เดอะ ไวร์เลส เฮาส์
The Wireless House | |
![]() | |
![]() | |
![]() | |
ก่อตั้ง | 13 มกราคม พ.ศ. 2568 |
---|---|
ที่ตั้ง | วัน แบงค็อก ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°43′36″N 100°32′45″E / 13.726574059451512°N 100.54582991455231°E |
ประเภท | พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ |
ผลงานสำคัญ | เสาสัญญาณวิทยุของอดีตสถานีวิทยุศาลาแดง |
ผลงาน | โบราณวัตถุมากกว่า 1,500 ชิ้น |
ผู้อำนวยการ | จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย |
ภัณฑารักษ์ | นันทกานต์ ทองวานิช |
สถาปนิก | วทัญญู เทพหัตถี เอกชัย ศิริเจริญกุล |
นักประวัติศาสตร์ | กษมา เกาไศยานนท์ |
เจ้าของ | วัน แบงค็อก |
ขนส่งมวลชน | ![]() |
ที่จอดรถ | 12,000 คัน (ใต้ดินในโครงการ) |
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ (อังกฤษ: The Wireless House) เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในโครงการ วัน แบงค็อก ตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค ถนนวิทยุ หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยปฏิสังขรณ์มาจากอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งถูกรื้อถอนเมื่อปี พ.ศ. 2544 แต่ขยับออกจากที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมเล็กน้อย โดยมีเสาส่งสัญญาณวิทยุของสถานีวิทยุเดิมจัดแสดงอยู่ด้านข้าง ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 4 ส่วน รวมถึงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่สถาปนิกและนักโบราณคดีค้นพบระหว่างทำฐานรากของโครงการ วัน แบงค็อก และผลงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ มีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 10:00 – 20:00 น.
ภูมิหลัง
[แก้]
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เป็นอาคารที่โครงการวัน แบงค็อก สร้างขึ้น เนื่องจากต้องการให้ความสำคัญและวางแนวทางในการผสานองค์ประกอบทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และต้องการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต[1] โดยอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุศาลาแดง สถานีวิทยุแห่งแรกของประเทศไทย ที่กระทรวงทหารเรือ (ปัจจุบันคือกองทัพเรือไทย) จัดตั้งขึ้น และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 (พ.ศ. 2457 หากนับแบบปัจจุบัน) ก่อนจะพระราชทานนามถนนที่ตัดผ่านหน้าสถานีวิทยุว่า ถนนวิทยุ และ Wireless Road ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุศาลาแดงเริ่มลดบทบาทลงหลังกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งทำให้กองสัญญาณทหารเรือต้องย้ายออกจากพื้นที่ ก่อนที่โรงเรียนเตรียมทหารจะเข้ามาใช้พื้นที่ต่อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504[2] ในช่วงนี้ตัวอาคารสถานีวิทยุพร้อมกับเสาส่งสัญญาณวิทยุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2526[3] แต่หลังจากโรงเรียนเตรียมทหารย้ายออกไปตั้งในสถานที่ใหม่ที่จังหวัดนครนายก และบริษัท พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด ทำสัญญาเช่าพื้นที่พัฒนาเป็นตลาดกลางคืนในชื่อสวนลุมไนท์บาซาร์ในปี พ.ศ. 2544 ก็ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงออกทั้งหมด คงเหลือเพียงฐานรากและเสาวิทยุโบราณไว้[2]
การสำรวจและปฏิสังขรณ์
[แก้]วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
![]() |
