เมืองฉอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เมืองจอด)
เมืองฉอด

ไม่ทราบ–พุทธศตวรรษที่ 18
สถานะนครรัฐ
เมืองหลวงเมืองฉอด
การปกครองราชาธิปไตย
กษัตริย์ (ขุน)[1] 
• ไม่ทราบปี – พ.ศ. 1800[2]
ขุนสามชน
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ไม่ทราบ
• ถูกผนวกเข้ากับสุโขทัย
พุทธศตวรรษที่ 18
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัย
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

เมืองฉอด หรือ รัฐฉอด[3] เป็นรัฐหรืออาจเป็นนครรัฐอิสระของชนชาติไทแห่งหนึ่ง[4] อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองฉอดมีกษัตริย์ปกครองตนเอง เรียกว่า "ขุน" ซึ่งคำไทยในยุคแรก หมายถึง กษัตริย์[1] อาจแปลว่า ผู้นำหรือเจ้าเมืองขนาดเล็ก[5] เมืองฉอดเป็นรัฐที่ได้รับศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรสุโขทัย[6] และจารึกวัดศรีชุมระบุว่าเมืองแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสุโขทัยมาก่อน[7] ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ระบุว่า เมืองฉอดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย[8] ทว่าในศิลาจารึกหลักเดียวกันนั้น ได้กล่าวถึงศึกยุทธหัตถีระหว่างขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด กับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชโอรสกษัตริย์สุโขทัย สุดท้ายขุนสามชนพ่ายแพ้ไป[9][10][11] ไม่ปรากฏเรื่องราวของขุนสามชนในหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดอีก และศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งถูกสร้างขึ้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ระบุว่าเมืองฉอดได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยไปแล้ว[6][9]

ปัจจุบันมีความพยายามของนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ในการตามหาที่ตั้งของเมืองฉอด[12] ส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงเมืองฉอดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยังไม่พบหลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองเมืองได้จนถึงบัดนี้[13]

ที่ตั้ง[แก้]

ที่ตั้งของเมืองฉอดยังเป็นปริศนา ในศิลาจากรึกหลักที่ 1 ระบุถึงที่ตั้งของเมืองฉอด ว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ความว่า "...เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด เมือง...น หงสาวดีสมุทรหาเป็นแดน..."[8] บางคนก็ว่าเมืองฉอด คือเทศบาลนครแม่สอด บ้างก็ว่าคือด่านแม่ละเมา บ้างก็ว่าโบราณสถานคอกช้างเผือกในตำบลท่าสายลวด[14][15] หรืออาจเป็นเมืองตากเก่าในอำเภอบ้านตาก[16] ซากเมืองโบราณในตำบลแม่ตื่นและตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด[13] และยังมีเมืองโบราณบ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง ที่เข้าเค้าว่าอาจเป็นเมืองฉอดอีกแห่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ในเขตจังหวัดตาก[12]

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เคยแสดงความเห็นว่าเมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำฉอด แต่ต่อมาท่านได้แก้ไขด้วยลายมือใน สารนิพนธ์ประเสริฐ ณ นคร ระบุว่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย และอธิบายต่อว่า เมืองนี้มีผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่มีขนาดเล็กเกินที่จะรวบรวมคนไปตีเมืองตากได้ ด้วยเหตุนี้ ประเสริฐจึงอ้างความเห็นของนักโบราณคดีว่าเมืองฉอดอาจตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมยในฝั่งประเทศพม่า[17] ในปาฐกถาเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยในจารึก ประเสริฐให้ข้อมูลอีกว่า "...เมืองฉอดนี้เชื่อกันว่าอยู่ในประเทศพม่า แต่ตอนนี้วางไว้ที่แม่สอดชั่วคราว เพราะคนภาคเหนือออกเสียง ฉ ไม่ได้ ต้องออกเสียงเป็น ส ไป ฉอดจึงกลายเป็นสอด..."[18] และรองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอว่า เมืองฉอดคือเมืองเมียวดี ปัจจุบันขึ้นอยู่กับประเทศพม่า ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ ร่องรอยคูน้ำคันดินและกำแพงเมืองรูปสี่เหลี่ยม อีกทั้งยังพบเศษเครื่องถ้วยยุคสุโขทัยด้วย[12]

