เจ้าอินทกุมาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าอินทกุมาร
เจ้านายเชียงรุ่ง
พระมเหสีหม่อมคำแล
พระราชบุตรเจ้าองค์คำ
ราชวงศ์อาฬโวสวนตาล
พระราชบิดาไม่ปรากฏ
พระราชมารดาไม่ปรากฏ

เจ้าอินทกุมาร เป็นเจ้านายเชียงรุ่ง ราชวงศ์อาฬโวสวนตาล ทรงเป็นพระราชบิดาของเจ้าองค์คำ เป็นพระราชปิตุลาของเจ้ากิ่งกิสราช และเจ้าอินทโฉม

ประวัติ[แก้]

ช่วงรัชกาลเจ้าแพงเมือง (เท่าแพงเมือง 刀扁勐) เป็นเจ้าแสนหวีฟ้าสิบสองพันนา (พ.ศ. 2229-2269) ได้เกิดข้าศึกหัวขาว (ชาวดอย) หัวหน้าชื่อเจ้าบุญ ร่วมมือกับเจ้าแพงเมืองกบฏต่อจีน ทำให้จีนยกเข้าปราบปราม เจ้านายเชียงรุ่งบางองค์ถูกถอดยศศักดิ์ บางองค์ถูกฆ่าตาย ตามเชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนากล่าวว่า

กาลเมื่อเจ้าแพงเมืองเป็นเจ้าคิดปองนั้น ข้าศึกหัวขาวเกิดแล (ข้าศึกหัวขาวในที่นี้คือชาวเขา เรียกอีกอย่างว่าคนม่อน หรือชาวม่อน) ตัวเป็นเค้านี้ชื่อเจ้าบุญ ดั่งเจ้าแพงเมืองก็เป็นเค้าเจ้าหัวเมืองทั้งหลายเป็นใจเจ้าบุญแลเข้าพร้อมศึกปางนั้น ดั่งข้าศึกหัวขาวนี้หากขัดต่อเจ้าฮ่อนั้นแล ยามนั้นเจ้าฮ่อก็เอาแหล่นลงมารบฟัน ศึกปางนั้นก็ค้านฮ่อแล หมู่เป็นเค้านั้นก็เสียฮ่อยับเอา ลางพร่องก็ถกถอนนามศักดิ์เสีย ลางพร่องก็ฆ่าแฟดเสียหั้นแล ยามนั้นไพร่เมืองก็พ่ายออกเมืองไปมากหลาย ดั่งข้า ๑๒ หัวแคว่นก็ถกไปเข้ากับเมืองแลมเสีย ๖ แคว่นในปางนั้นแล ฮ่อก็ตั้งแซ่นฟูที่เมืองแลม ยามนั้นสิบสองพันนาอันบ่เข้าพร้อมศึกข้าหัวขาวนี้มีค่าเมืองแช่ เมืองงาด เมืองละ เมืองฮิง ดั่งฮ่อคืนมาตั้งแซ่นฟูที่เมืองแช่คือว่าแซ่นฟูเมืองลาหื้อรักษาหัวเถื่อนทั้งหลาย จึ่งร้องว่า “สามหมื่นไร่เมืองลา สามหมื่นนาเมืองแช่” นั้นแล เจ้าแพงเมืองมีลูก ๒ ชาย ๒ หญิง ลูกชายเค้าชื่อเท่าชิ่นเพา (刀金寶) ผู้ตามชื่อเท่าเส่าวื้น (刀紹文) ลูกหญิงหลวงข่าไปเมืองบ่อ ถ้วนสองข่าไปเมืองพั่น

— เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา

[1]

เจ้าอินทกุมารและเจ้านางจันทกุมารี (สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเจ้าชั้นรองหรือชั้นห่างๆ) ได้ลี้ภัยหนีความวุ่นวายเข้ามาพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง เจ้าอินทกุมารได้สมรสกับกับหญิงลาวชื่อหม่อมคำแล มีโอรสชื่อเจ้าหม่อมน้อย (เจ้าองค์นกหรือเจ้าองค์คำ) ดังพงศาวดารกล่าวว่า

