เพียเมืองแพน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระนครศรีบริรักษ์
(พัน เสนอพระ)
เจ้าเมืองขอนแก่นองค์แรก ผู้ตั้งเมืองขอนแก่น
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2340 – ไม่ปรากฏ (หลังสมโภชเมืองไม่นาน) หรืออาจ พ.ศ. 2338
ถัดไปพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวคำบ้ง)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดราวก่อน พ.ศ. 2320
เมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์ประเทศราช อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
เสียชีวิตราวหลัง พ.ศ. 2340
เมืองขอนแก่น
ศาสนาศาสนาพุทธ

เพียเมืองแพน (เพี้ยเมืองแพน)[1] หรือเจ้าเมืองแผน[2] บ้างออกนามว่าท้าวเพี้ยเมืองแพนหรือเจ้าเพี้ยเมืองแพนหรือพระยาเมืองแพน ต่อมาเลื่อนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ (พระนคร)[3] นามเดิมท้าวพัน หรือท้าวสัก (ศักดิ์)[4] กรมการเมืองสุวรรณภูมิ ต้นสกุลเสนอพระ[5][6] สุนทรพิทักษ์ นครศรีบริรักษ์ แพนพา เศรษฐภูมิรินทร์ (สกุลที่เกี่ยวข้อง) ฯลฯ[7] เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นองค์แรก เป็นผู้ตั้งเมืองขอนแก่น[8] อดีตกรมการเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ในอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์[9][10] อดีตกวานบ้าน (นายบ้าน) หรือนายกองนอกบ้านชีโหล่นเมืองสุวรรณภูมิ[11][12] และอดีตเจ้าเมืองเพี้ย (บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ย) เป็นบิดาเจ้านางคำแว่นหรือเจ้าจอมแว่น (คุณเสือ)[13] พระสนมเอกหรือเจ้านางองค์แรกในรัชกาลที่ 1 ของรัตนโกสินทร์[14][15][16][17]

ประวัติ[แก้]

ทัศนะทางประวัติศาสตร์[แก้]

ข้อมูลประวัติของเพี้ยเมืองที่ถูกระบุในหลักฐานเเละเอกสารทางประวัติศาสตร์ มีการถูกระบุเเละถูกกล่าวถึงในทัศนะหรือมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่เเตกต่างกันตามเเต่ละเเหล่งข้อมูล ซึ่งสามารถเเยกเป็นทัศนะทั้งหมด ได้ 4 ทัศนะ ดังต่อไปนี้

ทัศนะที่1[แก้]

เพี้ยเมืองเเพนเป็นพี่น้องของเจ้าเเก้วบูฮมหรือเจ้าจารย์เเก้ว เจ้าผู้ครองเมืองท่งศรีภูมิพระองค์เเรก ผู้ที่ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2184 ปกครองเมืองท่งเมื่อปี พ.ศ. 2256 เเละพิราลัย เมื่อปี พ.ศ. 2268 เเละทั้งคู่เป็นพระราชโอรสของเจ้าเเสนปัจจุทุมหรือท้าวเเสนเเก้วบูฮม (ในพงสาวดารนครน่าน เรียกเจ้าเเก้วมงคลว่า ลาวเเสนเเก้ว จากหลักฐานชั้นต้น เจ้าเเสนปัจจุทุมหรือท้าวเเสนเเก้วบูฮม ควรจะเป็นเจ้าเเก้วมงคลหรือจารย์เเก้ว )[18][19] กรมการเมืองธุรดมหงส์สถิต[20][21] พระราชโอรสในพระเจ้าสิริบุญสาร (ครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2294 - พ.ศ. 2322) กษัตริย์เเห่งอาณาจักร์ล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ 4 ส่วนเพี้ยเมืองเเพนได้เป็นเจ้าเมืองขอนเเก่นท่านเเรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2340 (ได้ปกครองเมืองห่างจากผู้เป็นพี่ชาย นานกว่า 84 ปี)

อพยพจากเวียงจันทน์[แก้]

พ.ศ. 2322 พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2294-2322) พิพาทกับกลุ่มเจ้าพระวอเจ้าพระตาเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน แล้วยกทัพตีค่ายบ้านดอนมดแดงแตกจับเจ้าพระวอประหาร กษัตริย์ธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) สองพี่น้องยกทัพตีนครเวียงจันทน์ เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) และเพียเมืองแพน (พระยาเมืองแพน) สองพี่น้องซึ่งเป็นโอรสเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม)[22] ในราชวงศ์ล้านช้างจึงยกไพร่พลจากบ้านเพี้ยปู่แขวงเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือเวียงจันทน์ไปทางน้ำงึมราว 70 กิโลเมตร ข้ามน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บ้านโพธิ์ตาก (ตำบลบ้านกง อำเภอเมืองขอนแก่น) บ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (ตำบลบ้านโนน อำเภอกระนวน)[23] บ้านโพธิ์ชัย (อำเภอมัญจาคีรี) บ้านสร้าง บ้านชีโหล่น (เขตเมืองสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[24] และไพร่พลบางส่วนตั้งอยู่เขตอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภออาจสามารถในจังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอคำเขื่อนแก้วในจังหวัดยโสธร[25] เฉพาะเจ้าแก้วบุฮมอพยพไพร่พลตั้งที่บ้านโพธิ์ชัยฝ่ายเพียเมืองแพนอพยพไพร่พลตั้งที่บ้านชีโหล่น[26] (ชีโล่น)[27][28][29] คุมไพร่พลคนละ 500 ขึ้นเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ ราว 9 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2331 เพียเมืองแพนอพยพไพร่พลราว 330 คนขอแยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนที่บึงบอนบ้านดอนพยอมเมืองเพี้ย (ดอนกระยอม)[30][31] ยกขึ้นเป็นเมือง ปัจจุบันคือบ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อำเภอบ้านไผ่[32]

เริ่มตั้งเมือง[แก้]

หลังทัพสยามบุกตีเวียงจันทน์ได้กวาดต้อนเจ้านาย ขุนนาง และไพร่พลลาวเข้ามาในอาณาเขตสยามตั้งรกรากส่วนมากที่สระบุรีรวมทั้งหัวเมืองลาวชั้นในและกรุงเทพฯ[33] เจ้านางคำแว่นราชวงศ์ล้านช้างธิดาคนโตของเพียเมืองแพนอดีตนางข้าหลวงของเจ้านางเขียวค้อมพระราชธิดาพระเจ้าสิริบุญสาร[34][35] ถูกควบคุมตัวในฐานะเชลยไว้ที่พระบรมมหาราชวัง พ.ศ. 2325 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์สยามรัชกาลที่ 1 แล้วย้ายราชธานีจากธนบุรีมาตั้งที่บางกอก จึงมีนโยบายกดดันเจ้านายหัวเมืองลาวสองฝั่งโขงให้อยู่ในความควบคุมผ่านการตั้งเมืองขึ้นโดยส่งบรรณาการปีละ 2 ครั้ง พ.ศ. 2331 เพียเมืองแพนทราบข่าวธิดาถูกสถาปนาเป็นพระสนมเอกและกวนเมืองแสนหรือเพียเมืองแสน (ท้าวคำพาว ต้นสกุลประจันตเสน) ญาติสนิทได้เป็นพระจันทรประเทศเจ้าเมืองชลบถ ปัจจุบันคืออำเภอชนบทในจังหวัดขอนแก่น[36] จึงอพยพไพร่พลมาอยู่บ้านโนนทองข้างบึงบอน (หนองขอนแก่นหรือบึงพระลับโนนทอง) ตั้งเป็นบ้านบึงบอนปัจจุบันคือพื้นที่บึงแก่นนคร[37] ก่อนตั้งเมืองได้สำรวจสถานที่ลงหลักปักฐานจากบ้านภูเวียงใกล้เขาภูเวียงมาถึงบ้านโพธิ์ตากใกล้บึงชัยวานและน้ำพองหนีบ ซึ่งมีน้ำพองไหลผ่านทิศเหนือและน้ำเซินไหลผ่านทิศใต้ แต่เห็นว่าบริเวณดังกล่าวคงห่างไกลกรุงเทพฯ และปีใดฝนดีน้ำก็ท่วม จึงสำรวจสถานที่ตั้งเมืองใหม่ ณ บ้านทุ่มแต่น้ำท่าไม่สะดวกและเจ้าเมืองชลบถอ้างว่าเป็นเขตแดนเมืองชลบถเสมอซึ่งอ้างมาจนสมัยรัชกาลที่ 5 เพียเมืองแพนจึงเลือกบริเวณบ้านโนนทอง บ้านโนนทัน และบ้านพระลับ[38] ซึ่งนอกจากตั้งใกล้บึงบอนยังใกล้น้ำชี เมื่อตั้งเมืองด้วยไพร่พล 330 คนแล้วจึงสมัครขึ้นเมืองนครราชสีมา[39] โดยมีใบบอกถึงพระยานครราชสีมาและปักบือเมืองหรือเสาหลักเมือง ณ ทิศตะวันตกวัดกลาง บ้านเมืองเก่า ถนนกลางเมือง สร้างหอโฮงเจ้าเมือง 3 หลังซึ่งใหญ่กว่าที่ว่าราชการเมืองหรือจวนเจ้าเมืองและสร้างศาลมเหสัก (เมืองเก่า) ประจำเมือง

