เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง
เจ้าหอคำเชียงตุง[1]
ครองราชย์พ.ศ. 2439 - 2478
ก่อนหน้าเจ้าฟ้าก๋องคำฟู
ถัดไปเจ้าฟ้ากองไท
ประสูติพ.ศ. 2418
พิราลัยพ.ศ. 2478
ภรรยามหาเทวี
เจ้าแม่ปทุม
หม่อม
หม่อมจามฟอง
หม่อมบุญยวง
หม่อมแดง
หม่อมทิพใหญ่
หม่อมทิพย์เล็ก
พระบุตร19 องค์
ราชวงศ์มังราย
พระบิดาเจ้าฟ้าโชติกองไท
พระมารดาเจ้าแม่สุวรรณา (ราชธิดาเจ้าเมืองยอง)
เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงในวัยหนุ่ม

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง (บางแห่งสะกดว่าอินทรแถลง[1]) หรือที่ชาวเชียงตุงนิยมเรียกว่า เจ้าฟ้าเฒ่า เป็นโอรสองค์ที่ 5 ของเจ้าฟ้าโชติกองไท ได้ครองราชย์เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงสืบแทนเจ้าพี่คือเจ้าฟ้าก๋องคำฟู ที่ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2441 ตลอดเวลาที่เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงครองนครเชียงตุง พระองค์ได้สร้างความเจริญแก่นครเชียงตุงเป็นอย่างมาก เช่น การสร้างถนนหนทาง ทำนุบำรุงพระศาสนา เช่น สร้างวัดหลายแห่ง และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ เช่นวัดราชฐานหลวงหัวข่วงที่ถูกไฟไหม้ก็สร้างใหม่แล้วยกเป็นวัดหลวง มีการสร้างวัดพระเจ้าหลวงประดิษฐานพระพุทธมหามัยมุนีจำลองมาจากเมืองมัณฑะเลย์ สร้างหอหลวงขึ้นใหม่เป็นตึกแบบอินเดีย บรรดาหอต่าง ๆ ที่พำนักของเจ้าแม่เฒ่า (ราชมารดา) เจ้าแม่นางเมือง (พระมเหสี) และบรรดานางฟ้า (พระสนม) โปรดให้เปลี่ยนเป็นตึกแบบใหม่ทั้งหมด รวมความว่าสิ่งใดที่จะนำความเจริญมาสู่บ้านเมือง ท่านผู้นี้ก็ได้พยายามจัดขึ้นทำขึ้น การติดต่อกับเพื่อนบ้านก็ให้ตัดถนนเป็นทางรถยนต์ติดต่อกับจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับเชียงตุง ทางตะวันตกก็มีทางรถยนต์ติดต่อกับตองยี กับได้ทำความสัมพันธ์กับเจ้านายพื้นเมืองทางเชียงใหม่และลำปางโดยทางแต่งงานของราชบุตรเป็นต้น โดยได้ปฏิบัติงานเป็นที่เรียบร้อยและเป็นที่พอใจแก่อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม จนรัฐบาลอังกฤษได้ยกให้เป็น C.I.E. (Companion of the Indian Empire)

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงมีมหาเทวี 1 องค์ และมีหม่อม 5 คน มีราชโอรสราชธิดารวม 19 พระองค์[2] ได้แก่

