เฟินชายผ้าสีดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฟินชายผ้าสีดา
เฟินชายผ้าสีดาในสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Pteridophyta
ชั้น: Pteridopsida
อันดับ: Polypodiales
ไม่ได้จัดลำดับ: Eupolypods I
วงศ์: Polypodiaceae
สกุล: Platycerium
Desv.
Species

เฟิน[1] ชายผ้าสีดา (Platycerium) ภาคใต้เรียก "ชายผ้าสีดา" ภาคอีสาน เรียก "กระเช้าสีดา" หรือ"สไบสีดา" และภาคเหนือเรียก "ห่อข้าวสีดา" หรือ "ห่อข้าวย่าบา" ซึ่งเป็นพืชไร้ดอก[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เฟินชายผ้าสีดาเป็นเฟินอิงอาศัย (Epiphytes) มักเกาะอยู่ตามคาคบไม้ใหญ่ แต่ไม่จัดเป็นพืชจำพวกกาฝาก เพราะไม่ได้ดูดกินอาหารจากต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ส่วนมากมีแหล่งกำเนิดอยู่ในป่า แต่บางชนิดก็อาจพบได้ในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น P. veitchii บางต้นที่ขึ้นอยู่ตามหน้าผาหินร้อนระอุในเขตกึ่งทะเลทรายของทวีปออสเตรเลีย ซึ่งฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน เฟินชายผ้าสีดามีส่วนประกอบ ดังนี้

ตา (Bud)[แก้]

ปกคลุมด้วยขนหรือเกล็ด เป็นส่วนที่ทำให้พืชเจริญเติบโตหากตาถูกทำลายไม่ว่าโดยเชื้อโรค แมลงหรืออุบัติเหตุ เฟินชายผ้าสีดาต้นนั้นก็จะตายและอาจใช้เวลานานกว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นจะเหี่ยวแห้งไปหมด แต่หากเป็นชนิดที่แตกหน่อได้และมีหน่อใหม่แล้ว หน่ออื่น ๆ จะสามารถเจริญต่อไปได้

เหง้า (Rhizome)[แก้]

ตาที่เจริญขึ้นจะค่อย ๆ งอกยาวเป็นลำต้นหรือเหง้าที่ห่อหุ้มอยู่ภายในใบกาบ เหง้าของเฟินชายผ้าสีดาชนิดที่ไม่สามารถแตกหน่อใหม่ได้จะมีความสำคัญต่อพืชมาก ตัวอย่างเช่น P.ridleyi หรือเขากวางตั้งจากป่า เป็นเฟินที่เลี้ยงให้รอดยาก ทั้งนี้อาจเพราะเหง้าหักอยู่ในใบกาบระหว่างการเก็บหรือการขนย้าย ทำให้พืชค่อย ๆ ตายอย่างช้า ๆ

ใบกาบหรือใบโล่ (Shield Fronds, Base Fronds)[แก้]

เจริญจากตาแผ่หุ้มเหง้าและรากซึ่งยึดเกาะอยู่กับแหล่งอาศัย ใบกาบที่เกิดขึ้นใหม่จะซ้อนทับใบเก่าไปเรื่อย ๆ จนเป็นชั้นหนา ช่วยควบคุมความชุ่มชื้น ปกป้องเหง้าและรากไว้ภายใน ใบกาบของเฟินชายผ้าสีดาแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ กลุ่มที่ปลายใบห่อแนบหุ้มต้นจนมิด ได้แก่ P.alcicorne, P.ellisii, P.madagascariense และ P.ridleyi ใบกาบช่วยป้องกันไม่ให้พืชที่อยู่ในแหล่งกำเนิดที่มีฝนตกชุกได้รับน้ำมากเกินไป

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งปลายใบจะเผยอตั้งขึ้นเพื่อรองรับน้ำฝนและเศษซากใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาทับถมเป็นอาหาร ได้แก่ P.andinum, P.bifurcatum, P.coronarium, P.elephantotis, P.grande, P.holttumii, P.quadridichotomum, P.stemaria, P.suprebum, P.veitchii, P.wallichii, P.wandae และ P.willinckii

เฟินชายผ้าสีดาในธรรมชาติมักเริ่มผลิใบกาบใหม่ซ้อนทับใบกาบเดิมตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน บางชนิดเมื่อใบกาบเจริญเต็มที่จะหมดอายุกลายเป็นสีน้ำตาลแนบติดอยู่กับต้นไม่หลุดร่วงไป แต่สำหรับกลุ่มเฟินชายผ้าสีดาต้นเดี่ยว ส่วนมากใบกาบจะมีอายุนานเป็นสีเขียวอยู่จนกระทั่งผลิใบกาบใหม่ออกมาอีกครั้ง

ใบชายผ้า (Fertile Fronds, Foliage Fronds)[แก้]

