ข้ามไปเนื้อหา

เรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หินที่ระลึกถึงเรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์

เรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์ (เยอรมัน: Bielefeldverschwörung หรือ Bielefeld-Verschwörung, ออกเสียง: [ˈbiːləfɛltfɛɐ̯ˌʃvøːʁʊŋ]) เป็นทฤษฎีสมคบคิดเชิงเสียดสี ที่บอกว่าเมืองบีเลอเฟ็ลท์ในประเทศเยอรมนีไม่มีอยู่จริง[1] แต่เป็นภาพลวงตาและโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างขึ้นโดยอำนาจหลายกลุ่ม เรื่องสมคบคิดนี้เริ่มต้นครั้งแรกในยูสเน็ตเยอรมันในปี 1994 และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดของเมือง[2] และอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังเคยพูดถึงเรื่องสมคบคิดนี้[3]

ภาพรวม

[แก้]
ปราสาทชปาเรินแบร์ค โบราณสถานหนึ่งในเมืองบีเลอเฟ็ลท์

เรื่องสมคบคิดนี้ระบุว่าเมืองบีเลอเฟ็ลท์ (ประชากร 341,755 คน ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม 2021)[4] ซึ่งอยู่ในรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงเรื่องชวนเชื่อที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มคนหรือคนที่เรียกว่า ซี (SIE; "พวกมัน/พวกเขา" ในภาษาเยอรมัน เขียนเป็นอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัว) ซึ่งสร้างเรื่องนี้ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสร้างภาพลวงตาว่าเมืองนี้มีอยู่

ทฤษฎีนี้เสนอคำถามไว้สามข้อ:

  • คุณรู้จักใครสักคนที่มาจากบีเลอเฟ็ลท์ไหม?
  • คุณเคยไปบีเลอเฟ็ลท์ไหม?
  • คุณรู้จักใครสักคนที่เคยไปบีเลอเฟ็ลท์ไหม?

คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ไม่ สำหรับสามคำถามนี้ ใครก็ตามที่อ้างว่ารู้จักบีเลอเฟ็ลท์จะถูกเถียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิด หรือไม่ก็ถูกล้างสมอง

ที่มาและสาเหตุของทฤษฎีสมคบคิดนี้เริ่มต่อเติมเข้ามาจากทฤษฎีเดิม มีผู้ตั้งข้อสังเกตขำ ๆ ว่า "ซี" คือซีไอเอ, มอสซาด หรือเอเลียนที่ใช้มหาวิทยาลัยบีเลอเฟ็ลท์ปลอมมาปกปิดยานอวกาศของตน[5][6]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ทฤษฎีสมคบคิดนี้เปิดเผยสู่สาธารณะครั้งแรกในโพสต์บนเว็บกลุ่มข่าว de.talk.bizarre ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1994 โดยอัคคิม เฮ็ลท์ (Achim Held) นักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยคีล[7] หลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งของเฮ็ลท์เจอกับคนจากบีเลอเฟ็ลท์คนหนึ่งในงานเลี้ยงนักศึกษาเมื่อปี 1993 เขากล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้น่า" (Das gibt's doch gar nicht) อย่างไรก็ตาม คำแปลตรงตัวของประโยคนี้คือ "สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง" จึงเป็นการกล่าวกลาย ๆ (และออกกำกวม) ว่าไม่ใช่แค่เขาไม่เชื่อบุคคลนั้น แต่ยังรวมถึงว่าเมืองนี้ไม่มีอยู่จริงด้วย เรื่องนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตของเยอรมนี และยังคงเป็นที่พูดถึงแม้ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี

ในบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เนื่องในโอกาสสิบปีของโพสต์ในกลุ่มข่าว เฮ็ลท์ระบุว่าเรื่องนี้มีที่มาจากโพสต์ในยูสเน็ตของเขาแน่นอน โพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อความตลกล้วน ๆ และเรื่องเล่านี้เขาคิดขึ้นระหว่างอยู่ที่งานเลี้ยงนักศึกษาและกำลังคุยกับนักอ่านนิตยสารนิวเอจ และจากการเดินทางโดยรถยนต์ผ่านเมืองบีเลอเฟ็ลท์ตอนที่มีการปิดทางลงทางด่วนไปที่ออกไปเมืองลีเบอฟีลท์[8][9]