ขณะที่จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ทัศนะว่า ที่ตั้งของเมืองฉอด อาจจะเป็นเมืองโบราณบ้านแม่ต้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเก่าห้วยลึก ที่จังหวัดตาก ความว่า "…รัฐฉอดหรือเมืองฮอดนั้นประมาณกันว่าอยู่ที่บริเวณอำเภอแม่สอด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองจังหวัดตากเดี๋ยวนี้; ที่ประมาณอย่างนั้นเพราะชื่อแม่สอดยังเป็นชื่อเดียวกับฉอดอยู่ (ภาษาไทยพายัพออกเสียง ฉ เป็น ส หมด). แต่มาในระยะราว พ.ศ. 2500 นี้ ได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่มากเมืองหนึ่งในป่าทึบริมแม่น้ำเมย ที่บ้านแม่ต้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองตาก มีทรากโบราณวัตถุและพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเป็นอันมากแสดงว่าเป็นเมืองใหญ่ในยุคสุโขทัย, จึงทำให้นักโบราณคดีตั้งข้อสงสัยว่าที่นั่นอาจจะเป็นเมืองฉอดของพ่อขุนสามชน…. อย่างไรก็ดี เมืองร้างที่พบใหม่ที่ตำบลแม่ต้านนั้นอาจจะเป็นเมืองอื่นที่มิใช่ฉอดก็ได้ เพราะยังมีเมืองในแถบนี้อีกหลายเมืองที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกสุโขทัย แต่เรายังค้นไม่พบว่าอยู่ที่ใดแน่…"[12]

แต่จากการพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดี พบว่า เมืองโบราณบ้านแม่ต้านเป็นเมืองในวัฒนธรรมล้านนา มิใช่สุโขทัย[12] และการสำรวจหลักฐานโบราณคดีเมืองโบราณหลายแห่งในเขตแอ่งแม่สอด ก็พบว่าทั้งหมดไม่ได้อยู่ร่วมสมัยอาณาจักรสุโขทัยเลย[13]

ประวัติ[แก้]

เมืองฉอดเป็นรัฐขนาดเล็กหรืออาจเป็นนครรัฐก่อร่างสร้างตัวราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 แรกเริ่มยังไม่ขึ้นกับเมืองสุโขทัย มีกษัตริย์ปกครองตนเอง เรียกว่า "ขุน" ซึ่งคำเรียกในยุคแรก หมายถึง กษัตริย์[1] อาจแปลว่า ผู้นำหรือเจ้าเมืองขนาดเล็ก[5] เมืองฉอดมีรูปแบบศิลปวัฒนธรรมแบบสุโขทัย อีกทั้งยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่เชื่อมไปยังเมืองมอญ[6] ออกทะเลที่อ่าวเมาะตะมะในมหาสมุทรอินเดีย[19] จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า เมืองฉอดเป็นรัฐของคนไทยอีกรัฐหนึ่งที่ได้ลุกฮือสลัดอำนาจของอาณาจักรขอมโบราณออกไป โดยเมืองฉอดมีสถานะเป็นรัฐอิสระดังเช่นรัฐสุโขทัยและล้านนา[3][20] ในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งถูกทำขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ระบุว่า เมืองฉอดเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยมาตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุม โดยมีเนื้อหาระบุไว้ดังนี้[7]

“...ในนครสุโขทัยนั้น พ่อขุนศรีนาวนำถุม...ศรีเสชนาไลดังอิงเป็นขุนยี่ขุนนางนักหนาแ...เป็นขุนในเมืองเชลียง...เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม...เบื้องตะวันออกเถิงเบื้องหัวนอน เถิงขุนลุนตาขุนดาขุนด่าน ๏ ...เบื้องในหรดีเถิงฉอด เวียงเหล็ก เบื้องตะวันตกเถิงละพูน...”

ภาพจำลองยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ซ้าย) กับขุนสามชน (ขวา) บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

เมืองฉอดปรากฏหลักฐานการดำรงอยู่ครั้งแรกในศิลาจารึกหลักที่ 1 ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1826[21] ซึ่งเนื้อหาบางส่วนเป็นการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนการสร้างศิลาจารึก อย่างการกระทำยุทธหัตถีของขุนสามชน เจ้าผู้ครองเมืองฉอด ยกทัพไปตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1800[2] โดยมีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จออกมาป้องกันการโจมตี ดังปรากฏความในจารึกด้านที่หนึ่งว่า[9]

“...เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบ ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใส พ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่ง ช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งชนช้างขุนสามชน...”

ในการสู้รบดังกล่าว พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขณะนั้นมีพระชนมายุ 19 พรรษา พระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กษัตริย์สุโขทัย ได้รับชัยชนะจากการรบครั้งนี้[9][10][11] พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานพระนามาภิไธยว่า "พระรามคำแหง"[22] ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า "กูขับเข้าก่อนพ่อกู" ให้ความหมายว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยังไม่ทันได้เข้าไปชนช้างกับขุนสามชน แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชไสช้างไปสู้รับกับขุนสามชนเสียก่อน และได้ชัยชนะกลับมา[23] หลังจากนั้นก็ขยายอิทธิพลปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาอ่อนน้อมต่อสุโขทัยเป็นจำนวนมาก[2] โดยในจารึกหลักที่ 1 ให้ข้อมูลหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือใน พ.ศ. 1826 ระบุว่าเมืองฉอดได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของสุโขทัย[9]

เมืองฉอดปรากฏหลักฐานอีกครั้งในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลือไทย) จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ 1 ด้านที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 1904 ระบุเนื้อหาว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลือไทย) ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังกาทวีปให้มาจำพรรษาในกรุงสุโขทัย โดยพระสังฆราชได้เดินทางผ่านเมืองฉอดด้วย[24][25] และปรากฏอีกครั้งในจารึกวัดบูรพาราม ซึ่งบันทึกในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลือไทย) โดยกล่าวถึงเมืองฉอดว่าเป็นเมืองในการปกครองด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีเนื้อความว่า[26]

“...เข้าศักราชเจ็ดร้อยห้าสิบแปดกลาย ท่านได้ปราบต์ทั้งปกกาว ชาวด้านหนตีนเถิงฝั่งของ...ตะวันออกคุง...เบื้องตะวันตกเท้าเมืองฉอด รอดแดนพัล...”

หลังจากนั้นก็ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับเมืองฉอด และเอกสารหลักฐานของยุคอาณาจักรอยุธยา ก็มิได้กล่าวถึงหรือปรากฎชื่อเมืองฉอดอีกเลย[13]

การปกครอง[แก้]

