เรือนาวี
เรือนาวี[หมายเหตุ 1] (อังกฤษ: naval ship หรือ naval vessel) คือเรือทหาร (military ship) ที่กองทัพเรือใช้ เรือนาวีแตกต่างจากเรือพลเรือนตามโครงสร้างและวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปแล้ว เรือนาวีจะทนทานต่อความเสียหายและมีการติดตั้งระบบอาวุธ แม้ว่าการติดอาวุธในเรือลำเลียงทหารจะเป็นอาวุธเบาหรือไม่มีเลยก็ตาม
เรือนาวีที่ออกแบบมาเพื่อการรบทางเรือโดยเฉพาะ เรียกว่าเรือรบ (warship) ตรงข้ามกับเรือช่วยรบ (auxiliary ships) หรือเรือที่กำลังต่อในอู่ต่อเรือ (shipyard operation)
การจำแนกประเภทเรือนาวี
[แก้]การจำแนกประเภทของเรือนาวี เป็นสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและไม่ได้เป็นสาขาที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ดังนั้นบทความนี้จึงใช้ระบบเดียวกับที่กองทัพเรือสหรัฐใช้ในปัจจุบัน
- เรือบรรทุกอากาศยาน – เรือที่ทำหน้าที่เป็นสนามบินเคลื่อนที่ทางทะเล ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์หลักในการดำเนินการรบโดยอากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งทำการโจมตีเป้าหมายทางอากาศ ทางผิวน้ำ ใต้ผิวน้ำ และบนชายฝั่ง
- เรือผิวน้ำ – เรือผิวน้ำขนาดใหญ่ติดอาวุธหนัก ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับกองกำลังศัตรูในทะเลหลวงโดยเฉพาะ โดยรวมถึงเรือหลายประเภท เช่น เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือคอร์เวต
- เรือดำน้ำ – ประเภทเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะใช้งานเป็นยานรบ ยานช่วยรบ หรือยานวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีศักยภาพในการรบเหลืออยู่บ้าง
- ภารกิจนอกชายฝั่ง[2] – เรือที่มีภารกิจที่อาจขยายออกไปนอกเหนือจากการป้องกันชายฝั่ง และมีลักษณะเด่นคือ มีความคงทนเพียงพอและสามารถรักษาการอยู่ในทะเลได้ โดยมีศักยภาพในการปฏิบัติการเกิน 48 ชั่วโมงในทะเลหลวงโดยไม่ต้องมีการสนับสนุน
- การสงครามสะเทินน้ำสะเทินบก – เรือที่มีความสามารถในการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกและมีคุณลักษณะที่ทำให้สามารถปฏิบัติการระยะยาวในทะเลหลวงได้
- การส่งกำลังบำรุงการรบ – เรือที่มีความสามารถในการส่งกำลังบำรุงให้หน่วยกองเรือระหว่างเดินทาง
- การสงครามทุ่นระเบิดใต้น้ำ – เรือที่ทำหน้าที่หลักในการสงครามทุ่นระเบิดในทะเลหลวง
- การรักษาฝั่ง – เรือที่มีหน้าที่หลักในการตรวจการณ์และสกัดกั้นใกล้ฝั่ง
- การลำเลียงทางทะเล – เรือที่มีความสามารถในการสนับสนุนวัสดุโดยตรงให้กับหน่วยอื่นที่ประจำการอยู่ที่ไกลจากฐานทัพหลัก
- เรือสนับสนุน เช่น เรือบรรทุกน้ำมันและเรือช่วยรบที่ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการในมหาสมุทรเปิดที่สามารถคงทนต่อระดับความแปรปรวนของทะเล เพื่อให้การสนับสนุนทั่วไปแก่กองกำลังรบหรือหน่วยงานบนฝั่ง (รวมถึงเรือช่วยรบขนาดเล็กซึ่งโดยปกติแล้วจะปฏิบัติการในน่านน้ำชายฝั่ง)
- ประเภทเรือบริการ – เรือที่ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ (รวมทั้งเรือที่ไม่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง) ออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุนทั่วไปแก่กองกำลังรบหรือหน่วยงานบนชายฝั่ง
ขนาด
[แก้]เรือนาวีผิวน้ำสมัยใหม่ จะแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ โดยเรียงตามลำดับขนาด (จากใหญ่ไปเล็ก) เรือขนาดใหญ่ในรายการสามารถจัดอยู่ในประเภทเรือรบหลัก[1] (capital ship) ได้เช่นกัน
- เรือบรรทุกอากาศยาน
- เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์
- เรือยกพลขึ้นบกจู่โจม
- เรือล่องหน
- เรือประจัญบาน
- เรือลาดตระเวนประจัญบาน
- เรือลาดตระเวนหนัก
- เรือลาดตระเวนเบา
- เรือพิฆาต
- เรือฟริเกต
- เรือคอร์เวต
- เรือตรวจการณ์
- เรือเร็วโจมตี
ปัจจุบันเรือบางชั้นข้างต้นอาจถือว่าล้าสมัยแล้ว เนื่องจากไม่มีเรือที่ตรงกับชั้นดังกล่าวประจำการในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนระหว่างชั้นเรือต่าง ๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ประวัติ และการตีความชั้นเรือโดยกองทัพเรือแต่ละแห่ง
เรือช่วยรบ
[แก้]กองทัพเรือยังใช้เรือช่วยรบเพื่อการขนส่งและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การรบ เรือช่วยรบแบ่งตามบทบาทหน้าที่ได้ดังนี้