อย่างไรก็ตาม ตามแผนแม่บทของการพัฒนาโครงการ วัน แบงค็อก นั้น อาคารอนุรักษ์สถานีวิทยุศาลาแดงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิม แต่ขยับออกมาตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 แทน[2] เนื่องจากเจ้าของพื้นที่คือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรว่าจะขอย้ายตำแหน่งของอาคารสถานีวิทยุไปตั้งใกล้กับถนนวิทยุ เพื่อให้บุคคลภายนอกมองเห็นอาคารสถานีวิทยุได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งกรมศิลปากรก็อนุญาตให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดำเนินการตามแผนดังกล่าว ส่วนพื้นที่ที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมนั้นอยู่บนถนน วัน แบงค็อก บูเลอวาร์ด และศูนย์การค้าโพสต์ 1928 บริเวณใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 5 โดยอาคารดังกล่าวก็ออกแบบให้มีลักษณะของสัญญาณโทรเลขเช่นกัน[4] และมีหลักฐานปรากฏเป็นหมุดเขตประกาศโบราณสถานฝังอยู่บริเวณดังกล่าว ที่กรมศิลปากรมิได้ออกประกาศเพิกถอนแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2559 ที่ วัน แบงค็อก เริ่มเข้าสำรวจพื้นที่ที่ตั้งโครงการในเบื้องต้นนั้น เดิมมีแผนจะทำงานร่วมกับกรมศิลปากรเฉพาะการขนย้ายเสาส่งสัญญาณวิทยุเท่านั้น โดยมี กษมา เกาไศยานนท์ เป็นนักโบราณคดีประจำโครงการ แต่หลังจากเริ่มขุดพื้นดินเพื่อปรับพื้นที่แล้ว ก็ค้นพบฐานรากของอาคารสถานีวิทยุที่หลงเหลืออยู่จากการรื้อถอนด้วย จึงกลับไปคุยกับกรมศิลปากรเพื่อขอย้ายฐานรากด้วย[3] และยังได้รับความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมจนค้นพบส่วนอื่น ๆ ของสถานีวิทยุ คือ ตอม่อสะพานที่เชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านหน้าสถานีวิทยุ รวมถึงโบราณวัตถุที่เริ่มค้นพบอีกจำนวนมาก[2]
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในส่วนโบราณคดีแล้ว สถาปนิกอนุรักษ์คือ วทัญญู เทพหัตถี ได้นำข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เกี่ยวกับสถานีวิทยุ ทั้งผังที่ตั้ง ฐานราก ภาพถ่าย เอกสารสำรวจ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากนักโบราณคดี มาปฏิสังขรณ์ (Reconstruction) ขึ้นใหม่ตามรูปทรงเดิมทั้งหมด โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สเก็ตช์อัปมาช่วย ก่อนดำเนินการขุดรากถอนเสาเข็มเก่าเพื่อฝังกลบ และเคลื่อนย้ายฐานรากอาคารสถานีวิทยุและเสาส่งสัญญาณวิทยุความสูง 60 เมตร ไปตั้งในจุดที่วางไว้ในแผนแม่บทเดิม ซึ่งสถาปนิกอนุรักษ์ตกลงกับกรมศิลปากรว่าใช้วิธีตัดฐานรากออกเป็น 10 ชิ้น ก่อนย้ายออกครั้งละ 1 ชิ้นและนำมาประกอบใหม่ เช่นเดียวกับเสาวิทยุที่ตัดแบ่งออกเป็น 7 ท่อน ก่อนย้ายออกแล้วนำมาประกอบใหม่ โดยนำมาจัดแสดงเฉพาะบางส่วนเช่นกัน[2]
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการพร้อมกับพิธีเปิดโครงการ วัน แบงค็อก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ก่อนจะมีพิธีเปิดอาคารนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568[5] ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 111 ปีของการเปิดอาคารสถานีวิทยุศาลาแดง[6]
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]อาคาร เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ มีพื้นที่จัดแสดงทั้งภายนอกและภายใน โดยภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน 4 ส่วน ดังนี้[5][1]
- ยุควิทยุโทรเลข นำเสนอความสำคัญของสถานีวิทยุศาลาแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายในประเทศไทย ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีวิทยุ เทคโนโลยีวิทยุโทรเลข และการเชื่อมต่อกับยุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรก รวมถึงระบุความแตกต่างระหว่างโทรเลขและวิทยุโทรเลข โดยนิทรรศการในส่วนนี้มีพื้นที่จำลองการส่งข้อความทางโทรเลขด้วยรหัสมอร์สอีกด้วย โดยให้ผู้เข้าชมเลือกภาษาซึ่งใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากนั้นกรอกชื่อผู้ส่งสารและผู้รับสาร แล้วพิมพ์ข้อความเพื่อแปลงเป็นรหัสมอร์ส จากนั้นเคาะรหัสมอร์สผ่านเครื่องเคาะสัญญาณตามข้อความที่พิมพ์จนครบ จากนั้นข้อความจะถูกส่งเป็นจดหมายไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งสามารถส่งออกได้ทั้งด้วยวิธีพิมพ์หรือดาวน์โหลด[2] โดยเป็นการนำระบบโทรเลขกลับมาใช้ในประเทศไทยอีกครั้งในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ กสท โทรคมนาคม ยกเลิกบริการโทรเลขเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
