เรือประจัญบานบิสมาร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือ บิสมาร์ค ในปี ค.ศ. 1940
ประวัติ
เยอรมนี
ชื่อlist error: <br /> list (help)
บิสมาร์ค
Bismarck
ตั้งชื่อตามออทโท ฟอน บิสมาร์ค
Ordered16 พฤศจิกายน 1935
อู่เรืออู่โบลมอุนท์ฟ็อสส์ นครฮัมบวร์ค
ปล่อยเรือ1 กรกฎาคม 1936
เดินเรือแรก14 กุมภาพันธ์ 1939
เข้าประจำการ24 สิงหาคม 1940
เกียรติยศ48°10′N 16°12′W / 48.167°N 16.200°W / 48.167; -16.200
สัญลักษณ์
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: เรือประจัญบานชั้นบิสมาร์ค
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 41,700 ตัน (มาตรฐาน)
50,900 ตัน (เต็มที่)
ความยาว: 251 เมตร (ตลอดลำ)
241.5 เมตร (แนวน้ำ)
ความกว้าง: 36 เมตร (แนวน้ำ)
กินน้ำลึก: 9.3 เมตร (มาตรฐาน)
10.2 เมตร (เต็มที่)
ระบบขับเคลื่อน:
  • 3 Blohm & Voss geared turbines 150,170 แรงม้า
  • 3 three-blade propellers, เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.7 เมตร
ความเร็ว: 30.1 นอตขณะทำการทดสอบ (มีบทความหนึ่งอ้างถึง 31.1 นอต[1])
พิสัยเชื้อเพลิง: 8,525 ไมล์ทะเลที่ 19 นอต
อัตราเต็มที่: 2,092: นายทหาร 103 นาย ลูกเรือ 1,989 นาย
ยุทโธปกรณ์:
  • 8 × 380 mm/L52 SK C/34 (4×2)
  • 12 × 150 mm/L55 SK-C/28 (6×2)
  • 16 × 105 mm/L65 SK-C/37 / SK-C/33 (8×2)
  • 16 × 37 mm/L83 SK-C/30
  • 12 × 20 mm/L65 MG C/30
  • 8 × 20 mm/L65 MG C/32 (8×4)
เกราะ:
  • กราบเรือ: 145-320 มม.
  • ดาดฟ้า: 110-120 มม.
  • ผนังเรือ: 220 มม.
  • ป้อมปืน: 130-360 มม.
  • เกราะฐานป้อม: 342 มม.
  • หอบังคับการ: 360 มม.
  • อากาศยาน:Arado Ar 196 A-3, with 1 double-ended catapult

    บิสมาร์ค (เยอรมัน: Bismarck) เป็นเรือประจัญบาน และหนึ่งในเรือรบที่มีชื่อเสียงที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง บิสมาร์คเป็นเรือลำแรกในเรือประจัญบานชั้นบิสมาร์ค ซึ่งตั้งตามชื่อนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิเยอรมันคนแรก ออทโท ฟอน บิสมาร์ค เรือบิสมาร์คมีระวางขับน้ำเต็มที่ถึง 50,000 ตัน และเป็นเรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เข้าประจำการในสมัยนั้น[2] เรือบิสมาร์คครองตำแหน่งเรือประจัญบานใหญ่ที่สุดได้ราวห้าเดือนก็ถูกล้มแชมป์โดยเรือประจัญบานเทียร์พิทซ์ เรือในชั้นเรือเดียวกันซึ่งหนักกว่าบิสมาร์คราว 2,000 ตัน

    บิสมาร์คได้ปฏิบัติการเพียงครั้งเดียวตลอดอายุการใช้งานอันสั้น โดยจมลงในตอนเช้าของวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ระหว่างปฏิบัติการไรน์อือบุง เรือบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนัก Prinz Eugen พยายามที่จะขัดขวางและทำลายขบวนเรือซึ่งแล่นระหว่างอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักร ขณะที่บิสมาร์คและเรือรบเยอรมันอีกลำหนึ่งกำลังพยายามที่จะแล่นออกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก เรือรบทั้งสองถูกค้นพบโดยราชนาวีอังกฤษ และถูกดึงเข้าสู่ยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก ระหว่างการรบเวลาสั้น ๆ เรือหลวงฮูด เรือธงของกองเรือหลวงและความภาคภูมิใจของราชนาวีอังกฤษ ถูกจมลงหลังจากถูกยิงเพียงไม่กี่นาที นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล โกรธแค้นจนออกคำสั่งให้ "จมเรือบิสมาร์ค"[3] ซึ่งกระตุ้นให้ราชนาวีอังกฤษติดตามเรือบิสมาร์คไปอย่างไม่ลดละ

    สองวันถัดมา เมื่อเรือบิสมาร์คเกือบจะไปถึงน่านน้ำที่ปลอดภัยแล้ว เครื่องบินปีกสองชั้นของราชนาวีอังกฤษได้ยิงตอร์ปิโดถล่มเรือและทำให้หางเสือเรือขัดข้อง เรือรบหนักของอังกฤษสามารถตามทันบิสมาร์คได้ ในการรบที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 บิสมาร์คถูกโจมตีอย่างหนักเป็นเวลานานเกือบสองชั่วโมงก่อนที่จะจมลงสู่ก้นทะเล[4][5] การจมของบิสมาร์คได้รับการรายงานบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลก[6][7][8][9]

    การจัดสร้างและลักษณะเรือ[แก้]