ทัศนะที่2[แก้]

เพี้ยเมืองแพน หรือ พระนครศรีบริรักษ์ (ศักดิ์) เป็นบุตรของพระรัตนวงศามหาขัติยราช (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศาฯ เป็นอนุชาพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิบดี (สีลัง ต้นสกุล ธนสีลังกูร) ทั้ง 2 ท่าน เป็นบุตรพระขัติยวงศา (ทนต์ หรือ สุทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์แรก และมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาเจ้าแก้วมงคล ทัศนะนี้เพี้ยเมืองแพนจึงเป็นพระราชนัดดาของเจ้าแก้วมงคล

ทัศนะที่3[แก้]

เพี้ยเมืองเเพน หรือ พระนครศรีบริรักษ์ (ศักดิ์) เป็นโหลนของเจ้าเเก้วมงคล โดย เจ้ามืดดำโดน โอรสของเจ้าเเก้วมงคล มีโอรส 3 องค์ คือ เจ้าเชียง เจ้าสูน เจ้าอุ่น (ปลัดเมืองขุขันธ์ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านแรก นามว่า พระยารัตนวงศา อีกทั้งยังเป็นลูกเขยของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนหรือตากะจะเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกและเป็นบิดาของพระประจันตประเทศหรือเจ้าเมืองชลบถวิบูลย์ท่านแรก) ส่วนเจ้าเซียงบุตรท้าวมืด มีบุตร 3 คน คือ ท้าวเพ (เจ้าเมืองหนองหานท่านแรก), ท้าวโอ๊ะ (เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ), ท้าวพร และธิดาไม่ทราบนามอีก 2 คน ในพื้นเมืองท่ง ระบุว่าท้าวพรซึ่งเป็นบุตรของท้าวเซียงมีบุตรชาย 2 คน คือ เพี้ยเมืองแพน (พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นท่านแรก) เพี้ยศรีปาก (พระเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสงท่านแรก และเป็นบิดาของพระยานครภักดี เจ้าเมืองแปะหรือบุรีรัมย์ท่านแรก)

ทัศนะที่4[แก้]

ท้าวสักหรือเพี้ยเมืองเเพน เป็นนัดดาของเจ้าเเก้วมงคล เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านเเรก พระราชโอรสของเจ้าศรีวิชัย กษัตริย์เเห่งอาณาจักรล้านช้างพระองค์ที่ 30 โดย เจ้ามืดคำดล เจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านที่ 2 โอรสของเจ้าเเก้วมงคล มีโอรส 3 องค์ คือ ท้าวเซียง เป็น เมืองแสน คุมกองทหารทั้งหมด ,ท้าวสูน เป็น เมืองจัน ปกครองฝ่ายพลเรือน ,ท้าวสัก เป็น "เพี้ยเมืองแพน" คุมทหารรักษาเขตแดนอยู่ชายฝั่ง "ชีโหล่น" หรือ "ซีล้น"

อพยพออกจากเมืองสุวรรณภูมิพร้อมพระลับ ไปตั้งเมืองขึ้นใหม่[แก้]

พ.ศ.2332 "ท้าวสัก" ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งแห่งใหม่ชายแดนด้านเหนือเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเขตเมืองร้อยเอ็ด ท้าวสักซึ่งมีตำแหน่งเป็นเ "เพี้ยเมืองแพน" ก็อพยพประชาชนพลเมืองประมาณ 330 ครอบครัว พร้อมทั้งนำพระพุทธรูป (พระลับ) ไปไว้สักการะเป็นมิ่งขวัญแก่บ้านเมืองด้วย ครั้นเดินทางมาถึงบริเวณบึงมีต้นบอนเกิดขึ้นมากมาย เป็นทำเลดี อยู่ใกล้แม่น้ำชี สองฝั่งบึงนั้นสูงน้ำท่วมไม่ถึง จึงตั้งบ้านเรือนเรียกว่า "บ้านบึงบอน" และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกของบึง (ปัจจุบันอยู่ที่คุ้มกลางเมืองเก่า)[40]

ข้อสังเกต[แก้]

จากทั้งหมด 4 ทัศนะ มีทัศนะที่ 2,3 เเละ 4 กล่าวตรงกันว่าเพี้ยเมืองเเพนเป็นลูกหลานของเจ้าเเก้วมงคล เเต่มีเพียงเเค่ทัศนะที่ 1 ที่กล่าวต่างจากพวก ที่กล่าวว่าเพี้ยเมืองเเพนเป็นพี่น้องกับเจ้าเเก้วมงคล ซึ่งมีอายุห่างกัน โดยประมาณ 100 ปีขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ

การพระพุทธศาสนา[แก้]

สร้างวัดประจำเมือง[แก้]

ราว พ.ศ. 2332-2333 เพียเมืองแพนสร้างวัดประจำเมืองใกล้ฝั่งบึงบอนขึ้น 4 วัดคือ

1. วัดเหนือ (วัดหนองแวงพระอารามหลวง) สำหรับเจ้าเมืองบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม[41] ที่เรียกวัดเหนือเนื่องจากตั้งอยู่เหนือทางน้ำไหล

2. วัดกลาง (วัดกลางเมืองเก่า) ติดโฮงเจ้าเมือง[42] สำหรับกรมการผู้ใหญ่บำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม

3. วัดใต้ (วัดธาตุพระอารามหลวง) หรือวัดพระธาตุโนนทอง หรือวัดธาตุเมืองเก่า สำหรับประชาชนบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม ที่เรียกว่าวัดใต้เนื่องจากตั้งอยู่ทิศใต้สายน้ำแต่อยู่ทิศเหนือของเมือง ที่เรียกวัดธาตุเนื่องจากมีธาตุเก่าตั้งอยู่ทิศตะวันออกของวัด ในอดีตน้ำจากบึงแก่นนครไหลลงบึงทุ่งสร้างดังนั้นคุ้มเหนือจึงตั้งอยู่ทิศใต้ของเมือง

