ข้ามไปเนื้อหา

เซลล์บรอดคาสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การแจ้งเตือนสาธารณะโดยใช้ฟีเจอร์เซลล์บรอดคาสต์ที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 12

เซลล์บรอดคาสต์ (อังกฤษ: Cell Broadcast หรือ CB) คือวิธีการส่งข้อความสั้น ๆ ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายเครื่องในพื้นที่ที่กำหนดพร้อมกัน โดยกำหนดโดยคณะกรรมการจีเอสเอ็มของสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) และ 3GPP และเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานของระบบ 2G, 3G, 4G และ 5G[1] นอกจากนี้ตัวระบบยังรู้จักกันในชื่อ Short Message Service-Cell Broadcast (SMS-CB หรือ CB SMS)[2][3]

เซลล์บรอดคาสต์แตกต่างจากบริการส่งข้อความแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (อังกฤษ: Short Message Service-Point to Point หรือ SMS-PP) โดยเซลล์บรอดคาสต์เป็นบริการส่งข้อความแบบหนึ่งต่อหลายที่มีการกำหนดเป้าหมายทางภูมิศาสตร์และกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีเซลล์บรอดคาสต์ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับระบบแจ้งเตือนสาธารณะ เช่นเหตุแผ่นดิไหว ภูเขาไฟ พายุ หรือแม้กระทั่งการตามหาบุคคลสูญหาย[4]

ประวัติ

[แก้]

การส่งข้อความแบบเซลล์บรอดคาสต์ได้รับการสาธิตครั้งแรกในปารีสในปี 1997 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายก็ใช้เซลล์บรอดคาสต์เพื่อสื่อสารรหัสพื้นที่ของเสาโทรศัพท์ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (ผ่านหมายเลข 050)[5] เพื่อรายงานสภาพอากาศ การส่งข้อความจำนวนมาก การบริการข่าวสารท้องถิ่น และแจ้งเตือนหรือแจ้งเหตุไปทั่วเมืองหรือทั่วประเทศ เซลล์บรอดคาสต์ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2008 โดยผู้ให้บริการเครือข่ายหลักในเอเชีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา อเมริกาใต้ และยุโรป แม้ผู้ให้บริการบางรายยังไม่ได้เปิดใช้งานฟังก์ชันการส่งข้อความแบบเซลล์บรอดคาสต์ในเครือข่ายของตน แต่โทรศัพท์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันรองรับฟังก์ชันการส่งข้อความแบบ เซลล์บรอดคาสต์ อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชันนี้ในอุปกรณ์จำนวนมากถูกปิดใช้งานไว้ตามค่าเริ่มต้น และไม่มีอินเทอร์เฟซมาตรฐานสำหรับเปิดใช้งานฟีเจอร์นี้[1]