    เรือบิสมาร์คถูกสั่งสร้างภายใต้ชื่อ โครงการทดแทนฮันโนเฟอร์ (Ersatz Hannover) เพื่อทดแทนเรือหลวงฮันโนเฟอร์ (SMS Hannover) ซึ่งจัดสร้างขึ้นก่อนยุคเรือเดรดนอต[10] ในข้อตกลงได้มอบหมายให้อู่ต่อเรือโบลมอุนท์ฟอสส์ (Blohm & Voss) ในเมืองฮัมบวร์คเป็นผู้จัดสร้าง มีการวางกระดูกงูในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ที่ Helgen IX[11][12] เรือปล่อยลงน้ำในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 ระหว่างพิธีการ โดโรเท ฟอน เลอเวินเฟ็ลด์ (Dorothee von Löwenfeld) หลานสาวนายกรัฐมนตรีบิสมาร์คเป็นผู้ทำพิธีตั้งเรือและปล่อยเรือลงน้ำ และมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธี[12] งานปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ได้ดำเนินงานหลังการปล่อยเรือลงน้ำ ในเวลานั้น หัวเรือเดิมแบบมุมตรงได้ถูกแทนที่ด้วยหัวเรือเอียงลาดแบบแอตแลนติก (Atlantic bow) ซึ่งคล้ายกับเรือประจัญบานชั้นชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) [13] เรือบิสมาร์คเข้าประจำการในครีคส์มารีเนอวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1940 ขณะทำการแล่นเรือทดสอบ[14] มีหน้าที่ควบคุมทะเลบอลติก โดยมีนาวาเอกแอนสท์ ลินเดอมัน (Ernst Lindemann) เป็นผู้บังคับการเรือในขณะเรือเข้าประจำการ[15]

    แบบ 3 มิติของเรือบิสมาร์ค ตามลักษณะที่ปรากฏระหว่างปฏิบัติการไรน์อือบุง (Operation Rheinübung)

    เรือบิสมาร์คมีระวางขับน้ำมาตรฐาน 41,700 ตัน (41,000 ลองตัน[note 1]) และมีระวางขับน้ำเต็มที่ 50,300 ตัน (49,500 ลองตัน) มีความยาวตลอดลำ 251 เมตร, กว้าง 36 เมตร และกินน้ำลึกสูงสุด 9.9 เมตร (32 ฟุต 6 นิ้ว) [10] เรือบิสมาร์คเป็นเรือประจัญบานเยอรมันที่ใหญ่ที่สุด[16] และมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือประจัญบานของชาติอื่นๆ ในยุโรป ยกเว้นเรือ เรือหลวงแวนการ์ด (HMS Vanguard) [17] เรือมีแหล่งกำลังเป็นกังหันไอน้ำโบลมและฟอสส์แบบเปลี่ยนเกียร์ได้ 3 กังกัน และหม้อไอน้ำความร้อนยวดยิ่งวากเนอร์ (Wagner) ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง 12 หม้อ ให้กำลังถึง 150,170 แรงม้า (shaft horsepower) (111,980 กิโลวัตต์) ให้ความเร็วสูงสุด 30.01 นอต (55.58 กม./ชม.; 34.53 ไมล์/ชม.) ในตอนแล่นทดสอบ มีระยะทำการ 8,870 ไมล์ทะเล (16,430 กม.; 10,210 ไมล์) ที่ความเร็ว 19 kn (35 km/h; 22 mph)[10] เรือบิสมาร์คติดตั้งเรดาร์ค้นหา FuMO 23 สามชุด ติดไว้ด้านหน้าเรือ กล้องวัดระยะท้ายเรือ และยกพื้นที่อยู่ส่วนบนสุดของเสาหน้ากระโดงเรือ[18]

    ตามมาตรฐานของเรือ เรือจะมีลูกเรือเป็นนายทหาร 103 นาย และพลทหาร 1,962 นาย[14] ลูกเรือจัดแบ่งเป็น 12 กองร้อย กองร้อยละ 180 ถึง 220 นาย หกกองร้อยแรกรับผิดชอบอาวุธยุทธภัณฑ์ กองร้อยที่ 1 ถึงกองร้อยที่ 4 ดูแลหมู่ปืนหลักและหมู่ปืนรอง กองร้อยที่ห้าและหกรับผิดชอบปืนต่อต้านอากาศยาน กองร้อยที่ 7 ประกอบด้วยผู้ชำนาญเฉพาะทางซึ่งรวมถึงพ่อครัวและช่างไม้ กองร้อยที่ 8 มีหน้าที่ดูแลจัดการอาวุธยุทธภัณฑ์ พนักงานวิทยุ เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ และเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายพลาธิการ ประจำกองร้อยที่ 9 สามกองร้อยสุดท้ายประจำในห้องเครื่องยนต์ เมื่อบิสมาร์คออกจากท่า เรือจะมีลูกเรือมากกว่า 2,200 นาย เพราะจะนับรวมพนักงานกองเรือ ลูกเรือที่มีหน้าที่นำส่งเรือเชลย และนักข่าวสงครามบนเรือด้วย[19] พนักงานห้องเครื่องยนต์ราว 200 นายมาจากเรือลาดตระเวนเบาคาลส์รูเออ (Karlsruhe) ที่สูญเสียไประหว่างปฏิบัติการเวเซอร์อือบุง (Operation Weserübung) ซึ่งเป็นปฏิบัติการการรุกรานนอร์เวย์ของเยอรมัน[20]

