เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ
เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ | |
---|---|
ประเภท | ร็อก |
วันที่ | 1 สิงหาคม ค.ศ. 1971 |
ที่ตั้ง | เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก สหรัฐ |
ผู้ก่อตั้ง |
เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ (อังกฤษ: The Concert for Bangladesh, หรือ Bangla Desh ตามการสะกดชื่อประเทศในชื่อเดิม)[1] เป็นคอนเสิร์ตการกุศลที่ก่อตั้งโดยนักกีตาร์สมาชิกเก่าของวงเดอะบีเทิลส์ จอร์จ แฮร์ริสัน และนักเล่นซีตาร์ชาวอินเดีย รวี ศังกร การแสดงจัดขึ้นสองรอบเมื่อเวลา 14:30 น. และ 20:00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1917 ณ เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับสากลและระดมทุนช่วยเหลือสำหรับผู้ลี้ภัยจากปากีสถานตะวันออก หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ คอนเสิร์ตได้รับการเผยแพร่เป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสดในรูปแบบบ็อกซ์เซ็ตบรรจุสามแผ่นเสียงที่ขายดีที่สุด และภาพยนตร์สารคดีคอนเสิร์ตของแอปเปิลฟิมส์ ซึ่งเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1972
เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศเป็นการแสดงเพื่อการกุศลครั้งแรกที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่[2] และประกอบด้วยซูเปอร์กรุ๊ปของผู้แสดงหลักได้แก่ แฮร์ริสัน, สมาชิกเก่าร่วมวงเดอะบีเทิลส์ ริงโก สตาร์, บ็อบ ดิลลัน, เอริก แคลปตัน, บิลลี เพรสตัน, ลีออน รัสเซล และวงแบดฟิงเกอร์ พร้อมด้วยผู้แสดงที่สืบเชื้อสายมาจากชาวบังกลาเทศอย่างรวี และอาลี อักบัร ข่าน เปิดการแสดงด้วยดนตรีคลาสสิกอินเดีย การแสดงทั้งสองรอบมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 40,000 คน และทำยอดจำหน่ายบัตรได้เกือบ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐสมทบกองทุนช่วยเหลือบังกลาเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)
หลังจากการรวบรวมนักดนตรีเป็นไปอย่างราบรื่น แฮร์ริสันเผชิญกับความยากลำบากในการโน้มน้าวให้อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงมอบสิทธิการแสดงบนเวทีร่วมกันของผู้แสดง และรายได้จากอัลบั้มและภาพยนตร์หลายล้านดอลลาร์สหรัฐถูกยึดเข้าบัญชีกลางของหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของสหรัฐ (ไออาร์เอส) เป็นเวลาหลายปี ถึงกระนั้นคอนเสิร์ตก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลมากที่สุด จากการสร้างความรับรู้และกองทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจสำคัญแก่โครงการอื่นตามมาเช่น คอนเสิร์ตไลฟ์เอด[3][4][5]
ใน ค.ศ. 1985 รายได้จากอัลบั้มบันทึกการแสดงสดและภาพยนตร์ เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ ประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งมอบให้กับบังกลาเทศ[6] และยอดจำหน่ายอัลบั้มบันทึกการแสดงสดและดีวีดีของภาพยนตร์ยังคงเกิดประโยชน์ต่อกองทุนจอร์จ แฮร์ริสันเพื่อยูนิเซฟ (The George Harrison Fund for UNICEF) รวีได้กล่าวถึงความสำเร็จอย่างล้นหลามของคอนเสิร์ตในหลายทศวรรษต่อมาว่า "แล้ววันหนึ่งโลกทั้งใบก็รู้ชื่อของบังกลาเทศ ถือว่าเป็นโอกาสอันมหัศจรรย์"[7]
ภูมิหลัง
