เติงกูบูเดรียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม เติงกูอิซมาอิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์
รายาประไหมสุหรีอากง
ครองราชย์21 กันยายน 2503 – 20 กันยายน 2508
ราชาภิเษก4 มกราคม 2504
ก่อนหน้าเจอมาอะฮ์ บินตี ราจาอะฮ์มัด
ถัดไปอินตัน ซาฮาราะฮ์ บินตี เติงกูฮีตัม โอมาร์
สมเด็จพระราชินีวิธวาแห่งปะลิส
ครองราชย์16 เมษายน 2543 – 28 พฤศจิกายน 2551
สมเด็จพระราชินีแห่งปะลิส
ครองราชย์19 มกราคม 2489 – 16 เมษายน 2543
ราชาภิเษก12 มีนาคม 2492
ถัดไปเติงกูเฟาซียะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล ราชิด
พระราชสมภพ28 มีนาคม พ.ศ. 2468
กัวลาไกร รัฐกลันตัน อสหพันธรัฐมลายู
สวรรคต28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (83 ปี)
โรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ฝังพระศพ29 พฤศจิกายน 2551
สุสานหลวงปะลิส อาเรา
พระราชสวามีรายาปูตราแห่งปะลิส (พ.ศ. 2484–2543)
พระราชบุตร10 พระองค์
รวม รายาซีราจุดดินแห่งปะลิส
ราชวงศ์ลงยูนุซ (พระราชสมภพ)
จามาลูไลล์ (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดาเติงกูอิซมาอิล บิน ตวนเบอซาร์แห่งปัตตานี
พระราชมารดาเติงกูเบอซาร์ซูไบดะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล กาดีร์
ศาสนาอิสลามนิกายซุนนี

ราจาเปอเริมปวนเบอซาร์ เติงกูบูเดรียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม เติงกูอิซมาอิล[หมายเหตุ ก] (มลายู: Raja Perempuan Besar Tengku Budriah binti Almarhum Tengku Ismail; ยาวี: راج ڤرمڤوان بسر تڠكو بدرية بنت المرحوم تڠكو إسماعيل; 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)[1] เป็นพระอัครมเหสีในรายาปูตราแห่งปะลิส และเป็นรายาประไหมสุหรีอากงพระองค์ที่สามของประเทศมาเลเซีย

พระราชประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้นและการศึกษา[แก้]

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 ณ เมืองกัวลาไกร รัฐกลันตัน เป็นพระธิดาเติงกูอิซมาอิล บิน ตวนเบอซาร์แห่งปัตตานี กับเติงกูเบอซาร์ซูไบดะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือเอกสารไทยเรียก ตนกูซูไบด๊ะ) โดยพระราชชนกเป็นพระโอรสของราจาตวนเบอซาร์ อิบนี ตวนลงปูเตะฮ์ (หรือ ตนกูบือซาร์) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 5 และตวนลงปูเตะ (หรือ ตนกูปูเต๊ะ) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 4 ส่วนพระราชชนนีเป็นพระธิดาของเติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือ ตนกูอับดุลกอร์เดร์กามารุดดีน) เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย[2]

บรรพชนของพระองค์ปกครองเมืองปัตตานีมายาวนาน และเป็นพระญาติวงศ์ห่าง ๆ กับเจ้าผู้ครองรัฐกลันตัน ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกการปกครอง 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2445 โดยให้ข้าหลวงใหญ่ชาวสยามรับผิดชอบเมืองปัตตานีภายใต้การดูแลจากเมืองสงขลา[3] เติงกูอับดุลกาดีร์จึงอพยพครอบครัวลี้ภัยไปยังรัฐกลันตันมาตั้งแต่นั้น

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างเรียบง่าย มีอุปนิสัยส่วนพระองค์สุภาพอ่อนโยน ทรงเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนที่สอนด้วยภาษามลายูเมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนอังกฤษกัวลาไกร แล้วทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีอังกฤษ-จีน เมืองอีโปะฮ์ พระองค์มีความสนพระทัยกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบราวนีและเนตรนารี และทรงเข้าร่วมการชุมนุมเนตรนารีที่แจมโบรี ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2493 นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันและฮอกกี้ นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยด้านการเย็บปักถักร้อย ประกอบพระกระยาหาร จัดดอกไม้ และทรงม้า[4]

