เทียนทะเล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทียนทะเล
พุ่มต้นเทียนทะเล (Pemphis acidula) บนหาดของเกาะเรอูนียง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: อันดับชมพู่
วงศ์: วงศ์ตะแบก
สกุล: Pemphis
J.R.Forst & G.Forst
สปีชีส์: Pemphis acidula
ชื่อทวินาม
Pemphis acidula
J.R.Forst & G.Forst
ชื่อพ้อง
  • Macclellandia griffithiana Wight
  • Melanium fruticosum Spreng.
  • Melanium rupestre Zipp.
  • Millania rupestris Zipp. ex Bl.
  • Pemphis angustifolia Roxb.
  • Pemphis setosa Blanco

เทียนทะเล หรือ เทียนเล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pemphis acidula J.R. Forst & G. Forst) ในภาษาอังกฤษรู้จักกันในชื่อ Bantigue (อ่านว่า bahn-tee-geh ) หรือ Mentigi เป็นพืชดอกในวงศ์ Lythraceae เป็นพืชทนเค็ม พบได้ทั่วไปตามแนวป่าชายเลน ในเขตร้อนแถบ อินโด-แปซิฟิกที่เติบโตบนชายฝั่งหิน เทียนทะเล ถูกจำแนกเป็นเพียงสปีชีส์เดียวในสกุล Pemphis มานาน (โดยมีการอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2318) จนเรียกได้เป็นชนิดต้นแบบ ของสกุล Pemphis [2] กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่าน่าจะนี้มีอย่างน้อยอีกหนึ่งชนิดพันธุ์[3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เทียนทะเล (Pemphis acidula) จัดเป็นไม้ชนิดเดียวในสกุล Pemphis ที่พบในประเทศไทย[4] เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 8 เมตร แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 11 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม แตกกิ่งแขนงจำนวนมาก ลำต้นมักบิดงอเนื่องมาจากแรงลม บางครั้งพบลำต้นมีลักษณะเลื้อย แคระ สูงเพียง 15 เซนติเมตร[4] และต้นที่มีอายุมากผิวของลำต้นมักแห้งตายเป็นหย่อม 

ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ใบขนาดเล็ก ค่อนข้างอวบน้ำ

ดอกสีขาวออกตามซอกใบ กลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกรูปขอบขนาน[4] ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยปากแตรสีเขียว บางครั้งปนแดง

ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วและสามารถสร้างรากและตาใหม่ได้เร็วมาก มักเริ่มออกดอกและออกเมล็ดเมื่อสูงประมาณ 1–4 เมตร

การแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่[แก้]

เทียนทะเล (P. acidula) เป็น พืชทนเค็ม (halophyte) พุ่มไม้ที่พบได้ตามแนวชายฝั่ง ในเขตร้อนแถบอินโด-แปซิฟิก เป็นไม้พุ่มที่เจริญเติบโตในดินทราย ดินเหนียว และหินปูนของ โซนฝั่งทะเล ของ มหาสมุทรอินเดีย และตะวันตกและภาคกลางของ มหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ยังพบในแนวป่าชายเลน (ป่าโกงกาง)[5]

ในประเทศไทยพบได้ในป่าชายเลนตามป่าชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ผ่านมาผู้คนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและบอนไซ[4]

แต่ในบางพื้นที่พบว่ามีจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก เนื่องจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยรุกรานพื้นที่ป่าธรรมชาติ และที่เร่งการสูญพันธุ์คือการขุดไปค้าขายทำบอนไซ

การใช้ประโยชน์[แก้]

บอนไซเทียนทะเล

เทียนทะเลมีประโยชน์สำหรับการป้องกันชายฝั่งจากลมที่มีความแรง และเป็นพืชที่แข็งแรง ในเวลาเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นได้ดีมาก[4]

เนื้อไม้ของเทียนทะเลเป็นไม้เนื้อแข็ง มีคุณค่าตามประเพณีในหลายวัฒนธรรม จากความแข็ง น้ำหนักมาก ทนทานต่อการเน่าและการบิดโก่งตัว (ความแปรปรวนของรูปทรง) เนื่อไม้มีผิวละเอียดตามธรรมชาติและอาจใช้เป็นไม้เท้า เสารั้ว มือจับอุปกรณ์เครื่องมือ และแม้แต่สมอเรือ[6] ในเกาะเรอูนียง และประเทศมอริเชียส เป็นที่รู้จักกันในชื่อ bois matelot [7] ใน มัลดีฟส์ เทียนทะเลถูกใช้ในการต่อเรือแบบดั้งเดิม เป็นโครงเรือและหมุดเพื่อยึดแผ่นไม้ของตัวเรือเข้าด้วยกันตามภูมิปัญญาท้องถิ่น[8] รวมถึง "ตะปูไม้" ในพิธีไสยศาสตร์ท้องถิ่น[9]