    เรือบิสมาร์คติดอาวุธปืน SK C/34 ลำกล้อง 38 ซม. แปดกระบอกในป้อมปืนแฝด 4 ป้อม ป้อมปืนติดตั้งแบบซูปเปอร์ไฟร์อิ้ง (super-firing[note 2]) ป้อมปืนหน้าชื่อ "อันโทน (Anton)" และ "บรูโน (Bruno)" ป้อมหลังชื่อ "เคซาร์ (Caesar)" และ "โดรา (Dora)"[note 3] อาวุธรองประกอบด้วยปืน L/55 ลำกล้อง 15 ซม. 12 กระบอก ปืน L/65 ลำกล้อง 10.5 ซม. 16 กระบอก ปืน L/83 ลำกล้อง 3.7 ซม. 16 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน ลำกล้อง 2 ซม. 12 กระบอก เรือบิสมาร์คยังบรรทุกเครื่องบินทุ่นลอยน้ำลาดตระเวนอาราโด อาแอร์ 196 (Arado Ar 196) โรงเก็บเครื่องบินขนาดใหญ่ และเครื่องดีดแบบหัวท้ายเหมือนกัน (double-ended catapult) [14] เกราะข้างหนา 320 มม. (13 นิ้ว) และปกคลุมโดยเกราะคู่ส่วนบนและเกราะหลักของดาดฟ้าเรือหนา 50 มม. (2.0 นิ้ว) และ 100 ถึง 120 มม. (3.9 ถึง 4.7 นิ้ว) ตามลำดับ ป้อมปืนหลักได้รับการปกป้องด้วยเกราะหนา 360 มม. (14.2 นิ้ว) บริเวณด้านหน้า และหนา 220 มม. (8.7 นิ้ว) บริเวณด้านข้าง[10]

    ประวัติการปฏิบัติการ[แก้]

    เรือประจัญบานบิสมาร์คในอู่ในฮัมบวร์ค

    วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1940 สามสัปดาห์หลังเข้าประจำการ เรือบิสมาร์คออกจากฮัมบวร์คเพื่อเริ่มแล่นเรือทดสอบในอ่าวคีล (Kiel) [21] เรือซแพร์เบร็คเคอร์ (Sperrbrecher) 13 ได้ทำหน้าที่คุ้มกันเรือเดินทางไปแหลมอาร์โคนา (Cape Arkona) ในวันที่ 28 กันยายน แล้วจึงไปถึงเมืองโกเทินฮาเฟิน (Gotenhafen) เพื่อแล่นเรือทดสอบในอ่าวดันท์ซิช (Gulf of Danzig) [22] โรงไฟฟ้าของเรือได้รับการทดสอบอย่างละเอียด มีการปรับการวัดไมล์ทะเลให้ถูกต้องแม่นยำ และการแล่นเรือความเร็วสูง ขณะที่ความเสถียรและการจัดการกลยุทธ์ที่เริ่มทดสอบ พบว่ามีข้อบกพร่องในการออกแบบ ขณะที่ความพยายามที่จะคัดท้ายเรือด้วยคนเพียงลำพังด้วยการพัฒนาปรับเปลี่ยนการพัฒนาใบจักรเรือ ลูกเรือเรียนรู้ว่าการปฏิบัตินั้นด้วยตัวคนเดียวปฏิบัติยากมาก แม้ว่า สกรูท้ายเรือจะทำงานเต็มกำลังในทิศตรงข้าม แต่ก็เพิ่มความสามารถในการเลี้ยวเพียงเล็กน้อย[23] หมู่ปืนเรือหลักทำการทดสอบยิงครั้งแรกปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจากการทดสอบพบว่าเรือเป็นแท่นปืนใหญ่ที่มีความเสถียรมาก[24] เรือได้แล่นทดสอบจนถึงเดือนธันวาคม บิสมาร์คได้เดินทางกลับไปถึงฮัมบวร์คในวันที่ 9 ธันวาคม สำหรับการปรับเปลี่ยนอีกเล็กน้อยและการติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นให้สมบูรณ์[21]

    เรือบิสมาร์คมีแผนเดินทางกลับคีลในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1941 แต่มีเรือสินค้าอับปางในคลองคีลส่งผลให้ใช้ทางน้ำไม่ได้ สภาพอากาศที่เลวร้ายได้ขัดขวางการกู้ซากเรือที่จมลง เรือบิสมาร์คจึงเดินทางกลับคีลไม่ได้จนกระทั่งเดือนมีนาคม[21] ความล่าช้าสร้างความผิดหวังให้แก่ลินเดอมันเป็นอย่างมาก เขากล่าวว่า "เรือบิสมาร์คติดอยู่ที่ฮัมบวร์คถึงห้าสัปดาห์... เวลาอันมีค่าที่จะล่องเรือในทะเลสูญเสียไปด้วยเหตุที่ไม่ได้ก่อขึ้น และเป็นความล่าช้าอย่างมีนัยยะในการเคลื่อนกำลังในขั้นสุดท้ายด้วยเหตุซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"[25] ขณะที่รอให้เดินทางไปถึงคีล เรือบิสมาร์คเป็นที่รับรองเรือเอกแอนเดอร์ ฟอร์เชลล์ (Anders Forshell) ผู้ช่วยทูตกองทัพเรือสวีเดนไปยังเบอร์ลิน เขากลับไปยังสวีเดนพร้อมรายละเอียดลักษณะของเรือ และได้เผยความลับนี้กับอังกฤษ โดยทหารที่สนับสนุนอักฤษในกองทัพเรือสวีเดน ข้อมูลถูกจัดเตรียมไว้ให้ราชนาวีอังกฤษกับรายละเอียดแรกทั้งหมดของเรือ แม้ว่าจะขาดลักษณะจำเพาะที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยความเร็วสูงสุด, ระยะทำการ, และระวางขับน้ำ[26]

    เรือบิสมาร์คขณะแล่นทดสอบ ซึ่งจะเห็นว่ายังไม่มีกล้องวัดระยะเนื่องจากยังไม่ได้ทำการติดตั้ง

