2526 เทลมัน กดเลียน และนีโคไล เวเนียมีโนวิช อีวานอฟ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมาธิการสอบสวนเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับฝ้ายโดยอัยการสูงสุด ในเดือนเดียวกันนั้น มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 ราย ได้แก่ เอ. มูซาราฟอฟ หัวหน้าแผนกปราบปรามการยักยอกทรัพย์สินสังคมนิยม (OBKhSS) ประจำภูมิภาคบูฆอรอถูกเคจีบีจับกุมหลังจากถูกจับได้ว่ารับสินบนในปฏิบัติการล่อซื้อ และ ช. คูดราตอฟ หัวหน้าแผนกเศรษฐกิจเมืองบูฆอรอก็ถูกควบคุมตัวเช่นกัน[3]
ข้อมูลเกี่ยวกับราชีดอฟถูกเก็บรวบรวมไว้ มาดยาร์ คูไดเบอร์เกนอฟ เลขาธิการลำดับที่หนึ่งของคณะกรรมการภูมิภาคฆอราซึม ยอมรับภายใต้การสอบสวนว่าเขาจ่ายเงิน 1.5 ล้านรูเบิลให้กับราชีดอฟเพื่อมอบลำดับเกียรติวีรชนแรงงานแห่งสังคมนิยมให้เขา ในไม่ช้า คูไดเบอร์เกนอฟก็ได้รับการปล่อยตัว และมีรายงานว่าภูมิภาคฆอราซึมได้เก็บเกี่ยวฝ้ายไปแล้ว 300,000 ตัน เมื่อราชีดอฟพบกับอันโดรปอฟ เขาไม่ได้รับการยกย่องตามที่คาดหวัง แต่กลับได้รับแจ้งว่ารัฐบาลโซเวียตจะดูแลเรื่องการเก็บเกี่ยวแทน[3]
การเสียชีวิตของราชีดอฟและการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง
[แก้]
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ราชีดอฟเสียชีวิตกะทันหัน (หรืออีกทางหนึ่งคือฆ่าตัวตายเพราะหวาดกลัวการถูกจำคุก)[5] และถูกฝังไว้ที่ใจกลางกรุงทาชเคนต์ มีการวางแผนสร้างอาคารอนุสรณ์สถาน โดยตั้งใจให้เป็นสถานที่แสวงบุญของแรงงาน หลังจากที่เขาเสียชีวิต การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป โดยเคจีบีในมอสโกและแคว้นมอสโกได้จับกุมผู้อำนวยการโรงงานฝ้ายจากอุซเบกิสถานและในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียตลอดช่วงต้นปี 2527[3]
ในช่วงฤดูร้อนของปี 2527 คณะผู้แทนของเจ้าหน้าที่คณะกรรมการกลางซึ่งนำโดยเยกอร์ ลีกาชอฟ เดินทางมาถึงทาชเคนต์เพื่อเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากราชีดอฟ ในการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์อุซเบกิสถาน เจ้าหน้าที่เรียกราชีดอฟว่าเป็น "เผด็จการ" ทุจริต และเป็นคนที่สร้างความเสียหายให้กับอุซเบกิสถานอย่างแก้ไขไม่ได้ ตามมติของการประชุมเต็มคณะ ร่างของราชีดอฟถูกขุดขึ้นมาจากใจกลางทาชเคนต์และฝังใหม่ในสุสานชากาไทของเมือง เลขาธิการลำดับที่หนึ่งคนใหม่คือ อีนัมจอน อูสมันโฮดจาเยฟ บุคคลที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักซึ่งมีสายสัมพันธ์ทั้งกับการสอบสวนเรื่องสินบนและลีกาชอฟ[3]
ในวันที่ 11 สิงหาคม 2527 อับดูโวฮิด แกรีมัฟ อดีตหัวหน้าคณะกรรมการภูมิภาคบูฆอรอ ถูกจับกุมที่เมืองการ์ชือและถูกส่งตัวไปยังมอสโก ซึ่งเขาถูกคุมขังที่เรือนจำเลฟอร์โตโวจนกระทั่งมีการพิจารณาคดีในปี 2530 ในระหว่างการพิจารณาคดี แกรีมัฟให้การว่าเขาให้สินบนราชีดอฟเป็นจำนวนมาก และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เจ้าหน้าที่สืบสวนพบสมุดบันทึกที่แกรีมัฟเขียนขึ้นซึ่งเปิดเผยสถานที่ที่ทรัพย์สมบัติของเขาถูกซ่อนไว้ในหมู่บ้านเซวาซใกล้กับเมืองชาฮ์รือซัปส์โดยพบทรัพย์สินมีค่าและเงินสดมูลค่า 10 ล้านรูเบิลในหมู่บ้าน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อาหมัดจอน โอดีลอฟ ประธานโคลโคซและนักการเมืองในพื้นที่ภูมิภาคนามังแกน ถูกจับกุม โอดีลอฟมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับราชีดอฟ รวมถึงเครือข่ายอาชญากรในอุซเบกิสถาน
บุคคลที่ถูกจับกุมซึ่งเป็นสมาชิกของกระทรวงกิจการภายในให้การเป็นพยานเกี่ยวกับการติดสินบนที่แพร่หลายและการเชื่อมโยงกลุ่มอาชญากรรมภายในหน่วยข่าวกรองอุซเบก เมื่อเจ้าหน้าที่เคจีบีไปจับกุม เค. เออร์กาเชฟ หัวหน้างกระทรวงกิจการภายใน เขาฆ่าตัวตาย โดยอาจได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้ว ที่บ้านของเขาพบเงินสด 10 ล้านรูเบิล จากการสอบสวนเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ความเชื่อมโยงของกระทรวงกิจการภายในกับกลุ่มอาชญากรก็ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา
ในเวลาเดียวกัน การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไปเกี่ยวกับผู้ติดตามของรุซเมต ไกปอฟ เลขาธิการลำดับที่หนึ่งคณะกรรมการภูมิภาคกัชกาดารียอ ในเดือนเมษายน 2528 มีฮาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรค อนุญาตให้จับกุมไกปอฟได้ หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการที่ไกปอฟสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของเออร์กาเชฟและรับสินบนจากผู้คนทั่วภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจมาถึงบ้านของเขา พวกเขาพบว่าเขาเสียชีวิตแล้ว โดยเขาฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม เอกสารที่รวบรวมได้หลังจากไกปอฟเสียชีวิตนั้นทำให้สามารถขยายขอบเขตการสืบสวนต่อไปได้ อาร์สลัน รุซเมตอฟ บุตรชายของไกปอฟ หัวหน้าท่าอากาศยานทาชเคนต์ เอ็ม. โนรอฟ หัวหน้ากระทรวงกิจการภายในภูมิภาคบูฆอรอ และที. คาครามานอฟ รองของโนรอฟ ถูกควบคุมตัวทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องสงสัยอีกหลายคน[3]
การสืบสวนไปถึงเครมลิน
[แก้]
ในปี 2528 การสืบสวนของกดเลียนและอีวานอฟได้เปิดเผยหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของกลุ่มที่มีการจัดตั้งภายในโครงสร้างพรรคการเมืองในอุซเบกิสถาน กอร์บาชอฟส่งโบริส เยลต์ซิน เลขาธิการคณะกรรมการกลาง ไปตรวจสอบการสอบสวนในเดือนกันยายน 2528 หลังจากอยู่ที่ทาชเคนต์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เยลต์ซินก็กลับมาในฐานะผู้สนับสนุนความพยายามของกดเลียนและอีวานอฟ ยิ่งกว่านั้น เขายังเชื่อมั่นในจุดยืนของกดเลียนและอีวานอฟที่ว่าอีนัมจอน อูสมันโฮดจาเยฟควรถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการลำดับที่หนึ่งและรวมเข้าในกระบวนการสอบสวนการทุจริต กอร์บาชอฟปฏิเสธ โดยอ้างว่าลีกาชอฟสนับสนุนอูสมันโฮดจาเยฟ [3]
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การสอบสวนดำเนินไป หลักฐานการมีส่วนร่วมของอูสมันโฮดจาเยฟ ก็ปรากฏชัดเจนมากขึ้น หลักฐานที่บ่งชี้ถึงการมีส่วนร่วมของอูสมันโฮดจาเยฟก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดกอร์บาชอฟก็ตกลงที่จะปลดเขาออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม 1988 และแทนที่เขาด้วยราฟิก นีโชนอฟ ในฐานะส่วนหนึ่งของกลัสนอสต์และเปเรสตรอยคา เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับฝ้ายก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น ส่งผลให้มีบทความในหนังสือพิมพ์ ปราฟดา ฉบับวันที่ 23 มกราคม 2531 ซึ่งเปิดเผยขอบเขตเต็มรูปแบบของการทุจริตต่อสาธารณชน นอกจากนี้ รัฐบาลโซเวียตยังประกาศเจตนารมณ์ที่จะยุติการใช้แรงงานเด็กในการปลูกฝ้ายในอุซเบกิสถาน[6] ในเวลาเดียวกัน ก็เกิดการจับกุมอีกครั้ง ในครั้งนี้ กัลลิเบก คาโมลอฟ หัวหน้าคณะกรรมการภูมิภาคการากัลปักสถานและญาติเขยของราชีดอฟก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน รวมถึงนาร์มักซอนมาดี ซูดอยเบอร์ดีเยฟ อดีตประธานคณะรัฐมนตรีของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกด้วย ซูดอยเบอร์ดีเยฟยอมรับว่าตนมีความผิด และมอบเงิน 514,000 รูเบิลที่เขาได้รับเป็นสินบนให้กับเจ้าหน้าที่[3]
ในที่สุด การสอบสวนก็ขยายขอบเขตออกไปไกลเกินกว่าอุซเบกิสถาน ไปถึงเหล่าผู้นำโซเวียต ลีกาชอฟ เกออร์กี ราซูมอฟสกี มีฮาอิล โซโลเมนเซฟ และวิคตอร์ กรีชิน ต่างต้องสงสัยว่ารับสินบนเพื่อเมินเฉยต่อการทุจริตที่ดำเนินอยู่[3] ยูรี ชูร์บานอฟ ลูกเขยของเบรจเนฟ ก็ถูกจับกุมในข้อกล่าวหาทุจริตและรับสินบนเช่นกัน [7] มีการแสดงความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกอร์บาชอฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางด้านการเกษตรในปี 2526 ในปีนั้นเพียงปีเดียว มีรายงานว่ามีการเก็บเกี่ยวฝ้ายถึง 981,000 ตัน ทั้งที่ยังไม่มีอยู่จริง สำหรับเรื่องนี้ รัฐบาลของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกได้มอบเงิน 757 ล้านรูเบิลให้กับรัฐบาล ซึ่ง 286 ล้านรูเบิลได้สูญหายไป[3]
