ข้ามไปเนื้อหา

เรซิเดนต์อีวิล (วิดีโอเกม พ.ศ. 2539)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรซิเดนต์อีวิล
ปกเกมภาษาอังกฤษ
ผู้พัฒนา
ผู้จัดจำหน่าย
แคปคอม
  • เพลย์สเตชัน
    • JP/NA: แคปคอม
    วินโดวส์
    • JP: Capcom
    • NA/PAL: Virgin Interactive
    เซก้า แซทเทิร์น
    แคปคอม
    นินเทนโด ดีเอส
กำกับชินจิ มิคะมิ
อำนวยการผลิตโทะกุโระ ฟุจิวะระ
มะซะยุกิ อะกะโฮะริ
ออกแบบทะกะฮิโระ อะริมิสึ
อิซะโอะ โออิชิ
โปรแกรมเมอร์ยะสุฮิโระ อัมโพะ
เขียนบทเคะนิชิ อิวะโอะ
ยะสุยุกิ ซะกะ
แต่งเพลงมะโกะโตะ โทะโมะซะวะ
โคะอิชิ ฮิโระกิ[2][3]
มะซะมิ อุเอะดะ
ชุดเรซิเดนต์อีวิล
เครื่องเล่นเพลย์สเตชัน, ไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เซก้า แซทเทิร์น, นินเทนโด ดีเอส
วางจำหน่าย
22 มีนาคม 1996
  • เพลย์สเตชัน
    • JP: March 22, 1996
    • NA: March 30, 1996
    • PAL: August 1, 1996
    Director's Cut
    • JP: September 25, 1997
    • NA: September 30, 1997
    • PAL: December 10, 1997
    Director's Cut Dual Shock Ver.
    • JP: August 6, 1998
    • NA: September 14, 1998
    ไมโครซอฟท์ วินโดวส์
    • JP: December 6, 1996
    • PAL: September 17, 1997
    • NA: September 30, 1997
    เซก้า แซทเทิร์น
    • JP: July 25, 1997
    • NA: August 31, 1997
    • PAL: October 1, 1997
    นินเทนโด ดีเอส
    • JP: January 19, 2006
    • NA: February 7, 2006
    • PAL: March 30, 2006
แนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด
รูปแบบผู้เล่นคนเดียว

เรสซิเดนต์อีวิล (อังกฤษ: Resident Evil) หรือในญี่ปุ่นชื่อ ไบโอ ฮาซาร์ด (ญี่ปุ่น: バイオハザードโรมาจิBaiohazādo)[a] เป็นวิดีโอเกมแนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด พัฒนาและจำหน่ายโดยแคปคอมสำหรับเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน ในปี ค.ศ. 1996 และเป็นเกมแรกในเกมชุดเรซิเดนต์อีวิล เนื้อเรื่องของเกมเล่าถึงคริส เรดฟิลด์ และจิล วาเลนไทน์ สมาชิกหน่วย S.T.A.R.S. ขณะพวกเขากำลังสอบสวนชานเมืองแร็กคูนซิตี หลังสมาชิกในทีมหลายคนหายตัวไป พวกเขาติดอยู่ในคฤหาสน์แห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยซอมบีและสัตว์ประหลาดตัวอื่น ๆ ตอนเริ่มเกม ผู้เล่นเลือกได้ว่าจะเล่นเป็นคริสหรือจิล และต้องสำรวจคฤหาสน์เพื่อไขความลับต่าง ๆ

โทะกุโระ ฟุจิวะระ ตั้งใจทำเป็นเกมรีเมกของเกมสวีตโฮม (1989) ต่อมาทีมพัฒนาเกมเรซิเดนต์อีวิลนำโดยชินจิ มิคะมิ ระบบเกมเป็นเกมแอ็กชันมุมมองบุคคลที่สาม เสริมด้วยการจัดการสิ่งของ การสำรวจ และการแก้ปริศนา เรสซิเดนต์อีวิลสร้างข้อตกลงซึ่งต่อมาพบได้ในเกมหลัง ๆ เช่น การควบคุม ระบบคลังสิ่งของ ระบบบันทึกเกม และการใช้โมเดลสามมิติซ้อนในฉากหลังแบบพรีเรนเดอร์