  1. แม่เจ้าปทุมมหาเทวี ราชธิดาเจ้าฟ้าเมืองสิงห์ เป็นแม่เจ้านางเมือง (พระมเหสี) มีราชธิดา 1 องค์ และราชบุตร 1 องค์ คือ
    1. เจ้านางทิพเกษร เสกสมรสกับเจ้าฟ้าหลวงเชียงคำ ดำรงตำแหน่งมหาเทวีเมืองเชียงคำ ภายหลังเมืองเชียงคำถูกอังกฤษยุบเมือง แล้วแบ่งดินแดนให้เมืองรอบ ๆ เจ้านางทิพเกษรจึงพาราชโอรส-ธิดากลับมาประทับที่นครเชียงตุง แม่เจ้าปทุมมาจึงประทานหอหนองเค้ ซึ่งเป็นตำหนักที่เจ้าฟ้าหลวงสร้างประทานพระองค์เอง ให้ราชธิดาและราชนัดดาประทับเป็นการถาวร ส่วนองค์เองได้เสด็จไปประทับกับเจ้าฟ้าพรหมลือ ราชโอรส ยังหอป่าม่านของเจ้าฟ้าพรหมลือ
    2. เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ (ต้นสกุล ณ เชียงตุง ได้เสกสมรสกับเจ้าทิพวรรณ ณ ลำปาง (พ.ศ. 2446-2532) หลานสาวของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงลำปางองค์ที่ 13 (มารดาคือเจ้าหญิงฝนห่าแก้ว เป็นธิดาเจ้าหลวงลำปาง) ภายหลังที่เสกสมรสกับเจ้าทิพวรรณแล้ว เจ้าฟ้าหลวงโปรดให้สร้างหอป่าม่าน ให้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าพรหมลือกับชายา
  2. เจ้าหม่อมจามฟอง เป็นนางฟ้า หรือพระสนมคนแรก เดิมเป็นสามัญชน เป็นธิดาของขุนนางเมืองยาง มีราชบุตร-ราชธิดารวม 6 องค์ คือ
    1. เจ้าฟ้ากองไท (ได้เป็นเจ้าหอคำเชียงตุงต่อจากพระบิดา) เสกสมรสกับเจ้านางจ่ายุ่น ราชธิดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองสีป้อ
    2. เจ้าฟ้าอินถา (ได้เป็นราชโอรสบุญธรรมเจ้าฟ้าหลวงเมืองสีป้อ)
    3. เจ้าฟ้าขุนเมือง เสกสมรสกับเจ้านางองยุ่น ราชธิดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองสีป้อ
    4. เจ้าฟ้าขุนศึก (ต้นสกุล ขุนศึกเม็งราย ได้สมรสกับนางสาวธาดา พัฒนถาบุตร ธิดาของแม่บัวจันทร์และนายดาบแดง พัฒนถาบุตร (2430-2523) คหบดีบ้านวัวลาย เชียงใหม่)[3]
    5. เจ้านางบัวสวรรค์ หรือชาวนครเชียงตุงเรียกขานกันว่าเจ้านางเศรษฐี เนื่องจากภายหลังจากที่เจ้าแม่คือ เจ้าแม่นางฟองสิ้นชีพ เจ้านางสุวรรณาซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงได้รับไปอุปการะ เจ้านางบัวสวรรค์ได้อยู่ปฏิบัติดูแลเจ้านางสุวรรณาซึ่งเป็นเจ้าย่า จนกระทั่งเจ้านางสุวรรณาสิ้นชีพลง เจ้านางบัวสวรรค์จึงได้รับมรดกแก้วแหวนเงินทองทั้งหมดของเจ้าย่า รวมทั้งได้ครอบครองหอใหม่ ซึ่งเป็นตำหนักของเจ้านางสุวรรณาด้วย ชาวนครเชียงตุงจึงเรียกขานเจ้านางบัวสวรรค์ว่าเจ้านางเศรษฐี
    6. เจ้านางฟองแก้ว ภายหลังแม่เจ้านางฟองซึ่งเป็นเจ้าแม่สิ้นชีพลง เจ้านางขันคำซึ่งเป็นขนิษฐาต่างพระมารดาของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงได้รับเจ้านางฟองแก้วไปอุปการะ เจ้านางฟองแก้วได้ปฏิบัติดูแลเจ้านางขันคำผู้เป็นเจ้าอามาจนตลอดอายุ เจ้านางฟองแก้วจึงได้รับมรดกแก้วแหวนเงินทอง ตลอดจนได้ครอบครองหอเจียงจันทร์ ซึ่งเป็นตำหนักของเจ้านางขันคำต่อมา
  3. เจ้าหม่อมทิพย์ใหญ่ เป็นธิดาของพญาปราสาท ขุนนางนครเชียงตุง มีราชโอรส-ธิดา 5 พระองค์ ได้แก่
    1. เจ้านางแว่นแก้ว (เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าหลวงเมืองล็อกจ๊อก ภายหลังทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้ปืนยิงองค์เองสิ้นชีพ)
    2. เจ้านางสุคันธา (เสกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9)
    3. เจ้านางแว่นทิพย์ (เป็นมหาเทวีเจ้าฟ้าหลวงเมืองแสนหวี แต่ภายหลังหย่าร้าง และกลับมาพำนักที่นครเชียงตุง)
    4. เจ้าฟ้าสิงห์ไชย
    5. เจ้าฟ้าแก้วมาเมือง
  4. เจ้าหม่อมแดง มีราชโอรส-ธิดา 2 พระองค์ ได้แก่
    1. เจ้าฟ้าสายเมือง
    2. เจ้านางจันทร์ฟอง (สมรสกับข้าราชการป่าไม้ชาวไทย)
  5. เจ้าหม่อมบุญยวง มีราชโอรส-ธิดา 2 องค์ ได้แก่
    1. เจ้านางฟองนวล
    2. เจ้าฟ้าบุญวาทย์วงศา (ท่านผู้นี้มีบทบาทในการต้อนรับกองทัพไทยที่บุกเข้าเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพพายัพของไทย ซึ่งนำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ได้ใช้คุ้มของท่านผู้นี้เป็นกองบัญชาการ)
  6. เจ้าหม่อมทิพย์เล็ก มีราชโอรส-ธิดา 2 พระองค์ได้แก่
    1. เจ้านางบัวน้อย
    2. เจ้าฟ้ายอดเมือง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 สมโชติ อ๋องสกุล (22 กุมภาพันธ์ 2560). "เจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่ สายใยรักสองราชสำนัก เชียงใหม่-เชียงตุง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2532. 204 หน้า. หน้า ๑๑๙-๑๒๐. [อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง ๒๗ มกราคม ๒๕๓๓]
  3. ชีวิตเจ้าฟ้า อนุสรณ์งานประชุมเพลิงเจ้าฟ้าขุนศึก เม็งราย ๔ มีนาคม ๒๕๓๘
ก่อนหน้า เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ถัดไป
เจ้าฟ้าก๋องคำฟู เจ้าหอคำเชียงตุง
(พ.ศ. 2439 - 2478)
เจ้าฟ้ากองไท