- ยุควิทยุกระจายเสียง บอกเล่าเรื่องราวของสถานีวิทยุศาลาแดง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับนำร่องทดลองระบบกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย แสดงพัฒนาการของวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย บรรยากาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการกระจายเสียงในยุคนั้น โดยผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้ลองฟังเสียงประเภทต่าง ๆ ที่ออกอากาศในสมัยนั้น รวมถึงระบุความแตกต่างระหว่างวิทยุแร่และวิทยุหลอด
- การขุดค้น อนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์ ระบุความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุศาลาแดงซึ่งเป็นโบราณสถาน รวมถึงจัดแสดงโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 1,500 ชิ้นที่ขุดค้นพบในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต นำเสนอข้อมูลในการปฏิสังขรณ์อาคารสถานีวิทยุโดยการนำหลักฐานข้อมูล และองค์ความรู้ทั้งหมดที่มีมาบูรณาการร่วมกัน ทั้งข้อมูลในเชิงโบราณคดีเมือง (Urban Archaeology) ขั้นตอนการขุดค้นและอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุ พร้อมโมเดลอาคารเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ ที่แสดงถึงขั้นตอนการปฏิสังขรณ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลข ตั้งแต่การย้ายฐานอาคารเดิมมาวางในชั้นฝังกลบของที่ตั้งใหม่เพื่อรักษาสภาพ การสร้างชั้นใต้ถุนสำหรับจัดเก็บโบราณวัตถุ และการใช้โครงสร้างสมัยใหม่ในการสร้างอาคารให้กลับมาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม เป็นต้น
- ย่านวิทยุ – พระราม 4 อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต แสดงเรื่องราวพัฒนาการของย่านที่ตั้งโครงการ วัน แบงค็อก และพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่เป็นทุ่งศาลาแดง รวมถึงความเป็นสมัยใหม่ในแง่มุมต่าง ๆ ของย่านดังกล่าวในปัจจุบัน และระบุถึงศักยภาพในอนาคตของพื้นที่ โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเมือง สถานที่สำคัญภายในย่าน และความทรงจำของผู้คนต่อย่านดังกล่าว โดยมีประติมากรรม PintONE ของวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ขุดพบในพื้นที่ เช่น ไหน้ำปลา และเศษกระเบื้อง และผลงาน Greeting of Times โดย นักรบ มูลมานัส ซึ่งนำภาพผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ในย่านดังกล่าวมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการตัดแปะบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลขในอดีต
ส่วนภายนอกมีสิ่งก่อสร้างอีก 3 จุด ดังนี้[6]
- ด้านหน้าอาคาร มีสะพานไม้ความยาว 12 เมตรทอดเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งเป็นการจำลองแบบจากสถานีวิทยุศาลาแดงเดิมที่สมัยโบราณจะสร้างสะพานข้ามทุ่งนาเข้าสู่สถานี โดยนำชิ้นส่วนตอม่อสะพานเดิม 2 ชิ้นที่ขุดพบมาประกอบกลับเข้าไปด้วย แต่ปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้น โดยใช้กระจกเป็นราวสะพานแทนราวไม้รูปกากบาทแบบเดิม[2]
- ผลงาน Metropolitan Symphony เป็นประติมากรรมลำโพงสีทองและสีเงินหลายขนาด โดย ยูริ ซูซูกิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น และออกแบบมาให้รองรับการใช้งานจริงด้วย โดยผู้เข้าชมคนหนึ่งสามารถทดลองพูดในลำโพงสีเงิน และให้ผู้เข้าชมอีกคนหนึ่งฟังเสียงที่ออกมาผ่านลำโพงสีทองได้ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชิ้น โดยชิ้นแรกตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ ส่วนอีก 1 ชิ้นจัดแสดงที่โถงของอาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 3 เป็นการชั่วคราว โดยในอนาคตหลังจากศูนย์การค้าโพสต์ 1928 เปิดให้บริการแล้ว จะถูกนำไปจัดแสดงที่อาคารดังกล่าวในพื้นที่ที่โครงการทำหมุดระบุเป็นเขตประกาศโบราณสถานของสถานีวิทยุศาลาแดง[7]