เรสซิเดนต์อีวิล ได้รับการตอบรับที่ดีมากทั้งคำวิจารณ์และยอดขาย และเป็นเกมที่กำหนดแนวเกมสยองขวัญเอาชีวิตรอด ความสำเร็จนำไปสู่แฟรนไชส์สื่อ ประกอบด้วยวิดีโอเกม ภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน นวนิยาย และสินค้าอื่น ๆ เกมถูกทำลงเครื่องเซก้า แซทเทิร์น ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และนินเทนโด ดีเอส ในปี ค.ศ. 2002 เกมรีเมกในชื่อเดียวกันออกจำหน่ายบนเครื่องเกมคิวบ์ แสดงให้เห็นกราฟิก เสียง ระบบเกมและเนื้อเรื่องที่ปรับปรุงใหม่ ต่อมาเกมเวอร์ชันเกมคิวบ์ถูกมาสเตอร์ระดับคุณภาพสูงอีกครั้ง ออกจำหน่ายในปี ค.ศ. 2015 ในเครื่องเล่นใหม่ ภาคต่อโดยตรงของเกมในชื่อ เรซิเดนต์อีวิล 2 จำหน่ายในปี ค.ศ. 1998 และภาคเล่าย้อนในชื่อ เรซิเดนต์อีวิล ซีโร่ จำหน่ายในปี ค.ศ. 2002

ระบบเกม

[แก้]

ตัวละครของผู้เล่นเป็นสมาชิกหน่วยพิเศษคนหนึ่งที่ติดอยู่ในคฤหาสน์ที่มีสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์อาศัยอยู่ จุดประสงค์ของเกมคือเปิดโปงปริศนาของคฤหาสน์และหนีรอดให้ได้ กราฟิกในเกมประกอบด้วยตัวละครและวัตถุหลายเหลี่ยมสามมิติเรียลไทม์ ซ้อนอยู่บนฉากหลังแบบพรีเรนเดอร์ และมุมกล้องตั้งนิ่ง ผู้เล่นควบคุมตัวละครโดยกดปุ่มที่แผงดีแพด หรือก้านอะนาล็อกไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อหมุนตัวละคร และเคลื่อนไหวตัวละครไปข้างหน้าหรือข้างหลังโดยกดปุ่มขึ้นลงที่แผงดีแพด

ในการบรรลุเป้าหมาย ตัวละครต้องหาเอกสารหลายฉบับที่ชี้แจงรายละเอียดในเกม รวมถึงเบาะแสที่ช่วยแก้ปริศนาต่าง ๆ ในคฤหาสน์ สิ่งของสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้เล่นเข้าห้องใหม่หรือสิ่งของใหม่ ๆ ได้ ผู้เล่นมีอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองจากศัตรู แต่กระสุนปืนมีจำกัด และผู้เล่นต้องเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ในการเติมพลังตัวละคร ผู้เล่นต้องใช้สเปรย์ปฐมพยาบาล หรือสมุนไพรสามชนิดที่สามารถผสมกันจนได้ผลการรักษาที่ต่างกัน ช่องเก็บสิ่งของของผู้เล่นมีจำกัดขึ้นกับตัวละครที่ผู้เล่นเลือกเล่น และสิ่งของที่ผู้เล่นไม่ต้องการถือไว้สามารถเก็บไว้ในกล่องเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในภายหลังได้ ในการบันทึกเกม ผู้เล่นต้องเก็บแถบผ้าหมึก และใช้กับเครื่องพิมพ์ดีดที่มีกระจายทั่วตำแหน่งในเกม อย่างไรก็ตาม แถบผ้าหมึกที่ผู้เล่นเก็บได้ก็มีจำกัด เช่นเดียวกับกระสุนปืนและยา ผู้เล่นจะได้เผชิญหน้าและต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตที่ติดเชื้อ เช่น ซอมบีกินเนื้อ สุนัขที่ตายแล้วฟื้น แมงมุมยักษ์ และสัตว์ประหลาดชนิดอื่น ๆ

โครงเรื่อง

[แก้]

ฉากท้องเรื่อง

[แก้]

เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องในชานเมืองแร็กคูนซิตี โดยมีร่องรอยของมนุษย์กินคนบนซากศพเหยื่อ หน่วยช่วยชีวิตและยุทธวิธีพิเศษ (S.T.A.R.S.) ของสถานีตำรวจแร็กคูนซิตีได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคดีฆาตกรรม หน่วย S.T.A.R.S. แบ่งออกเป็นสองหน่วยย่อยคือ อัลฟา และบราโว หน่วยบราโวถูกส่งออกไปก่อน แต่การติดต่อขาดหายไป หน่วยอัลฟาจึงถูกส่งไปตามหาหน่วยบราโว

ตัวละคร

[แก้]

ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นเป็นคริส เรดฟิลด์ และจิล วาเลนไทน์ สมาชิกหน่วยอัลฟา แต่ละคนมีความสามารถเอกลักษณ์แตกต่างกัน จิลมีอาวุธปืนมากกว่า และมีกุญแจผีที่ทำให้เข้าถึงห้องและเก็บสิ่งของได้ง่าย และช่องเก็บสิ่งของได้ถึงแปดอย่าง ขณะที่คริสมีอาวุธปืนจำกัด แต่แข็งแกร่งกว่า และมีช่องเก็บของเล็กกว่า เก็บของได้หกอย่าง

