เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี (พระราชมนู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี
เสียชีวิตวัดช้าง
ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม

เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี หรือ พระราชมนู เป็นขุนศึกและสมุหพระกลาโหมคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชมนู เกิดเมื่อไรและมีชื่อใดไม่ปรากฏในพงศาวดาร แต่ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคราวประกาศอิสรภาพจึงสันนิษฐานว่าครอบครัวของพระราชมนูอาจถูกกวาดต้อนคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1

ได้มีการกล่าวไว้ในพงศาวดารว่าพระราชมนูเป็นทหารที่เก่งกล้าและมีความสามารถนอกจากนั้นยังเป็นทหารคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรอีกด้วย ซึ่งพระราชมนูมักออกศึกเคียงคู่สมเด็จพระนเรศวรในการตีเมืองต่างๆ เสมอและสามารถชนะกลับมาได้เกือบทุกครั้งรวมถึงศึกยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่ายอีกด้วย ภายหลังพระราชมนูได้รับการโปรดเกล้าจากสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นออกญาพระสมุหกลาโหม แต่ประวัติของพระราชมนูมีอยู่น้อยมากเพราะมีการกล่าวถึงในพงศาวดารไม่กี่เล่ม[1]

พระราชมนูนั้นเคยรับพระราชบัญชาให้ไปตีเมืองโพธิสัตว์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า) ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ ในครั้งยังมียศเป็นคุณพระ ตอนนั้นองค์ดำเกรงว่าทัพน้อยของพระราชมนูจะไม่อาจเอาชัย จึงส่งทัพหลวงออกตามไปช่วย ปรากฏว่าเมื่อทัพหลวงไปถึง เมืองโพธิสัตว์ก็แตกเสียแล้ว[2] ทัพหลวงไม่ต้องเข้าช่วยแต่อย่างใด

นอกจากนี้พระราชมนูยังมีความบ้าบิ่นอย่างที่ใครๆในยุคนั้นไม่กล้า คือการขัดรับสั่งของพระนเรศในคราวตามเสด็จศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งพระราชมนูขัดรับสั่งถอนทัพโดยกล่าวว่า[3]

"การรบกำลังติดพัน กลัวว่าถอยแล้วจะเป็นเหตุให้ข้าศึกตามตี"

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระองค์จึงได้ปูนบำเหน็จให้พระราชมนูขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี ที่สมุหพระกลาโหม พระราชทานพานทอง น้ำเต้าทอง เจียดทองซ้ายขวา กระบี่ ฝวักทองและเครื่องอุปโภคต่าง ๆ[4]

ล่าสุดได้มีการค้นพบเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีหรือพระราชมนูพร้อมกับภริยาที่วัดช้าง บ้านน้ำผึ้ง ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ทำให้ได้ทราบความจริงว่าพระราชมนูนั้นมีชื่อจริงว่า เพชร หรือ เพ็ชร เมื่อสิ้นรัชสมัยของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วพระราชมนูได้ลาออกจากราชการและมาบวชจำพรรษาที่วัดช้างให้จนมรณภาพซึ่งทางกรมศิลปากรได้เตรียมเข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์บรรจุอัฐิของพระราชมนูและภริยา[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. france32370. พระราชมนู ทหารเอกของสมเด็จพระณเรศวรมหาราช เว็บไซต์ mythland . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1] เก็บถาวร 2014-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8-11-56
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 320
  3. มนตรี อมาตยกุล. พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2507, หน้า 114
  4. nona. พระราชมนู นายกองเลือดเดือดแห่งทัพพระนเรศวร เว็บไซต์ OKnation . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [2] เก็บถาวร 2008-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8-11-56
  5. เก่าจริง เจดีย์อัฐิ ‘พระราชมนู’ ทหารคู่ใจพระนเรศวร บวชตายในผ้าเหลือง