เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งเคมบริดจ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งเคมบริดจ์
ดัชเชสแห่งเท็ค
ประสูติ27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1833(1833-11-27)
ฮันโนเฟอร์ ราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์ สมาพันธรัฐเยอรมัน
สิ้นพระชนม์27 ตุลาคม ค.ศ. 1897(1897-10-27) (63 ปี)
ไวท์ ลอดจ์, ริชมอนด์พาร์ค เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ
ฝังพระศพ3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1897
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
พระสวามีเจ้าชายฟรานซิส ดยุกแห่งเท็ก
พระนามเต็ม
แมรี แอดิเลด วิลเฮลมินา เอลิซาเบธ
พระบุตร
ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์
พระบิดาเจ้าชายอดอลฟัส ดยุกแห่งเคมบริดจ์
พระมารดาเจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล

เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งเคมบริดจ์ หรือพระนามแบบเต็ม แมรี แอดิเลด วิลเฮลมินา เอลิซาเบธ (อังกฤษ: Princess Mary Adelaide of Cambridge; 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1833 - 27 ตุลาคม ค.ศ. 1897) ทรงเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์อังกฤษ โดยเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ต่อมาพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งเท็ค (Duchess of Teck) จากการอภิเษกสมรส

พระองค์เป็นพระชนนีของสมเด็จพระราชินีมาเรีย พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในบรรดาพระบรมวงศ์พระองค์แรก ๆ ที่ทรงอุปถัมภ์การกุศลต่าง ๆ มากมาย

พระชนม์ชีพในวัยเยาว์[แก้]

เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดประสูติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1833 ณ เมืองฮันโนเฟอร์ ประเทศเยอรมนี พระชนกของพระองค์คือ เจ้าชายอดอลฟัส ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อทเทอ ส่วนพระชนนีนั้นคือ ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ (พระอิสริยยศเดิม เจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮ็สเซิน-คัสเซิล) พระธิดาในเจ้าชายฟรีดริชที่ 3 ผู้ปกครองนครแห่งเฮ็สเซิน-คาสเซิล

เจ้าหญิงทรงเจริญพระชนม์ชีพในวัยเยาว์ที่เมืองฮันโนเฟอร์ ซึ่งพระชนกทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะอุปราชแทนพระปิตุลาคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และ สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ความโปรดปรานอาหารและแนวโน้มของการเสวยมากเกินไปทำให้ทรงมีน้ำหนักตัวเกินอย่างน่าวิตก และเป็นผลให้ในเวลาต่อมา มีพระนามเรียกเล่นว่า "แมรีอ้วน" (Fat Mary)

หลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในปี ค.ศ. 1837 เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเคนต์ พระญาติชั้นที่หนึ่งของพระองค์เสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม กฎบัตรซาลลิคได้กันมิให้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์ด้วย จึงทำให้ราชบัลลังก์ผ่านไปยังเจ้าชายแอ็นสท์ เอากุสท์ ดยุกแห่งคัมเบอร์แลนด์ ดังนั้นดยุคแห่งแคมบริดจ์จึงมิทรงจำเป็นต้องประทับในเมืองฮันโนเฟอร์อีกต่อไป และได้เสด็จกลับกรุงลอนดอนพร้อมกับครอบครัว โดยประทับอยู่ในพระราชวังเคนซิงตัน

อภิเษกสมรส[แก้]

ในขณะที่พระชนมายุ 30 พรรษา เจ้าหญิงแมรี แอลิเลดยังคงไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส พระโฉมที่ไม่ดึงดูดใจและการขาดแคลนรายได้ก่อให้เกิดเป็นปัจจัยที่ทำให้ยังทรงครองโสด เมื่อมีพระชนมายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฐานันดรศักดิ์ในเชื้อพระวงศ์ทำให้มิทรงสามารถอภิเษกสมรสกับบุคคลที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ได้ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระญาติชั้นที่หนึ่งจึงรู้สึกเห็นพระทัยพระองค์ และทรงพยายามจัดหาคู่สมรสที่เหมาะสมให้