เทียนทะเล เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ใช้ในการทำบอนไซ ในพื้นที่เขตร้อนหรือมีอากาศแบบร้อนชื้นและยังทนทานต่อลมแรงเช่น พายุไต้ฝุ่น จึงเป็นบอนไซพบมากที่สุดในฟิลิปปินส์ และยังแพร่กระจายปลูกเป็นบอนไซในไต้หวัน และหมู่เกาะรีวกีว ของญี่ปุ่น[10] เนื่องจากได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบบอนไซจึงเป็นหนึ่งในรายชื่อสายพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในประเภท 'คุกคาม' โดย กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ของฟิลิปปินส์ การรวบรวมการขายและการขนส่ง Pemphis acidula ป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในฟิลิปปินส์และมีโทษปรับและจำคุกไม่เกินหกปี

ในประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่คำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องมาตรการคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเล เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเลไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการลักลอบขุด โดยผู้ที่ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ[11]

ในเกาะ Marovo, ตองกา, ตาฮิติ และหมู่เกาะอื่น ๆ ใน มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ใช้ทำเครื่องมือไม้ เช่น สาก ด้ามเครื่องมือ อาวุธ และหวี[12]

สารสกัดจากเปลือกของเทียนทะเลออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวมากขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งมีการใช้เป็นยาทำแท้งในเกาะวานูอาตู[4]

เปลือกต้นเทียนทะเลมีสารสำคัญคือ แทนนิน เป็นองค์ประกอบร้อยละ 19–43 นำมาใช้ในการฟอกหนัง เปลือกเมื่อนำมาฝนให้สีแดงนำมาเป็นสีย้อมได้

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Ellison J, Koedam NE, Wang Y, Primavera J, Jin Eong O, Wan-Hong Yong J, Ngoc Nam. "Pemphis acidula". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T178838A7622565.
  2. "Pemphis acidula J.R.Forst. & G.Forst". Char. Gen. Pl. (2 ed.). International Plant Names Index. 1776. บรรณลักษณ์ 68, t. 34. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009.
  3. "TPL, treatment of Pemphis". The Plant List; Version 1. (published on the internet). Royal Botanic Gardens, Kew and Missouri Botanical Garden. 2010. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2013.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ต้นเทียนทะเล ไม้คุ้มครอง ที่น่าส่งเสริมให้ปลูก". มติชนสุดสัปดาห์. มูลนิธิสุขภาพไทย. 29 สิงหาคม 2020.
  5. Piggott, C.J. (1961). "Notes on Some of the Seychelles Islands, Indian Ocean" (PDF). Atoll Research Bulletin. 83: 1–10. doi:10.5479/si.00775630.83.1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 กันยายน 2006.
  6. Wim Giesen; Stephan Wulffraat; Max Zieren; Liesbeth Scholten (2006). "Part 2: Description - Trees & shrubs". Mangrove Guidebook for Southeast Asia. Bangkok, Thailand: FAO, Regional Office for Asia and the Pacific; Wetlands International. ISBN 974-7946-85-8. สืบค้นเมื่อ November 21, 2009.
  7. "Pemphis acidula J.R. Forst. & G. Forst., 1775 – Nom pilote : pemphide acidulé". Xycol.net (ภาษาฝรั่งเศส).
  8. "Mangroves trees and shrubs". Food and Agriculture Organization of the United Nations.
  9. Romero-Frias, Xavier (1999). The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom (3rd rev. ed.). Barcelona: Nova Ethnographia Indica. ISBN 84-7254-801-5.
  10. Cheng Cheng-Kung (2007). "Pemphis acidula — A Tropical Classic" (PDF). Bonsai Societies of Florida Magazine (Winter ed.). Cooper City, Florida: Bonsai Societies of Florida (BSF). XXXVIII (4 issue 152). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-01-24. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.
  11. "เจาะลึก 'ต้นเทียนทะเล' ไม้หายาก ราคามหาโหด 'โทษ' ไม่เบา!". กรุงเทพธุรกิจ. 19 สิงหาคม 2020.
  12. Pacific Linguistics 599 (2008). Pawley, Andrew; Osmond, Meredith (บ.ก.). Plants (PDF). Vol. 3. Canberra: Pacific Linguistics, Australian National University. hdl:1885/106908. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]