- เรือบรรทุกเครื่องกระสุน – คือเรือที่ทำหน้าที่ขนส่งและเติมกระสุนให้กับเรือรบและเครื่องบินเรือ
- เรือค่ายทหาร – เรือหรือเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้สำหรับพักอาศัยชั่วคราวสำหรับลูกเรือ ทหาร และบุคลากรทางการทหารอื่น ๆ
- เรือบรรทุกถ่านหิน – เรือที่ใช้ขนส่งและเติมถ่านหินให้เรือรบในยุคไอน้ำ
- เรือบัญชาการ – คือเรือธงของผู้บัญชาการของกองเรือนาวี
- เรือบรรทุกเสบียงส่งกำลังบำรุง – เรือที่ทำหน้าที่ขนส่งเสบียงและเติมเสบียงให้กับเรือในทะเลหลวง
- เรือบรรทุกสัมภาระ – เรือที่ใช้เป็นฐานเคลื่อนที่หรือฐานคงที่สำหรับเรือพิฆาต เรือเร็วโจมตี เรือกวาดทุ่นระเบิด เรือดำน้ำ เรือตรวจการณ์ เรือยกพลขึ้นบก และเรือขนาดเล็กอื่น ๆ
- เรือสนับสนุนการรบความเร็วสูง – เรือช่วยรบประเภทหนึ่งที่ออกแบบให้มีความเร็วสูง เพื่อให้ทันกับกองรบบนหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน (CVBG) / กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี (CSG) ขณะเดียวกันสถานีเติมเสบียงอเนกประสงค์ก็สามารถจัดหาสิ่งของจำเป็นประเภทต่าง ๆ ให้กับกองเรือได้
- เรือพยาบาล – เรือที่ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลลอยน้ำและใช้ในการรักษาพยาบาลในทะเลหลวง อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 2 ห้ามการโจมตีทางทหารต่อเรือพยาบาลที่ตรงตามข้อกำหนดที่กำหนด แม้ว่ากองกำลังฝ่ายทำสงครามจะมีสิทธิตรวจสอบและจับผู้ป่วยเป็นเชลยศึกได้ แต่ไม่สามารถจับเจ้าหน้าที่ได้
- เรือซ่อมบำรุง – เรือที่ใช้สำหรับบำรุงรักษาและซ่อมแซมเรือรบ
- เรือซ่อมบำรุงอากาศยาน – เรือซ่อมแซมเรือเพื่อบำรุงรักษาและซ่อมแซมอากาศยานของกองทัพเรือ
- เรือกู้ภัยและเก็บกู้ – เรือที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเรือที่ประสบภัย
- เรือกู้ภัยเรือดำน้ำ – สำหรับกู้ภัยเรือดำน้ำและปฏิบัติการกู้ซากเรือใต้น้ำลึก
- เรือวิจัย – เรือที่ทำหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับกิจการทางทหาร เช่น โซนาร์ หรือร่องรอยอาวุธ
- เรือบรรทุกน้ำมัน สามารถจ่ายน้ำมันเพื่อเติมได้ – เรือที่ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันและเรือเติมน้ำมันในทะเลหลวง
- เรือสอดแนม – เรือที่ออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวกรองโดยเฉพาะ
- เรือสำรวจ – เรือทุกชนิดที่ใช้ในการสำรวจใต้น้ำ
- เรือพี่เลี้ยง – เรือประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับให้บริการเรือลำอื่น เรือดำน้ำ เรือเล็ก หรือเครื่องบินทะเล
- เรือลำเลียงพล – โดยทั่วไปแล้วเป็นเรือโดยสารที่ดัดแปลงมาใช้ขนส่งนาวิกโยธินและทหาร
- เรือฝึก – เรือที่ใช้ฝึกนักเรียนให้กลายเป็นนักเดินเรือ เรือใบฝึกถูกนำมาใช้เพื่อสร้างทักษะที่มีประโยชน์มากทั้งในทะเลและนอกทะเล
- เรือทดสอบตอร์ปิโด – เรือที่กองทัพเรือใช้ในการพัฒนาตอร์ปิโดของกองทัพเรือรุ่นใหม่และใช้ในการฝึกซ้อมยิง เรือเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อติดตามและตรวจสอบ ค้นหา และนำตอร์ปิโดที่หมดอายุไปวิเคราะห์และปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
- เรือติดตาม – เรือประเภทหนึ่งที่ติดตั้งสายอากาศและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการยิงและติดตามจรวดและขีปนาวุธ
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 พันธเศรษฐ, สุรศักดิ์; พันธเศรษฐ, นันทนา (2540). คู่มือศัพท์ และ คำย่อทางทหาร (PDF). ISBN 9747517701.
- ↑ "พจนานุกรม ศัพท์ชาวเรือ - ดาวน์โหลดหนังสือ | 151-200 หน้า | AnyFlip". anyflip.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "US Navy Ships". Official Website of the United States Navy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2008. สืบค้นเมื่อ 26 March 2017.
- Jordan, Valinsky (30 April 2015). "Here's the Entire U.S. Navy Fleet in One Chart". Official Website of the United States Navy. สืบค้นเมื่อ 26 March 2017.*"United States Naval Recognition Training Slides-Grand Valley State University Archives and Special Collections". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-18. สืบค้นเมื่อ 2019-01-01.