    วันที่ 6 มีนาคม เรือบิสมาร์คได้รับคำสั่งแล่นเรือไปคีล โดยมีเครื่องบินรบเม็สเซอร์ชมิท เบเอ็ฟ 109 จำนวนหลายลำ และเรือสินค้าติดอาวุธจำนวน 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกันระหว่างเส้นทาง พร้อมเรือตัดน้ำแข็ง เมื่อเวลา 08:45 น. วันที่ 8 มีนาคม เรือบิสมาร์คได้เกยตื้นที่ชายฝั่งด้านใต้ของคลองคีลเป็นเวลาสั้นๆ แม้ว่าจะหลุดออกมาใต้ภายในหนึ่งชั่วโมง เรือเดินทางถึงคีลในวันถัดมา ลูกเรือได้ทำการกักตุนอาวุธยุทธภัณฑ์ เชื้อเพลิง และเสบียงอื่นๆ และดำเนินการพรางเรือด้วยลายพรางแบบแดซเซิล (dazzle paint) วันที่ 12 มีนาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษได้เข้าโจมตีท่าเรือแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[27] วันที่ 17 มีนาคม เรือประจัญบานเก่า เรือหลวงชเลซีน (SMS Schlesien) ซึ่งปัจจุบันดัดแปลงเป็นเรือตัดน้ำแข็ง คุ้มกันฝ่าน้ำแข็งไปถึงเมืองโกเทินฮาเฟิน เพื่อฝึกความพร้อมในการรบ[28]

    กองบัญชาการใหญ่กองทัพเรือเยอรมัน (OKM) ซึ่งบัญชาการโดยพลเรือเอกเอริช เรเดอร์ มีเป้าหมายที่จะคงภารกิจที่ใช้เรือขนาดหนักโจมตีเส้นทางการค้าของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป เรือประจัญบานชั้นชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) สองลำที่ประจำอยู่ที่เมืองแบร็สต์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส เป็นหัวหอกหลักในการโจมตีในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเวลานั้นปฏิบัติการเบอร์ลินเพิ่งจบลง เรือเทียร์พิตส์ซึ่งเรือพี่น้องของเรือบิสบาร์คถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เรือบิสมาร์คและเรือเทียร์พิตส์เข้าโจมตีเข้าไปในเขตศัตรูจากทะเลบอลติกและนัดพบกับเรือชั้นชาร์นฮอสท์ทั้งสองลำในแอตแลนติก ปฏิบัติการมีแผนเริ่มดำเนินการประมาณวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1941 ในช่วงเดือนมืดซึ่งจะทำให้ปัจจัยแวดล้อมช่วยอำนวยประโยชน์[29]

    การจัดสร้างและติดตั้งอุปกรณ์บนเรือเทียร์พิตส์เสร็จสมบูรณ์ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตามเรือยังคงไม่ขึ้นระวางจนกระทั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และเรือยังไม่พร้อมเข้าทำการรบจนกระทั่งปลายปี ด้วยสถานการณ์ที่ซับซ้อน เรือประจัญบานกไนเซอเนา (Gneisenau) ได้รับความเสียหายจากตอร์ปิโดขณะอยู่ในแบร็สต์และจากระเบิดขณะอยู่ในอู่แห้ง เรือประจัญบานชาร์นฮอสท์ (Scharnhorst) ต้องการยกเครื่องหม้อไอน้ำเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการเบอร์ลิน ระหว่างการยกเครื่อง คนงานพบว่าหม้อไอน้ำมีสภาพเลวร้ายกว่าที่คาด เรือต้องถอนตัวจากแผนการโจมตี[30] การโจมตีของเครื่องบินทิ้งระเบิดที่คลังสรรพาวุธในคีลทำให้เกิดความล่าช้าในการซ่อมแซมเรือลาดตระเวนหนักพลเรือเอกเชียร์ (Scheer) และพลเรือเอกฮิพเพอร์ (Hipper) เรือทั้งสองไม่พร้อมที่จะปฏิบัติการไปจนถึงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม[31] พลเรือเอกกึนเธอร์ ลึทเจนต์ นายทหารซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้นำปฏิบัติการ ปรารถนาถ้ายืดเวลาปฏิบัติการออกไปอีกอย่างน้อยจนกว่าเรือชาร์นฮอสท์หรือเรือเทียร์พิตส์จะพร้อม[32] แต่กองบัญชาการสูงสุดกองทัพเรือตัดสินใจที่จะดำเนินการปฏิบัติการชื่อรหัส ปฏิบัติการไรน์อือบุง ต่อไป ซึ่งกองเรือประกอบด้วยบิสมาร์คและเรือลาดตระเวนหนักพรินซ์ออยเกิน (Prinz Eugen) เท่านั้น[30]

    ปฏิบัติการไรน์อือบุง[แก้]

    บิสมาร์ค ถ่ายภาพจาก พรินซ์ออยเกิน ในทะเลบอลติกขณะเริ่มปฏิบัติการไรน์อือบุง

    5 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์และวิลเฮ็ล์ม ไคเทิลพร้อมคณะเข้าเยี่ยมชม บิสมาร์ค และ เทียร์พิทซ์ ที่เมืองโกเทินฮาเฟิน หลังการเยี่ยมชมฮิตเลอร์ได้เข้าประชุมกับลึทเจนต์เพื่อหารือถึงปฏิบัติการ[33] 16 พฤษภาคม ลึทเจนต์รายงานว่า บิสมาร์ค และ พรินซ์ออยเกิน พร้อมเต็มที่สำหรับปฏิบัติการไรน์อือบุง เขาจึงได้รับคำสั่งให้เริ่มปฏิบัติภารกิจในตอนเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคม[34] ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิบัติงาน กลุ่มเรือลำเลียงสิบแปดลำจะถูกวางตำแหน่งเพื่อสนับสนุน บิสมาร์ค และ เทียร์พิทซ์ เรืออูสี่ลำถูกวางไว้ตามเส้นทางของขบวนระหว่างแฮลิแฟกซ์และสหราชอาณาจักรเพื่อสอดแนมสำหรับเตรียมการจู่โจม[35]

