เราะมะฎอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิทินฮิจเราะห์

  1. มุฮัรร็อม
  2. เศาะฟัร
  3. เราะบีอุลเอาวัล
  4. เราะบีอุษษานี
  5. ญุมาดัลอูลา
  6. ญุมาดัษษานี
  7. เราะญับ
  8. ชะอ์บาน
  9. เราะมะฎอน
  10. เชาวาล
  11. ษุลเกาะอ์ดะฮ์
  12. ษุลฮิจญ์ญะฮ์
เสี้ยวของรอมฎอน

เราะมะฎอน (อาหรับ: رمضان; อังกฤษ: Ramadan) หรือสะกด "รอมะฎอน" หรือ "รอมฎอน" คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ในศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "เดือนบวช" และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้เข้าถึงอัลลอฮ์ และเพื่อให้มีความอดทน (ตบะ), การอุทิศส่วนกุศล ระลึกถึงภาวะขาดแคลนอาหาร และผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น

เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้ และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร จะต้องปฏิบัติธรรมะเพื่อตนเองอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนี คือการละหมาดตะรอเวียะฮ์ในยามค่ำของเดือนนี้

เมื่อสิ้นเดือนเราะมะฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า อีดุลฟิฏริ หรือ วันอีดเล็ก

ในปี พ.ศ. 2549 เดือนเราะมะฎอน (ฮ.ศ. 1426) เริ่มเมื่อวันที่ 21 กันยายน (ซาอุดีอาระเบีย อ่าวเปอร์เซีย และบางส่วนของในตะวันออกกลาง) และวันที่ 24 กันยายน ในที่อื่น ๆ (รวมทั้งส่วนอื่น ๆ ของตะวันออกกลาง) โดยมีกำหนดถึงวันที่ 21 ตุลาคม

การกำหนดวันที่ 1 ของเดือน

การเริ่มต้นวันตามศาสนาอิสลามเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และการกำหนดเดือนเป็นระบบจันทรคติ ซึ่ง 1 เดือนจะมี 29 หรือ 30 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเวลาที่ดวงจันทร์ใช้ในการหมุนรอบโลกครบ 1 รอบในเดือนนั้น ๆ

ความจริงแล้วการกำหนดวันที่ 1 ของแต่ละเดือนนั้น ประเทศที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่หรือประเทศมุสลิมจะมีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีนักวิชาการหลากหลายครบทุกแขนง ซึ่งแน่นอนว่ารวมทั้งด้านดาราศาสตร์ด้วย ดังนั้นการกำหนดวันที่ 1 ของเดือนต่างๆ ด้วยการดูจันทร์เสี้ยว เมื่อผ่านพ้นวันที่ 29 ของแต่ละเดือนขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มตกลับขอบฟ้า ถ้าเห็นจันทร์เสี้ยวให้เริ่มนับจากคืนนั้นว่าเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ แต่ถ้าไม่ปรากฏว่ามีจันทร์เสี้ยว แสดงว่าดวงจันทร์ยังโคจรไม่ครบรอบ ให้นับเดือนนั้นว่า มี 30 วัน จึงเป็นไปตามหลักศาสนาและตรงตามสภาพความจริงบนฟ้าตามที่อัลลอฮ์(ซบ.)ได้ทรงกำหนดไว้

อาจเป็นเพราะการเข้าใจเป้าหมายของการดูเดือนไม่ถูกต้อง การหยิบยกเฉพาะหลักฐานหนึ่งหลักฐานใด การตีความตามตัวอักษร หรือบางเหตุการณ์ในมุมมองแคบๆ ขาดการมองในองค์รวม หรือจุดประสงค์ของการกำหนดให้ดูเดือน และมักมองว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านอื่นมาประกอบ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งมานานแล้ว จึงทำให้ความขัดแย้งนี้ยังคงอยู่ ซึ่ง ณ ที่นี้เชื่อว่าหลายคนยอบรับว่าความขัดแย้งที่มีอยู่ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติแตกต่างกันนั้น มีหลักฐานรองรับด้วยกันทั้งนั้น จึงจะไม่ขอนำหลักฐานเหล่านั้นมาอ้างอิงเพื่อหักล้างกันไปหักล้างกันมาอีก