- เสาส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขของสถานีวิทยุศาลาแดงในอดีต โดยจากเสาจริงที่มีความสูง 7 ท่อน รวม 60 เมตร โครงการนำมาแสดงเฉพาะ 3 ท่อนด้านบนสุด ความยาว 20 เมตร ส่วนอีก 4 ท่อนล่าง ความยาว 40 เมตร โครงการนำมาประกอบและจัดแสดงไว้ในชั้นใต้ถุนของอาคาร
นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีห้องปฏิบัติการกระจายเสียง (Broadcasting Studio) ในชื่อ เดอะ ไวร์เลส คลับ (The Wireless Club) ซึ่งจะเป็นห้องสำหรับเปิดเพลงโดยนักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เข้าใช้บริการภายในโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านวิทยุในวิถีชีวิตของมนุษย์ จากการสื่อสารผ่านสัญญาณวิทยุด้วยรหัสโทรเลขหรือรหัสมอร์สในอดีต เป็นการเปิดวิทยุเพื่อฟังเพลงเป็นหลักในปัจจุบัน โดยในตอนกลางวันจะเป็นร้านกาแฟ และในตอนกลางคืนจะเป็นบาร์แสดงดนตรี[3]
ระเบียงภาพ
[แก้]![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (มีนาคม 2025) |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 NG Thai (15 มกราคม 2025). "The Wireless House One Bangkok บันทึก 111 ปี ความรุ่งเรืองแห่งปัจจุบันและอนาคตของถนนวิทยุ". เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 กิจชัยนุกูล, พัทธดนย์ (10 มกราคม 2025). "The Wireless House One Bangkok ฟื้นสถานีวิทยุโทรเลขเก่าเป็นนิทรรศการเล่าอดีตถนนวิทยุ". เดอะคลาวด์. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 3.0 3.1 3.2 เรืองเวส, พู่กัน (2 พฤศจิกายน 2024). "ลายแทงงานศิลปะ One Bangkok ตั้งแต่นิทรรศการรากเหง้าถนนวิทยุ ถึงชิ้นงานหาดูยากเข้าชมฟรี". เดอะคลาวด์. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ บุณยโยธิน, เกริก (25 ตุลาคม 2024). "ONE Bangkok เปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ หวังต่อยอดจาก Smart City ใจกลางเมืองสู่ "เมืองกลางใจ" ที่ใช้ใจสร้าง". Propholic. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
และ Tower 5 สูง 30 ชั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย จึงได้รับการออกแบบให้มีการถึงสะท้อนเอกลักษณ์เป็นสัญญาณของโทรเลข
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 5.0 5.1 "The Wireless House ณ One Bangkok นิทรรศการที่จะชวนทุกคนย้อนรอยประวัติศาสตร์ของถนนวิทยุกว่า 111 ปี". ไทยรัฐ. 13 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 6.0 6.1 Ohnabelle (15 มกราคม 2025). "The Wireless House One Bangkok ย้อนอดีต 111 ปีของถนนวิทยุ จุดเริ่มต้นการสื่อสารไร้สาย". HappeningBKK. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ @artofth (January 24, 2025). "อีกชิ้นหนึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ล๊อบบี้อาคาร Tower 3 เป็นการชั่วคราว และจะถูกย้ายไปที่อาคาร Post 1928 ในอนาคต ซึ่งเป็นตำแหน่งดั้งเดิมของ "อาคารสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย" นั่นเอง!" (ทวีต). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2025 – โดยทาง ทวิตเตอร์.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- The Wireless House One Bangkok ที่เฟซบุ๊ก
- "One Bangkok: The Wireless House Documentary". วัน แบงค็อก. 16 มกราคม 2025. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025 – โดยทาง ยูทูบ.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เดอะ ไวร์เลส เฮาส์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°43′36″N 100°32′45″E / 13.726574059451512°N 100.54582991455231°E