เบเรงเกลาแห่งกัสติยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เบเรนกาเรียแห่งคาสตีล)
เบเรงเกลา
รายละเอียดสมุดภาพในวิหารโตโซส อัลทุสในศตวรรษที่ 13
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยาและโตเลโด
ครองราชย์6 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 1217
ก่อนหน้าพระเจ้าเอนริเกที่ 1
ถัดไปพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3
สมเด็จพระราชินีแห่งเลออน
ระหว่าง1197–1204
พระราชสมภพค.ศ. 1179 หรือ 1180
บูร์โกส
สวรรคต8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1246 (66 พรรษา)
ลัสอูเอลกัส ใกล้กับบูร์โกส
ฝังพระศพลัสอูเอลกัส ใกล้กับบูร์โกส
คู่อภิเษกค็อนราทที่ 2 ดยุกแห่งชวาเบิน
(สมรส 1187; เสียชีวิต 1196)

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน (สมรส 1197; โมฆะ 1204)
พระราชบุตร
ดูรายพระนาม...
ราชวงศ์บูร์กอญของกัสติยา
พระราชบิดาพระเจ้าอันฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยา
พระราชมารดาเอเลนอร์แห่งอังกฤษ
ศาสนาโรมันคาทอลิก

เบเรงเกลา (สเปน: Berenguela มหาราชินี la Grande; ค.ศ. 1179 หรือ 1180 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1246) เป็นสมเด็จพระราชินีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งกัสติยา[1] ในปี ค.ศ. 1217 และสมเด็จพระราชินีแห่งเลออนตั้งแต่ ค.ศ. 1197 ถึง ค.ศ. 1204 ในฐานะพระราชโอรสธิดาพระองค์โตและทายาทโดยสันนิษฐานของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 พระองค์เป็นเจ้าสาวผู้เป็นที่หมายตา และถูกหมั้นหมายกับค็อนราท พระราชฑอรสของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฟรีดริชที่ 1 บาร์บาร็อสซา หลังค็อนราทสิ้นพระชนม์ พระองค์อภิเษกสมรสกับพรญาติ พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน เพื่อรักษาสันติภาพระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งเลออนกับพระราชบิดา ทั้งคู่มีพระราชโอรสธิดาด้วยกันห้าคนก่อนการแต่งงานจะถูกสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงประกาศให้เป็นโมฆะ

เมื่อพระบิดาสวรรคต พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเจ้าเอนริเกที่ 1 ในกัสติยา (พระอนุชา) จนกระทั่งได้สืบทอดตำแหน่งต่อเมื่อพระเจ้าเอนริเกสวรรคต หลายเดือนต่อมาพระองค์ยกกัสติยาให้พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 พระราชโอรส ด้วยความเป็นกังวลว่าความเป็นสตรีจะทำให้พระองค์ไม่สามารถเป็นผู้นำกองทหารของกัสติยาได้ ทว่ายังทรงเป็นที่ปรึกษาคนใกล้ชิดที่สุดที่คอยชี้นำทางการเมือง เจรจาต่อรอง และปกครองในนามพระราชโอรสตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ พระองค์มีส่วนสำคัญในการรวมกัสติยากับเลออนเข้าด้วยกันอีกครั้งภายใต้อำนาจของพระราชโอรส และสนับสนุนความพยายามในการทำเรกองกิสตาของพระราชโอรส ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สถาบันศาสนาและสนับสนุนการเขียนประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ

ต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

เบเรงเกลาพระราชสมภพไม่ในปี ค.ศ. 1179[2][3] ก็ในปี ค.ศ. 1180[3][4] ในบูร์โกส[3] เป็นพระราชธิดาพระองค์โตของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 กับเอเลนอร์แห่งอังกฤษ

ในฐานะพระราชโอรสธิดาพระองค์โตของพระเจ้าอัลฟอนโซกับเอเลนอร์ พระองค์เป็นทายาทหญิงโดยสันนิษฐานของบัลลังก์กัสติยาอยู่หลายปี[5] เหตุเพราะพระอนุชาหลายคนที่ประสูติหลังพระองค์สิ้นพระชนม์หลังการคลอดหรือไม่ก็อยู่ไม่พ้นวัยทารก เบเรงเกลาจึงกลายเป็นคู่ครองผู้เป็นที่หมายตามากที่สุดในยุโรป[5]