ตัวละครสนับสนุนในเกมได้แก่ แบร์รี เบอร์ตัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธของหน่วยอัลฟาที่คอยหาอาวุธปืนและกระสุนให้จิล รวมไปถึงการช่วยปราบศัตรูบางชนิดที่ตัวละครหลักไม่สามารถกำจัดได้ด้วยตัวเองอีกด้วย รีเบ็กกา แชมเบอส์ สมาชิกหน่วยบราโวที่รอดชีวิต คอยช่วยเหลือคริสเรื่องยา อัลเบิร์ต เวสเกอร์ กัปตันของหน่วย S.T.A.R.S. และหัวหน้าหน่วยอัลฟา และแบรด วิกเกอส์ กัปตันเฮลิคอปเตอร์ที่ส่งสัญญาณช่วยเหลือ

สมาชิกหน่วย S.T.A.R.S. คนอื่น ๆ ได้แก่ โจเซฟ ฟรอสต์ สมาชิกคนที่หกของหน่วยอัลฟาที่ตายกะทันหัน เอ็นริโก มารินี หัวหน้าหน่วยบราโวที่ทำให้ผู้เล่นพบจุดหักมุมมากที่สุด ริชาร์ด ไอเคน ผู้มอบวิทยุสื่อสารให้ผู้เล่น เคนเนท เจ. ซัลลิแวน สมาชิกหน่วยบราโวถูกฆ่าหลังหน่วยอัลฟามาถึง และฟอเรสต์ สเปเยอร์ ศพถูกพบที่ระเบียง

เนื้อเรื่อง

[แก้]

เหตุการณ์ในเกมเริ่มต้นในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 หน่วยอัลฟาพบพิกัดของเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยบราโว แต่ไม่พบผู้รอดชีวิต พบเพียงมือข้างหนึ่งที่เสียหาย ขณะตรวจบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อหาเบาะแส หน่วยอัลฟาถูกฝูงสุนัขปีศาจจู่โจม มีสุนัขตัวหนึ่งฆ่าโจเซฟ ฟรอสต์ หนึ่งในหน่วยอัลฟาจนเสียชีวิต กัปตันเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยอัลฟาชื่อ แบรด ตื่นตระหนกและบินหนีไปคนเดียว หน่วยอัลฟาที่เหลือถูกสุนัขปีศาจตามล่า และจำเป็นต้องหาที่หลบภัยในคฤหาสน์หลังหนึ่ง เชื่อกันว่าถูกทิ้งร้างไว้

เนื่องจากยังมีสุนัขวนเวียนอยู่ข้างนอก หน่วยอัลฟาที่เหลือสี่คน (เวสเกอร์ คริส จิล และแบร์รี่) ติดอยู่ในคฤหาสน์ ตัวละครที่ผู้เล่นเลือกจะะส่งผลให้ตัวละครคนหนึ่งไม่ได้เข้ามาอยู่ในคฤหาสน์ (แบร์รี่ไม่ได้เข้ามาถ้าเลือกเล่นคริส คริสไม่ได้เข้ามาถ้าเลือกเล่นจิล) มีเสียงยิงปืนดังขึ้น ผู้เล่นแยกย้ายไปตรวจสอบ ณ จุดนี้ ผู้เล่นจะได้ควบคุมตัวละครและเริ่มสำรวจคฤหาสน์ สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือศพสมาชิกหน่วยบราโวชื่อ เคนเนท เจ. ซัลลิแวน ถูกซอมบี้กินจนตาย ขณะกำลังค้นหาในคฤหาสน์ ตัวละครพบหน่วยบราโวอีกหลายคน เช่น ริชาร์ด ไอเคน ถูกงูพิษกัดปางตายและเสียชีวิตในที่สุด และมอบวิทยุให้ผู้เล่นก่อนเขาสิ้นลม ฟอเรสต์ สเปเยอร์ พบเป็นศพที่ระเบียง (ในเกมเวอร์ชันหลัง ศพนี้ฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ด้วย) และเอ็นริโก มารินี กัปตันหน่วยบราโว ผู้เปิดเผยว่าหนึ่งในหน่วยอัลฟาเป็นผู้ทรยศก่อนถูกมือสังหารปริศนายิงจนตาย