เจริญจากตาในลักษณะตั้งขึ้นหรือห้อยย้อยลงมา ส่วนมากปลายใบชายผ้าจะหยักเว้าลักษณะต่าง ๆ กัน ยกเว้น P.elephantotis (หูช้างแอฟริกา) ที่ปลายใบแผ่กว้างโค้งมนจนเป็นที่มาของชื่อ ใบชายผ้าของต้นที่เจริญเต็มที่จะสร้างแถบอับสปอร์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ทั้งใบกาบและใบชายผ้าของเฟินชายผ้าสีดาปกคลุมด้วยขนรูปดาวสีขาว บางครั้งแซมสีน้ำตาล เห็นได้ชัดเจนเมื่อเป็นใบอ่อน บางชนิดเมื่อเจริญขึ้นขนจะบางลงจนดูผิวใบเรียบเป็นมัน บางชนิดก็มีขนหนาปกคลุมผิวใบตลอดช่วงอายุ

ราก (Roots)[แก้]

แตกแขนงออกจากเหง้า แทรกอยู่ในใบกาบที่ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ เฟินชายผ้าสีดาพันธุ์ต่างประเทศหลายชนิดสามารถแตกหน่อใหม่จากตาที่รากได้ คือ P.bifurcatum แต่มี 2 ชนิด คือ P.madagascariense และ P.ellisii ที่แตกรากน้อยและกระจุกอยู่บริเวณรอบ ๆ เหง้า ไม่แผ่คลุมสลับกับใบกาบจนเป็นชั้นหนาเหมือนฟองน้ำ เช่นเดียวกับชนิดอื่น ๆ ทำให้เก็บน้ำไว้ได้ไม่มาก

เฟินชายผ้าสีดาสปีชีส์ Platycerium superbum

ประเภทของเฟินชายผ้าสีดา[แก้]

เฟินชายผ้าสีดาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการดำรงชีวิต ดังนี้

1. เฟินชายผ้าสีดาต้นเดี่ยว[แก้]

เป็นชนิดที่ไม่สามารถแตกหน่อได้ ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์เพียงอย่างเดียว มีขนาดใหญ่มาก มักมีกาบใบชูตั้ง ปลายใบแตกกริ้วเป็นพูงดงามคล้ายมงกุฎ ได้แก่ P.holttumii, P.grande, P.superbum, P.wallichii และ P.wandae

เฟินชายผ้าสีดาต้นเดี่ยวจะผลิใบกาบขนาดใหญ่โอบรอบต้นไม้ที่อาศัยอยู่ระบบรากแผ่ขยายสลับกับใบกาบทีละชั้น ๆ จนแข็งแรงพอที่จะยึดเกาะรับน้ำหนักตัวเอง ใบกาบชูขึ้นเพื่อรับน้ำและอินทรียวัตถุซึ่งร่วงหล่นลงมาเป็นอาหาร บางชนิดผลิใบกาบช้อนกันจนเป็นชั้นหนาและมีคุณสมบัติเหมือนฟองน้ำ สามารถเก็บสะสมน้ำไว้ใช่เป็นเวลานาน เมื่อนำมาปลูกจึงไม่ควรรดน้ำเฟินกลุ่มนี้มากเกินไป เพราะจะทำให้เน่าง่าย

2. เฟินชายผ้าสีดาแตกหน่อ[แก้]

เป็นชนิดที่สามารถแตกหน่อจากตาที่ปลายรากบางชนิดแตกหน่อง่ายเป็นกอขนาดยักษ์ จนกิ่งไม้ที่เกาะอาศัยอยู่หักร่วงลงมาเพราะรับน้ำหนักไม่ไหวเฟินชายผ้าสีดากลุ่มนี้ดำรงชีวิตแบบพึ่งพากันและกัน หน่อใหม่ที่แผ่ขยายออกไปเรื่อย ๆ จะโอบหุ้มลำต้นไม้เพื่อช่วยประคองต้น ใบกาบมีทั้งแบบชูตั้งและแบบห่อแนบต้น ซึ่งได้รับอาหารจากใบเก่าที่ถูกห่อหุ้มย่อยสลายอยู่ภายใน เฟินกลุ่มนี้ได้แก่ P. alcicorne, P. andinum, P. bifurcatum, P. coronarium, P. elephantotie, P. ellisii, P. hillii, P. madagascariense, P. quadridichotomum, P. stemaria เป็นต้นเฉพาะ P. coronarium เพียงชนิดเดียวที่แตกหน่อจากเหง่าเวียนเป็นวงโอบรอบต้นไม้ที่อาศัยอยู่[3]

การขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดา[แก้]

การขยายพันธุ์เฟินชายผ้าสีดาทำได้ 3 วิธีคือ แยกหน่อ เพาะสปอร์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับการปลูกเลี้ยงในประเทศไทยนิยมใช้เพียง 2 วิธีแรก ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งการผลิตเฟินเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีช่องทางการตลาดกว้างมาก

1. การแยกหน่อ[แก้]