    เมื่อเริ่มปฏิบัติการ บิสมาร์ค มีลูกเรือและทหาร 2,221 นาย ซึ่งรวมถึงพนังงานของพลเรือ 65 คนและลูกเรือที่นำส่งเรือเชลย 80 นาย สำหรับนำส่งเรือที่ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติการ เมื่อเวลา 02:00 วันที่ 19 พฤษภาคม บิสมาร์ค ออกจากโกเทินฮาเฟินไปยังช่องแคบเดนมาร์ก และเมื่อเวลา 11:25 ได้เข้าร่วมขบวนกับ พรินซ์ออยเกิน ซึ่งออกจากแหลมอาร์โคนา (Cape Arkona) เมื่อ 21:18 คืนก่อน[36] เรือทั้งสองได้รับการคุ้มกันโดยเรือพิฆาตสามลำ Z10 Hans Lody Z16 Friedrich Eckoldt และ Z23 และกองเรือกวาดทุ่นระเบิด[37] ลุฟท์วัฟเฟอจัดการคุ้มกันทางอากาศระหว่างเดินทางออกจากน่านน้ำเยอรมัน[38] ราวเที่ยงของวันที่ 20 พฤษภาคม ลินเดอมันแจ้งให้ลูกเรือทราบถึงภารกิจผ่านเครื่องกระจายเสียง ในเวลาใกล้เคียง กลุ่มของเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศของสวีเดนจำนวนสิบหรือสิบสองลำพบกองกำลังเยอรมันและได้รายงานการพบกองเรือ ขณะที่ฝ่ายเยอรมันกลับไม่ตรวจพบเครื่องบินของสวีเดน[39]

    ชั่วโมงต่อมา กองเรือเยอรมันได้เผชิญหน้ากับเรือลาดตระเวนกอตแลนด์ (HSwMS Gotland) ของสวีเดน เรือกอตแลนด์ได้แล่นหลบหลีกกองเรือเยอรมันเป็นเวลาสองชั่วโมงในคัตเทกัต[40] กอตแลนด์ ส่งรายงานถึงกองบัญชาการกองทัพเรือว่า: "เรือใหญ่สองลำ เรือพิฆาตสามลำ เรือคุ้มกันห้าลำ และเครื่องบิน 10–12 ลำ ผ่านมาร์ชสตรานด์ (Marstrand) เส้นทาง 205°/20'"[38] กองบัญชาการใหญ่กองทัพเรือเยอรมันไม่กังวัลถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจาก กอตแลนด์ แม้ว่าทั้งลึทเจนต์และลินเดอมันเชื่อว่าปฏิบัติการจะไม่เป็นความลับอีกแล้ว[40] ในที่สุดรายงานก็เดินทางไปถึงกัปตันเฮนรี่ เดนแฮม (Henry Denham) ผู้ช่วยทูตกองทัพเรืออังกฤษประจำประเทศสวีเดน ผู้ส่งข้อมูลต่อไปยังกองทัพเรืออังกฤษ[41]

    ยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก[แก้]

    ภาพเรือบิสมาร์คหลังจมเรือหลวงฮูด ในยุทธนาวีช่องแคบเดนมาร์ก

    ในวันที่ 24 พฤษภาคม 1941 เรือทั้ง 2 ลำ ถูกฝั่งอังกฤษตรวจจับได้ ขณะอยู่ในบริเวณสแกนดิเนเวียทำให้อังฤกษส่งเรือรบเรือประจัญบานลำใหม่ เรือหลวงปรินส์ออฟเวลส์ และเรือหลวงฮูดลำเก่า ออกไปดักโจมตีที่ช่องแคบเดนมาร์ก

    เวลาประมาณ 05:30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม กองเรือเยอรมันได้เดินทางมาถึงช่องแคบเดนมาร์ก ไฮโดรโฟนของเรือพรินซ์ออยเกินตรวจพบเรือสองลำทางกราบซ้าย เวลา 05:45 น. เรือทั้งคู่ก็ปรากฏในระยะสายตาแต่ทางเยอรมันยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นข้าศึก ฝ่ายอังกฤษประกอบไปด้วยเรือประจัญบานลำใหม่ ปรินส์ออฟเวลส์และเรือหลวงฮูดลำเก่า ภายใต้การบัญชาการของพลเรือตรีลานเซลอต ฮอลแลนด์ (Lancelot Holland) เรือพรินซ์ออฟเวลส์นั้นเพื่อต่อเสร็จเมื่อเร็วๆนี้และยังเพิ่งเริ่มออกทะเล (ขณะเผชิญหน้ากับบิสมาร์คนั้นมีลูกเรือเพียง 100 นายบนเรือและอยู่ในสภาพไม่พร้อม) เรือฮูดเก่านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรือลาดตระเวนประจัญบานก่อนที่จะมีการปรับปรุงการป้องกันของเรือให้เป็นเรือประจัญบานแต่ยังคงมีเกราะดาดฟ้าที่ค่อนข้างอ่อนแอ เยอรมันไม่แปลกใจที่ได้พบกับเรือฝ่ายอังกฤษแต่คิดไม่ถึงว่าจะเป็นเรือหลวงของอังกฤษเลย