การหมั้นหมายครั้งแรกของเบเรงเกลาบรรลุข้อตกลงในปี ค.ศ. 1187 เมื่อค็อนราท ดยุกแห่งโรเทินบวร์คและพระบุตรคนที่ห้าของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 1[6] ต้องการแต่งงานกับพระองค์ ปีต่อมาสัญญาว่าด้วยการแต่งงานได้รับการลงนามในเซลิงเกินชตัท หนึ่งในนั้นคือสินสอดจำนวน 42,000 เหรียญมาราเบดี[6] จากนั้นค็อนราทก็เดินทัพมากัสติยาที่มีการฉลองการหมั้นหมายกันในการ์ริยอนและค็อนราทได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน[7] สถานะของเบเรงเกลาในฐานะทายาทแห่งกัสติยาเมื่อพระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์เป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญาและสัญญาว่าด้วยการแต่งงาน[8][9] ที่ระบุว่าพระองค์จะสืบทอดอาณาจักรต่อจากราชพระบิดาหรือพระอนุชาคนใด ๆ ก็ตามที่ไร้ทายาท[8] ค็อนราทจะได้เป็นเพียงผู้ปกครองร่วมในฐานะพระราชสวามีของพระองค์ และกัสติยาจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ[6]

การแต่งงานไม่ได้ถูกทำให้สมบูรณ์เนื่องจากเบเรงเกลายังเด็ก พระองค์มีพระชนมายุไม่ถึง 10 พรรษา[10] ค็อนราทกับเบเรงเกลาไม่ได้พบเจอกันอีก[11] ในปี ค.ศ. 1191 เบเรงเกลาขอร้องให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงประกาศให้การหมั้นหมายเป็นโมฆะ ภายใต้อิทธิพลของบุคคลที่สามอย่างพระอัยกี อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน ที่ไม่สนใจจะผูกมิตรกับราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟินที่เป็นเพื่อนบ้านของที่ดินศักดินาในฝรั่งเศส[11] เรื่องราวจบลงเมื่อดยุกถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1196[11]

สมเด็จพระราชินีแห่งเลออน[แก้]

เพื่อรักษาสันติภาพระหว่างกัสติยากับเลออน เบเรงเกลาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระญาติลำดับที่หนึ่งที่อยู่ห่างกันหนึ่งขั้น ในบายาโดลิดในปี ค.ศ. 1197[12] ตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบสเปนในเวลานั้น พระองค์ได้ควบคุมปราสาทและที่ดินจำนวนหนึ่งในเลออนโดยตรง[12] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกันกัสติยา

ในปี ค.ศ. 1198 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 เริ่มไม่ยอมรับการแต่งงานด้วยเหตุผลว่าเป็นการร่วมประเวณีกับระหว่างญาติใกล้ชืด สองสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจนถึงปี ค.ศ. 1204[13] แล้วจึงขวนขวายขอการผ่อนผันเพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกัน หนึ่งในนั้นการเสนอเงินก้อนโตให้[14] ทว่าสมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธคำร้องขอนั้น แม้ทั้งคู่จะทำให้พระโอรสธิดาที่มีด้วยกันได้รับการยอมรับว่าเป็นพระราชโอรสธิดาตามกฎหมายได้[15] แต่การแต่งงานก็จบลง เบเรงเกลากลับกัสติยาไปหาพระบิดามารดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1204 และทรงอุทิศตนให้กับการดูแลพระราชโอรสธิดา[15]

ช่วงที่เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ[แก้]

