เซาตูแมอีปริงซีปของโปรตุเกส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จังหวัดโพ้นทะเลเซาตูแมอีปริงซีป

Província Ultramarina de São Tomé e Príncipe
ค.ศ. 1485–ค.ศ. 1975
ตราแผ่นดินของเซาตูแมอีปริงซีป
ตราแผ่นดิน
เพลงชาติ"อูอีนูปราเตียติโก" (ค.ศ. 1808–26)
เพลงของผู้รักชาติ

"อูอีนูดาการ์ตา" (ค.ศ. 1826–1911)
เพลงสรรเสริญรัฐธรรมนูญ

"อาปูร์ตูเกซา" (ค.ศ. 1911–75)
เพลงแห่งชาวโปรตุเกส
สถานะอาณานิคมของจักรวรรดิโปรตุเกส (ค.ศ. 1485-1951)
จังหวัดโพ้นทะเลของจักรวรรดิโปรตุเกส (ค.ศ. 1951-1975)
เมืองหลวงเซาตูแม
ภาษาทั่วไปโปรตุเกส
ประมุขแห่งรัฐ 
• ค.ศ. 1470-1481
พระเจ้าอาฟงซูที่ 5
• ค.ศ. 1974–75
ฟรานซิสโก ดา คอสต้า โกเมซ
ผู้ว่าการ 
• ค.ศ. 1485-1490 (คนแรก)
ณูเอา เด ไพวา
• ค.ศ. 1974–75 (คนสุดท้าย)
อังตอนียู เอลีซโซ คาเปโล พีซ เวโลโซ
ยุคประวัติศาสตร์จักรวรรดินิยม
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1485
• การสิ้นสุดของจักรวรรดิโปรตุเกส
12 กรกฎาคม ค.ศ. 1975
สกุลเงินเอสคูโดเซาตูแมอีปริงซีป
ถัดไป
เซาตูแมอีปริงซีป
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ เซาตูแมอีปริงซีป

หมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีป ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิโปรตุเกส นับตั้งแต่ถูกค้นพบใน ค.ศ. 1470 จนกระทั่งมีการมอบเอกราชให้ใน ค.ศ. 1975

ประวัติศาสตร์[แก้]

หมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีปถูกค้นพบโดยนักสำรวจชาวโปรตุเกส ณูเอา เด ซังตาไร และเปโร เอสโกบาร์ ในราว ๆ ค.ศ. 1470[1] ซึ่งพวกเขาพบว่าหมู่เกาะดังกล่าวไม่มีผู้อยู่อาศัย[2] เกาะเซาตูแมได้รับการตั้งชื่อตามนักบุญโธมัสอัครทูต เนื่องจากชาวโปรตุเกสค้นพบเกาะดังกล่าวในวันฉลองของนักบุญองค์นี้ ในขณะที่เกาะปริงซีป (แปลว่า เกาะเจ้าชาย) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่เจ้าชายอาฟงซูแห่งโปรตุเกส พระราชโอรสพระองค์โปรดในพระเจ้าฌูเอาที่ 2[1]

มีความพยายามก่อตั้งนิคมขึ้นบนหมู่เกาะเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1485 หลังจากราชสำนักโปรตุเกสยกเกาะเซาตูแมให้กับณูเอา เด ไพวา กระนั้น ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานไม่สามารถผลิตอาหารในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศอันเป็นเอกเอกลักษณ์ของหมู่เกาะนี้ อีกทั้งยังเป็นเพราะโรคภัยเขตร้อนที่แพร่ระบาดในหมู่ผู้ตั้งถิ่นฐานด้วย[1] การตั้งถิ่นฐานมาประสบผลสำเร็จใน ค.ศ. 1493 เมื่อพระเจ้าฌูเอาที่ 2 แห่งโปรตุเกส ทรงแต่งตั้งอัลวาโร คามินฮา เป็นผู้ว่าการชั่วคราวของเกาะเซาตูแม[1] ผู้ตั้งถิ่นฐานชุดแรกโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอาชญากรและผู้เป็นกำพร้า รวมถึงยังมีเด็ก ๆ ชาวยิวที่ถูกพรากจากพ่อแม่เพื่อนำมาเข้ารีตเป็นคริสตชนอยู่จำนวนหนึ่งด้วย[3]การตั้งถิ่นฐานบนเกาะปริงซีปตามมาภายหลังใน ค.ศ. 1500[1]