4. วัดแขก (วัดโพธิ์โนนทัน) หรือวัดท่าแขก ฟากตะวันออกบึงบอน สำหรับสงฆ์และแขกเมืองหรือคนต่างถิ่นพักอาศัยบำเพ็ญกุศลและประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ยังบูรณะสิม (พระอุโบสถ) ขึ้นใหม่[43]

อัญเชิญพระลับ[แก้]

พระลับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสันนิษฐานว่าเพียเมืองแพนอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองขอนแก่น ซึ่งบรรจุซ่อนไว้ในอุโมงค์พระธาตุเก่าของวัดธาตุ (พระอารามหลวง) เมืองเก่าหลังสร้างวัดเสร็จ[44] การถูกซ่อนไว้เป็นความลับมีแต่เจ้าอาวาสเท่านั้นที่ทราบเรื่องชาวบ้านจึงเรียกนามพระพุทธรูปว่าพระลับหรือหลวงพ่อพระลับสืบมา หลังการตั้งเมืองพระพุทธรูปถูกปกปิดในพระธาตุโดยไม่มีใครพบเห็นเมื่อขยายเมืองมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ทางทิศเหนือเมืองเก่าจึงตั้งชื่อว่าบ้านพระลับและยกเป็นตำบลพระลับตามนามพระพุทธรูป[45] ปัจจุบันตำบลพระลับตั้งทางทิศตะวันออกเมืองขอนแก่น วัดเหนือเปลี่ยนนามเป็นวัดธาตุ (พระอารามหลวง) วัดกลางคงชื่อเดิม ส่วนวัดใต้ตั้งอยู่ริมหนองน้ำมีต้นแวงขึ้นมากจึงเรียกวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) พระลับมีพุทธลักษณะปางมารวิชัยหล่อด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์และฐาน หน้าตักกว้าง 11 นิ้ว สูง 29 นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฎกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเหลือบต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม พระเกษาเล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่ รัศมีเปลว ตั้งบนฐานกลีบบัวลาว ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกทรงสูงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำบัวหงาย (โบกคว่ำโบกหงาย) แนวดูกงู (ลูกแก้วอกไก่) งอนขึ้นด้านบน เป็นศิลปะลาวหรือศิลปะล้านช้างสกุลช่างเวียงจันทน์พุทธลักษณะคล้ายกลุ่มพระพุทธรูปปางมารวิชัยระเบียงหอพระแก้วเวียงจันทน์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 สันนิษฐานว่าการหล่อพระลับเริ่มราว พ.ศ. 2068 ในรัชกาลพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งหลวงพระบางโดยศึกษาจากพระพุทธลักษณะ อีกทัศนะสันนิษฐานว่าหล่อราว พ.ศ. 2232 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กอพยพผู้คนมาบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมโดยนำช่างเวียงจันทน์ลงมาด้วย พ.ศ. 2233 การบูรณะสำเร็จตั้งแต่ส่วนที่ 2 ขึ้นไปจนยอดสุด โลหะบูรณะสร้างจากเหล็กเปียกหรือเหล็กไหลเนื้อคล้ายตะกั่ว (ซะกั่ว) หรือเงินโดยหล่อโบกครอบปูนยอดพระธาตุพนม แหล่งเหล็กเปียกตั้งบนภูเหล็กซึ่งเป็นภูเขาศิลาแลงเตี้ยเป็นเนินสูงจากทุ่งนาใกล้บ้านดอนข้าวหลาม ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม ทิศใต้พระธาตุพนมราว 8 กิโลเมตร ปัจจุบันยังคงปรากฏหลุมและรอยขุด[46]

พ.ศ. 2236 หลังบูรณะพระธาตุพนมเจ้าราชครูโพนสะเม็กหล่อพระพุทธรูปใหญ่ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 1.80 เมตร ตั้งเป็นประธานในพระวิหารหอแก้วของวัด วัสดุที่เหลือ เช่น ทองแดง เศษปูน เป็นต้น ถูกใช้หล่อพระพุทธรูปหลายองค์เพื่อมอบให้ศิษย์นำไปสักการะ ส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในพระธาตุพนม พ.ศ. 2497 พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส, อุทุมมาลา) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมซ่อมแซมวิหารหอพระแก้วก่อนปูกระเบื้องลายซีเมนต์ได้สั่งช่างขุดพื้นวิหารหน้าพระประธานและพบกรุพระจำนวนมาก เช่น พระทองคำบุ 250 องค์ พระเงิน พระขนาดเล็ก เป็นต้น โดยนำขึ้นมาเฉพาะพระทองคำ 1 องค์หนักราว 4 กิโลกรัมครึ่ง พระนาค 1 องค์ พระทองคำบุ 3 องค์ พระหินดำ 1 องค์ และพระทองสัมฤทธิ์ 1 องค์ สันนิษฐานว่าพระลับคงสร้างโดยเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กแล้วมอบแด่ราชวงศ์องค์สำคัญหนึ่งในนั้นคือเจ้าแก้วบูฮมบรรพบุรุษของเพียเมืองแพนและเพียเมืองแพนคงรักษาพระพุทธรูปองค์นี้สืบมา 17 ตุลาคม พ.ศ. 2537 พระเทพวิมลโมลี (เหล่า สุมโน) ซึ่งต่อมาเลื่อนเป็นพระธรรมวิสุทธาจารย์เจ้าอาวาสวัดธาตุ (พระอารามหลวง) รองเจ้าคณะภาค 9 (มหานิกาย) และรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น ในขณะนั้น เกรงว่าต่อไปชาวเมืองจะไม่รู้จักพระลับจึงเชิญนายกวี สุภธีระ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นพร้อมข้าราชการผู้ใหญ่ผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสงฆ์และฆราวาสร่วมกันเปิดเผยและประกาศเป็นทางการเมื่อวันอังคาร ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ หรือวันออกพรรษาที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2537[47] ว่าพระพุทธรูปที่เพียเมืองแพนอัญเชิญมาพร้อมการสร้างเมืองคือพระลับซึ่งประดิษฐาน ณ วัดธาตุ (พระอารามหลวง) และประกาศให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่น[48]

สถาปนาเมืองขอนแก่น[แก้]

การตั้งเมือง[แก้]

ปลาย พ.ศ. 2339 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ เจ้านางคำแว่นธิดาเพียเมืองแพนเป็นท้าวเสือ เมืองขอนแก่นส่งส่วยเมืองนครราชสีมาครบ 9 ปี เจ้านางคำแว่นจึงกราบบังคมทูลให้บิดายกไพร่พลแยกจากเมืองสุวรรณภูมิตั้งเป็นเมือง พระยานครราชสีมามีใบบอกถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. 2340[49][50] รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านบึงบอนเป็นเมืองขอนแก่น ให้เพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขึ้นต่อกรุงเทพฯ[51] ดังระบุในใบบอกเมืองขอนแก่น เขียนที่ว่าราชการเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิม วันที่ 28 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 109 ว่า