หน้าต่างกระจกสีในอัลกาซาร์แห่งเซโกเบียแสดงภาพของเบเรงเกลากับพระบิดา

แม้จะทรงหมดบทบาทหน้าที่ในการเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเลออน แต่พระองค์ยังคงมีสิทธิ์ในการเรียกเก็บภาษีในที่ดินมากมายที่พระองค์ได้รับมา หนึ่งในนั้นคือซาลามังกาและกัสโตรเบร์เด[16] ที่ทรงยกให้พระเจ้าเฟร์นันโด พระราชโอรส ในปี ค.ศ. 1206[17] ขุนนางจำนวนหนึ่งที่รับใช้พระองค์เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระราชินีติดตามพระองค์กลับไปที่ราชสำนักในกัสติยา[18] สันติสุขที่เกิดขึ้นในช่วงที่พระองค์แต่งงานสูญสิ้นไป และเกิดสงครามขึ้นระหว่างเลออนกับกัสติยาเหนือที่ดินที่อยู่ในการควบคุมของพระองค์ในเลออน[19] ในปี ค.ศ. 1205, 1207 และ 1209 มีการทำสนธิสัญญากันระหว่างอาณาจักรทั้งสอง แต่ละฉบับล้วนขยายอำนาจการควบคุมของพระองค์[20] ในสนธิสัญญาของปี ค.ศ. 1207 และ 1209 เบเรงเกลากับพระราชโอรสได้รับทรัพย์สินที่ดินที่มีความสำคัญตามแนวชายแดน หนึ่งในนั้นคือปราสาทสำคัญ ๆ อย่างบิยัลปันโด[21] สนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1207 เป็นเอกสารเปิดเผยที่เขียนด้วยภาษากัสติยาฉบับเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่[22]

ในปี ค.ศ. 1214 เมื่อพระราชบิดา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 สวรรคต ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระเจ้าเอนริเกที่ 1 พระราชโอรสคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่และพระอนุชาวัย 10 พรรษาของเบเรงเกลา[23] เอเลนอร์ พระราชมารดาของทั้งคู่กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่สวรรคตในอีก 24 วันหลังการสวรรคตของพระราชสวามี[23] เบเรงเกลาจึงกลายเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานอีกครั้งและกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนใหม่[23] ในตอนนี้เองที่การทะเลาะเบาะแว้งภายในเริ่มต้นขึ้น จุดชนวนโดยกลุ่มขุนนาง กลุ่มแรกสุดคือตระกูลลารา[24] ที่บีบให้เบเรงเกลายกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้พิทักษ์ของพระอนุชาให้เคานต์อัลบาโร นุญเญซ เด ลารา[24]

ในปี ค.ศ. 1216 มีการจัดการประชุมสภาในบายาโดลิด โดยมีบุคคลสำคัญของกัสติยาอย่างโลเป ดิอัซที่ 2 เด อาโร, กอนซาโล โรดริเกซ ฆิรอน, อัลบาโร ดิอัซ เด กาเมโรส, อัลฟอนโซ เตเยซ เด เมเนเซส และคนอื่น ๆ ที่ตกลงกันว่าจะสนับสนุนเบเรงเกลา โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือเพื่อต่อกรกับอัลบาโร นุญเญซ เด ลารา[25] ปลายเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ในกัสติยาเป็นอันตรายต่อเบเรงเกลามากขึ้น พระองค์จึงตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ที่ปราสาทเอาติโยเดกัมโปสที่เป็นของกอนซาโล โรดริเกซ ฆิรอน หนึ่งในพันธมิตรของพระองค์ และส่งพระราชโอรสพระเจ้าเฟร์นันโดไปที่ราชสำนักของอดีตพระราชสวามี[25] ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1216 บุคคลสำคัญของกัสติยารวมตัวกันเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันทำให้ตระกูลฆิรอน, เตเยซ เด เมเนเซส และอาโรแตกหักกับอัลบาโร เด ลารา[25]

สมเด็จพระราชินีนาถแห่งกัสติยา[แก้]

สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทันทีเมื่อพระเจ้าเอนริเกสวรรคตในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1217 หลังได้รับบาดแผลที่ศีรษะจากกระเบื้องที่ร่วงตกลงมาขณะกำลังเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ที่พระราชวังของบิชอปแห่งปาเลนเซีย[26] ผู้พิทักษ์ของพระองค์ เคานต์อัลบาโร นุญเญซ เด ลารา พยายามปกปิดความจริง เขานำศพของพระมหากษัตริย์ไปที่ปราสาทตาริเอโก