แอลัน เลสซอฟฟ์ (Alan Lessoff) นักประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าความน่าสนใจของทฤษฎีว่าบีเลอเฟ็ลท์ไม่มีอยู่จริงเป็นผลมาจากว่าบีเลอเฟ็ลท์ไม่มีจุดเด่น ไม่มีสถาบันสำคัญ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น ไม่ได้ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายสำคัญ เขาระบุต่อว่า "บีเลอเฟ็ลท์คือนิยามของความไม่เข้าพวก" (Bielefeld defines nondescript)[10][11]

การตอบรับ

[แก้]

ในปี 1999 หรือห้าปีหลังเรื่องนี้แพร่กระจาย สภานครบีเลอเฟ็ลท์ได้ปล่อยประกาศสู่สาธารณะ หัวเรื่องว่า "บีเลอเฟ็ลท์มีอยู่จริง!" (Bielefeld gibt es doch!) ในวันเมษาหน้าโง่ งานฉลองครบรอบ 800 ปีของเมืองในปี 2014 จัดขึ้นโดยใช้คำขวัญว่า "เป็นไปไม่ได้น่า" (Das gibt's doch gar nicht)[2]

ในเดือนพฤศจิกายน 2012 อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เคยกล่าวเป็นนัยถึงทฤษฎีสมคบคิดในที่สาธารณะขณะเล่าถึงการประชุมครั้งหนึ่งที่เธอเคยเข้าร่วมที่ศาลาว่าการเมืองบีเลอเฟ็ลท์ เธอระบุว่า "...ก็ต่อเมื่อเมืองนี้มีอยู่จริงตั้งแต่แรก" (... so es denn existiert) และ "ฉันมีความรู้สึกว่าฉันเคยไปที่นั่น" (Ich hatte den Eindruck, ich war da)[3]

เรื่องคล้ายกัน

[แก้]
ภาพขบขันตามเรื่องสมคบคิดว่า "ฟินแลนด์ไม่มีอยู่จริง"