ข้าพเจ้าอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร หลวงพรหมภักดีผู้ช่วย เมืองแสน เมืองจัน ท้าวเพี้ยกรมการเมืองขอนแก่น บอกปรนนิบัติคำนับมายังท่านออกพันนายเวร ขอให้นำขึ้นกราบเรียน พณหัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลาทรงทราบ ด้วยเดิมจะตั้งเป็นเมืองขอนแก่น เจ้านางคำแว่นกราบบังคมทูลให้เมืองแพน พาสมัครพรรคพวกแยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งเมืองแพนเป็นที่เจ้าเมืองขอนแก่น หาทันมีอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตรไม่ เมืองแพนเจ้าเมืองถึงแก่กรรมไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท้าวคำบ้งบุตรเขยเมืองแพนเจ้าเมือง ขึ้นเป็นที่พระนครเจ้าเมือง โปรดให้ท้าวคำยวงเป็นที่ราชบุตร แต่ที่อุปฮาตราชวงษ์นั้นหาทันตั้งไม่ พระนครคำบ้งถึงแก่กรรมไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งราชบุตรคำยวงเป็นที่พระนครเจ้าเมือง ตั้งท้าวสุวันบุตรพระนครคำบ้งเป็นที่อุปฮาต ตั้งพระราชวงษาบุตรหลานเจ้าเมืองแผนเป็นที่ราชวงษ์ ตั้งท้าวคำพางบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชบุตร ขึ้นไปครอบครองบ้านเมืองก็โดยยุติธรรม คุมส่วยผลเร่วลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปีมิได้ทศค้าง ครั้นอยู่หลายปีราชวงษ์ถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าให้ท้าวอินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ ครั้นพระนครเจ้าเมือง อุปฮาต และราชบุตรถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวหนูเข้ามาเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงษ์อินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่อุปฮาต ท้าวมุ่งบุตรพระนครคำยวงที่เป็นพี่ชายอุปฮาตอินเป็นที่ราชวงษ์ ท้าวจันชมภูบุตรอุปฮาตสุวันคนเก่าเป็นที่ราชบุตร อยู่มาได้สามปีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนครหนู หนีจากเมืองขอนแก่นไปเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร แล้วจึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปฮาตอินเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมือง ราชวงษ์มุ่งเป็นที่อุปฮาต ท้าวขติยะบุตรเขยพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ แต่ราชบุตรยังคงที่ พระนครศรีบริรักษ์พาท้าวเพียประพฤติราชการบ้านเมืองก็เป็นสัจจเป็นธรรม คุมเงินส่วยผลเร่วเมืองขอนแก่น จำนวนปีละยี่สิบแปดช่างแปดตำลึง ลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปี ฯลฯ[52]

ส่วนหลักฐานการตั้งเมืองขอนแก่นในพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณร้อยเอ็จ) ระบุว่า ...ครั้นถึงจุลศักราช 1150 ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพนบ้านชีโล่นแขวงเมืองสุวรรณภูมิพาราษฎรไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...[53][54] เหตุการณ์เดียวกันยังถูกระบุในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) ด้วยว่า ...ลุจุลศักราช 1159[55] ปีมเสงนพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิเห็นว่าเมืองแสนได้เปนเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เปนบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัคขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสิมาแล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเปนเมือง เจ้าพระยานครราชสิมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึ่งโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเปนที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเปนเมืองขอนแก่น (มณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสิมา...[56]

เหตุแห่งการตั้งเมืองในมุขปาฐะ[แก้]

ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ ระบุเหตุแห่งการตั้งเมืองขอนแก่นในมุขปาฐะซึ่งพิมพ์ในหนังสือประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์ อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพคุณแม่ประทุม นครศรีฯ ในฐานะเอกสารชั้นรองโดยละเอียดว่า[57]

จ.ศ. 1151 พ.ศ. 2332 ได้เกิดเรื่องราวที่เกี่ยวกับนางคำแว่นซึ่งเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในเวลาบ่ายวันหนึ่งขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่พระองค์ทรงละเมอขึ้นด้วยพระสุรเสียงอันดังเป็นเวลานานก็ยังไม่รู้สึกพระองค์ พวกนางสนมกำนัลในต่างพากันตกใจทั้งไม่ทราบว่าจะทำประการใด ครั้นจะปลุกพระองค์ก็เกรงพระราชอาญาทุกคนต่างตกตะลึงตัวสั่นเทา นางคำแว่นซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดนางคลานเข้าไปใกล้แท่นพระบรรทมกราบถวายบังคมเสร็จแล้วนางใช้ปากกัดที่นิ้วพระบาทโดยมิได้ล่วงล้ำแตะต้องพระองค์ท่านด้วยประการใดเลย ทันใดนั้นเองสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกพระองค์ท่ามกลางนางสนมกำนัลทั้งหลายที่มาประชุมหมอบกราบอยู่ทรงตรัสถามไปว่าผู้ใดเป็นผู้ปลุกพระองค์ นางเขียวค่อมกราบทูลว่านางคำแว่นเป็นผู้ปลุกโดยวิธีเอาปากกัดที่นิ้วพระบาท พระองค์ทรงตรัสถามต่อไปว่านางคำแว่นเป็นคนของใคร ลูกเต้าเหล่าใคร นางเขียวค่อมกราบทูลว่านางคำแว่นเป็นนางข้าหลวงของนางเองติดตามมาจากนครเวียงจันทน์เมื่อครั้งอพยพ เป็นบุตรท้าวเพี้ยเมืองแพนขณะนี้ท้าวเพี้ยเมืองแพนอพยพจากนครเวียงจันทน์มาอยู่ที่บ้านชีโล่นแขวงเมืองสุวรรณภูมิเป็นเวลาหลายปี ต่อมาได้อพยพครอบครัวจากบ้านชีโล่นมีครอบครัวประมาณ 330 ครอบครัวมาตั้งที่บ้านบึงบอนขอขึ้นต่อพระยานครราชสีมาและขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมืองขอนแก่นอยู่ในเวลานี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังความกราบบังคมทูลของนางเขียวค่อมแล้วพระองค์ทรงดำริเห็นว่านางคำแว่นนี้เป็นผู้จงรักภักดีและกล้าหาญมาก ตามปกติแล้วไม่มีผู้ใดจะอาจเข้าไปแตะต้ององค์พระมหากษัตริย์ได้เพราะเกรงพระราชอาญา พฤติการณ์ที่นางคำแว่นกระทำลงไปนั้นเป็นการเสียสละด้วยความกล้าหาญเป็นอย่างสูงเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่นางคำแว่นเป็นท้าวเสือเพื่อเป็นเกียรติสมกับความกล้าหาญของนาง และในปีเดียวกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่นให้ท้าวเพี้ยเมืองแพนบิดาท้าวเสือ (นางคำแว่น) เป็นพระนครศรีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก) และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองขอนแก่นขึ้นตรงต่อกรุงเทพพระมหานครตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา[58][59]

ปัญหาเรื่องตัวตนและที่มาของเพียเมืองแพน[แก้]

บิดาของเพียเมืองแพนคือเจ้าเเสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) บ้านเพี้ยปู่ เมืองธุรคมหงส์สถิต (ทุละคม) อาจเป็นองค์เดียวกับเจ้าวิชัยพระราชบิดาของเจ้าจารย์เเก้วเจ้าเมืองท่ง (ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิในจังหวัดร้อยเอ็ด) เเละเจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์เจ้าเมืองหลวงโพนสิม เมืองพิน เมืองนอง (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขด) เมืองธุรคมถูกสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามสร้อยราชทินนามเจ้าเมืององค์เเรกคือพระวิชิตหงษ์พิไสยเชื้อสายของพระวอพระตา ไม่ได้สืบเชื้อสายจากนครหลวงเวียงจันทน์หรือเจ้าเเสนปัจจุทุมโดยตรง ดังนั้นเพียเมืองเเพนอาจไม่ได้กำเนิดจากเมืองธุรคมของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่เมืองธุรคมในแขวงเวียงจันทน์มีหมู่บ้านเก่าแก่ปรากฏนามว่าบ้านขอนแก่นอยู่ด้วย เเต่ชื่อนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานตามประเพณีนิยมสมัยโบราณ เช่น พื้นที่จังหวัดเลย มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบชุดข้อมูลที่ระบุถึงเพียเมืองแพนว่าเป็นบุตรเจ้าเมืองสุวรรณภูมิอีกด้วย คือเจ้าจารย์แก้วมีทายาทชื่อพระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงษา (ภู) มีบุตรนามว่าท้าวศักดิ์และได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเพียเมืองแพน ไปตั้งรักษาการอยู่ริมแม่น้ำชีซึ่งสถานที่นั้นเรียกว่าชีโหล่นต่อมาจึงได้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น

เอกสารบางแห่งระบุว่าเพียเมืองแพนบ้านชีโหล่นเป็นหลานเจ้าจารย์แก้ว หลังเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นจึงเลื่อนเป็นพระยานครบริรักษ์เจ้าเมือง ข้อมูลบางชุดที่ว่าเพียเมืองเเพนเป็นพี่น้องกับเจ้าจารย์แก้วนั้นเป็นไปได้น้อยเนื่องจากมีอายุห่างกันเกือบร้อยปี เอกสารเกี่ยวกับประวัติเมืองท่งและเชื้อสายเจ้าเมืองชี้ว่าเพียเมืองเเพน มีพี่น้องร่วมกัน 1 คน คือ เพี้ยศรีปาก (นา) หรือต่อมาคือพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสงคนเเรก เพี้ยเมืองเเพนกับเพี้ยศรีปากทั้งคู่เป็นบุตรชายของท้าวพรราชวงศ์เมืองสุวรรณภูมิเหลนของเจ้าจารย์แก้ว หากเทียบลำดับศักราชทางประวัติศาสตร์จะใกล้เคียง พ.ศ. เกิดของเพียเมืองแพน เพียเมืองเเพนจึงควรเป็นทายาทชั้นเหลนของเจ้าจารย์เเก้ว หลักฐานเกี่ยวกับเจ้าจารย์แก้วเจ้าเมืองท่งองค์แรกมีความชัดเจนอย่างมากเนื่องจากปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์หลายเเห่ง พงศาวดารอีสานเเละพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ระบุตรงกันว่าเจ้าจารย์แก้วเป็นเจ้าเมืองท่งใน พ.ศ. 2256 ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ซึ่งห่างจากช่วงอายุของเพียเมืองแพนมาก

ลำดับการสืบตระกูลของเจ้าเมืองมุกดาหารชี้ว่าเจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์บิดาของเจ้าจันทกินรีเจ้าเมืองมุกดาหาร (บังมุก) องค์เเรกนั้นเป็นพี่น้องกับเจ้าจารย์เเก้วไม่ใช่พี่น้องของเพียเมืองเเพน จากหลักฐานที่ว่าเพียเมืองเเพนเป็นญาติสนิทกับเพียเมืองเเสน (คำพาว) จึงเป็นไปได้ที่เพียเมืองเเพนจะเป็นทายาทชั้นหลานหรือชั้นเหลนของเจ้าจารย์เเก้ว เอกสารพื้นเมืองท่งเเละเอกสารเกี่ยวกับประวัติเมืองศรีสะเกษเเละเมืองสุรินทร์ระบุตรงกันว่าเพียเมืองเเสน (คำพาว) หรือพระจันตประเทศเจ้าเมืองชลบทวิบูลย์องค์เเรกเป็นบุตรของท้าวอุ่นเจ้าเมืองศรีสะเกษองค์เเรกเเละเป็นหลานเจ้ามืดคำดลเจ้าเมืองท่งองค์ที่ 2 เพียเมืองแพนจึงไม่น่าจะมีถิ่นกำเนิดจากนครหลวงเวียงจันทน์เเละอพยพมาทีหลัง เเต่กำเนิดที่เมืองท่งตั้งเเต่ต้น บิดาของเพียเมืองแพนคือท้าวพร (ราชวงศ์พร) ท้าวพรเป็นบุตรชายคนสุดท้องของเจ้าเซียงเจ้าเมืองท่งองค์ที่ 4 เจ้าเซียงเป็นบุตรเจ้ามืดคำดลปู่ของเพียเมืองเเสน (คำพาว) ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ว่าเพียเมืองแสน (คำพาว) กับเพียเมืองแพนเป็นญาติสนิทกัน จึงพออนุมานความเป็นไปได้มากที่สุด คือ เพี้ยเมืองเเพนเป็นลูกหลานของเจ้าจารย์เเก้ว มีพี่น้องร่วมกัน 1 คน คือ เพี้ยศรีปาก (นา) มีถิ่นกำเนิดที่เมืองท่งศรีภูมิ พอโตเป็นหนุ่ม บิดา (ราชวงศ์พร) จึงส่งเพี้ยเมืองเเพนซึ่งเป็นกรมการเมืองสุวรรณภูมิอยู่ก่อนเเล้ว ออกจากเมืองท่งไปทำราชการเป็นขุนนางที่เมืองเวียงจันทน์เเทน นอกจากกรณีของเพี้ยเมืองเเพน กรณีที่เมืองท่งส่งลูกหลานออกไปทำราชการที่เมืองอื่นนอกอาณาเขตของเมืองตนเองนั้นเคยมีการส่งออกไปอยู่หลายครั้ง หลายหน เช่น กรณีที่มีการส่งท้าวอุ่น บุตรชายคนสุดท้องของเจ้ามืดคำดล ออกไปทำราชการที่เมืองขุขันธ์ ไปดำรงตำเเหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ เนื่องจากท้าวอุ่นมีความดีความชอบจากการไปช่วยราชการสงครามรบกับเวียงจันทน์ ซึ่งต่อมา ท้าวอุ่นได้เป็นที่ พระยารัตนวงศา เจ้าเมืองศรีสะเกษคนเเรก ในเวลาต่อมา หรือกรณีท้าวบุญจันทน์ลูกหลานของเจ้าจารย์เเก้วสายหนึ่ง ที่ถูกส่งไปทำราชการที่เมืองรัตนบุรี ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ พระศรีนครชัย เจ้าเมืองรัตนบุรีคนที่ 2 เเทนพระศรีนครเตาท้าวเธอ เจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า เป็นต้น ภายหลังเพี้ยเมืองเเพนจึงได้ไปมีครอบครัวที่นครหลวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นที่ที่ตนได้ทำราชการอยู่ ต่อมาในช่วงที่นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพจากกรุงธนบุรีรุกรานเเละกำลังจะถูกยึด เพี้ยเมืองเเพนจึงได้เเยกจากครอบครัวของตนอพยพลี้หนีภัยกลับมาพำนักที่ถิ่นฐานเดิมซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของตน อย่างเมืองท่งศรีภูมิหรือเมืองสุวรรณภูมิ เเล้วจึงกลับมาทำราชการเป็นกรมการเมืองสุวรรณภูมิตามเดิม ก่อนที่ต่อมาจะขอเเยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งเมืองขึ้นใหม่เป็นเมืองขอนเเก่น ในเวลาต่อมา

อนิจกรรม[แก้]

เพียเมืองแพนปกครองเมืองขอนแก่นนาน 22 ปีจึงถึงแก่อนิจกรรม ท้าวจามผู้บุตรรับตำแหน่งพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมือง เนื่องจากบ้านบึงบอนตั้งใกล้ชิดเมืองชลบถจึงย้ายเมืองไป ณ ดอนพันชาติหรือดงพันชาติปัจจุบันคือบ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ทายาท[แก้]

เพียเมืองแพนมีบุตรธิดา 3 (หรือ 5) ท่านคือ

  • เจ้านางคำแว่น (ท้าวเสือ) พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 ไม่มีพระราชโอรสพระราชธิดา
  • พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวจาม) เจ้าเมืองขอนแก่นลำดับ 2 มีบุตรธิดา 7 ท่านคือ
    • พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอินหรืออินธิวงศ์) หรือเจ้าศพทุ่ง เจ้าเมืองขอนแก่นลำดับ 3 มีบุตรธิดา 6 ท่านคือ
      • ท้าวราชวงศ์ (ไม่ปรากฏนาม ถึงแก่กรรมแต่หนุ่ม)
      • ท้าวผู้ช่วย (ไม่ปรากฏนาม ถึงแก่กรรมแต่หนุ่ม)
      • พระพิทักษ์สารนิคม (ท้าวหนูหล้าหรือท้าวหล่า) ปลัดเมืองขอนแก่น ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นลำดับ 2 ต้นสกุลสุนทรพิทักษ์และอุปฮาด มีภริยา 2 ท่านและมีบุตรธิดา 4 ท่านคือ ท้าวกาว (ไปอยู่เมืองกาฬสินธุ์ เกิดแต่ภริยาท่านแรก) นายโจม สุนทรพิทักษ์ ร.ต.ต. เหรียญ สุนทรพิทักษ์ นายเขียน สุนทรพิทักษ์ (3 ท่านหลังเกิดแต่ภริยาท่านที่ 2)
      • ไม่ทราบนาม (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์)
      • นางแท่ง
      • นางสอน
    • ท้าวมุ่ง หรือเจ้าศพกกกระบก รักษาการเจ้าเมืองขอนแก่น มีบุตรธิดา 4 ท่านคือ[60] ท้าวราชวงศ์ ท้าวอุ่ม นางเผือก และนางก้อม
    • นางน้อย สมรสกับเพียวรบุตรกรมการเมืองขอนแก่นบุตรเพียเมืองแพน มีบุตรธิดา 5 ท่านคือ
      • ท้าวศรีธน หรือญาพ่อท้าวเพชร
      • พระยานครศรีบริรักษ์บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (ท้าวอู๋หรืออุ ต้นสกุลนครศรีบริรักษ์) เจ้าเมืองขอนแก่นลำดับสุดท้ายและผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นท่านแรก[61] ภายหลังลาออกจากราชการ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจางวางกำกับราชการเมืองขอนแก่น มีภริยาหลายท่านและมีธิดาเพียง 1 ท่านคือ นางปทุมเทวา นครศรีบริรักษ์ (นางประทุม นครศรีฯ) เกิดแต่ยาแม่ทา สมรสกับนายทองดี เศรษฐภูมิรินทร์ มีบุตรธิดา 1 ท่านคือ ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์[62]
      • นางสุ่ย
      • นางคำผิว
      • นางสีดา
    • ท้าวอุ่น
    • นางบุญทัน ผู้เลี้ยงดูพระยานครศรีบริรักษ์บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (ท้าวอู๋)
    • ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์)
    • ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่เยาว์)
  • เพียวรบุตร กรมการเมืองขอนแก่น สมรสกับนางน้อยธิดาพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอิน)
  • ท้าวพาม[63]
  • ธิดาไม่ปรากฏนาม หม่อมของพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวคำบ้งบ้างว่าคำบังหรือคำบุ่ง) เจ้าเมืองขอนแก่น มีบุตรธิดา 2 ท่านคือ
    • อุปฮาด (ท้าวสุวัณ) เมืองขอนแก่น มีบุตร 1 ท่านคือ
      • ราชบุตร (ท้าวจันทชมภู) เมืองขอนแก่น
    • ราชวงศ์ (ท้าวจันสีสุราช) เมืองขอนแก่น

อนุสาวรีย์[แก้]

ชาวขอนแก่นพร้อมกันสร้างอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 ณ ทิศเหนือริมบึงแก่นนคร[64] บริเวณสนาม เจ ซี (เดิม) ข้างสถานีโทรทัศน์ช่อง 11[65][66] อนุสาวรีย์อีกแห่งประดิษฐาน ณ วัดธาตุ (พระอารามหลวง) โดยจารึกนามยศว่าพระยาศรีนครบริรักษ์