ข่าวของพระมหากษัตริย์เตือนให้เห็นถึงอันตรายจากอดีตพระสวามีที่จะเกิดขึ้นต่อการครองราชย์ของพระองค์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์แห่งเลออนคือผู้ร่วมบรรพบุรุษเดียวกันที่ใกล้ชิดที่สุดของพระอนุชา จึงน่ากลัวว่าพระมหากษัตริย์แห่งเลออนอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กัสติยาเสียเอง[26] เบเรงเกลาจึงเก็บเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชาไว้และขึ้นครองบัลลังก์อย่างลับ ๆ โดยไม่ให้อัลฟอนโซรู้[26] ทรงเขียนจดหมายถึงพระเจ้าอัลฟอนโซขอให้พระเจ้าเฟร์นันโดมาเยี่ยมพระองค์ และสละราชสมบัติเพื่อหลีกทางให้พระราชโอรส ในวันที่ 31 สิงหาคม[26] ที่ทรงสละราชสมบัติอาจจะเพราะไม่สามารถเป็นผู้นำทางทหารให้กัสติยาที่ในตอนนั้นพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้นำทางทหาร[27]

ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์[แก้]

แม้จะครองราชย์ไม่นาน แต่เบเรงเกลาก็เป็นที่ปรึกษาคนใกล้ชิดที่สุดของพระราชโอรสต่อไป ทรงก้าวก่ายในการเมืองของรัฐ แม้จะเป็นการกระทำในทางอ้อม[28] ในรัชสมัยของพระราชโอรส นักเขียนในยุคนั้นเขียนว่าพระองค์ยังคงมีอำนาจเหนือพระโอรส[28] อาทิ ทรงจัดแจงให้พระราชโอรสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ท (หรือ เบอาตริซ ในภาษากัสติยา) แห่งโฮเอินชเตาเฟิน พระธิดาของดยุกฟิลลิพแห่งชวาเบิน และพระราชนัดดาของจักรพรรดิสองพระองค์ คือ จักรพรรดิฟรีดริช บาร์บาร็อสซา และจักรพรรดิไอแซ็คที่ 2 อันเจลอส[29] พิธีอภิเษกสมรสเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1219 ที่บูร์โกส[29] อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยของเบเรงเกลาที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1218 เมื่อตระกูลลาราเจ้าแผนการที่หัวหน้าตระกูลยังคงเป็นอัลบาโร นุญเญซ เด ลารา อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน วางแผนสมคบคิดจะให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 พระมหากษัตริย์แห่งเลออนและพระราชบิดาของพระเจ้าเฟร์นันโด บุกกัสติยาเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ของพระราชโอรส[29] ทว่าการจับกุมตัวเคานต์ลาราทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเบเรงเกลายื่นมือเข้ามาแทรกแซง พระองค์ทำให้อดีตพระราชสวามีกับพระราชโอรสลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกชั่วคราวโตโรได้ในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1218 ยุติการเผชิญหน้ากันระหว่างกัสติยากับเลออน[29]

ในปี ค.ศ. 1222 เบเรงเกลายื่นมือเข้ามาก้าวก่ายเพื่อพระราชโอรสอีกครั้ง ทรงประสบความสำเร็จในการทำสัตยาบันในการประชุมที่ซาฟรา ซึ่งบรรลุข้อตกลงในการสงบศึกกับพวกลาราด้วยการให้มาฟัลดา พระบิดาและทายาทของลอร์ดแห่งโมลินา กอนซาโล เปเรซ เด ลารา อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซ พระราชโอรสของพระองค์และพระอนุชาของพระเจ้าเฟร์นันโด[30] ในปี ค.ศ. 1224 พระองค์ให้พระราชธิดา เบเรงเกลา อภิเษกสมรสกับจอห์นแห่งบรีแยน กลยุทธ์ที่ทำให้พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 เข้าใกล้บัลลังก์เลออนมากขึ้น เนื่องจากจอห์นเป็นตัวเลือกในใจที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 อยากให้แต่งงานกับพระราชธิดาพระองค์โต ซันชา[31] เบเรงเกลาจึงขัดขวางไม่ให้พระราชธิดาของอดีตพระราชสวามีแต่งงานกับชายที่สามารถอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์เลออนได้[31]