    เมื่อเวลา 05.49 น. ฮอลแลนด์ได้รับคำสั่งให้ยิงตรงไปที่เรือข้าศึกที่แล่นนำหน้ามา พรินซ์ออยเกิน ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นบิสมาร์ค[42] แต่โชคยังเป็นของอังกฤษ เมื่อผู้บังคับการเรือปรินส์ออฟเวลส์ได้สังเกตเห็นถึงความผิดพลาดและทำการเปลี่ยนเป้าหมาย ฮอลแลนด์ได้รับคำสั่งแก้ไขเป้าหมายแต่คำสั่งนั้นกลับไปไม่ถึงพลปืนของฮูดก่อนที่จะได้ยิงตับแรกออกไป ฮูดได้ยิงกระสุนนัดแรกในยุทธนาวีเมื่อเวลา 05.52 น.ในเวลารุ่งอรุณ และตามติดด้วยพรินซ์ออฟเวลส์ ระยะห่างจากเรือฝ่ายเยอรมันในตอนนั้นประมาณ 12.5 ไมล์ (20.1 กม.) การยิงตับแรกของฮูด กระสุนตกใกล้กับพรินซ์ออยเกิน ทำให้เกิดความเสียหายเล็กน้อยใกล้กับป้อมปืนท้าย[42]

    นานกว่า 2 นาทีที่ไม่มีการยิงตอบโต้จากกองเรือเยอรมัน ก่อนที่ผู้บังคับการเรือ ลินเดอมันน์ (Lindemann) จะสั่งให้ยิงตอบโต้ไปยังเรือธงของอังกฤษ ซึ่งก็คือเรือฮูดโดยเยอรมันสามารถระบุบได้เมื่อกองเรือรบอังกฤษได้ทำการเปลี่ยนทิศทางไปยังเรือฮูดเมื่อเวลา 05.55 น. กลยุทธ์นี้จะใช้เมื่อเรือพยายามจัดวางตำแหน่งของตนเองให้อยู่ในโซนคุ้มกัน เมื่ออยู่ในโซนดังกล่าวแล้วเรือจะสามารถยิงมุมสูงได้ (ยิงทำลายดาดฟ้าเรือ) และการยิงตรงของเรือศัตรูจะไม่ค่อยได้ผล แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ฮูดก็ยังคงมีจุดอ่อนเล็กน้อยและการควบคุมการยิงของเยอรมันยังเหนือกว่านิดหน่อย นอกจากนี้ยังมีข้อเสียคือ ในระหว่างการแล่นเรือปืนใหญ่ 8 กระบอกจาก 18 กระบอกไม่สามารถยิงสนับสนุนได้[43]

    อับปาง[แก้]

    การอับปางของเรือลำนี้เกิดขึ้นหลังการปฏิบัติการไรน์อือบุง นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร วินสตัน เชอร์ชิล ออกคำสั่ง "จมเรือบิสมาร์ค" ซึ่งกระตุ้นให้ราชนาวีอังกฤษติดตามเรือบิสมาร์คไปอย่างไม่ลดละ และในระหว่างที่เรือกำลังกลับจากปฏิบัติการนี้ เวลา 09:02 นาฬิกา เครื่องบินรบอังกฤษได้ระดมยิงตอร์ปิโดจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่เรือเสียชีวิตกันมากมาย และหางเสือเรือทรงตัวไม่ได้ และเรือรบ 4 ลำของอังกฤษ ได้ยิงปืนใหญ่ถล่มเรือ Bismarck จนเรือเสียหายอย่างรุนแรง และในที่สุดเวลา 10:20 am เรือก็อับปางลง พร้อมชีวิตของเจ้าหน้าที่เรือ 2,200 ชีวิต มีเพียง 114 ชีวิตเท่านั้นที่รอดมาได้

    ซากอับปาง[แก้]

    การค้นพบ[แก้]

    ซากบิสมาร์คถูกค้นพบในวันที่ 8 มิถุนายน 1989 โดย ดร.โรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) นักสมุทรศาสตร์ที่รับผิดชอบในการค้นหาอาร์เอ็มเอส ไททานิก บิสมาร์คถูกพบที่ระดับความลึกประมาณ 4,791 เมตร (15,719 ฟุต) ประมาณ 650 กม. (400 ไมล์) ทางตะวันตกของเมืองแบร็สต์ เรือชนกับภูเขาไฟใต้น้ำที่ดับแล้วที่สูงราว 1,000 เมตร (3,300 ฟุต) เหนือที่ราบก้นสมุทร ก่อให้เกิดแผ่นดินถล่ม 2 กม. (1.2 ไมล์) บิสมาร์คเลื่อนลงจากภูเขาลงมาหยุดสองในสามของความสูง บัลลาร์ดเก็บตำแหน่งของซากเรือไว้เป็นความลับเพื่อป้องกันไม่ให้นักดำน้ำอื่นนำสิ่งของจากเรือไป ซึ่งเขาถือว่าเป็นการโจรกรรมหลุมฝังศพ[44]

