เฟลีแซ็ต
สปีชีส์ | แมว |
---|---|
เพศ | เมีย |
ตาย | ปี 1963 |
เป็นที่รู้จักสำหรับ | แมวตัวแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศ |
เจ้าของ | รัฐบาลฝรั่งเศส |
สัณฐาน | แมวดำขาว |
เฟลีแซ็ต (ฝรั่งเศส: Félicette, ออกเสียง: [felisɛt]) เป็นแมวตัวแรกของโลกที่ถูกปล่อยสู่อวกาศ
เฟลีแซ็ตถูกส่งขึ้นไปกับจรวดของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1963 และทำการบินใต้วงโคจร[1] แม้ว่าจะเชื่อกันว่ามันเป็นแมวตัวเดียวที่บินขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ[2] แต่ชื่อของมันก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักมานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งในปี 2017 ได้มีผู้จัดกิจกรรมการระดมทุนสาธารณะขึ้นเพื่อที่จะสร้างรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของมัน[3] และในที่สุด ในปี 2019 จึงได้มีการติดตั้งรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของเฟลีแซ็ตที่มหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติในเมืองสทราซบูร์ของฝรั่งเศส
สัตว์ที่ไปอวกาศก่อนเฟลีแซ็ต
[แก้]ก่อนหน้าเฟลีแซ็ต ได้มีการปล่อยสัตว์หลายชนิดขึ้นสู่อวกาศ เริ่มจากในปี 1957 สุนัขชื่อไลกาได้กลายเป็นสัตว์ตัวแรกที่เคยขึ้นไปโคจรรอบโลก โดยบรรทุกไปกับดาวเทียมสปุตนิก 2 ของสหภาพโซเวียต[4] ในเดือนมกราคม 1961 สหรัฐได้นำลิงชิมแปนซีชื่อแฮมขึ้นไปในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการเมอร์คิวรี ทำให้มันเป็นลิงตัวแรกที่บินขึ้นสู่อวกาศ[5]
ฝรั่งเศสยังได้ส่งหนูชื่อแอ็กตอร์ (Hector) ขึ้นสู่อวกาศในปี 1961 และยังได้ส่งหนูอีก 2 ตัวในเดือนตุลาคม 1962 ก่อนที่จะส่งเฟลีแซ็ตขึ้นไป[6]
ภารกิจ
[แก้]เฟลีแซ็ตเป็นแมวสีดำขาวที่อาศัยอยู่ข้างถนนในกรุงปารีส ถูกพ่อค้าสัตว์เลี้ยงจับตัวไปและขายให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส[7] ในปี 1963 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ฝึกแมว 14 ตัว ซึ่งรวมทั้งเฟลีแซ็ตด้วย[8] แมวเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยเวชศาสตร์การบิน (Centre d'Enseignement et de Recherches de Médecine Aéronautique, CERMA) และติดขั้วไฟฟ้าไว้ที่หัวระหว่างการฝึกเพื่อศึกษาการทำงานของเส้นประสาท[7] นักวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะไร้น้ำหนักต่อสัตว์และมนุษย์ ดังนั้น แมวจึงได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์[3] เฟลีแซ็ตได้รับเลือกให้ทำงานจริงเนื่องจากมีนิสัยสงบเสงี่ยมกว่าแมวตัวอื่นที่ร่วมฝึก
เวลา 08:09 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม 1963 ฝรั่งเศสได้ส่งเฟลีแซ็ตขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดเวรอนิก อาฌี 47 (Véronique AGI 47)[4] จากสถานที่ปล่อยจรวดในเมืองอามากีร์ ประเทศแอลจีเรีย
ภารกิจของเฟลีแซ็ตคือการบินใต้วงโคจร โดยขึ้นไปถึงระดับความสูง 157 กิโลเมตรในการบิน 13 นาที และประสบภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลา 5 นาทีของเวลาบิน หลังจากนั้นมันได้เดินทางกลับมายังโลกอย่างปลอดภัยแต่ก็ถูกกระทำการุณยฆาตในอีกสามเดือนต่อมาเพื่อชันสูตรสมอง[9][8]
นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังส่งแมวอีกตัวขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 24 ตุลาคม ไม่นานหลังจากภารกิจของเฟลีแซ็ตสิ้นสุดลง แต่แมวตัวนั้นตายเมื่อจรวดระเบิดระหว่างการปล่อย[4][7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Chatte Félicette". CNES. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-21. สืบค้นเมื่อ 15 July 2015.
- ↑ Moye, David (20 October 2017). "The First Cat In Space May Finally Get The Recognition She Deserves". ハフポスト (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 3 November 2017.
- ↑ 3.0 3.1 Weitering, Hanneke. "First Cat in Space to Receive a Proper Memorial". space.com. Space.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2018. สืบค้นเมื่อ 21 April 2018.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Gray, Tara (2 August 2004). "A Brief History of Animals in Space". NASA. สืบค้นเมื่อ 6 May 2017.
- ↑ "Ham the astrochimp: hero or victim?". The Guardian. 2013-12-16. สืบค้นเมื่อ 2018-10-31.
- ↑ "France". Encyclopedia Astronautica. 1997–2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2010. สืบค้นเมื่อ 2018-10-31.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Burgess, Colin; Dubbs, Chris (2007). Animals in Space: From Research Rockets to the Space Shuttle. Springer Praxis. pp. 226–228. ISBN 978-0-387-36053-9.
- ↑ 8.0 8.1 "Crowdfunding a Memorial to Félicette, the First Cat Astronaut". Hyperallergic (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 3 November 2017. สืบค้นเมื่อ 3 November 2017.
- ↑ "A statue to Félicette, the first cat in space". Kickstarter.com. Kickstarter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2018. สืบค้นเมื่อ 21 April 2018.