เทคโนโลยี

[แก้]
ความแตกต่างระหว่าง SMS และเซลล์บรอดคาสต์[6]
เทคโนโลยี เอสเอ็มเอส (SMS) เซลล์บรอดคาสต์ (CBS)
ประเภทการสื่อสาร หนึ่งต่อหนึ่ง หนึ่งต่อหลาย (ภายในพื้นที่)
การร้องขอหมายเลขโทรศัพท์ ต้องการ ไม่ต้องการ
การคำนึงทางสถานที่ ส่งไปยังหมายเลขที่ระบุโดยไม่คำนึงถึงสถานที่ ส่งไปยังอุปกรณ์ทั้งหมดภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ระบุ
การตอบกลับ ตอบกลับได้ ตอบกลับไม่ได้
ความหน่วงในการแพร่กระจายเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  • ระยะเวลาในการส่งสัญญาณสั้น และสามารถรับได้ง่ายแม้ในสภาพแวดล้อมคลื่นสัญญาณที่ไม่ดี
  • อาจเกิดความแออัดได้ หากมีการสื่อสารจำนวนมากในเวลาเดียวกัน อาจเกิดความล่าช้าได้
  • ไม่เกิดความแออัด เนื่องจากมีการใช้ช่องสัญญาณเฉพาะ
  • หากสภาพแวดล้อมสัญญาณไม่ดี อาจเกิดความล่าช้าได้
การส่งซ้ำ เมื่อปิดเครื่อง ไม่มีการทำซ้ำ หากอุปกรณ์ที่ระบุถูกปิดในขณะที่ส่ง ผู้ให้บริการจะเก็บข้อความไว้ชั่วคราวและจะได้รับข้อความเมื่อเปิดใช้งาน สามารถทำซ้ำได้ โดยจะถูกส่งซ้ำ ๆ กันในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึงหลายสิบนาทีตามที่ผู้ให้บริการกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากไฟฟ้าขัดข้อง หรือแบตเตอรีหมดก็จะไม่สามารถรับสัญญาณได้เช่นกัน
ความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ รองรับทุกอุปกรณ์ อุปกรณ์หลายชนิดมีสามารถเข้ากันได้ แต่ต้องมีการกำหนดการตั้งค่าด้วยตนเอง
การแจ้งเตือน ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการแสดงผลและเสียงข้อความเข้าได้ตามต้องการ ปุ่มกดจะปรากฏบนจอแสดงผล เสียงเรียกเข้าเป็นแบบค่าเริ่มต้นของผู้ให้บริการ
ค่าบริการ มีการคิดค่าบริการ ไม่มีการคิดค่าบริการ

ข้อความเซลล์บรอดคาสต์หนึ่งข้อความสามารถเข้าถึงโทรศัพท์จำนวนมากได้ในคราวเดียว โดยข้อความเซลล์บรอดคาสต์จะส่งถึงคลื่นเซลลูลาร์เฉพาะของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะส่งถึงโทรศัพท์เครื่องใดเครื่องหนึ่งโดยเฉพาะ[7] ระบบเซลล์บรอดคาสต์ (อังกฤษ: Cell Broadcast Systems หรือ CBS) รุ่นล่าสุดสามารถส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที ส่งผลให้ข้อมูลไปถึงผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายล้านคนในเวลาเดียวกัน ข้อความเซลล์บรอดคาสต์เป็นบริการแจ้งเตือนแบบพุชที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งข้อความจะไม่ทราบว่าใครได้รับข้อความ ทำให้สามารถให้บริการได้โดยไม่เปิดเผยตัวตนได้[1] ซึ่งทำให้เซลล์บรอดคาสต์สอดคล้องกับข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรป (อังกฤษ: EU General Data Protection Regulation หรือ GDPR) ฉบับล่าสุด เนื่องจากเซลล์บรอดคาสต์ไม่จำเป็นต้องใช้หรือร้องขอหมายเลขโทรศัพท์มือถือจากผู้ใช้ ผู้ให้บริการ (หรือผู้ร้องขอบริการแจ้งเตือน) สามารถร้องขออัตราความสำเร็จของข้อความได้ ในกรณีดังกล่าว ระบบเซลล์บรอดคาสต์จะตอบกลับด้วยจำนวนเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ระบบเซลลูลาร์ที่ส่งถึงและจำนวนเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ระบบเซลลูลาร์ที่ส่งข้อความแจ้งเตือน

คลื่นเซลลูลาร์แต่ละคลื่นจะครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอน โดยปกติจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่กี่กิโลเมตร ดังนั้นการส่งข้อความเซลล์บรอดคาสต์ไปยังคลื่นโทรศัพท์ที่ระบุเท่านั้น จึงสามารถจำกัดการออกอากาศให้อยู่ในพื้นที่ที่ระบุได้ สิ่งนี้มีประโยชน์สำหรับข้อความที่เกี่ยวข้องเฉพาะบางพื้นที่ เช่น แจ้งเตือนน้ำท่วม แจ้งเตือนอุบัติเหตุ

วงจำกัดข้อความเซลล์บรอดคาสต์ประกอบด้วยช่วงเวลาการเผยแพร่ หากปล่อยให้เวลาเริ่มต้นเปิดอยู่ ระบบเซลล์บรอดคาสต์จะถือว่าเริ่มทันที ซึ่งจะเป็นกรณีของข้อความแจ้งเตือนสาธารณะ หากปล่อยให้เวลาสิ้นสุดเปิดอยู่ ข้อความจะถูกทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ต้องใช้ข้อความยกเลิกในภายหลังเพื่อหยุดข้อความ ซึ่งสามารถตั้งค่าอัตราการทำซ้ำได้ตั้งแต่ 2 วินาทีไปจนถึง 30 นาที ข้อความเซลล์บรอดคาสต์ที่ส่งซ้ำแต่ละข้อความจะมีการระบุแหล่งที่มาของข้อความ และหมายเลขซีเรียลเดียวกัน ด้วยการใช้ข้อมูลนี้ โทรศัพท์มือถือจึงสามารถระบุและละเว้นการกระจายข้อความที่ได้รับไปแล้วได้

หน้าข้อความเซลล์บรอดคาสต์ประกอบด้วย 82 อ็อกเท็ต (octet) ซึ่งเมื่อใช้ชุดอักขระเริ่มต้นสามารถเข้ารหัสได้ 93 ตัว สามารถรวมหน้าเหล่านี้ได้สูงสุด 15 หน้าเพื่อสร้างข้อความเซลล์บรอดคาสต์[1] (ดังนั้นความยาวสูงสุดของข้อความเซลล์บรอดคาสต์หนึ่งข้อความจึงอยู่ที่ 1,395 ตัว)[3]

ศูนย์กระจายเสียงเซลลูลาร์ (CBC) ระบบที่เป็นแหล่งที่มาของข้อความแบบ SMS-CB เชื่อมต่อกับตัวควบคุมสถานีฐาน (อังกฤษ: Base Station Controller หรือ BSC) ในเครือข่ายจีเอสเอ็ม ไปยังตัวควบคุมเครือข่ายวิทยุ (RNC) ในเครือข่ายยูเอ็มทีเอส ไปยัง Mobility Management Entity (MME) ในเครือข่ายแอลทีอี หรือไปยัง Access and Mobility Management Function (AMF) หลักในเครือข่าย 5G

การใช้งานทางเทคนิคของบริการเซลล์บรอดคาสต์มีอธิบายไว้ในข้อกำหนด 3GPP TS 23.041[8]

  • อินเทอร์เฟซ 2G-CBC (BSC) มีอธิบายไว้ในมาตรฐาน 3GPP TS 48.049 อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้งานที่ไม่เป็นมาตรฐานอยู่
  • อินเทอร์เฟซ 3G-CBC (RNC) มีอธิบายไว้ในมาตรฐาน 3GPP TS 25.419
  • อินเทอร์เฟซ 4G-CBC (MME) มีอธิบายไว้ในมาตรฐาน 3GPP TS 29.168
  • อินเทอร์เฟซ 5G-CBC (AMF) มีอธิบายไว้ในมาตรฐาน 3GPP TS 29.518

ศูนย์กระจายเสียงเซลลูลาร์จะส่งข้อความเซลล์บรอดคาสต์ตามรายละเอียดอัตราการทำซ้ำที่ร้องขอ และจำนวนครั้งที่ข้อความที่ผู้ให้บริการต้องการจะส่งไป จะถูกส่งไปยัง BSC/RNC/MME/AMF ความรับผิดชอบของ BSC/RNC/MME/AMF คือการส่งข้อความเซลล์บรอดคาสต์ไปยังฐานรับส่งสัญญาณ (BTS), Node B, ENodeB และ gNodeB ที่จัดการคลื่นเซลลูลาร์ที่ร้องขอ