[แก้]ใน ค.ศ. 1971 ขณะที่ปากีสถานตะวันออกต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นรัฐเอกราชของบังกลาเทศระหว่างสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ ได้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการทหาร และการทารุณกรรมหมู่ที่เกี่ยวข้องนำไปสู่ปัญหาผู้ลี้ภัยขนานใหญ่[8] โดยผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 7 ล้านคนหลั่งไหลเข้าอินเดียซึ่งอยู่ใกล้เคียง[9] ปากีสถานตะวันออกเพิ่งประสบความเสียหายจากพายุไซโคลนโบลา และฝนตกหนักและน้ำท่วมในเดือนมีนาคมของปีนั้นส่งผลให้สถานการณ์ของชาวเบงกอลย่ำแย่ลง[10] เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม[11][12] จำนวนผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้ในขณะนั้นโดยอ้างอิงจากบทความของโรลลิงสโตน ระบุว่า ชาวเบงกอลมากกว่าครึ่งล้านคนเสียชีวิตจากพายุไซโคลนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970 และการปฏิบัติการสังหารหมู่ที่ตามมาของกองทัพบกปากีสถานภายใต้ชื่อปฏิบัติการเสิร์ชไลต์ (Operation Searchlight) คร่าชีวิตพลเมืองอย่างน้อย 250,000 คน "ตามประมาณการอย่างอนุรักษ์นิยมที่สุด"[13] ภายหลังการอพยพหนีภัยสู่โกลกาตา ผู้ลี้ภัยกลับประสบกับภัยคุกคามใหม่คือความอดอยากและการระบาดของโรคอย่างอหิวาตกโรค[14][15]
– รวี ศังกร, ค.ศ. 1971[9]
ด้วยความกลัวต่อเหตุการณ์ซึ่งกระทบถึงบ้านเกิดและญาติของเขา[10][11] นักดนตรีชาวเบงกอล รวี ศังกร พูดถึงประเด็นดังกล่าวให้เพื่อนของเขา จอร์จ แฮร์ริสัน ทราบครั้งแรกในช่วงเดือนแรกของ ค.ศ. 1971 ระหว่างรับประทานอาหารเย็นที่ไฟรเออร์พาร์ก ตามความทรงจำของเคลาส์ วอร์มัน[16][17] ในเดือนเมษายน รวีและแฮร์ริสันอยู่ที่ลอสแอนเจลิสเพื่อทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ราคะ[10] ระหว่างนั้นแฮร์ริสันได้เขียนเพลง "มิสโอเดล" โดยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐของอินเดียในการลำเลียงความช่วยเหลือเป็นข้าวสารจากตะวันตกที่ยังคง "หลงทางระหว่างทาง [ของการลำเลียง] ไปยังบอมเบย์ (Going astray on [their] way to Bombay)"[18][19] หลังจากกลับมาอังกฤษเพื่อโปรดิวซ์อัลบั้มของวงแบดฟิงเกอร์ สเตรตอัป และเข้าร่วมการบันทึกเสียงอัลบั้มของจอห์น เลนนอน อิแมจิน[20][21] ควบคู่ไปกับการติดตามความเป็นไปของเหตุการณ์จากรวี[22] ด้วยบทความที่ตัดจากหนังสือพิมพ์และนิตยสาร[23] แฮร์ริสันเดินทางกลับลอสแอนเจลิสเพื่อทำอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ราคะ ให้เสร็จสิ้นในปลายเดือนมิถุนายน[12][24] ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง หนังสือพิมพ์ เดอะซันเดย์ไทมส์ ที่ลอนดอนเพิ่งตีพิมพ์บทความทรงอิทธิพลต่อการรับรู้ในระดับสากล เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวปากีสถาน อังโตนี มัสกาเรนยัส เปิดเผยความน่ากลัวของการทารุณกรรมหมู่ในบังกลาเทศ[25][26] และรวีที่ว้าวุ่นใจได้เข้าขอความช่วยเหลือจากแฮร์ริสันเพื่อพยายามบรรเทาความทุกข์ทรมาน[9][27] แฮร์ริสันพูดในภายหลังว่าเขาใช้เวลา "สามเดือน" ในการสนทนาทางโทรศัพท์เพื่อก่อตั้งเดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ บอกเป็นนัยถึงความพยายามที่มีมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา[28][29] โครงการเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางว่าเริ่มต้นอย่างจริงจังระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 แม้ว่าจะเหลือเวลาเพียงห้าหรือหกสัปดาห์จากการแสดงที่จัดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม[13][16][30]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Harry 2003, p. 135.
- ↑ The Editors of Rolling Stone 2002, p. 43.
- ↑ Annan, Kofi; Lyons, Charles J. (2005). "The UNICEF Perspective". The Concert for Bangladesh Revisited with George Harrison and Friends (Interview). London: Apple Records.
- ↑ Rodriguez 2010, p. 51.
- ↑ Romanowski, George-Warren & Pareles 1995, p. 419.