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 อักษร ข-จ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (กรุงเทพฯ: กองธรรมศาสตร์และการเมือง, 2545), หน้า 9.
  2. เอกสาร ร.5 ม.2. 12ก/1 (92). ใบบอกเมืองขอนแก่น เขียนที่ว่าราชการเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิม. 28 เมษายน ร.ศ. 109.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ: ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2517, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, 2517), หน้า 190.
  4. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542), หน้า 265.
  5. จารุบุตร เรืองสุวรรณ, ของดีอีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2520), หน้า 47.
  6. เติม สิงหัษฐิต, "บทที่ 55 ข้าหลวงเทศาภิบาล" ใน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง เล่มสอง, (พระนคร: คลังวิทยา, 2499), หน้า 364.
  7. ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์: อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ ณ เมรุวัดหนองแวง เมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2508, (ขอนแก่น: ม.ป.พ., 2508), หน้า เชื้อสายตระกูลนครศรีบริรักษ์ (อดีตเจ้าเมืองขอนแก่น).
  8. บริษัทมงคลการพิมพ์และโฆษณา จำกัด, ขอนแก่น: Contributed articles on the cultural aspects of Khon Kaen Province, Thailand, (ขอนแก่น: บริษัทมงคลการพิมพ์และโฆษณา จำกัด, 2529), หน้า 37.
  9. หลักฐานฝั่งเมืองหนองคายเข้าใจว่าเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ถูกตั้งเมื่อสมัย ร. 3 มีพระวิชิตหงษ์พิไสยบุตรพระปทุมเทวาภิบาลเจ้าเมืองหนองคายเป็นเจ้าเมืองท่านเเรกโดยขึ้นกับเมืองหนองคาย ขณะนั้นเวียงจันทน์ไม่ได้คงความเป็นเมืองเนื่องจากถูกทัพสยามทำลายเเละยุบอาณาจักรลง เป็นเมืองร้างขึ้นตรงต่อหนองคายเช่นเดียวกับธุรคมหงษ์สถิตย์ อาจเป็นไปไม่ได้ที่เพี้ยเมืองเเพนจะมาจากเมืองธุรคมเเละเคยเป็นกรมการเมืองหรือเป็นเชื้อเจ้าเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ หากอิงตามการอพยพออกจากกำเเพงนครเวียงจันทน์ก็อาจไม่ได้เป็นเชื้อกษัตริย์หรืออาจเป็นเชื้อสายขุนนางเวียงจันทน์ชั้นผู้น้อยที่ส่งบุตรสาวไปเป็นนางกำนัลหรือบาทจาริกาเเก่กษัตริย์ลาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของขุนนางเพื่อประโยชน์ทางตำเเหน่งการเมือง
  10. ตำแหน่งเพียเมืองแพนคือกรมการหรือขื่อบ้านขางเมืองผู้ช่วยอาญาสี่, สำนักราชเลขาธิการ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ร.ศ. 111 เล่ม 1-3: งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 19 เมษายน 2550, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2550), หน้า 456.
  11. อำพร สมอาษา, พระปลัด, ตำราอีสาน ตำนานร้อยเอ็ด, (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2543), หน้า 44.
  12. ทายาทบุตรหลานสายอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าจารย์แก้วเห็นว่าเพียเมืองแพนสืบเชื้อสายเจ้านายลาวจากเจ้าจารย์เเก้วผู้ตั้งเมืองท่งศรีภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)
  13. ประมวล พิมพ์เสน, สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมนำเที่ยวขอนแก่น, (ขอนแก่น: หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น, 2540), หน้า 10.
  14. เวนิสา เสนีวงศ์ฯ, เจ้าจอมสยาม, (กรุงเทพฯ: บริษัท ไพลินบุ๊คเน็ต จำกัด (มหาชน), 2560), หน้า 45-47.
  15. เอนก นาวิกมูล, เจ้านายชาวสยาม (Siamese nobilities), (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2550), หน้า 166, 185-186.
  16. ดูรายละเอียดใน จรัสพรปฏิภาณ, พระองค์เจ้าชาย กรมหมื่นจรูญโรจน์เรืองศรี, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์ พูนเรืองศรี วัชรีวงศ์ เป็นกรณีพิเศษ: ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 14 กันยายน 2542, อนุวิทย์ วัชรีวงศ์, หม่อมราชวงศ์ (บรรณาธิการ), (กรุงเทพฯ: วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, 2542), 155 หน้า.
  17. เดิมเพียเมืองแพนนำธิดาไปถวายเป็นนางข้าหลวงเจ้านางเขียวค้อม (เขียวค่อม) พระขนิษฐา (น้องสาว) ของสมเด็จพระเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ราว พ.ศ. 2321 (จ.ศ. 1140), ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์: อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ ณ เมรุวัดหนองแวง เมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2508, หน้า 2.
  18. พงศาวดารเมืองน่าน (เชียงใหม่ : ธนุชพริ้นติ้ง (โรงพิมพ์ดาว), ๒๕๔๓) น. ๖๒
  19. พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) (กรุงเทพฯ : ศรีหงส์, ๒๔๓๒) น. ๘-๙
  20. จดหมายพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๒๓ (กรุงเทพ : กรมศิลปากร , ๒๔๒๐
  21. https://siam.wiki/content/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%20(%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%A1%E0%B8%B2%20%E0%B8%93%20%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2)/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%A3.html
  22. เอกสารบางแห่งระบุว่าเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโหล่นเป็นหลานเจ้าแก้วบูฮมหรือเจ้าแก้วมงคลหลังเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นได้เลื่อนเป็นพระยานครบริรักษ์เจ้าเมือง, อุดม บัวศรี และคณะ, เที่ยวอีสาน: เรียบเรียงโดยย่อยจากผลงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับข้อมูลและวิธีการจากเอกสารอื่น, เรียบเรียงโดยธวัช ปุณโณทก, (ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนโดย องค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID), 2532), หน้า 99. และ ดูรายละเอียดใน ชิน อยู่ดี, โบราณวัตถุสถานทั่วพระราชอาณาจักร: จอมพล ป.พิบูลสงคราม โปรดให้พิมพ์ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2500), 393 หน้า. และ สำนักงานจังหวัดขอนแก่น กระทรวงมหาดไทย, ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดขอนแก่น, (กรุงเทพฯ: จินดาสาดาของส์น, 2529).
  23. รุ่งอรุณ ทีฆชุณหเถียร และวิไลวรรณ สมโสภณ, "คำลงท้ายในภาษาถิ่นจังหวัดขอนแก่น", รายงานการวิจัย, (ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2531), หน้า 19.
  24. สิริกุล พิชัยจุมพล และคณะ, แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน, (กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534), หน้า 31.
  25. บึงบอนบ้านดอนพยอมเมืองเพี้ยปัจจุบันตื้นเขินเป็นที่นาแต่มีต้นบอนขึ้นอยู่จำนวนมาก วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่, ข้อมูลจังหวัด อำเภอ: ข้อมูลประวัติจังหวัดขอนแก่น, (ขอนแก่น: วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่, ม.ป.ป.), หน้า 82-83.
  26. ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง: งานค้นคว้าวิจัยระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการรวมกลุ่มทางการเมืองของ ส.ส.อีสาน พ.ศ. 2476-2494, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546), หน้า 56.
  27. ดูรายละเอียดใน ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, ประวัตติศาสตร์ท้องถิ่น, (ขอนแก่น: โครงการผลิตเอกสารทางวิชาการ สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2548), 176 หน้า.
  28. บ้างว่าอพยพสู่ลาวฝั่งขวาเมื่อ พ.ศ. 2318 (จ.ศ. 1137), ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์: อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ ณ เมรุวัดหนองแวง เมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2508, หน้า 2.
  29. เพียเมืองแพนอพยพมาอยู่ลาวฝั่งขวาหลังเจ้าพระวอเจ้าพระตาอพยพมาอยู่เมืองหนองบัวลุ่มภูราว 3 ปี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
  30. พิสิฏฐ์ บุญไชย, "ศักยภาพการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร: การศึกษาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยใช้ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ GIS, จังหวัดขอนแก่น", รายงานการวิจัย, (มหาสารคาม: โครงการตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสาร ปีงบประมาณ 2548 ธันวาคม 2548 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2548), หน้า 8.
  31. บ้างว่าบ้านดอนกระเทียม, ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ, รักเมืองไทย เที่ยวเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สยาม, 2523), หน้า 243.
  32. อำพัน กิจงาม และคณะ, ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสาน, นิติ แสงวัณณ์ และคณะ, คณะบรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2531), หน้า 136.
  33. เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล, ลาว จากกรุงศรีสัตนาคนหุตสู่ สปป.ลาว: พลิกหน้าประวัติศาสตร์ร้าวลึกของประเทศบ้านพี่เมืองน้อง, (กรุงเทพฯ: เพชรประกาย, 2558), หน้า 148.
  34. กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 9: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2553), หน้า 466.
  35. สันนิษฐานว่าเจ้านางเขียวค้อมหมายถึงเจ้านางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีศรีกษัตริย์หรือเจ้าองค์นาง ดูรายละเอียดใน "พงศาวดารเมืองยโสธร", ใน กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 เรื่อง เมืองนครจำปาศักดิ์: พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2484, (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2484), หน้า 138-139., สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง), ประวัติศาสตร์ลาว (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ), แปลเป็นภาษาไทยโดย สมหมาย เปรมจิตต์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), 2539), หน้า 151. และ ศิลา วีระวงศ์, มหา (เรียบเรียง), พงศาวดานลาว, (เวียงจันทน์: สำนักงาน ส.ธรรมภักดี, 2496), หน้า 161.