เรื่องสมคบคิดเชิงเสียดสีคล้าย ๆ กัน มีทั้งเกี่ยวกับรัฐอาครีในประเทศบราซิล,[12] แคว้นโมลีเซในประเทศอิตาลี,[13] รัฐตลัซกาลาในประเทศเม็กซิโก,[14] แคว้นมูร์เซียในประเทศสเปน, เมืองฮัสเซิลต์ในประเทศเบลเยียม,[15] เมืองรังกากัวและเมืองกอมบาร์บาลาในประเทศชิลี, เมืองบาร์รังกาเบร์เมฮาในประเทศโคลอมเบีย,[16] รัฐลาปัมปาในประเทศอาร์เจนตินา,[17] ทะเลสาบบอลอโตนในประเทศฮังการี,[18] เมืองเนสซีโอนาในประเทศอิสราเอล ไปจนถึงทั้งประเทศฟินแลนด์[19] และประเทศออสเตรเลีย[20] ส่วนในสหรัฐมีเรื่องคล้ายกันสำหรับรัฐไวโอมิง[21] และรัฐไอดาโฮ[22] โดยเรื่องของไวโอมิงนี้มีมาจากการ์ตูน การ์ฟีลด์และผองเพื่อน[23][24]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Archived at Ghostarchive and the Wayback Machine: Tom Scott (19 October 2015). "The Bielefeld Conspiracy". YouTube.
  2. 2.0 2.1 von Lüpke, Marc. "'Ich habe die Bielefeld-Verschwörung unterschätzt'" [I underestimated the Bielefeld Conspiracy]. Der Spiegel (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 16 May 2014.
  3. 3.0 3.1 "Auch Merkel zweifelt an Existenz Bielefelds" (ในภาษาเยอรมัน), Die Welt, November 27, 2012 (retrieved May 7, 2013).
  4. "Aktuelle Einwohnerzahlen". Bielefeld.de. 2021-12-31. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.
  5. Die Bielefeld-Verschwörung – German page detailing the conspiracy, as originally setup by Achim Held in 1994. (ในภาษาเยอรมัน)
  6. Germany's Latest Conspiracy Theory at the Deutsche Welle website
  7. The first newsgroup posting (Archived version at Google Groups) (ในภาษาเยอรมัน)
  8. "Transcript of the TV interview with Achim Held in 2004". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 28, 2007.
  9. "Der Mann hinter der großen Bielefeld-Verschwörung". Die Welt (ภาษาเยอรมัน). 2013-01-23.
  10. Alan Lessoff (28 February 2015). Where Texas Meets the Sea: Corpus Christi and Its History. University of Texas Press. pp. 17–18. ISBN 978-0-292-76823-9.
  11. Philippe Blanchard; Dimitri Volchenkov (23 October 2008). Mathematical Analysis of Urban Spatial Networks. Springer Science & Business Media. pp. 11–12. ISBN 978-3-540-87829-2.
  12. Ball, James (16 April 2018). "Australia doesn't exist! And other bizarre geographic conspiracies that won't go away". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 July 2020.
  13. Leggieri, Antonio (5 October 2015). "Il Molise non esiste!". Il Fatto Quotidiano (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 24 November 2020.
  14. Brooks, Darío (26 March 2019). "Tlaxcala: por qué 500 años después en México no perdona la alianza tlaxcalteca con el conquistador Hernán Cortés". BBC (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 17 December 2020.
  15. Vandael, Birger (2021-02-20). ""Parodie op complottheorieën", maar hoax 'Hasselt bestaat niet' doet flink de ronde op sociale media". Het Laatste Nieuws (ภาษาดัตช์). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-23.
  16. Gutierrez, Luis (17 April 2020). "Barrancabermeja no existe". Digame. สืบค้นเมื่อ 6 July 2021.
  17. "¿La Pampa no existe? el debate en Twitter que divirtió y enojó a varios". La Nación. October 2019. สืบค้นเมื่อ 23 January 2022.
  18. "Eddig hazugságban éltünk: a Balaton valójában nem létezik". 9 August 2017. สืบค้นเมื่อ 26 October 2021.
  19. Lamoureux, Mack (December 8, 2016). "This Dude Accidentally Convinced the Internet That Finland Doesn't Exist". Vice (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-01-18.
  20. "Australia doesn't exist! And other bizarre geographic conspiracies that won't go away". TheGuardian.com. 15 April 2018.
  21. Goodrick, Jake (20 November 2020). "Growing online theory says Wyoming doesn't exist". AP News. สืบค้นเมื่อ 27 January 2021.
  22. "CONSPIRACY THEORY: IDAHO DOESN'T EXIST".
  23. Roddam, Rick (March 13, 2018). "The 'Wyoming Doesn't Exist' Myth Began With Garfield The Cat". 101.9 KING FM (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-02-14.
  24. Archived at Ghostarchive and the Wayback Machine: "Garfield: It Must Be True! - YouTube". www.youtube.com. สืบค้นเมื่อ 2021-02-14.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Günther Butkus, บ.ก. (2010). Rätselhaftes Bielefeld. Die Verschwörung (ภาษาเยอรมัน). Pendragon. ISBN 978-3-86532-188-6.
  • Thomas Walden (2010). Die Bielefeld-Verschwörung. Der Roman zum Film (ภาษาเยอรมัน). Pendragon. ISBN 978-3-86532-194-7.
  • Thomas Walden (2012). Drachenzeit in Bielefeld: Aufgabe 2 der Bielefeld Verschwörung (ภาษาเยอรมัน). tredition. ISBN 978-3-8472-3859-1.
  • Karl-Heinz von Halle (2013). Gibt es Bielefeld oder gibt es Bielefeld nicht? (ภาษาเยอรมัน). Eichborn-Verlag. ISBN 978-3-8479-0546-2.