    จากการสำรวจของบัลลาร์ดไม่พบการทะลุใต้น้ำของป้อมหุ้มเกราะ (citadel) ของเรือ พบแปดรูบนตัวเรือเหนือเส้นน้ำลึก หนึ่งรูที่ด้านกราบขวา และอีกเจ็ดรูที่ด้านกราบซ้าย รูหนึ่งอยู่ที่ดาดฟ้าเรือทางกราบขวาของหัวเรือ มุมและรูปร่างบ่งบอกว่ากระสุนที่สร้างหลุมนั้นถูกยิงจากด้านกราบซ้ายของบิสมาร์คแล้วชนกับสมอเรือกราบขวาจนหลุดหายไป[45] หกรูอยู่ตอนกลางลำเรือ สะเก็ดกระสุนสามชิ้นเจาะเข้าไปที่กราบบนสุด และสร้างรูที่เกราะกราบเรือ[46] นอกจากนี้ ท้านเรือปรากฏรูขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัด ขนานไปกับแท่นส่งเครื่องบินบนดาดฟ้าเรือ บันทึกของยานดำน้ำไม่บนสิ่งที่แสดงว่ากระสุนทะลุผ่านเกราะหลักและเกราะข้าง พบที่เกราะดาดฟ้าเรือเท่านั้น[47] รอยบุบขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่ากระสุนขนาด 14 นิ้วจำนวนมากถูกยิงโดยเรือคิงจอร์จ V กระเด้งออกมาไม่สามารถเจาะเกราะกราบเรือเข้าไปได้[48] นักประวัติศาสตร์ทหารเรือวิลเลียม การ์ซคี (William Garzke) และโรเบิร์ต ดับบลิน (Robert Dulin) กล่าวว่าเรือประจัญบานของอังกฤษยิงในระยะใกล้มาก การยิงวิถีราบทำให้ยากต่อการเจาะทะลุเป้าหมายที่ค่อนข้างแคบอย่างเกราะกราบเรือเหนือเส้นน้ำลึก การยิงกระสุนระยะใกล้ทำให้เกิดการสะท้อนกลับขึ้นไปที่ด้านบนของดาดฟ้าเรือหรือระเบิดบนน้ำ[49]

    บัลลาร์ดตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่พบหลักฐานของการระเบิดจากภายในที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำเข้าลำเรือไม่เต็มลำขณะจม ทำให้น้ำที่อยู่รอบๆซึ่งมีแรงดันมากกว่าอากาศในตัวเรือจะบดขยี้เรือ บัลลาร์ดชี้ให้เห็นว่าตัวเรือนั้นอยู่ในสภาพที่ดี[50] นี่แสดงให้เห็นว่าห้องเรือของบิสมาร์คถูกน้ำท่วมเมื่อเรืออับปาง ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีเรือถูกจมโดยการเจาะรูใต้ท้องเรือ[51] บัลลาร์ดกล่าวเสริมว่า "เราพบตัวเรือที่มีทั้งลำและไม่มีความเสียหายเนื่องจากการเลื่อนไถลและการกระแทก พวกเขาสรุปว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการจมคือการจมโดยการเจาะรูใต้ท้องเรือ จากการก่อวินาศกรรมที่ห้องเครื่องยนต์โดยลูกเรือจากคำกล่าวอ้างของผู้รอดชีวิตชาวเยอรมัน[52]

    ท้ายเรือทั้งหมดสูญหาย ไม่พบว่าอยู่ใกล้กับซากเรือหลัก และยังไม่ได้ถูกค้นพบ สันนิษฐานว่าไม่ได้เกิดจากการกระแทกกับพื้นทะเล คาดว่าหลุดออกจากการถูกยิงโดยตอร์ปิโด ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ของความล้มเหลวทางโครงสร้างเรือ[53] พื้นที่ท้ายเรือถูกยิงหลายครั้งจนเสียหายจากตอร์ปิโด เมื่อรวมกับความจริงที่ว่าท้ายเรือจมลงก่อน และไม่มีโครงสร้างรองรับที่จะยึดเอาไว้ท้ายเรือจึงหลุดออก ในปี 1942 พรินซ์ออยเกินก็ถูกตอร์ปิโดยิงที่ท้ายเรือจนเสียหาย เหตุนี้นี้ทำให้เกิดการเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างท้ายเรือของเรือหลวงเยอรมันทั้งหมด[52]

    อ้างอิง[แก้]

    1. Jackson 2002, p. 24
    2. "Bismarck Technical Data and Battleship Comparison; retrieved 14 November 2009
    3. "Channel 4 - Hood v Bismarck - History - The Battles". Pbs.org. สืบค้นเมื่อ 2011-04-02.
    4. von Mullenheim-Rechberg, B., Battleship Bismarck, a survivor's story; new improved edition. Annapolis: United States Naval Institute Press (1990). ISBN 978-0870210969, pp. 246-76
    5. "The Final Battle (A desperate fight against impossible odds)"; retrieved 27 November 2009
    6. Los Angeles Times, front page “BATTLE RAGING IN ATLANTIC – Bismarck Torpedoed, Crete Defences Crack” – 26 May 1941.
    7. New York Times, front page “The Hood Avenged – Nazi Ship is Sent Down West of Brest After 1,750 Mile Chase” – 28 May 1941.
    8. Sydney Morning Herald, front page “Bismarck Sunk” – 28 May 1941.
    9. Winnipeg Free Press, front page “NAVY SINKS BISMARCK – British Get Revenge For Hood Destruction” – 27 May 1941.
    10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Gröner, p. 33.
    11. Campbell, "Germany 1906–1922", p. 43.
    12. 12.0 12.1 Gaack & Carr, p. 10.
    13. Williamson, pp. 21–22.
    14. 14.0 14.1 14.2 Gröner, p. 35.
    15. Williamson, p. 22.
    16. Garzke & Dulin, p. 203.
    17. Gardiner & Chesneau, pp. 16, 224.
    18. Williamson, p. 43.
    19. von Müllenheim-Rechberg, pp. 29–30.
    20. Gaack & Carr, p. 26.
    21. 21.0 21.1 21.2 Garzke & Dulin, p. 210.
    22. von Müllenheim-Rechberg, p. 38.
    23. von Müllenheim-Rechberg, p. 39.
    24. von Müllenheim-Rechberg, pp. 44–45.
    25. Bercuson & Herwig, p. 39.
    26. Bercuson & Herwig, pp. 39–40.
    27. Bercuson & Herwig, p. 40.
    28. Bercuson & Herwig, p. 41.
    29. Garzke & Dulin, pp. 210–211.
    30. 30.0 30.1 Garzke & Dulin, p. 211.
    31. Bercuson & Herwig, p. 43.
    32. Bercuson & Herwig, pp. 44–45.
    33. von Müllenheim-Rechberg, p. 71.
    34. von Müllenheim-Rechberg, p. 74.
    35. Bercuson & Herwig, pp. 55–56.
    36. Bercuson & Herwig, p. 63.
    37. von Müllenheim-Rechberg, p. 76.
    38. 38.0 38.1 Garzke & Dulin 1985, p. 214.
    39. Bercuson & Herwig, p. 64.
    40. 40.0 40.1 Bercuson & Herwig, p. 65.
    41. Bercuson & Herwig, pp. 66–67.
    42. 42.0 42.1 Chesenau 2002, p. 156
    43. "The Pursuit of Bismarck & the Sinking of H.M.S. Hood, Part 2 - The Battle of the Denmark Strait; retrieved 14 November 2009
    44. Ballard, Bismarck, pp. 216, 221.
    45. Ballard, Bismarck, p. 194.
    46. Ballard, Bismarck, p. 214.
    47. Ballard, Bismarck, p. 191.
    48. Jackson, p. 85.
    49. Garzke & Dulin 1994.
    50. Ballard, Bismarck, pp. 214–215.
    51. Jackson, p. 88.
    52. 52.0 52.1 Ballard, Bismarck, p. 215.
    53. Ballard, Bismarck, pp. 177–178.