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2532[3] กดเลียนและอีวานอฟได้จัดงานแถลงข่าวที่มอสโก ในการประชุม พวกเขาเปิดเผยถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงผู้นำของประเทศด้วย ประชาชนตอบสนองด้วยความตกใจ และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อพยายามปิดปากพวกเขา คณะกรรมการพิเศษของคณะกรรมการกลางได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้การชี้นำของโบริส ปูโก โดยมีเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ว่า "ตรวจสอบข้อเท็จจริง ... เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายในการสอบสวนกรณีการทุจริตในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบก และรายงานผลต่อคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์" คณะกรรมการที่คล้ายกันได้รับการจัดตั้งขึ้นในสภาสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต[8] กลุ่มผู้แทนระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นพันธมิตรของผู้แทนประชาชนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนประชาธิปไตย ตอบสนองต่อความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการปิดปากทั้งสองฝ่ายโดยเลือกพวกเขาเป็นผู้แทนประชาชน จึงทำให้ทั้งคู่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในรัฐสภา[3] กดเลียนถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์และสำนักงานอัยการสูงสุดในปี 2533
การจำคุกเจ้าหน้าที่ทุจริตไม่ได้กินเวลานาน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2534 หนึ่งวันก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อิสลอม แกรีมัฟ ผู้นำอุซเบกิสถานได้อภัยโทษให้กับบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวที่ถูกจำคุกในอุซเบกิสถาน[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Blackmon, Pamela (2011). In the Shadow of Russia: Reform in Kazakahstan and Uzbekistan (ภาษาอังกฤษ). East Lansing, Michigan, United States: Michigan State University Press.
- ↑ 2.0 2.1 Robinson, Alan G.; Stern, Sam (1997). Corporate Creativity (ภาษาอังกฤษ). San Francisco: Berrett-Koehler Publishers, Inc. pp. 99.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 "«Хлопковое дело» в Узбекистане" [The "cotton scandal" in Uzbekistan]. Letters from Tashkent (ภาษารัสเซีย). 2008-09-23. สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ "Владимир КАЛИНИЧЕНКО, бывший следователь по особо важным делам при Генеральном прокуроре СССР: "Всесильный министр МВД СССР Щелоков принял решение о моем физическом устранении. В ответ на это Андропов приказал группе "Альфа" меня охранять"" [Vladimir KALINICHENKo, former investigator of important cases in the Procurator General: "The all-powerful Minister of Internal Affairs Shchelokov decided to physically eliminate me. In response, Andropov ordered the Alpha Group to protect me"]. Official Website of Dmitry Gordon. 2004-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 May 2018. สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ Melman, Dmitry (2005-05-11). "Изгнание из хлопкового рая" [Exiled from a cotton paradise]. Moskovskij Komsomolets (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ Eaton, William J. (1988-01-13). "Kremlin Fires Party Boss in Uzbekistan: Action Viewed as Part of Gorbachev's Drive Against Corruption". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ "Soviets Uncover Massive Corruption: Billions Lost in Uzbekistan Case Involving Brezhnev Kin". Los Angeles Times. 1988-01-24. สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.
- ↑ Sobchak, Anatoly (1991). Хождение во власть: Рассказ о рождении парламента [Going to Power: A Story of the Birth of Parliament] (ภาษารัสเซีย). Publishing House "News". ISBN 5702004116.
- ↑ "Адылов выпущен на волю" [Adylov released into the wild]. Kommersant (ภาษารัสเซีย). 1991-12-30. สืบค้นเมื่อ 2022-12-23.