ในช่วงหลายปีให้หลัง ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโปรตุเกสเรื่มนำเข้าทาสจำนวนมากจากภาคพื้นทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานเพาะปลูกอ้อยซึ่งเป็นสินค้ามีราคาในสมัยนั้น บนพื้นดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุภูเขาไฟของเซาตูแม เมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เซาตูแมก็สร้างความมั่งคั่งให้กับโปรตุเกสเป็นอย่างมาก เมื่อโปรตุเกสกลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก[4]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 การแข่งขันด้านไร่น้ำตาลกับอาณานิคมบราซิล และการกบฎของทาสที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งบนเกาะ เริ่มส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อยอย่างช้า ๆ[1] ซึ่งส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงและทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นหันไปพึ่งพาการค้าทาสแทน[2] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกควบคุมโดยประชากรเชื้อสาย เมสติโซ ในท้องถิ่น[4] ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะนี้ยังทำให้มันกลายเป็นสถานีการค้าสำคัญในเส้นทางการค้าทาสทรานแอตแลนติก[5] โดยหมู่เกาะเซาตูแมอีปริงซีปทำหน้าที่เป็นจุดรวมตัวของเหล่าทาสที่นำมาจากอ่าวกินีและราชอาณาจักรคองโก เพื่อนำไปยังจุดหมายปลายทางในทวีปอเมริกา[4]

เกาะเซาตูแมถูกสาธารณรัฐดัตช์ เข้ายึดครองระหว่าง ค.ศ. 1641 ถึง ค.ศ. 1648 ก่อนที่โปรตุเกสจะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้ง[5] กระนั้นเกาะปริงซีปก็ไม่ได้ถูกฝ่ายดัชต์ยึดครองไปด้วยแต่อย่างใด[5]

เนื่องจากเมืองหลวงของอาณานิคมถูกพวกโจรสลัดและคอร์แซร์โจมตี จึงมีการย้ายเมืองหลวงไปยังซังตูอังตอนีอูซึ่งตั้งอยู่บนเกาะปริงซีป ใน ค.ศ. 1753 และหมู่เกาะทั้งสองก็เริ่มถูกปกครองเป็นอาณานิคมเดียวกัน และมีการแต่งตั้งผู้ว่าการเพียงแค่คนเดียว[4] ภายหลังเมืองหลวงของอาณานิคมได้ย้ายกลับไปยังเกาะเซาตูแมดังเดิมใน ค.ศ. 1852[6]

เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวโปรตุเกสได้นำเอากาแฟและโกโก้ มาเพาะปลูกในไร่ขนาดใหญ่เรียกว่า โฮชัช (Roças) ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การผลิตกาแฟยุติลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และโกโก้กลายมาเป็นสินค้าหลักของหมู่เกาะแทน จากนั้นเซาตูแมอีปริงซีปจึงกลายมาเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อยู่หลายชั่วอายุคน และในช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เซาตูแมอีปริงซีปก็ถือเป็นผู้ผลิตโกโก้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเวลานั้น[2]

ใน ค.ศ. 1972 ขบวนการปลดปล่อยเซาตูแมอีปริงซีป พรรคการเมืองชาตินิยม แนวคิดลัทธิมากซ์ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผู้พลัดถิ่นในอิเควทอเรียลกินี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสถาปนาเซาตูแมอีปริงซีปเป็นประเทศเอกราช หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติคาร์เนชัน ใน ค.ศ. 1974 ซึ่งยุติระบอบเผด็จการอึชตาดูโนวูในโปรตุเกส รัฐบาลใหม่ของโปรตุเกสได้ริเริ่มกระบวนการปล่อยอาณานิคมในทวีปแอฟริกาให้เป็นอิสระ และมอบเอกราชให้เซาตูแมอีปริงซีป ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1975[5]

ธงที่มีการเสนอให้ใช้เป็นธงของเซาตูแมอีปริงซีปภายใต้การปกครองของโปรตุเกส

ระเบียงภาพ[แก้]

สถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคม[แก้]

เงินตรา[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

รายการอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Francisco, Agostinho, p.24
  2. 2.0 2.1 2.2 Grivetti, Shapiro, p. 1849
  3. Greene, Morgan, p.85
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Greene, Morgan, p.86
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Huang, Morrissete, p. 970
  6. McKenna, p.73

บรรณานุกรม[แก้]

  • Jack P. Greene, Philip D. Morgan, Atlantic History: A Critical Appraisal (2008) ISBN 9780199886432
  • Richard M. Juang, Noelle Morrissette, Africa and the Americas: Culture, Politics, and History (2008) ISBN 9781851094417
  • Louis E. Grivetti, Howard-Yana Shapiro, Chocolate: History, Culture, and Heritage (2011) ISBN 9781118210222
  • Albertino Francisco, Nujoma Agostinho, Exorcising Devils from the Throne: São Tomé and Príncipe in the Chaos of Democratization (2011) ISBN 9780875868486
  • Amy McKenna, The History of Central and Eastern Africa (2011) ISBN 9781615303229

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]