ในที่สุดก็ได้พบกับคู่ครองที่เหมาะสมกับเจ้าหญิงแมรีแอลิเลดในราชอาณาจักรเวือร์ทเท็มแบร์ก คือ เจ้าชายฟรานซิสแห่งเท็ค (His Serene Highness Prince Francis of Teck) พระองค์ทรงมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าหญิง อีกทั้งเป็นพระโอรสจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ (morganatic marriage) และไม่มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์เวือร์ทเท็มแบร์ก แต่ถึงอย่างน้อยทรงเป็นฐานันดรศักดิ์ชั้นเจ้าชายและเป็นเชื้อพระวงศ์ อย่างไรก็ดี เมื่อไม่มีตัวเลือกอื่น เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดจึงทรงตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟรานซิส ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1856 ณ พระราชวังคิว มณฑลเซอร์เรย์

เจ้าหญิงทรงทูลขอให้พระสวามีได้รับการเลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นชั้น His Royal Highness แต่ก็ทรงได้รับการปฏิเสธจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่กระนั้นเจ้าชายฟรานซิสยังทรงได้รับการเลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นในชั้น His Highness ในปี ค.ศ. 1887 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

เจ้าชายและเจ้าหญิงฟรานซิสแห่งเท็ค มีพระโอรสและธิดาสี่พระองค์คือ

ลี้ภัยในต่างแดน[แก้]

ดยุกและดัชเชสแห่งเท็คทรงเลือกที่จะประทัยอยู่ในกรุงลอนดอนมากกว่าอยู่ในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะเจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเท็คแต่เพียงผู้เดียว พระองค์ทรงได้รับเงินจำนวน 5000 ปอนด์ต่อปีอันเป็นเบี้ยหวัดจากรัฐสภาเพื่อสำหรับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ นอกจากนี้ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชนนียังได้ประทานเงินรายได้เสริมแก่เจ้าหญิงด้วย การขอเงินทุนเพิ่มเติมจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้รับการปฏิเสธมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชินีนาถได้พระราชทานห้องชุดในพระราชวังเคนซิงตันและพระตำหนักขาวเพื่อเป็นบ้านพักชนบทให้แก่ครอบครัวเท็ค

แม้ทรงมีเงินเบี้ยหวัดพอใช้จ่าย แต่เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงมีรสนิยมที่หรูหราและดำรงพระชนม์ชีพอย่างสุ่รุ่ยสุร่ายตามงานเลี้ยงสังสรรค์ พระกระยาหารและอาภรณ์ราคาแพง รวมถึงการเสด็จประพาสต่างประเทศบ่อย ๆ ไม่นานหนี้สินก็เพิ่มพูนมากขึ้นและครอบครัวเท็คจำต้องเสด็จออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1883 เพื่อหลบหลีกเจ้าหนี้ ทั้งสองพระองค์เสด็จยังเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และยังได้ประทับอยู่กับพระญาติในประเทศเยอรมนีและออสเตรียอีกด้วย ในช่วงแรก ทั้งสองเสด็จประพาสในพระนามว่า เคานต์และเคาน์เตสแห่งโฮเฮ็นชไตน์ แต่กระนั้น เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงต้องการจะเสด็จประพาสด้วยบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่าและทรงเปลี่ยนกลับไปใช้พระอิสริยยศเดิมของพระองค์ ซึ่งทำให้ทรงได้รับความสนใจมากขึ้นและการบริการที่ดีขึ้น

ปลายพระชนม์ชีพ[แก้]

ครอบครัวเท็คเสด็จกลับจากต่างประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1885 และยังคงประทับอยู่ที่ตำหนักขาว พระราชอุทยานริชมอนด์ดังเดิม เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงเริ่มอุทิศพระวรกายให้กับพระกรณียกิจการกุศล โดยทรงเป็นองค์อุปถัภ์ขององค์กรเบอร์นาร์โด (Bernardo's) และมูลนิธิการกุศลเกี่ยวกับเด็กอื่น ๆ เช่นกัน

