เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา | |
---|---|
ผู้ประพันธ์ | ไม่ทราบ |
ภาษา | ไทย |
ประเภท | ปูมโหร |
วันที่พิมพ์ | สมัยอยุธยาตอนปลาย |
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นบทร้อยกรองประเภทเพลงยาว มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนายสถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาในอนาคตว่าจะประสบวิบัติภัยนานา โดยคาดว่าประพันธ์ขึ้นราวสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนผู้ประพันธ์ยังไม่อาจระบุตัวได้แน่ชัด
๏ จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา | |
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา | มหาดิเรกอันเลิศล้น |
เป็นที่ปรากฏรจนา | สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน |
ทุกบุรีสีมามณฑล | จบสกลลูกค้าวาณิช |
ทุกประเทศสิบสองภาษา | ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัครนิตย์ |
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิษ | ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์ |
ฝ่ายองค์พระบรมราชา | ครองขัณฑสีมาเป็นสุข |
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก | จึ่งอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี |
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า | เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี |
ทุกนิกรนรชนมนตรี | คหบดีชีพราหมณพฤฒา |
ประดุจดั่งศาลาอาศัย | ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา |
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา | เป็นที่สิเน่หาเมื่อกันดาน |
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ | อาจปราบไพรีทุกทิศาน |
ทุกประเทศเขตขัณฑ์บันดาล | แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ |
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ | เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติขจรจบ |
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นพิภพ | จนคำรบศักราชได้สองพัน |
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย | จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น |
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ | จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ |
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ | อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน |
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ | เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง |
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก | อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง |
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง | ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร |
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี | พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้ |
พระธรณีจะตีอกไห้ | อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม |
ในลักษณ์ทำนายไว้บ่ห่อนผิด | เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม |
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม | มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด |
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น | มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ |
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสาระพัด | เกิดวิบัตินานาทั่วสากล |
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา | จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล |
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน | มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก |
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว | คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์ |
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก | จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย |
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ | นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย |
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย | น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม |
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า | เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม |
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ | เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา |
พระมหากระษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท | ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา |
อาสัตย์จะเลื่องลือชา | พระธรรมาจะตกลึกลับ |
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ | จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ |
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ | สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ |
ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี | ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย |
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป | ผลหมากรากไม้จะถอยรส |
ทั้งแพทยพรรณว่านยาก็อาเพศ | เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด |
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส | จะถอยถดไปตามประเพณี |
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง | สาระพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่ |
จะบังเกีดทรพิษมิคสัญญี | ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน |
กรุงประเทศราชธานี | จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน |
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล | จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย |
จะร้อนอกสมณาประชาราช | จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย |
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย | ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ |
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก | เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ |
แต่สิงห์สารสัตว์เนื้อเบื้อ | นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน |
ทั้งผู้คนสาระพัดสัตว์ทั้งหลาย | จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น |
ด้วยพระกาฬจะมาผลาญแผ่นดิน | จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม |
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว | จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม |
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม | จนสิ้นนามศักราชห้าพัน |
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข | แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์ |
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ | นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ |
จบเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุงแต่เพียงเท่านี้
ข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐาน
[แก้]บทความนี้อาจมีงานค้นคว้าต้นฉบับรวมอยู่ |
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแต่งขึ้นเลียนแบบมหาสุบินชาดก และนิทาน "พยาปัถเวนทำนายฝัน" ชาดกและนิทานดังกล่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุบินนิมิตสิบหกประการของประการของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่ได้ทูลถามคำพยากรณ์จากพระโคตมพุทธเจ้า
เพลงยาวฯ นี้ ปรากฏอยู่ในหนังสือ "อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา" ซึ่งมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา และอดีตอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีทรงบวงสรวงอดีตมหาราชเจ้าที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2459
สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ว่าในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน "นพบุรี" คือเมืองลพบุรี
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในคำนำหนังสือดังกล่าว มีความตอนหนึ่งว่า "...เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา อ้างไว้ข้างท้ายว่าเปนพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพลงยาวนี้มีหลักฐานควรเชื่อแต่ว่าแต่งเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ด้วยในคำให้การของพวกชาวกรุงเก่าที่พม่าจับไปถามคำให้การเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวอ้างถึง แต่ข้อที่ว่าเปนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่มีเขียนอ้างไว้กับเพลงยาว ปลาดอยู่ที่เพลงยาวบทนี้ยังมีผู้ท่องจำกันมาได้แพร่หลายจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เรียกกันว่าเพลงยาวพุทธทำนาย...”
ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ก็มีเรื่องคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้เช่นกัน กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าเสือ มีเนื้อความสั้นกว่าและปรากฏความเป็นร้อยแก้ว ซึ่งสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า เพลงยาวฯ นี้อาจแต่งขึ้นเพื่อใช้ทำลายขวัญกำลังใจสาธารณะอันเป็นจิตวิทยาทางการเมือง เพราะบทกลอนดังกล่าวมีเนื้อความคล้ายกับร่ายของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือที่ทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในปฏิบัติการจิตวิทยาทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาผู้นำในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้ประโยชน์จากบทกลอนดังกล่าวมาอธิบายเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาโดยมีเป้าหมายในทางการเมืองที่ต่างไปจากพระเจ้าเสือ
สรุปก็คือ ถ้าหากว่าเพลงยาวนี้ได้ถูกแต่งในสมัยอยุธยาจริง อาจกล่าวได้ว่า
1. ผู้แต่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีความสามารถในทางโหราศาสตร์หรือทางจิตวิทยาและเป็นนักประพันธ์นำมาผนวกกับเรื่องราวของพุทธทำนายดังกล่าวข้างต้น
2. เพลงยาวฯ นี้อาจใช้เป็นจุดประสงค์ในทางการเมือง
ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การทำนายชะตาบ้านเมืองไปในทางเลวร้ายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายและเป็นการอัปมงคล หากเป็นการแต่งโดยบุคคลธรรมดาก็อาจจะถูกลงโทษสถานหนัก ดังนั้นผู้ที่สามารถทำนายกล่าวอ้างออกมาได้และทำให้ผู้คนยอมรับและจดจำกันได้นั้น ก็ย่อมต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญระดับพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่พระมหากษัตริย์ให้การยอมรับนับถือ
การดำเนิคดีทางกฎหมาย
[แก้]วันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 8 โจทก์ ได้ยื่นฟ้อง น.ส.พรรณิการ์ วานิช จำเลย ในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชน แม้เหตุการณ์กรณีโพสต์เฟซบุ๊กจะเกิดขึ้นในช่วงปลาย พ.ศ. 2556 ถึงต้น พ.ศ. 2557[2] น.ส.พรรณิการ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการประกันตัว ว่า คดีนี้แม้มีการแจ้งข้อหา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แต่จากคำฟ้องของอัยการ ระบุชัดว่า ได้ตีความโพสต์เฟซบุ๊กของตนเอง สร้างความไม่สบายใจและตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน เนื่องจากเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ และได้เพิ่มเติมว่า "ในความเป็นจริงทั้งสองโพสต์เกิดขึ้นในช่วง กปปส. โพสต์หนึ่งเป็นการยกเอาเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยามาทั้งท่อน ซึ่งเพลงยาวนี้เผยแพร่ทั่วไป มีแม้แต่ในหนังสือเรียน..."[3] อย่างไรก็ตาม ในชั้นต้น ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โดยพิจารณาแล้วพบว่า ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตามที่โจทก์ฟ้องได้เลย เพราะทั้งสองข้อความไม่ได้เป็นกรณีที่จำเลยเจตนาจะนำความเท็จมาเผยแพร่ให้ประชาชน และเพลงยาวพยากรณ์ฯ สาธารณชนทั่วไปรับรู้อยู่แล้ว มีการเผยแพร่และตีพิมพ์ทั่วไป[4]
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับชำระครั้งที่ 2 ฉบับโรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2509
- เรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยา ของกรมศิลปากร ฉบับโรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ. 2509
- หนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า โดย อนันต์ อมรรตัย สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ 2544
- บทความ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาโดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
- นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2700 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2549 [1] เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา". www.thaipoet.net.
- ↑ "อัยการสั่งฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 'ช่อ พรรณิการ์' กรณีโพสเฟซบุ๊กวิจารณ์การเมืองสมัย กปปส. ผ่านเพลงยาวพยากรณ์". prachatai.com.
- ↑ "ศาลให้ประกัน "ช่อ" คดีผิด พ.ร.บ.คอมฯ ซัดนำสถาบันฯมาทำลายทางการเมือง". bangkokbiznews. 2022-03-11.
- ↑ "ศาลยกฟ้อง ช่อ พรรณิการ์ ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์หลังโดนดำเนินคดีโพสต์เพลงยาวพยากรณ์พาดพิงสถาบัน". matichon. 2023-05-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-19.