ระบบเตือนภัยสาธารณะ

[แก้]

เซลล์บรอดคาสต์มีอุปสรรค์การรับส่งข้อมูลน้อย จึงเหมาะมากสำหรับใช้ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ เมื่อข้อมูลข่าวสาร (จากโซเชียลมีเดียและแอปมือถือ) พุ่งสูง การใช้ SMS และการโทรปกติ (กรณีที่มีการโทรจำนวนมาก) มีแนวโน้มจะทำให้เครือข่ายมือถือขัดข้องอย่างมาก ดังที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น

ระบบเตือนภัยสาธารณะ (อังกฤษ: Public Warning Systems) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน (อังกฤษ: Emergency Alert Systems) ซึ่งมีการนเทคโนโลยีเซลล์บรอดคาสต์ำมาใช้ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่โดยภาพรววมแล้วก็จะใช้ในลักษณะที่เหมือนกัน โดยกำหนดมาตรฐานทางเทคนิค ซึ่งมีระบุไว้ในมาตรฐาน 3GPP TS 23.041 โดยมีการใช้งานขนาดใหญ่ที่กล่าวถึงในมาตรฐาน 3GPP ได้แก่ Wireless Emergency Alerts (CMAS) ในสหรัฐอเมริกาและ EU-Alert ในยุโรป (กำหนดไว้ในมาตรฐาน ETSI แต่การนำไปใช้ในระดับชาตินั้นมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับกฎหมาย และลักษณะภัยพิบัติตามภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ) การแจ้งเตือนสามารถกำหนดผู้รับในทางภูมิศาสตร์ได้ เมื่อมีการตั้งค่าให้รับการแจ้งเตือนเฉพาะโทรศัพท์ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดไว้เท่านั้น[9] ซึ่งเมื่อได้รับการแจ้งเตือน จะมีการแสดงการแจ้งเตือนในรูปแบบเฉพาะ และเล่นเสียงเฉพาะ ตามการตั้งค่าของแต่ละผู้ให้บริการ ถึงแม้ว่าโทรศัพท์จะตั้งค่าเป็นโหมดปิดเสียงก็ตาม เช่นเสียงนี้: เสียงแจ้งเตือนสองโทน ในระดับคลื่นไซน์ 853 เฮิรตซ์ และ 960 เฮิรตซ์ ซึ่เป็นเสียงตามที่กำหนดโดยมาตรฐานของ WEA (CMAS) และ ETSI[10][9] การแจ้งเตือนฉุกเฉินของเซลล์บรอดคาสต์สามารถออกอากาศได้ทั้งในภาษาของพื้นที่ และภาษาเพิ่มเติม ซึ่งจะแสดงขึ้นตามการตั้งค่าภาษาของอุปกรณ์ของผู้ใช้[11] ผู้ผลิตโทรศัพท์ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ แต่จะมีอินเทอร์เฟซผู้ใช้ที่แตกต่างกันเล็กน้อย[12] เช่นเดียวกับการโทรฉุกเฉิน อุปกรณ์ต่าง ๆ มักไม่จำเป็นต้องใส่ซิมการ์ดเพื่อรับการแจ้งเตือน[13]

การแจ้งเตือนฉุกเฉินแบบไร้สาย (CMAS) ส่งโดยใช้เซลล์บรอดคาสต์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

การแจ้งเตือนฉุกเฉินในการใช้งานเซลล์บรอดคาสต์ส่วนใหญ่นั้นมีหมวดหมู่หรือระดับการแจ้งเตือนที่แตกต่างกัน โดยใช้ตัวระบุข้อความที่ระบุไว้ในมาตรฐาน 3GPP หมวดหมู่หรือระดับการแจ้งเตือนจะถูกกำหนดโดยความรุนแรงของคำเตือน เช่น ภัยคุกคามต่อชีวิต ภัยอันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้น หรือข้อความให้คำแนะนำ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกไม่รับการแจ้งเตือนระดับล่างได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนระดับสูงสุดมักจะแสดงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้เสมอ[14][11]