ในปี ค.ศ. 1891 เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงกระตือรือร้นที่จะให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรีแห่งเท็ค (ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักว่า "เมย์") อภิเษกสมรสกับพระโอรสของเจ้าชายแห่งเวลส์ ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แต่อีกนัยหนึ่งคือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงต้องการเจ้าสาวชาวอังกฤษสำหรับกษัตริย์ในอนาคต แต่แน่นอนว่าจะต้องมาจากลำดับชั้นและบรรพบุรุษซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ ไม่ใช่แค่หญิงสาวตระกูลผู้ดี"ระดับล่าง" พระธิดาของเจ้าหญิงแมรี แอดิเลดทรงมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ หลังจากได้รับความเห็นชอบจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าหญิงเมย์ทรงหมั้นหมายกับเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุกแห่งคลาเรนซ์และเอวอนเดล รัชทายาทอันดับที่สองแห่งราชบัลลังก์อังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1892 การสิ้นพระชนม์ของดยุกแห่งคลาเรนซ์อีกเพียงหกสัปดาห์ต่อมาเป็นเหมือนกับหายนะอันเลวร้าย แต่อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงโปรดปรานเจ้าหญิงเมย์มากและโน้มน้าวให้เจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งยอร์ค พระอนุชาในดยุกแห่งคลาเรนซ์และรัชทายาทในอันต่อไปแห่งราชบัลลังก์อังกฤษอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแทน

การอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเมย์เข้าสู่ในลำดับชั้นสูงสุดของพระราชวงศ์ทำให้เกิดการพลิกฟื้นของโชคชะตาครั้งสำคัญของครอบครัวเท็ค ด้วยในวันหนึ่งพระธิดาจะทรงเป็นสมเด็จพระราชินี แต่โชคร้ายที่เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดมิทรงเห็นพระธิดาเป็นสมเด็จพระราชินี เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1897 ณ พระตำหนักขาว พระราชอุทยานริชมอนด์ มณฑลเซอร์เรย์ ขณะมีพระชนมายุ 62 พรรษาเศษ พระศพฝังอยู่ในห้องใต้ดินของโบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ เมืองวินด์เซอร์

พระอิสริยยศ[แก้]

  • ค.ศ. 1833 - ค.ศ. 1866: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งแคมบริดจ์ (Her Royal Highness Princess Mary Adelaide of Cambridge)
  • ค.ศ. 1866 - ค.ศ. 1871: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงฟรานซิสแห่งเท็ค (Her Royal Highness Princess Francis of Teck)
  • ค.ศ. 1871 - ค.ศ. 1897: เฮอร์รอยัลไฮเนส ดัชเชสแห่งเท็ค (Her Royal Highness The Duchess of Teck)

ราชตระกูล[แก้]

พระราชตระกูลในสามรุ่นของเจ้าหญิงแมรี อเดเลดแห่งแคมบริดจ์
แมรี อเดเลดแห่งแคมบริดจ์ พระชนก:
เจ้าชายอดอลฟัส ดยุกแห่งเคมบริดจ์
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธา
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ชาร์ล็อตแห่งเม็คเล็นบูร์ก-สเตรลิตซ์
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ชาร์ลส์ ดยุคแห่งเม็คเล็นบูร์ก-มิโรว์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
เอลิซาเบธแห่งแซ็กซ์-ฮิลเดบูร์กเฮาเซิน
พระชนนี:
ออกัสตาแห่งเฮสส์-คาสเซิล
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
ฟรีดริชที่ 3 แห่งเฮสส์
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ฟรีดริชที่ 2 แห่งเฮสส์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
แมรีแห่งบริเตนใหญ่
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
แคโรลีน โพลีซีนีแห่งนัสเซา-อูซิงเกิน
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
คาร์ล วิลเฮล์มแห่งนัสเซา-อูซิงเกิน
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เค้านท์เตส แคโรลีน เฟลิซิตาสแห่งไลนิงเกิน