อภิเษกสมรส[แก้]

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์อภิเษกสมรสกับรายาปูตราแห่งปะลิส ใน พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ซึ่งขณะนั้นพระราชสวามียังดำรงพระอิสริยยศเป็นรัชทายาทแห่งปะลิส ทั้งสองมีพระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 5 พระองค์ และเป็นพระราชธิดา 5 พระองค์

ครอบครัวของพระองค์ทรงลี้ภัยหลังกองทัพญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการเปิดร้านขายเค้กและร้านขายของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในโกตาบารู หลังญี่ปุ่นปราชัยต่อสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. 2488 พระองค์และครอบครัวประทับรถไฟเพื่อเสด็จกลับรัฐปะลิสจนถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากนั้นทรงโยกรถไฟด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองไปจนถึงสถานีรถไฟบูกิตเกอเตอรี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีรถไฟเปิดให้บริการ[4]

ครั้น พ.ศ. 2488 รายาปูตราแห่งปะลิสขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น รายาแห่งปะลิส และพระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ราจาเปอเริมปวน หรือสมเด็จพระราชินี และใน พ.ศ. 2503 รายาปูตรา และสมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ยังดีเปอร์ตวนอากง และ รายาประไหมสุหรีอากง

สวรรคต[แก้]

สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์เสด็จสวรรคตอย่างสงบขณะบรรทมที่โรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์เมื่อเวลา 03.47 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา[5]

สุลต่านมีซัน ไซนัล อาบีดิน ยังดีเปอร์ตวนอากง และอับดุลละฮ์ อะฮ์มัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนอัญเชิญพระบรมศพจากท่าอากาศยานสุลต่านอับดุลอาซิซชะฮ์ ไปยังท่าอากาศยานอับดุลฮาลิมในอาโลร์เซอตาร์โดยกองทัพอากาศมาเลเซีย จากนั้นได้อัญเชิญหีบพระบรมศพด้วยรถยนต์ไปยังเมืองอาเรา อนุญาตให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จและร่วมไว้อาลัยเพียงหนึ่งชั่วโมง โดยมีสุลต่านและสุลต่านหญิงแห่งเกอดะฮ์เสด็จมาในพิธี ก่อนจะนำหีบพระบรมศพฝังลงในสุสานหลวงในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน[6]

หมายเหตุ[แก้]

หมายเหตุ ก ราชกิจจานุเบกษาระบุพระนามไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีบาดริอาห์ บินติ อับ-มาร์ฮูม เต็งกู อิสไมล์ ราชาประไหมสุหรี อะกง"[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. Perpustakaan Negara Malaysia (2003). "Yang di-Pertuan Agong III". Malaysian Monarchy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2007. สืบค้นเมื่อ 10 December 2006.
  2. จุรีรัตน์ บัวแก้ว (2531). การสำรวจโบราณสถานเบื้องต้นเมืองปัตตานี : ศึกษาเฉพาะกรณีวังจะบังติกอ (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. p. 70.[ลิงก์เสีย]
  3. เกษตรชัย และหีม และคณะ (2547). รายงานการวิจัยเรื่อง การสร้างเว็บ 360 องศา พาโนรามิค วิว และอินเทอร์เรคชั่น ซีดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ปัตตานี (PDF). สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. p. 30.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 "Tengku Budriah A Royal Who Was Very Much Loved". Bernama - Malaysian National News Agency. 28 November 2008. สืบค้นเมื่อ 29 November 2008.
  5. "Raja Perempuan Besar Perlis dies". The Star (Malaysia). 28 พฤศจิกายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2011.
  6. "Tengku Budriah Laid To Rest". Bernama - Malaysian National News Agency. 28 November 2008. สืบค้นเมื่อ 29 November 2008.
  7. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แด่พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีแห่งสหพันธ์มลายา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 79 (71ง): 1724. 7 สิงหาคม 2505.