เรามักเข้าใจผิด ถึงคำว่า ตรงกัน ว่าจะต้องเป็นวันเดียวกัน (การเริ่มต้นวันของอิสลามนั้นเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าประกอบกับการนับเดือนและเริ่มวันที่ 1 ของแต่ละเดือนใช้ระบบจันทรคติ จึงไม่ยึดติดกับเส้นแบ่งวันที่ถูกกำหนดขึ้นมาในยุคหลัง) ความจริงมีอยู่ว่า การเริ่มเดือนใหม่ของแต่ละเดือนนั้นมีจุดเริ่มต้นของเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน เป็นความเป็นธรรมอย่างยิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ให้การเริ่มวันที่ 1 ของแต่ละเดือนได้หมุนผลัดเปลี่ยนเวียนไปตามพื้นที่หรือประเทศต่างๆ โดยไม่ยึดติดกับที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ (เรื่องนี้มีรายละเอียดมากที่สามารถอธิบายได้สำหรับผู้ที่สนใจ) ดังนั้นถ้าเราได้ให้ความสำคัญกับการดูเดือนจริงๆ และรู้เป้าหมายที่แท้จริงแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะเกิดความคลาดเคลื่อน หรือไม่ตรงตามสภาพความจริงบนท้องฟ้า (ดวงจันทร์หมุนรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 1 เดือนตามจันทรคติ)และ คำว่า ตามกัน ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นวันเดียวกัน หรือรอว่ามีที่ไหนเห็นเดือนโดยไม่คำนึงว่าเวลาเริ่มดูเดือน(เวลาเข้ามักริบ) จะมาที่หลังก็ตาม กลายเป็นยึดเส้นแบ่งวันไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเส้นแบ่งวันนั้นถูกกำหนดขึ้นมาในยุคหลัง ดังนั้นควรต้องตามความเป็นจริงที่เป็นไปแล้ว เช่นเมื่อรู้ว่ามีการเห็นเดือนแล้ว (ดวงจันทร์หมุนรอบโลกครบรอบแล้ว และกลับมาอยู่เหนือแนวระนาบอีกครั้ง) คือเริ่มเดือนใหม่แล้ว หรือ วันที่ 1 ของเดือนใหม่เริ่มมาแล้ว จะเป็นที่ใดก็ตาม ก่อนจะถึงเวลาหรือขณะที่เราเริ่มดูเดือน (เวลาเข้ามัฆริบ) ก็ต้องถือว่าเดือนใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว (ไม่มีใครจะย้อนวันเวลาได้) สามารถจะตามการเห็นเดือนของประเทศที่เห็นมาก่อนหน้านี้ได้ แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นวันที่ผ่านมาก็ตาม ดังนั้นบางครั้งการออกบวชของแต่ละประเทศจะเป็นคนละวันกันจึงไม่ได้หมายความว่าออกบวชไม่ตรงกัน เพราะจะเริ่มมาจากประเทศแรกที่เห็นเดือนในเดือนนั้นๆก่อน แล้วเป็นประเทศต่อไปเรื่อยๆ วนไปตามเวลามักริบของแต่ละประเทศที่ย่างเข้ามา

จะสังเกตได้ว่าประเทศมุสลิมส่วนใหญ่นั้น จะประกาศผลการดูเดือน (ดวงจันทร์) ได้ทันทีเมื่อพ้นมักริบเพียงเล็กน้อยหรือสอบสวนแน่ใจว่ามีการเห็นเดือนจริงหรือไม่แล้ว โดยอาศัยข้อเท็จจริงบนท้องฟ้ามาเป็นข้อมูลประกอบ หรือจะตามประเทศที่ดูและเห็นเดือนมาก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่เห็นหรือไม่มีที่ใดเห็นมาก่อนก็รอประเทศที่ดูเดือนที่หลัง ในเมื่อเวลามัฆริบของวันนั้นหรือการเริ่มต้นของวันที่ดูดวงจันทร์นั้นเกิดก่อนเวลาเริ่มเกิดเดือนใหม่(ไม่มีใครจะย้อนวันเวลาได้)กรณีเช่นนี้ต้องนับว่าเป็นวันของเดือนเก่า

ก็น่าสงสัยอีกว่าเมื่อไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในกลุ่มประเทศอาหรับคนไทยส่วนหนึ่งที่อ้างว่าตามการเห็นเดือนทั่วโลกก็จะชิงประกาศตาม ซึ่งตามความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไปอีกการเกิดเดือนใหม่หรือจันทร์เสี้ยวก็จะต้องมีประเทศหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเดือนใหม่ (เห็นจันทร์เสี้ยว)อยู่ดี เลยไม่รู้ว่าอะไรคือจุดยืนที่แท้จริง

ดังนั้น ความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มแบ่งคณะ และการตามแบบไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงใด ๆ อ้างว่าท่านร่อซูลทำแค่นี้ ไม่เคยถามว่าเดือนคว่ำหรือหงาย เห็นที่ไหน และอ้างว่าเป็นความเห็นของนักวิชาการส่วนมาก ซึ่งจริงแล้วประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้หลักการตามโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย(ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) หรือบางครั้งเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ใช้หลักการตามหรือปฏิบัติอย่างไร ก็จะอ้างว่าศาสนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของคนส่วนมาก แล้วอะไรคือจุดยืนที่แน่นอน … ถึงตอนนี้น่าจะยอมรับความจริง หันหน้ามาพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องนี้กัน เพื่อสังคมจะได้ไม่แตกแยก ร่วมกันทำงานเพื่ออิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ ความไม่ตรงกันที่มีอยู่ในประเทศไทยต่างหาก ที่ทำให้เราเข้าใจไปว่า ที่ไหน ๆ ก็ไม่ตรงกัน[1]

อ้างอิง

  1. หนังสือการกำหนดเดือนในอิสลาม ของ วิทยา เลาะวิถี หน้า 7