เฟรนด์โซน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในวัฒนธรรมประชานิยม เฟรนด์โซน (อังกฤษ: friend zone) เป็นสถานการณ์ที่บุคคลอยากมีความสัมพันธ์เชิงรักใคร่หรือความสัมพันธ์ทางเพศกับเพื่อนของตน แต่เพื่อนไม่เอาด้วย หรือจากเนื้อเพลงที่ว่า “เพื่อนที่เธอไม่รักรักเธอรักเธอ” [1] โดยทั่วไปถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับบุคคลที่ไม่สมหวังนั้น[2]

แนวคิดเรื่องเฟรนด์โซนถูกวิจารณ์ว่า เป็นความเกลียดชังผู้หญิง เพราะเชื่อกันว่า คาดหมายอยู่เป็นนัย ๆ ว่า หญิงจะยอมมีสัมพันธ์กับชายที่ตนไม่ได้สนใจ เพียงเพราะชายนั้นทำดีกับตน[3][4] เรื่องนี้สัมพันธ์ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เรียกว่า "ไนซ์กายซินโดรม" (nice guy syndrome)

คำศัพท์[แก้]

ในภาษาอังกฤษ บุคคลที่อยากเป็นมากกว่าเพื่อนแต่เป็นไม่ได้ เรียกว่า "เฟรนด์โซนี" (friend-zonee) ส่วนเพื่อนคนนั้นเรียกว่า "เฟรนด์โซเนอร์" (friendzoner)[5] นอกจากนี้ "friendzone" ยังเป็นคำกริยาของ "friend zone" เช่น ในประโยคว่า "she friendzones you"[6]

แม้คำนี้จะไม่เกี่ยวกับเพศ แต่ก็มักใช้เอ่ยถึงสถานการณ์ที่ชายเป็นเพื่อนกับหญิง แล้วอยากเป็นมากกว่าเพื่อน แต่หญิงไม่เอาด้วย ชายจึงตกอยู่ในเฟรนด์โซน[7]

คำวิจารณ์[แก้]

นักเขียนที่หนุนแนวคิดสตรีนิยมเห็นว่า แนวคิดเรื่องเฟรนด์โซนเป็นความเกลียดชังผู้หญิง[4][8][3] และมีรากเหง้ามาจากความหลงตนเองของผู้ชาย ทั้งวิจารณ์แนวคิดเรื่องไนซ์กาย (nice guy) ว่า เป็นการเปรียบเทียบทางเพศโดยมีนัยแอบแฝงว่า ทำดีแล้วต้องได้รับผลตอบแทนเป็นความสัมพันธ์เชิงรักใคร่หรือทางเพศ ทั้งมีนัยว่า ถ้าหญิงกับชายมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน แล้วชายเกิดหลงรักหญิงขึ้นมา หญิงก็มีหน้าที่ตอบแทนด้วยความรัก โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนชายนั้นเป็นบุคคลแบบไนซ์กาย มิฉะนั้น หญิงจะถูกมองเชิงลบหรือมองว่า มีความผิด

แอลลี ฟ็อกก์ (Ally Fogg) นักเขียนใน เดอะการ์เดียนดอตคอม (TheGuardian.com) โต้แย้งว่า ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนที่ใช้คำ "เฟรนด์โซน" จะเกลียดชังผู้หญิงหรือมองว่า ตนเองมีสิทธิได้รับความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิง ฟ็อกก์มองว่า การใช้คำนี้สะท้อนประสบการณ์ทางอารมณ์ของผู้ชายที่รักผู้หญิงโดยที่ให้ความรักหรือความภูมิใจแก่ตนเองน้อยกว่าที่ให้ผู้หญิง[9]

วัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

คำนี้เป็นที่นิยมขึ้นเพราะซิตคอมอเมริกันเรื่อง เฟรนส์ (Friends) ตอน "เดอะวันวิตเดอะแบล็กเอาต์" (The One with the Blackout) ซึ่งฉายเมื่อ ค.ศ. 1994 ในตอนดังกล่าว ตัวละครที่ชื่อ รอสส์ เกลเลอร์ (Ross Geller) ตรอมใจเพราะแอบรักเรเชิล กรีน (Rachel Green) ซึ่งเป็นเพื่อน โจอีย์ ทริบเบียนี (Joey Tribbiani) จึงพรรณนาว่า รอสส์เป็น "เจ้าแห่งเฟรนด์โซน" (mayor of the friend zone)[10]

ในภาพยนตร์ ค.ศ. 2005 เรื่อง จัสต์เฟรนส์ (Just Friends) ตัวละครหลักที่ไรอัน เรย์โนลส์ (Ryan Reynolds) เล่นนั้นได้พบกับเพื่อนที่เอมี สมาร์ต (Amy Smart) เล่น อีกครั้งหลังหายหน้าไปหลายสิบปี และตัวละครของเอมีบอกเขาว่า คิดกับเขาแบบพี่น้อง เป็นอันทำลายความฝันของเขาที่อยากได้เธอเป็นคนรัก

ช่วง ค.ศ. 2011–2013 เอ็มทีวี (MTV) ออกรีแอลลิทีโชว์ (reality show) ชื่อ เฟรนด์โซน (FriendZone) เนื้อหาแต่ละตอนว่าด้วยคนที่แอบหลงรักเพื่อน โดยเรียกผู้ที่อยากเป็นมากกว่าเพื่อนว่า "ครัชเชอร์" (crusher) และเรียกเพื่อนว่า "ครัชชี" (crushee)

นอกจากนี้ ซีรีส์ เรกิวเลอร์โชว์ (Regular Show) ของการ์ตูนเน็ตเวิร์ก (Cartoon Network) ยังมักเอาเรื่องแนวเฟรนด์โซนมาออกเป็นประจำ เพราะตัวละครหลักที่ชื่อ มอร์เดไค (Mordecai) กับเพื่อนที่ชื่อ มาร์กาเร็ต (Margaret) มักรู้สึกกลับไปกลับมาระหว่างเพื่อนและคนรัก

อ้างอิง[แก้]

  1. "friend zone", Oxford English Dictionary, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03, สืบค้นเมื่อ 22 January 2014, ...a situation in which a friendship exists between two people, one of whom has an unrequited romantic or sexual interest in the other...
  2. Binazir, Ali (February 2011). "How to stay out of the Friend Zone". taoofdating.com. สืบค้นเมื่อ 24 February 2011.
  3. 3.0 3.1 Dickson, E.J. (12 October 2013). "6 reasons the "friend zone" needs to die". Salon.com. Salon Media Group Inc. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  4. 4.0 4.1 Marcotte, Amanda (27 May 2014). "The dangerous discourse of "the friend zone"". rawstory.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-01. สืบค้นเมื่อ 2019-01-24.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-12. สืบค้นเมื่อ 2019-01-24.
  6. https://www.thejambar.com/the-friend-zone-less-innocuous-than-it-seems/
  7. "6 reasons the "friend zone" needs to die". Salon (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 2017-10-25.
  8. Moore, Tracy (2 November 2014). "Hey Dude, You're Not Stuck in the Friendzone Cuz You Dress Shitty (blog)". Jezebel. Univision Communications. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  9. Fogg, Ally (8 January 2013). "Not all men in the 'friend zone' are bad guys". The Guardian. Guardian Media Group. สืบค้นเมื่อ 29 November 2014.
  10. "Friends: The One With the Blackout Recap". TV.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2008. สืบค้นเมื่อ 14 January 2008.