  36. สุวิทย์ ธีรศาศวัต, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน 2488-2544, (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2546), หน้า 38.
  37. ปัจจุบันคือบ้านเมืองเก่า, กฤษณา สินไชย, แดนดินถิ่นไทย: ชื่อบ้านนามเมือง, (กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, 2545), หน้า 33.
  38. นรวัฒน์ จอมสุวรรณ, "ขอนแก่นเมืองหมอแคนฉลอง 200 ปีสุดยอด", ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร. เลขทะเบียน 3871, ไทยโพสต์ (พฤศจิกายน 2539): 9 (1).
  39. กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดารภาค 4 และประวัติท้องที่จังหวัดมหาสารคาม: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสารคามมุนี (สาร ภวภูตานนท์) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม 8 มีนาคม 2506, (พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2506), หน้า 43.
  40. "ระบบฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น". kk.mcu.ac.th.
  41. พิสิฐ วิสิฏฺฐปญฺโญ, พระมหา, "คุณค่าของพระธาตุเจดีย์ที่มีต่อวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม", Journal of Buddhist Education and Research มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562): 248.
  42. สุมิตราไอยรา, "พฤติกรรมและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีต่อวัดพระมหาธาตุแก่นนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น", วิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2561): 59
  43. รายสมชื่น ฮอนซา จูเนียร์, "ภูมิหลังและคติชนวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญของชุมชนเมืองรอบบึงแก่นนคร", สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2545): 56-57.
  44. ทศพล จังพานิชย์กุล, บรรณาธิการ, พระพุทธรูป: มรดกล้ำค่าของเมืองไทย (Buddha images Thailand's precious heritage, (กรุงเทพฯ: คอมม่า, 2546), หน้า 265.
  45. ตำนานความสัมพันธ์เกี่ยวกับพระลับและภูมินามสถานที่สำคัญอื่น ๆ ดูรายละเอียดใน ภราดร รัตนกุล (เรียบเรียง), ศิลปแห่งลุ่มแม่น้ำโขง: ตำนานอิทธิฤทธิ์ ปราบฮ่อ อินโดจีน ฯลฯ, ธีระชัย ธนาเศรษฐ, บรรณาธิการ, (กรุงเทพฯ: ธีรกิจ (ประเทศไทย) จำกัด, 2537), หน้า 17.
  46. หอพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น, ประวัติพระลับ: พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น, ปรับปรุงโดยบูชิตร์ โมฆรัตน์, (ขอนแก่น: โครงการ KM หอพุทธศิลป์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น, 2553), หน้า 1 (อัดสำเนา).
  47. ไตรเทพ ไกรงู, "หลวงพ่อพระลับวัดธาตุฯ พระคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น: ท่องไปในแดนธรรม", คมชัดลึก (22 พฤศจิกายน 2556): 1.
  48. หอพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น, ประวัติพระลับ: พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น, หน้า 1 (อัดสำเนา).
  49. หลักฐานบางแห่งระบุว่าเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นใน พ.ศ. 2335, อาริยานุวัตร เขมจารี, พระ, เหล่ากอเมืองปฐมอีสาน (เมืองทุ่งศรีขรภูมิ): 2 กรกฎาคม 2526, (มหาสารคาม: ม.ป.พ., 2526), หน้า 5-6. (อัดสำเนา)
  50. อนุชิต สิงห์สุวรรณ, "ประวัติศาสตร์นิพนธ์อีสาน พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นทศวรรษ 2520", วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553), หน้า 151-152.
  51. ประมวล พิมพ์เสน, บันทึกประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น: เปิดเผยหลักฐานข้อมูลการตั้งเมืองขอนแก่น วิวัฒนาการของเมืองขอนแก่น เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ วิชาท้องถิ่นของเรา เหมาะสำหรับชาวขอนแก่น และประชาชนผู้สนใจทุกท่าน, จัดพิมพ์โดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนกัลยาณวัตร, (ขอนแก่น: พระธรรมขันต์, 2541), หน้า 91-94.
  52. เอกสาร ร.5 ม.2. 12ก/1 (92). ใบบอกเมืองขอนแก่น เขียนที่ว่าราชการเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิม. 28 เมษายน ร.ศ. 109.
  53. ขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ), พระยา, พงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของ พระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ): พิมพ์ในงานปลงศพ นางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกศ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2472, จัดพิมพ์โดยจรูญชวนะพัฒน์, พระ, (พระนคร: ศรีหงส์, 2472), หน้า 13.
  54. ประยูร พรหมสาขา ณ สกลนคร (ผู้จัดพิมพ์), ตำนานพระธาตุเชิงชุมจังหวัดสกลนคร เรียบเรียงโดย ขุนถิระมัยสิทธิการ (กู่แก้ว พรหมสาขา ณ สกลนคร) และพงศาวดารภาคอีสาน ฉบับของ พระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด): พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเปลี่ยน ถิระมัยสิทธิการ (เปลี่ยน พรหมสาขา ณ สกลนคร) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 2 มิถุนายน 2509, (พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2509), หน้า 43.
  55. บ้างว่า จ.ศ. 1155, กรมศิลปากร, ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 2, (พระนคร: ก้าวหน้า, 2507), หน้า 172.
  56. อมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร), หม่อม, (2458). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ภาคที่ 1: คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร. 4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458", วิกิซอร์ซ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%[ลิงก์เสีย] [8 ธันวาคม 2563]., อ้างใน โบราณคดีสโมสร, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4: อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร. 4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458, (กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร ถนนราชบพิธ, 2458).
  57. เนื้อหาเอกสารบางส่วนคงอ้างจากหนังสือโครงกระดูกในตู้ของหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นเอกสารชั้นรองในลักษณะมุขปาฐะเช่นกัน, ดูรายละเอียดใน คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว., โครงกระดูกในตู้, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544), หน้า 11-19.
  58. ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์: อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ ณ เมรุวัดหนองแวง เมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2508, หน้า 7-9.
  59. ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ เห็นว่า จ.ศ. 1151 (พ.ศ. 2332) คือศักราชตั้งเมืองขอนแก่นที่ถูกต้อง ส่วน จ.ศ. 1159 (พ.ศ. 2340) ในชุมนุมพงศาวดาร (ประชุมพงศาวดาร) ภาค 4 คลาดเคลื่อน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
  60. บ้างระบุว่าท้าวมุ่งหรือมุงได้เป็นพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่นที่บ้านโนนทันเดิมและมีพี่น้อง 3 ท่านคือ ราชบุตร์ (ท้าวคำพาง) พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอิน) เจ้าเมืองขอนแก่น และสตรีไม่ปรากฏนามซึ่งสมรสกับกับท้าวขัติยะ ทั้งหมดเป็นบุตรธิดาพระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) เจ้าเมืองขอนแก่น นอกจากนี้เพียเมืองแพนยังมีหลานนามว่าพระราชวงษาต่อมาเลื่อนเป็นราชวงศ์เมืองขอนแก่นซึ่งไม่ทราบว่าเกิดจากบุตรธิดาท่านใด
  61. วีรวัลย์ งามสันติกุล (บรรณาธิการ), ศุภวัฒย์-ศุภวาร จุลพิจารณ์: ข้อเขียนเพื่อแสดงมุทิตาจิตในโอกาสที่ พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี มีอายุครบ 6 รอบ ในพุทธศักราช 2547, (กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), หน้า 17.
  62. ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ เกิดวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 เกิดที่จวนเจ้าเมืองขอนแก่น ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สมรสกับวิรัตน์ แซ่บู๊ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 มีธิดา 1 ท่านคือ รองศาสตราจารย์ รัชนีบูล เศรษภูมิรินทร์ ถึงแก่กรรมวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2545 เวลา 09.58 น. ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อายุ 82 ปี, ดูรายละเอียดใน ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์ อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) บันทึกโดย ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณตาทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ ณ เมรุวัดหนองแวงพระอารามหลวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2545, (ขอนแก่น, ม.ป.ป., 2545).
  63. ทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์, ประวัติต้นตระกูลพระยานครศรีบริรักษ์: อดีตผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น (เจ้าเมืองขอนแก่น) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ ณ เมรุวัดหนองแวง เมืองเก่า จังหวัดขอนแก่น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2508, หน้า ประวัติ คุณแม่ประทุม นครศรีฯ-เชื้อสายตระกูลนครศรีบริรักษ์ (อดีตเจ้าเมืองขอนแก่น), 1-3, 13-16, 22-28.
  64. หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนกัลยาณวัตร, อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี, (ขอนแก่น: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม, 2562), หน้า 1. (อัดสำเนา)
  65. สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น, ที่มาของจังหวัดขอนแก่น, (ขอนแก่น: สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น ศาลาประชาคมจังหวัดขอนแก่น, 2553), หน้า 1. (อัดสำเนา)
  66. ดูรายละเอียดใน ไม่ปรากฏนาม, ประวัติศาสตร์จังหวัดขอนแก่นและนานาสารคดี (ที่ระลึกในการเปิดอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ (เพียเมืองแพน)), (ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา, 2525).