การก้าวก่ายเพื่อพระราชโอรสครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1230 เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซสวรรคตโดยประกาศชื่อให้พระราชธิดา ซันชาและดุลเซ พระราชธิดาจากการแต่งงานครั้งแรกกับตึเรซาแห่งโปรตุเกสเป็นทายาท แทนที่จะยกสิทธิ์ให้กับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3[32][33] เบเรงเกลาไปพบกับพระราชมารดาของเจ้าหญิงทั้งสองและประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาลัสเตร์เซริอัส ที่สองพี่น้องจะสละบัลลังก์ให้พระอนุชาต่างมารดาแลกกับเงินและผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย[33] ทำให้บัลลังก์แห่งกัสติยาและเลออนที่เคยถูกแบ่งออกจากกันในปี ค.ศ. 1157[8] โดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 กลับมารวมกับเป็นหนึ่งอีกครั้งในมือของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3[33] เบเรงเกลาเข้าแทรกแซงอีกครั้งด้วยการจัดแจงให้พระเจ้าเฟร์นันโดแต่งงานครั้งที่สองหลังการสวรรคตของเอลีซาเบ็ทแห่งโฮเอินชเตาเฟิน[34] แม้พระองค์จะมีพระราชโอรสธิดามากมายอยู่แล้ว แต่เบเรงเกลาเป็นกังวลว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้คุณสมบัติในการเป็นพระมหากษัตริย์ลดลง[34] ครั้งนี้พระองค์เลือกฌานแห่งดามาร์แต็ง พระธิดาขุนนางชาวฝรั่งเศส ตัวเลือกที่พระมาตุจฉาของพระมหากษัตริย์และพระขนิษฐาของเบเรงเกลา บลังกา พระมเหสีม่ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8หามาให้[34] เบเรงเกลาทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้ง ทรงปกครองในขณะที่พระราชโอรส พระเจ้าเฟร์นันโด ลงใต้ไปทำการสู้รบเรกองกิสตาอันยาวนาน ทรงบริหารราชการกัสติยาและเลออนด้วยทักษะความสามารถที่พระองค์มี ทำให้พระราชโอรสไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องราชอาณาจักร

การสวรรคต[แก้]

เบเรงเกลาได้พบพระราชโอรสเป็นครั้งสุดท้ายที่โปซูเอโลเดกาลาตราบาในปี ค.ศ. 1245 หลังจากนั้นก็กลับไปโตเลโด[35] สวรรคตในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1246[36] ร่างของพระองค์ถูกฝังที่ลัสอูเอลกัส ใกล้กับบูร์โกส[37]

พระทายาท[แก้]

เบเรงเกลากับพระเจ้าอัลฟอนโซมีพระราชโอรสธิดาด้วยกันห้าคน คือ

  • เลโอนอร์ (ค.ศ. 1198/1199–1202)
  • กอนส์ตันซา (ค.ศ. 1200–1242) แม่ชีที่วิหารลัสอูเอลกัส
  • พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 (ค.ศ. 1201–1252) พระมหากษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออน
  • อัลฟอนโซ (ค.ศ. 1203–1272) ลอร์ดแห่งโมลินาและเมซา แต่งงานครั้งแรกกับมาฟัลดา เด ลารา ทายาทแห่งโมลินาและเมซา แต่งงานครั้งที่สองกับเตเรซา นุญเญซ และครั้งที่สามกับมายอร์ เตเยซ เด เมเนเซส เลดีแห่งมอนเตอาเลเกรและติเอดรา หนึ่งในบุตรธิดาของทั้งคู่คือมาริอาแห่งโมลินา พระมเหสีของพระเจ้าซันโชที่ 4
  • เบเรงเกลา (ค.ศ. 1204–1237) แต่งงานกับจอห์นแห่งบรีแยน พระมหากษัตริย์แห่งเยรูซาเลม

อ้างอิง[แก้]

