เทือกเขาอะแลสกา

พิกัด: 63°04′10″N 151°00′26″W / 63.06944°N 151.00722°W / 63.06944; -151.00722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทือกเขาอะแลสกา
Alaska Range
ยอดเขาสูงของเทือกเขาอะแลสกา
จุดสูงสุด
ยอดยอดเขาเดนาลี
ความสูง
เหนือระดับน้ำทะเล
20,322 ฟุต (6,194 เมตร)
พิกัด63°04′10″N 151°00′26″W / 63.06944°N 151.00722°W / 63.06944; -151.00722
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์
ประเทศสหรัฐ สหรัฐอเมริกา
รัฐอะแลสกา
ติดต่อกับเทือกเขาชายฝั่งแปซิฟิก
ข้อมูลทางธรณีวิทยา
อายุหิน25 ล้านปี
ประเภทภูเขาหินอัคนีระดับลึกพวกหินแกรนิต

เทือกเขาอะแลสกา (อังกฤษ: Alaska Range) เป็นแนวเทือกเขารูปโค้ง มีความยาวประมาณ 750 กิโลเมตร[1] ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ทิวเขานั้นกินพื้นที่ตั้งแต่ชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบคลาร์ก ไปจนถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแม่น้ำไวท์ในดินแดนยูคอนของประเทศแคนาดา

ยอดเขาเดนาลีซึ่งถือว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือก็ตั้งอยู่ในเทือกเขานี้ โดยเทือกเขาอะแลสกามีพื้นที่ธารน้ำแข็งทั้งหมดประมาณ 13,900 ตารางกิโลเมตร[1]

ด้วยความสูงประมาณ 6,194 เมตร ทำให้เทือกเขาอะแลสกาจัดได้เป็นเทือกเขาที่สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก[2]

ธรณีวิทยา[แก้]

ผลจากการทำแผนที่ธรณีวิทยาพื้นผิว (Mapped surface geology), ข้อมูลทางธรณีฟิสิกส์ และ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของหินในบริเวณเทือกเขา ทำให้ Paul Fitzgerald และเพื่อนร่วมงานของเขาสรุปว่า การยกตัวและการเปลี่ยนรูปของเทือกเขานั้นเริ่มต้นเมื่อประมาณ 25 ล้านปีก่อน จากการที่แผ่นธรณียาคุทัต (Yakutat microplate) เข้ามาชนกับแผ่นอเมริกาเหนือ[3]

นักวิทยาศาสตร์ทราบว่ายอดเขาเดนาลีนั้นสูงขึ้นประมาณ 0.5 มิลลิเมตรต่อปี นั่นอาจดูเหมือนไม่มาก แต่ในอัตรานั้น ยอดเขาจะสูงขึ้น 1 กิโลเมตรในอีกสองล้านปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ สำหรับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยา และองค์ประกอบของมันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดเขาเดนาลีสูงขึ้นอย่างมาก เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีจำพวกหินแกรนิตเป็นส่วนมาก ซึ่งสร้างจากแมกมาใต้ผิวโลก และเป็นส่วนหนึ่งของหินอัคนีมวลไพศาล[4]

เทือกเขาอะแลสกาเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนไฟและรอยเลื่อนเดนาลี อยู่บริเวณตามขอบแผ่นดินทางใต้ของรัฐอะแลสกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง และยังมีภูเขาไฟสเพอร์ (Mount Spurr) เป็นหนึ่งในภูเขาไฟแบบกรวยสลับชั้นตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาอีกด้วย

รายละเอียด[แก้]

คนหลายคนกล่าวไว้ว่าเทือกเขาอะแลสกาเป็นเทือกเขาที่หนาวเย็นที่สุดจากการที่มีจุดยอดจำนวนมาก บวกกับการที่เทือกเขานั้นตั้งอยู่ละติจูดที่ 63 องศาเหนือ หากนำมาเทียบกับยอดเขาเอเวอเรสต์ที่มีความสูงประมาณ 8,847 เมตร ตั้งอยู่ที่ละติจูด 28 องศาเหนือ ปรากฏว่าเทือกเขาอะแลสกานั้นอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือถึง 3,862 กิโลเมตร ทำให้สร้างความแตกต่างทางอุณหภูมิอย่างมาก

ทางด้านการกัดเซาะนั้น ส่วนมากเกิดจากธารน้ำแข็ง และเป็นส่วนน้อยที่เกิดจาก น้ำ ลม และแรงโน้มถ่วง การกัดเซาะจะพาชิ้นส่วนที่ถูกกัดเซาะไปด้วยไม่มากก็น้อย ขึ้นกับการกัดเซาะนั้น ๆ [4]

แม่น้ำที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขานี้ เช่น แม่น้ำนาเบสนา, แม่น้ำสุสิตนา, แม่น้ำแมกคินลีย์ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา. Alaska Range. (pubs.usgs.gov). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2565
  2. World Atlas. The World's Tallest Mountain Ranges. (worldatlas.com). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2565
  3. Enslin, Rob. 19 พฤศจิกายน 2557. Geologists Shed Light on Formation of Alaska Range. (news.syr.edu). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2565
  4. 4.0 4.1 Denali National Park & Preserve. 14 กันยายน 2564. The Alaska Range and Denali: Geology and Orogeny. (nps.gov). สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2565