เฟินชายผ้าสีดาสายพันธุ์ต่างประเทศหลายชนิดแตกหน่อจากตาที่ปลายรากได้ สามารถแยกหน่อมาปลูกโดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. เลือกหน่อที่เหมาะสมกับการแยกปลูกควรมีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้ว ถ้าหน่อใหม่เริ่มผลิใบชายผ้าจะช่วยให้แข็งแรงมากขึ้น
  2. ใช้มีดหรือกรรไกรที่คมและสะอาดเฉือนหน่อออกมาอย่างระมัดระวัง
  3. ต้องเฉือนให้ลึกถึงราก ถ้าเฉือนตื้นเกินไปอาจได้แต่ชั้นของใบกาบซึ่งไม่สามารถเจริญต่อไปได้
  4. หากปลูกแบบแขวน ให้นำต้นมาประกบกับซากกระเช้าขนาดพอเหมาะ และใช้วัสดุที่เหนียวทนมัดให้แน่นแล้วมัดติดกับวัสดุเมานท์อีกทีหนึ่ง
  5. หากปลูกในกระถาง ใช้สแฟกนัมมอสส์เป็นวัสดุปลูกจะเก็บความชื้นได้ดี ช่วยให้รากเจริญเร็ว อาจใช้โฟมหรือกาบมะพร้าวสับรองก้นกระถางเพื่อลดการอุ้มน้ำ
  6. สำหรับต้นแม่หากรอยตัดไม่ใหญ่มาก ไม่นานเฟินจะสร้างใบกาบคลุมทับปิดรอยเองหรืออาจใช้วัสดุปลูกเสริมแทนส่วนที่เฉือนออกไปก็ได้ โดยตัดแต่งซากกระเช้าให้มีขนาดพอดีกับรอยเฉือนแล้วมัดด้วยลวดหุ้มพลาสติกหรืออาจใช้ไม้เสียบเพื่อยึดติดกันให้แน่นแทนการใช้ลวดมัด

หลังปลูกควรใช้โฮร์โมนเร่งรากหรือสารกระตุ้นผสมน้ำรดให้ชุ่ม เพื่อกระตุ้นให้เฟินแตกรากใหม่และฟื้นตัวเร็วขึ้น อาจใช้สารป้องกันโรครดทั้งหน่อและต้นเพื่อนรดการติดเชื้อบริเวณรอยตัด พร้อมเขียนป้ายชื่อเฟินติดไว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะเฟินพันธุ์ปลูกที่มีความคล้ายคลึงกัน จากนั้นนำไปวางหรือแขวนในที่ร่มรำไร ค่อยระวังอย่าให้วัสดุปลูกแห้งเมื่อเริ่มผลิใบใหม่แล้วจึงค่อยย้ายไปรับแสงแดดมากขึ้น

2. การเพาะสปอร์[แก้]

การขยายพันธุ์เฟินด้วยสปอร์ได้ผลผลิตมากกว่าการแตกหน่อเหมาะที่จะทำเป็นการค้า นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ลูกไม้ที่มีลักษณะแปรผันหรือกลายพันธุ์ค่อนข้างง่าย แถบอับสปอร์ของเฟินชายผ้าสีดามีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่แตกต่างอย่างเด่นชัดจากเฟินชนิดอื่น ๆ ปกคลุมด้วยขนรูปดาวจำนวนมาก เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออก ปลดปล่อยสปอร์ให้ล่องลอยไปในอากาศ วัตถุลักษณะเป็นขุยสีน้ำตาล คือเยื่อหุ้มอับสปอร์ที่หลุดออกมาพร้อมกัน ส่วนสปอร์ที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีน้ำตาลเข้ม (ยกเว้น P.Wallichii ที่สปอร์เป็นสีเขียว) หากคัดแยกออกจะพบว่าสปอร์มีปริมาณน้อยกว่าเยื่อที่เป็นขุย

ประโยชน์[แก้]

เฟิร์นชายผ้าสีดาเหมาะสำหรับใช้เป็นไม้ประดับในการติดตามกำแพงบ้านหรือตามต้นไม้ใหญ่ สรรพคุณทางยาใช้ในการบรรเทาปวด ลดไข้ โดยเอาใบมาต้มน้ำอาบผสมสมุนไพรในการแก้ไข้สูง ชาวเขาบางเผ่าใช้ใบของชายผ้าสีดาในการต้มน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการอ่อนเพลีย หรือบ้างก็นำส่วนชายผ้าสีดามาลวกให้สุกแล้วกินจิ้มกับน้ำพริก[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ตามศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ ปรับปรุง 18 ก.พ. 2545
  2. fernsiam: ชายผ้าสีดา
  3. ภัทรา แสงดานุช เฟินชายผ้าสีดา Platycerium กรุงเทพฯ:บ้านและสวน,2554
  4. ประโยชน์ชายผ้าสีดา[1]