เมืองฉอดมีกษัตริย์ปกครองตนเอง เรียกว่า "ขุน" ซึ่งคำเรียกในยุคแรก หมายถึง กษัตริย์[1] อาจแปลว่า ผู้นำหรือเจ้าเมืองขนาดเล็ก[5][27] เชื่อว่าประชากรคงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาไท[4] และรัฐนี้มีอิสระเป็นของตัวเองมาก่อน[20] ในจารึกวัดศรีชุม ให้ข้อมูลว่าเมืองฉอดเคยตกเป็นส่วนหนึ่งของสุโขทัยเมื่อรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุม[7] หลังการเสวยราชสมบัติของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมืองฉอดคงจะกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นตรงต่อสุโขทัย พระนามของกษัตริย์เมืองฉอดเท่าที่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงคนเดียว คือขุนสามชน ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า ขุนสามชนเป็นคนไทย เพราะในชื่อมีคำว่า "สาม" ซึ่งเป็นคำบอกลำดับลูกประกอบตามธรรมเนียมภาษาไทยแท้ปรากฏอยู่ด้วย[20] แต่ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวว่าชื่อช้างของขุนสามชน คือ "มาสเมือง" ไม่ใช่ชื่อตามธรรมเนียมไทย เพราะ "มาส" เป็นคำเขมร[28] ภายหลังขุนสามชนได้พ่ายแพ้ในสงครามตีเมืองตากเมื่อ พ.ศ. 1800 และหลังจากนั้นหลักฐานศิลาจารึกของสุโขทัยในยุคหลังต่างระบุว่าเมืองฉอดได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมา[9][26]

ทั้งนี้การที่หัวเมืองต่าง ๆ ยอมเข้ามารวมกับอาณาจักรสุโขทัยแบบหลวม ๆ เพราะเกรงกลัวพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งกว่า แต่หากพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์ใดไร้พระบารมีและความเข้มแข็ง หัวเมืองเหล่านี้จะแยกตัวออกเป็นอิสระทันที[29]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2531). ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ 4 เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 7.
  2. 2.0 2.1 2.2 ประวัติศาสตร์ไทย (PDF). p. 41–42.
  3. 3.0 3.1 จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 115
  4. 4.0 4.1 จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 235
  5. 5.0 5.1 5.2 กนกวรรณ โสภณวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 64
  6. 6.0 6.1 6.2 กนกวรรณ โสภณวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 72
  7. 7.0 7.1 7.2 "จารึกวัดศรีชุม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). 12 มกราคม 2567. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 34.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 25.
  10. 10.0 10.1 ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ. ดร. (26 เมษายน 2565). ""เมืองตาก" ของ "พระเจ้าตาก" ก่อนเป็นกษัตริย์กรุงธนบุรี คือที่ไหนกันแน่?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 "ประวัติเมืองสุโขทัย". อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ผศ. (7 มีนาคม 2562). "เมืองโบราณแม่ต้าน คือเมืองฉอดจริงหรือไม่ในทรรศนะของจิตร ภูมิศักดิ์". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 "ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอด" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  14. "นักประวัติศาสตร์ตั้งวงถกหาที่ตั้ง"เมืองฉอด"/นครเก่า 729 ปีก่อน-เชื่อคือแม่สอดวันนี้". ผู้จัดการออนไลน์. 5 กรกฎาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "ทีมนักประวัติศาสตร์ลุ้นหาที่ตั้ง "เมืองฉอด" ตามรอยศิลาจารึก 1-โยงสุโขทัย". ผู้จัดการออนไลน์. 28 กุมภาพันธ์ 2553. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. ผิน ทุ่งคา (11 มกราคม 2567). "เจดีย์ที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็น "เจดีย์ยุทธหัตถี" เพราะ "รีบสรุป" ก่อนศึกษา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. วุฒิชัย มูลศิลป์ (2562). "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย". วารสารประวัติศาสตร์, หน้า 10
  18. ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2531). ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ 4 เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 11.
  19. กนกวรรณ โสภณวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 95
  20. 20.0 20.1 20.2 อุเทน วงศ์สถิตย์ (มกราคม–มิถุนายน 2562). คำบอกลำดับลูกของไทย (PDF). ดำรงวิชาการ 18(1). p. 69-70.
  21. กนกวรรณ โสภณวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 159
  22. "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช". โครงการสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. วุฒิชัย มูลศิลป์ (2562). "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย". วารสารประวัติศาสตร์, หน้า 8
  24. "จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ 1". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). 15 ธันวาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "เมืองบางพาน". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. 26.0 26.1 "จารึกวัดบูรพาราม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 118
  28. ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 128.
  29. ประวัติศาสตร์ไทย (PDF). p. 44.