- ↑ Johnston, David (2 June 1985). "Bangladesh: The Benefit That Almost Wasn't". Los Angeles Times. ISSN 2165-1736. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022.
- ↑ Harrison 2011, p. 286.
- ↑ Lavezzoli 2006, p. 186–87.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Schaffner 1978, p. 146.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Lavezzoli 2006, p. 187.
- ↑ 11.0 11.1 The Editors of Rolling Stone 2002, p. 42.
- ↑ 12.0 12.1 Clayson 2003, p. 308.
- ↑ 13.0 13.1 The Editors of Rolling Stone 2002, p. 123.
- ↑ Greene 2006, p. 186.
- ↑ Harrison & Spector 2005, p. 7.
- ↑ 16.0 16.1 Leng 2006, p. 111.
- ↑ Sullivan, James (1 August 2011). "George Harrison's Concert for Bangladesh Featured Drug Trouble for Eric Clapton, Stage Fright for Bob Dylan". Spinner. AOL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2013.
- ↑ Clayson 2003, p. 317.
- ↑ Harrison 2002, pp. 220, 248.
- ↑ Badman 2001, pp. 37–38.
- ↑ Leng 2006, pp. 108, 110.
- ↑ Lavezzoli 2006, p. 188.
- ↑ Harrison 2002, p. 59.
- ↑ Spizer 2005, p. 240.
- ↑ Dummett, Mark (16 December 2011). "Bangladesh war: The article that changed history". BBC News Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 March 2023.
- ↑ Haider, Zahrah (15 December 2015). "Media coverage and the War of 1971". The Daily Star. ISSN 1563-9258. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2021.
- ↑ Greene 2006, p. 185.
- ↑ Clayson 2003, p. 309.
- ↑ Harrison 2002, p. 60.
- ↑ Harris, John (July 2001). "A Quiet Storm". Mojo. No. 92. London: EMAP Performance. p. 74. ISSN 1351-0193.
บรรณานุกรม
[แก้]- Badman, Keith (2001). The Beatles Diary Volume 2: After the Break-Up 1970–2001. London: Omnibus Press. ISBN 0-7119-8307-0.
- Clayson, Alan (2003). George Harrison. London: Sanctuary. ISBN 1-86074-489-3.
- The Editors of Rolling Stone, บ.ก. (2002). Harrison. New York, NY: Rolling Stone Press/Simon & Schuster. ISBN 0-7432-3581-9.
- Greene, Joshua M. (2006). Here Comes the Sun: The Spiritual and Musical Journey of George Harrison. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-12780-3.
- Harrison, George (2002). I Me Mine. San Francisco, CA: Chronicle Books. ISBN 0-8118-3793-9.
- Harrison, George; Spector, Phil (2005). The Concert for Bangladesh (booklet). George Harrison and Friends. Sony BMG. 82876729862.
- Harrison, Olivia (2011). George Harrison: Living in the Material World. New York, NY: Abrams. ISBN 978-1-4197-0220-4.
- Harry, Bill (2003). The George Harrison Encyclopedia. London: Virgin Books. ISBN 978-0753508220.
- Lavezzoli, Peter (2006). The Dawn of Indian Music in the West. New York, NY: Continuum. ISBN 0-8264-2819-3.
- Leng, Simon (2006). While My Guitar Gently Weeps: The Music of George Harrison. Milwaukee, WI: Hal Leonard. ISBN 1-4234-0609-5.
- Rodriguez, Robert (2010). Fab Four FAQ 2.0: The Beatles' Solo Years, 1970–1980. Milwaukee, WI: Backbeat Books. ISBN 978-1-4165-9093-4.
- Romanowski, Patricia; George-Warren, Holly; Pareles, Jon, บ.ก. (1995). The New Rolling Stone Encyclopedia of Rock & Roll. New York, NY: Fireside. ISBN 0-684-81044-1.
- Schaffner, Nicholas (1978). The Beatles Forever. New York, NY: McGraw-Hill. ISBN 0-07-055087-5.
- Spizer, Bruce (2005). The Beatles Solo on Apple Records. New Orleans, LA: 498 Productions. ISBN 0-9662649-5-9.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- กองทุนจอร์จ แฮร์ริสันเพื่อยูนิเซฟ – เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกองทุนสหรัฐเพื่อยูนิเซฟ (UNICEF USA)
- เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ – เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเดอะบีเทิลส์