เมลก์เตร์ต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมลก์เตร์ต
เมลก์เตร์ตที่เพิ่งอบเสร็จ
ประเภททาร์ต
มื้อของหวาน
แหล่งกำเนิดอาณานิคมแหลมของเนเธอร์แลนด์ (ประเทศแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน)
ส่วนผสมหลักแป้งพาย นม แป้ง น้ำตาล และไข่

เมลก์เตร์ต หรือ ทาร์ตนม (อาฟรีกานส์: melktert) เป็นของหวานจากประเทศแอฟริกาใต้ที่มีต้นกำเนิดจากชาวดัตช์ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตอาณานิคมแหลม[1] ซี่งประกอบด้วยแป้งพายแบบร่วนกรอบเป็นขอบนอก และภายในเป็นไส้คัสตาร์ดที่ทำจากนม แป้ง น้ำตาล และไข่ อัตราส่วนของนมต่อไข่จะสูงกว่าในทาร์ตไข่โปรตุเกสหรือทาร์ตไข่แบบจีน จึงทำให้เมลก์เตร์ตมีเนื้อสัมผัสที่บางเบากว่าและมีรสชาตินมเข้มข้นกว่า[2]

ของหวานชนิดนี้มีที่มาจากชาวดัตช์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมแหลมของเนเธอร์แลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 17 และเชื่อว่าน่าจะดัดแปลงมาจาก มัตเตินตาร์ต (ดัตช์: mattentaart) ซึ่งเป็นของหวานของเนเธอร์แลนด์ที่มีลักษณะคล้ายกับชีสเค้ก[3] และปรากฏในตำราอาหารภาษาดัตช์ Een Notabel Boexcken Van Cokeryen ซึ่งจัดพิมพ์โดยโตมัส ฟัน เดอร์โนต (Thomas van der Noot) ราว ค.ศ. 1514[4] บางสูตรจะกำหนดให้อบคัสตาร์ดพร้อมกันกับแป้งพาย ในขณะที่บางสูตรจะให้เตรียมคัสตาร์ดไว้ก่อนแล้วค่อยเติมลงไปในขอบแป้งพายก่อนเสิร์ฟ[4] เมลก์เตร์ตมักจะโรยผงอบเชยลงไปด้วยขณะเสิร์ฟ และในบางครั้งนมที่นำมาใช้ทำเมลก์เตร์ตก็ผ่านการนำอบเชยไปแช่เพื่อให้กลิ่นและรสละลายออกมาเช่นกัน เมลก์เตร์ตนิยมเสิร์ฟในงานฉลองทางศาสนาที่โบสถ์และงานเลี้ยงตามบ้าน และสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เกตในประเทศแอฟริกาใต้[4] โดยทั่วไปนิยมเสิร์ฟแช่เย็น อุณหภูมิห้อง หรืออาจจะอุ่นเล็กน้อย[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. A short history of milk tart. Food24.com.
  2. "It's the simplicity of taste that makes milk tart great". Weekend Argus (Saturday Edition). สืบค้นเมื่อ 30 September 2019.
  3. Mungwani, Uwive (13 September 2018). "A HISTORY OF JOHANNESBURG IN 10 DISHES". Roads & Kingdoms. สืบค้นเมื่อ 30 September 2019.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Mosia, Lebohang (27 February 2019). "The sweet and short history of good ol' milk tart". IOL News. สืบค้นเมื่อ 30 September 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]