ตารางด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบหมวดหมู่/ระดับการแจ้งเตือนในระบบต่าง ๆ (โดยอิงตามตัวระบุข้อความ 3GPP ทั่วไป):[9]

รหัสเลขฐานสิบหกของตัวระบุข้อความ 3GPP Wireless Emergency Alerts (CMAS)
สหรัฐอเมริกา
EU-Alert (ETSI)
สหภาพยุโรป
การยกเลิกการแจ้งเตือน
1112 การเตือนภัยระดับประเทศ (การเตือนภัยระดับประธานาธิบดี) EU-Alert Level 1 ไม่ได้
1113, 1114, 1120, 1121 การเตือนภัยขั้นรุนแรง EU-Alert Level 2 ได้
1115-1119, 111A, 1122–1127 การเตือนภัยร้ายแรง EU-Alert Level 3 ได้
112C การแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะ EU-Alert Level 4 ได้
111B ระบบเตือนภัยแอมเบอร์ EU-Amber ได้
1900 - EU-Info (depreciated to Level 4) ได้
111C การทดสอบที่จำเป็นรายเดือน EU-Monthly Test ได้
112E การทดสอบระดับรัฐ/ท้องถิ่น EU-Test ได้
111D การซักซ้อม EU-Exercise ได้

ในกรณีที่ใช้อินเทอร์เน็ตโรมมิง หากผู้ให้บริการภายในประเทศของผู้ใช้รองรับการแจ้งเตือนฉุกเฉินแบบเซลล์บรอดคาสต์ การแจ้งเตือนจะปรากฏขึ้นหากเปิดใช้งานหมวดหมู่/ระดับการแจ้งเตือนและเทียบเท่ากับระบบของผู้ให้บริการภายในประเทศของผู้ใช้[11][9]

ข้อความเซลล์บรอดคาสต์สามารถใช้ข้อความ CAP (Common Alerting Protocol) เป็นอินพุตตามที่ระบุโดยองค์กร OASIS หรือโปรโตคอลอินเทอร์เฟซ C ของ Wireless Emergency Alerts (WEA) ซึ่งได้รับการระบุร่วมกันโดย Alliance for Telecommunications Industry Solutions (ATIS) และ Telecommunications Industry Association (TIA)

ข้อดีของการใช้เซลล์บรอดคาสต์เพื่อแจ้งเตือนสาธารณะ ได้แก่:

  • การส่งข้อความเซลล์บรอดคาสต์ถึงผู้คนจำนวนไม่กี่คนหรือหลายล้านคนใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาที
  • เซลล์บรอดคาสต์มีเสียงเรียกเข้าและการสั่นที่เป็นเอกลักษณ์และเฉพาะตัว
  • มีเพียงหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตและเครือข่ายมือถือที่ให้บริการเท่านั้นที่สามารถส่งข้อความเซลล์บรอดคาสต์ได้
  • 99% ของโทรศัพท์มือถือทั้งหมดที่ใช้ในปัจจุบันรองรับเซลล์บรอดคาสต์
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับความยาวข้อความสูงสุด 1,395 อักขระในอักษรละตินและ 615 อักขระในชุดอักขระเข้ารหัสสากล (UCS-2) เพื่อรองรับอักษรอื่น ๆ เช่น ไทย อาหรับ จีน อูรดู หรือกรีก
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับหลายภาษา
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับการใช้ URL และลิงก์เว็บในข้อความแจ้งเตือน
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับการกำหนดเป้าหมายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง (geotargeting) เฉพาะอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับสถานีฐานในพื้นที่นั้นเท่านั้นที่จะได้รับข้อความ
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับการอัปเดตภายในไม่กี่วินาทีหลังจากมีข้อความแจ้งเตือนที่มีอยู่เนื่องจากสถานการณ์อันตรายที่เปลี่ยนแปลงไป
  • เซลล์บรอดคาสต์รองรับกลไกในการแจ้งข้อมูลและแนะนำผู้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้เคียงภายในไม่กี่วินาที
  • เซลล์บรอดคาสต์สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกคน รวมถึงผู้ใช้บริการโรมมิ่ง (ในภาษาของตนเอง)
  • เซลล์บรอดคาสต์ไม่ได้รับผลกระทบจากความแออัดของเครือข่ายมือถือ
  • เซลล์บรอดคาสต์ไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นระดับการเข้าถึงและหรือการปิดกั้นระดับของซิมการ์ด
  • เซลล์บรอดคาสต์ไม่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในการปกป้องข้อมูลใด ๆ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งข้อความ
  • เซลล์บรอดคาสต์สามารถใช้เพื่อระบุบุคคลที่อยู่ในเซลล์เซกเตอร์แต่ละเซลล์หรือรูปหลายเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งเมืองหรือประเทศได้
  • ข้อความเซลล์บรอดคาสต์สามารถอัปเดตได้ เมื่อเงื่อนไขของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างเหตุการณ์ และเมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ก็สามารถให้สัญญาณว่าปลอดภัยได้
  • เซลล์บรอดคาสต์เหมาะสำหรับการทดสอบสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนในระดับประเทศช่วงรายเดือนหรือรายครึ่งปี
  • การเปิดใช้งานเซลล์บรอดคาสต์ในเครือข่ายมือถือไม่มีผลต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์มือถือ

ความถี่ในการนำเซลล์บรอดคาสต์มาใช้

[แก้]

จุดวิพากษ์วิจารณ์ในอดีตเกี่ยวกับเซลล์บรอดคาสต์คือผู้ใช้ไม่มีประสบการณ์ที่สม่ำเสมอบนอุปกรณ์พกพาทั้งหมดในประเทศใด ประเทศหนึ่ง[1]

การแจ้งเตือนของ Wireless Emergency Alerts และการแจ้งเตือนของรัฐบาลโดยใช้เซลล์บรอดคาสต์ได้รับการรองรับในโทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ สมาร์ทโฟนบางรุ่นมีเมนูการกำหนดค่าที่ให้ความสามารถในการเลือกไม่รับการแจ้งเตือนสำหรับระดับความร้ายแรงของการแจ้งเตือนสาธารณะบางระดับ[5][15]

ในกรณีที่องค์กรป้องกันพลเรือนแห่งชาติกำลังนำมาตรฐานระบบเตือนภัยสาธารณะของ 3GPP มาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งมาใช้ ได้แก่ PWS หรือที่เรียกว่า CMAS ในอเมริกาเหนือ EU-Alert ในยุโรป LAT-Alert ในอเมริกาใต้ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ประชาชนแต่ละคนในประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะใช้เครือข่ายภายในประเทศหรือโรมมิ่ง ก็จะใช้งานฟีเจอร์การเตือนภัยสาธารณะแบบเซลล์บรอดคาสต์ที่มีอยู่ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทุกระบบ[5]และอุปกรณ์มือถือ iOS โดยอัตโนมัติ[15]

ในประเทศที่เลือกใช้เซลล์บรอดคาสต์เพื่อส่งข้อความเตือนสาธารณะ โทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 99% จะได้รับข้อความเซลล์บรอดคาสต์ (เข้าถึงประชากร 85 ถึง 95% เนื่องจากประชาชนไม่ใช่ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือ) ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากที่หน่วยงานของรัฐส่งข้อความดังกล่าว ดูตัวอย่าง Emergency Mobile Alert (นิวซีแลนด์), Wireless Emergency Alerts (สหรัฐอเมริกา) และ NL-Alert (เนเธอร์แลนด์)