  1. The full title was Regina Castelle et Toleti (Queen of Castille and Toledo).
  2. de la Cruz 2006, p. 9.
  3. 3.0 3.1 3.2 Martínez Diez 2007, p. 46.
  4. Martínez Diez 2007, p. 46.
  5. 5.0 5.1 Shadis 2010, p. 33.
  6. 6.0 6.1 6.2 Shadis 2010, pp. 55–56.
  7. Flórez 1761, p. 340.
  8. 8.0 8.1 8.2 Shadis 2010, p. 2.
  9. Osma 1997, p. 76.
  10. Shadis 2010, p. 54.
  11. 11.0 11.1 11.2 Shadis 2010, pp. 58–59.
  12. 12.0 12.1 Shadis 2010, pp. 61–66.
  13. Reilly 1993, p. 133.
  14. Howden 1964, p. 79, vol. 4.
  15. 15.0 15.1 Shadis 2010, p. 70.
  16. Shadis 2010, pp. 78–80.
  17. Shadis 2010, pp. 80,83–84.
  18. Shadis 2010, p. 80.
  19. Shadis 2010, pp. 83–84.
  20. Shadis 2010, pp. 78–84.
  21. Túy 2003, p. 324, 4.84.
  22. Wright 2000.
  23. 23.0 23.1 23.2 de la Cruz 2006, p. 112.
  24. 24.0 24.1 Shadis 2010, pp. 86–91.
  25. 25.0 25.1 25.2 Shadis 2010, pp. 93–95.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 Burke 1895, p. 236.
  27. Shadis 2010, pp. 11,15.
  28. 28.0 28.1 Shadis 2010, pp. 15–19.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 Burke 1895, p. 237.
  30. Shadis 2010, p. 109.
  31. 31.0 31.1 Shadis 2010, pp. 111–112.
  32. Shadis 1999, p. 348.
  33. 33.0 33.1 33.2 Burke 1895, p. 238.
  34. 34.0 34.1 34.2 Shadis 2010, p. 108.
  35. Shadis 2010, p. 165.
  36. Burke 1895, p. 239.
  37. Shadis 2010, p. 164.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Burke, Ulick Ralph (1895). A History of Spain from the Earliest Times to the Death of Ferdinand the Catholic. Vol. 1. London: Longmans, Green, and Co. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • de la Cruz, Valentín (2006). Berenguela la Grande, Enrique I el Chico (1179–1246). Gijón: Ediciones Trea. ISBN 978-84-9704-208-6. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Flórez, Enrique (1761). Memorias de las reynas catholicas, historia genealogica de la casa real de Castilla, y de Leon... Vol. 1. Madrid: Marin. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • González, Julio (1960). El reino de Castilla en la época de Alfonso VIII. Vol. 3. Madrid: CSIC. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Howden, Roger (1964). Stubbs, William (บ.ก.). Chronica Magistri Rogeri de Houedene. Wiesbaden: Kraus Reprint. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Martínez Diez, Gonzalo (2007). Alfonso VIII, rey de Castilla y Toledo (1158-1214). Gijón: Ediciones Trea. ISBN 978-84-9704-327-4. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Osma, Juan (1997). "Chronica latina regum Castellae". ใน Brea, Luis Charlo (บ.ก.). Chronica Hispana Saeculi XIII. Turnhout: Brepols. {{cite encyclopedia}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Reilly, Bernard F. (1993). The Medieval Spains. Cambridge University Press. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Shadis, Miriam (1999), "Berenguela of Castile's Political Motherhood", ใน Parsons, John Carmi; Wheeler, Bonnie (บ.ก.), Medieval Mothering, New York: Taylor & Francis, ISBN 978-0-8153-3665-5 {{citation}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Shadis, Miriam (2010). Berenguela of Castile (1180–1246) and Political Women in the High Middle Ages. Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-312-23473-7. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Túy, Lucas (2003). Rey, Emma Falque (บ.ก.). Chronicon mundi. Turnhout: Brepols. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Wright, Roger (2000). El tratado de Cabreros (1206): estudio sociofilológico de una reforma ortográfica. London: Queen Mary and Westfield College. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)