    เชิงอรรถ

    1. มีขนาดเท่ากับ 2,240 ปอนด์ (1,016 กก.)
    2. เป็นการติดตั้งป้อมปืนสองป้อมในแถวเดียวกัน โดยให้ป้อมที่สองอยู่สูงกว่า (super) ป้อมปืนแรก เพื่อให้สามารถทำการยิงไปที่เป้าหมายส่วนเดียวกันได้หรือยิงไปด้านหน้าหรือด้านหลังของเรือได้ทั้งสองป้อม
    3. SK แทน schiffskanone (ปืนเรือ), C/34 แทน Constructionjahr (ปีผลิต) 1934, และ L/52 หมายถึงความยาวของปืนภายใต้เงือนไขของลำกล้อง หมายความว่าปืนยาว 52 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางภายในลำกล้อง

    อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "FOOTNOTECampbell, "Naval Weapons of World War II"219" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า

    บรรณานุกรม[แก้]

    • Ballard, Robert D. (1990). Bismarck: Germany's Greatest Battleship Gives Up its Secrets. Toronto, ON: Madison Publishing. ISBN 978-0-7858-2205-9.
    • Ballard, Robert D. (2008). Archaeological Oceanography. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 9780691129402.
    • Bercuson, David J.; Herwig, Holger H. (2003). The Destruction of the Bismarck. New York, NY: The Overlook Press. ISBN 978-1-58567-397-1.
    • Campbell, John (1985). Naval Weapons of World War II. London: Conway Maritime Press. ISBN 978-0-87021-459-2.
    • Campbell, John (1987). "Germany 1906–1922". ใน Sturton, Ian (บ.ก.). Conway's All the World's Battleships: 1906 to the Present. London: Conway Maritime Press. pp. 28–49. ISBN 978-0-85177-448-0.
    • Gaack, Malte; Carr, Ward (2011). Schlachtschiff Bismarck—Das wahre Gesicht eines Schiffes—Teil 3 (ภาษาเยอรมัน). Norderstedt, Germany: BoD – Books on Demand GmbH. ISBN 978-3-8448-0179-8.
    • Gardiner, Robert; Chesneau, Roger, บ.ก. (1980). Conway's All the World's Fighting Ships, 1922–1946. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-913-9. OCLC 18121784.
    • Garzke, William H.; Dulin, Robert O. (1985). Battleships: Axis and Neutral Battleships in World War II. Annapolis, MD: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-101-0.
    • Gröner, Erich (1990). German Warships: 1815–1945. Annapolis, MD: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-790-6.
    • Grützner, Jens (2010). Kapitän zur See Ernst Lindemann: Der Bismarck-Kommandant – Eine Biographie (ภาษาเยอรมัน). Zweibrücken, DE: VDM Heinz Nickel. ISBN 978-3-86619-047-4.
    • Jackson, Robert (2002). The Bismarck. London: Weapons of War. ISBN 978-1-86227-173-9.
    • Kennedy, Ludovic (1991). Pursuit: The Sinking of the Bismarck. London: Fontana. ISBN 978-0-00-634014-0.
    • McGowen, Tom (1999). Sink the Bismarck: Germany's Super-Battleship of World War II. Brookfield, CT: Twenty-First Century Books. ISBN 0761315101.
    • Miller, Nathan (1997). War at Sea: A Naval History of World War II. New York, NY: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-511038-8.
    • Niemi, Robert (2006). History in the Media: Film and Television. Santa Barbara, CA: ABC-CLIO. ISBN 978-1-57607-952-2.
    • Polmar, Norman; Cavas, Christopher P. (2009). Navy's Most Wanted. Washington, DC: Potomac Books. ISBN 978-1-59797-226-0.
    • von Müllenheim-Rechberg, Burkhard (1980). Battleship Bismarck, A Survivor's Story. Annapolis, MD: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-096-9.
    • Williamson, Gordon (2003). German Battleships 1939–45. Oxford, England: Osprey Publishing. ISBN 978-1-84176-498-6.
    • Die Wehrmachtberichte 1939–1945 Band 1, 1. September 1939 bis 31. Dezember 1941 (ภาษาเยอรมัน). München: Deutscher Taschenbuch Verlag GmbH & Co. KG. 1985. ISBN 978-3-423-05944-2.
    • Zetterling, Niklas; Tamelander, Michael (2009). Bismarck: The Final Days of Germany's Greatest Battleship. Drexel Hill, PA: Casemate. ISBN 978-1-935149-04-0.

    แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]