ในที่สุดตัวละครพบว่าคฤหาสน์มีปริศนา กับดัก และเรื่องสยองขวัญมากมาย เอกสารที่กระจายทั่วไปแนะว่ามีการทดลองที่ผิดกฎหมายกระทำโดยทีมวิจัยลับ ภายใต้อำนาจและการดูแลของบริษัทชีวการแพทย์ อัมเบรลลาคอร์เปอเรชัน สิ่งมีชีวิตที่วนเวียนอยู่ในคฤหาสน์และรอบ ๆ คือผลจากการทดลองนี้ ซึ่งทำให้บุคลากรในคฤหาสน์ สัตว์และแมลงต่าง ๆ โดนสารกลายพันธุ์ที่เรียกว่า ที-ไวรัส

หลังจากตรวจตราในอาคารหลาย ๆ หลัง ทางเดินต่าง ๆ และอุโมงค์ใต้ดิน ผู้เล่นพบห้องปฏิบัติการลับใต้ดินที่มีการทดลองของอัมเบรลลาคอร์เปอเรชัน ในห้องทดลอง ผู้เล่นเรียนรู้ว่าเวสเกอร์คือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้อัมเบรลลา เวสเกอร์ถูกสิ่งมีชีวิตในห้องทดลองฆ่าจนดูเหมือนตาย ผู้เล่นพบตัวละครอีกตัวที่ผู้เล่นเล่นได้ถูกเวสเกอร์ขังอยู่ในห้องขัง และช่วยพาเขาออกโดยเปิดระบบระเบิดตัวเอง ผู้เล่น (และตัวละครหน่วย S.T.A.R.S. ที่รอดชีวิตอีกสองคน ถ้าผู้เล่นช่วยชีวิตไว้ได้ทัน) มุ่งหน้าไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ผู้เล่นมาถึงลานจอดและสามารถติดต่อแบรดได้ และพบกับผู้รอดชีวิตอีกสองคน แต่ถูกไทแรนต์ สัตว์ประหลาดเหมือนคนที่เกิดหลังโดนสารทีไวรัสนานเกินไป เข้าจู่โจม หลังจากต่อสู้ไทแรนต์จนชนะ หน่วย S.T.A.R.S. ที่รอดชีวิตขึ้นเฮลิคอปเตอร์และหนีไปได้

ฉากจบ

[แก้]

ตัวละครแต่ละตัวมีฉากจบสี่แบบ ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นช่วยชีวิตหน่วย S.T.A.R.S. อีกสองคนได้หรือไม่ ตัวละครที่ไม่ถูกเลือกจะถูกขังเดี่ยวในห้องปฏิบัติการลับใต้ดิน ในการเข้าถึงห้องขัง ผู้เล่นต้องเก็บแผ่นดิสก์ MO ที่อยู่ในคฤหาสน์ และใช้ถอดรหัสเพื่อปลดล็อกประตู ฉากจบที่ดีที่สุด ผู้เล่นจะต้องช่วยตัวเอกอีกคนหนึ่งนอกจากคู่หูด้วย

  • ฉากจบที่ดีที่สุด คริสและจิลหนีออกจากคฤหาสน์ร่วมกับสมาชิก S.T.A.R.S. คนที่สาม (รีเบ็กกาหรือแบร์รี ขึ้นกับตัวละครที่ผู้เล่นเลือก) หลังจากชนะไทแรนต์และทำลายคฤหาสน์แล้ว
  • ฉากจบที่ดีที่สุดอันดับที่สอง ตัวละครผู้เล่น (คริสหรือจิล) หนีออกจากคฤหาสน์กับคู่หูของตน (รีเบ็กกาหรือแบร์รี) หลังจากชนะไทแรนต์และทำลายคฤหาสน์แล้ว
  • ฉากจบที่แย่ที่สุดอันดับที่สอง คริสและจิลหนีออกจากคฤหาสน์ได้เพียงสองคน คฤหาสน์ไม่ถูกทำลาย และไทแรนต์ถูกปล่อยไปในป่า
  • ฉากจบที่แย่ที่สุด ตัวละครผู้เล่นรอดเพียงคนเดียว คฤหาสน์ไม่ถูกทำลาย และไทแรนต์ถูกปล่อยไปในป่า

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ญี่ปุ่น: バイオハザードโรมาจิBaio Hazādo; Bio Hazard เกมภาคแรกสะกดชื่อแยกเป็นสองคำว่า ไบโอ ฮาซาร์ด ไม่เหมือนกับภาคต่อที่สะกดติดกันเป็นคำเดียว

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Products". เนกซ์เอนเตอร์เทนเมนต์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-15. สืบค้นเมื่อ November 14, 2010.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  2. "VGMdb Forums - View Single Post - TYCY-5511: BIO HAZARD SOUND TRACK REMIX". Vgmdb.net. 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-11-14.
  3. "VGMdb Forums - View Single Post - TYCY-5511: BIO HAZARD SOUND TRACK REMIX". Vgmdb.net. 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2013-11-14.