การบังคับใช้ในการเตือนสาธารณะ

[แก้]
ข้อความแจ้งเตือน Wireless Emergency Alert บนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในสหรัฐอเมริกา
ข้อความเซลล์บรอดคาสต์ของระบบแจ้งเตือนสาธารณะของเกาหลี ที่รับในเกาหลีใต้บนอุปกรณ์แอนดรอยด์

ประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ หลายแห่งได้นำระบบแจ้งเตือนตามตำแหน่งมาใช้โดยอาศัยการแพร่สัญญาณผ่านคลื่นเซลลูลาร์ ข้อความแจ้งเตือนที่ส่งถึงประชากรซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว จะถูกส่งต่อผ่านเครือข่ายมือถือโดยใช้การแพร่สัญญาณผ่านคลื่นเซลลูลาร์

ประเทศที่อยู่ในระหว่างการทดลองใช้

[แก้]

รายชื่อประเทศและภูมิภาคต่อไปนี้ได้เลือกใช้เซลล์บรอดคาสต์เป็นระบบเตือนภัยสาธารณะระดับประเทศ แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทดลองใช้

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 "Mobile Network Public Warning Systems and the Rise of Cell-Broadcast" (PDF). www.gsma.com. GSMA. มกราคม 2013.
  2. "I always receive CB SMS message in my Galaxy S3. How can I disable this? | Samsung Pakistan". Samsung pk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2021.
  3. 3.0 3.1 "SMS-CB Cell Broadcast - Telecom ABC". telecomabc.com. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2021.
  4. Tanner, John (6 มีนาคม 2024). "AIS and True say emergency cell broadcast service is ready to go". Developing Telecoms (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2024.
  5. 5.0 5.1 5.2 "CellBroadcast". Android Open Source Project (ภาษาอังกฤษ).
  6. GSMアソシエーション、2013年、p.12
  7. "5G Americas White Paper Public Warning Systems in the Americas" (PDF). www.5gamericas.org. 5G Americas. กรกฎาคม 2018.
  8. "Specification # 23.041". portal.3gpp.org. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2021.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "Specification #: 23.041". portal.3gpp.org. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2024.
  10. "Technical specification ETSI TS 102 900 V1.3.1" (PDF). ETSI EMTEL. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2019.
  11. 11.0 11.1 11.2 Standards, European. "ETSI TS 102 900 V1.1.1". www.en-standard.eu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2024.
  12. "How to Disable Amber Alerts". Alphr.com. 16 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2022.
  13. "Wireless Emergency Alerts (WEA) | Federal Communications Commission". www.fcc.gov (ภาษาอังกฤษ). 16 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2024.
  14. "Wireless Emergency Alerts | FEMA.gov". www.fema.gov (ภาษาอังกฤษ). 18 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2024.
  15. 15.0 15.1 *"About emergency and government alerts on iPhone and Apple Watch". Apple Support (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2021.
  16. "SRUUK - Sustav za rano upozoravanje i upravljanje krizama". civilna-zastita.gov.hr. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2024.
  17. "Saudi Arabia starts tests of emergency cell broadcast warnings system". 15 กุมภาพันธ์ 2021.
  18. "緊急速報「エリアメール」". สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2024.
  19. "STOP. READ. REACT". Danish Emergency Management Agency. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2023.
  20. "Med S!RENEN vil du modtage advarsler direkte på mobilen" [With THE S!REN you will receive warnings directly on the mobile] (ภาษาDanish). Danish Emergency Management Agency. 10 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2023.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  21. "Taiwan Public Warning Cell Broadcast Service". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2019.
  22. "กสทช. – AIS เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ Cell Broadcast Service เจาะจง". nbtc.go.th. 5 มีนาคม 2024.
  23. "ทดลองยิง Cell Broadcast ทั่วประเทศ 50 ล้านหมายเลข เริ่ม 2 พ.ค. นี้". Thairath. 23 เมษายน 2025.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "ปภ.ทดสอบเตือนภัย Cell board cast ราบรื่น". thaipbs.or.th. 2 พฤษภาคม 2025.
  25. "ปภ. ส่ง Cell Broadcast - SMS แจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงแม่น้ำพองจ่อล้นตลิ่ง". www.thairath.co.th. 27 พฤษภาคม 2025. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2025.
  26. "The Norwegian Government wants to strengthen civil emergency preparedness". Ministry of Justice and Public Security. 1 เมษายน 2022. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2022.
  27. 27.0 27.1 "Defesa Civil Alerta". gov.br. Ministério da Integração e do Desenvolvimento Regional. 10 กุมภาพันธ์ 2025. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "Alerter et protéger : déploiement national du dispositif FR-Alert". Ministère de l'Intérieur (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2022.
  29. Ministère de l'Intérieur et des Outre-mer (18 ตุลาคม 2022). "FR-Alert : comment ça marche ?". Youtube (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2022.
  30. "Cell Broadcast". BBK (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2022.
  31. Infrocrise - Luxembourg
  32. "Lithuania Public Warning and Information System". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2019.
  33. "Qué es el sistema RAN-PWS y por qué un SMS podría salvarte la vida en situaciones de emergencia". EuropaPress. 26 กรกฎาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2002.
  34. "El sistema de avisos a la población ante emergencias estará operativo desde mañana en toda España".
  35. "Switching on emergency alerts this summer - the giffgaff community". community.giffgaff.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2021.
  36. Davis, Nicola (19 มีนาคม 2023). "UK launches emergency phone alerts public warning system". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2023.
  37. "AT-Alert". BMI.
  38. IT-Alert
  39. "New! "Personal Message", Home Front Command's defensive messages system using CB technology".[ลิงก์เสีย]
  40. "Means of Alert". Home Front Command. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2024.[ลิงก์เสีย]
  41. "کدام کشورها در شرایط بحران، پیامک هشدار عمومی می‌فرستند؟". 17 เมษายน 2019.
  42. "Government Launches Emergency Alert System for Dissemination of Important Real-time Messages". Office of the Communications Authority, HKSAR.
  43. Standard, The. "Hongkongers shocked by 'emergency' alert on phones". The Standard (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2022.
  44. "Unprecedented use of emergency alert system saved time, Hong Kong leader says". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 10 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2022.
  45. "Atenção! Começa nesta quarta o novo sistema de envio de alertas". Ministério da Integração e do Desenvolvimento Regional (ภาษาโปรตุเกสแบบบราซิล). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.
  46. "Prueba de #CellBroadcast del Sistema Nacional de Alertas del Gobierno de México". x.com. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2024.
  47. Vadas, Petra (31 กรกฎาคม 2023). "Sistem za obveščanje na nevarnost neurij bo kmalu zaživel tudi pri nas". N1 (ภาษาสโลวีเนีย). สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2023.
  48. "SMS-obveščanje ob neurjih in nesrečah naj bi zaživelo že v kratkem". www.24ur.com. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2023.
  49. "Govt looks for new SMS warning system to augment Emergency Alert". iTnews. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2021.
  50. Butler, Josh (พฤษภาคม 2023). "Australians in disaster zones to receive phone alerts to improve emergency response". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2023.
  51. "Emergency Alert Australia".
  52. "DOT and NDMA collaborate to enhance emergency communication with Cell Broadcast Alert System testing". pib.gov.in. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2023.
  53. Oireachtas, Houses of the (14 พฤษภาคม 2024). "Emergency Planning – Tuesday, 14 May 2024 – Parliamentary Questions (33rd Dáil) – Houses of the Oireachtas". www.oireachtas.ie (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2024.
  54. O'Cearbhaill, Muiris (16 เมษายน 2023). "Government text messaging system for large-scale emergencies in Ireland expected next year". TheJournal.ie (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:Cell Broadcast System