๏ ปางนั้นยังมีกระลียุคเกิดในเมืองศรีฟ้าวาหะหัวขาว เจ้าอินทกุมารอันเปนเชื้อเจ้าเมืองศรีฟ้าอยู่บ่ได้ จึ่งพาเอาน้องสาวผู้หนึ่งชื่อว่านางจันทรกุมารี แลข้อยไพร่พ่ายลงมาเมืองพระยาสุริยวงษาธรรมิกราช ในเวียงจันนั้นแล ส่วนว่าเจ้าราชบุตรผู้พี่ อันเปนลูกชายพระยาสุริยวงษานั้น จึงมีใจประดิพัทธด้วยนางจันทร น้องสาวอาชาลื้อผู้ไปพึ่งนั้นแล จึ่งบังเกิดลูกชายสองคน องค์พี่ชื่อว่ากิ่งกิจกุมาร องค์น้องชื่อว่าเจ้าอินทโฉมกุมารนั้นแล ๏ เมื่อพระยาสุริยวงษาธรรมมิกราชตนพ่อ อยู่ศุขเกษมมากนัก ดังเจ้าราชบุตรผู้เปนพ่อแห่งเจ้ากิ่งกิจกุมารแลเจ้าอินทโฉมนั้น ก็เฮ็ดมิจฉาจารกับเมียท้าวโกมหาดเล็กพระยาพ่อนั้นแล พระยาสุริยจึ่งให้ไปฆ่าเสีย เจ้าราชบุตรต้องฆ่าตายเสียที่ผาดังหั้น เหตุดังนั้นจึ่งชื่อผาล้างมาตราบเท่าบัดนี้ ยามบ่ล้างเจ้าราชบุตรนั้น เปนผาเล่มหลวงเปล่าดายแล ถัดนั้นเจ้าอินทกุมารอันเปนลุงกุมารทั้งสอง เจ้ากิ่งกิจแลอินทโฉมนั้น จึ่งเอานางลาว จึงบังเกิดลูกชายผู้หนึ่งชื่อว่าเจ้าหม่อมน้อย แม่นเจ้าองค์คำนั้นแล ลูนมาเปนองค์นกดายสามชื่อแล แม่เจ้าหม่อมน้อยนั้นชื่อสาวคำแล เจ้าอินทกุมารเชื้ออาชญาลื้อฝ่ายพ่อ หัวขาวกับน้องสาวอันเปนแม่เจ้ากิ่งกิจแล อินทโฉมก็ยังอยู่กับเจ้าสุริยธรรมิกราช ในเวียงจันที่นั้นแล

— พงษาวดารล้านช้าง (ตามถ้อยคำในฉบับเดิม)

[2]

อยู่มา ฮ่อยกกองทัพมาตีเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าจึงพานางจันทกุมารีผู้น้อง ลงมาพึ่งพระยาสุริยวงษา เจ้าเมืองเวียงจันท์ เจ้าราชบุตรได้นางจันทกุมารีเปนภรรยา มีบุตรชาย เจ้ากิงกิสะ เจ้าอินทโสม อยู่มา เจ้าราชบุตรทำชู้ด้วยภรรยาท้าวโก ขุนนาง พระสุริยวงษาให้ฆ่าเจ้าราชบุตรเสีย เจ้าอินทกุมารเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าได้ลาวเมืองเวียงจันท์เปนภรรยา มีบุตรชาย เจ้าองค์นก พระยาสุริยวงษาครองเมืองได้ ๕๘ ปี รวมอายุ ๘๓ ปี ถึงแก่กรรม

— พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน

[3]

๏ ในขณะนั้นฮ่อหัวขาวยกกองทัพมาตีเมืองแฉวนหวีฟ้าสิบสองปันนาลื้อ เจ้าอินทกุมารกับนางจันทกุมารี สองพี่น้องเป็นบุตรเจ้าเมืองแฉวนหวีฟ้า หนีศึกฮ่อหัวขาวพาเอาไพร่พลลงมาพึ่งพระยาสุริยวงษาธรรมิกราช พระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์ เจ้าราชบุตรเธอจึงขอเอานางจันทกุมารีเป็นภริยา สมัครสังสาสอยู่ด้วยกันเกิดบุตร ๒ องค์ ชื่อเจ้ากิงกิศราชองค์ ๑ เจ้าอินทโสมองค์ ๑ เจ้าราชบุตรผู้เป็นบิดากระทำมิจฉาจารกับภริยาท้าวโกมหาดเล็ก พระยาสุริยวงษาธรรมิกราชพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นบิดามีรับสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษเสีย เจ้าอินทกุมารเมืองแฉวนหวีฟ้ามาได้ลูกตระกูลนางลาวคนหนึ่งเป็นภริยา สมัครสังวาสอยู่ด้วยกันเกิดบุตรองค์ ๑ ชื่อเจ้าองค์นก ฯ

— พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง

[4]

เจ้าอินทกุมารกับนางจันทกุมารีสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2238 ภายหลังพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคต[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา. โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท. พิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ. 2544.
  2. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 1. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระมาตุฉา มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมพิมพ์ เมื่อทรงบำเพ็ญกุศลในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, พ.ศ. 2457.
  3. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 5. พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโทพระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร). กรุงเทพฯ, พ.ศ. 2460
  4. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 11 เรื่องพงษาวดารเมืองหลวงพระบาง. พิมพ์แจกในงานศพ อำมาตย์เอก พระยาอุตรกิจพิจารณ์ (สุด สาระสุทธิ์). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462.
  5. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 1. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระมาตุฉา มีรับสั่งให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมพิมพ์ เมื่อทรงบำเพ็ญกุศลในงานศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, พ.ศ. 2457.