เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาอภัยภูธร
(น้อย)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2356 - 2370
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)
ถัดไปเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เสนาบดีกรมพระนครบาล
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2352 - 2356
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ก่อนหน้าพระยายมราช (บุญมา)
ถัดไปเจ้าพระยายมราช (น้อย)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
น้อย

พ.ศ. 2303
เสียชีวิตพ.ศ. 2370 (67 ปี)
ตำบลพานพร้าว จังหวัดหนองคาย  ไทย
สาเหตุการเสียชีวิตไข้ป่วง
ศาสนาพุทธ
บุตรเจ้าจอมเครือวัลย์ ในรัชกาลที่ 3
เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
บุพการี
ครอบครัวบุณยรัตพันธุ์

เจ้าพระยาอภัยภูธร (พ.ศ. 2303- พ.ศ. 2370) นามเดิม น้อย ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ซึ่งเป็นต้นสกุล"บุณยรัตพันธุ์" เป็นเสนาบดีกรมวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) มีพี่น้องได้แก่ เจ้าจอมมารดาสี ในรัชกาลที่ 2 หรือ"เจ้าคุณพี" เจ้าจอมมารดาแก้ว ในรัชกาลที่ 3 และพระอนุชิตชาญไชย (ขุนทอง)[1] เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ปรากฏครั้งแรกว่ารับราชการเป็นพระอนุชิตราชา[2] จางวางกรมพระตำรวจขวาในรัชกาลที่ 1

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเสด็จสวรรคต ในพ.ศ. 2352 พระอนุชิตราชา (น้อย) เก็บบัตรสนเท่ห์[3]ได้ที่ใต้ต้นแจงที่ลานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใจความของบัตรสนเท่ห์นั้นแจ้งว่าเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตพระโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงร่วมกับขุนนางจำนวนหนึ่งเตรียมก่อการกบฏ[3] นำไปสู่การสำเร็จโทษกรมขุนกษัตรานุชิตและขุนนางเหล่านั้น จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งพระอนุชิตราชา (น้อย) ขึ้นเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมนครบาล

ในปีเดียวกันพ.ศ. 2352 สงครามพม่าตีเมืองถลาง พระเจ้าปดุงส่งกองทัพเรือพม่าเข้ารุกรานเมืองถลางเกาะภูเก็ต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) ยกทัพจากกรุงเทพฯลงไปสมทบกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อยกทัพเข้าป้องกันเมืองถลาง แต่เมื่อเจ้าพระยายมราช (น้อย) และเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกทัพไปถึงเมืองตรังแล้วประสบปัญหาขาดแคลนเรือ[3]ต้องต่อเรือใหม่ ทัพพม่าจึงสามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ จนกระทั่งในภายหลังเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ส่งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ยกทัพเรือไปยึดเมืองถลางคืนมาได้สำเร็จ

ในพ.ศ. 2354 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนซึ่งฝักใฝ่สยามก่อการกบฏขึ้นต่อสมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันกษัตริย์กัมพูชาซึ่งฝักใฝ่ญวน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโองการให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) ยกทัพไปยังกัมพูชาเพื่อไกล่เกลี่ยการวิวาทระหว่างนักองค์จันและนักองค์สงวน เจ้าพระยายมราช (น้อย) ยกทัพไปยังเมืองพระตะบองในพ.ศ. 2355 และตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ส่งสาส์นถึงพระอุไทยราชานักองค์จันขอให้ยุติการวิวาท[3] แต่พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ไม่ตอบ เจ้าพระยายมราช (น้อย) จึงนำนักองค์สงวนยกทัพเข้าโจมตีเมืองอุดง นำไปสู่ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาหลบหนีไปยังเมืองไซ่ง่อนอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ"องต๋ากุน"เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt) ข้าหลวงญวนประจำเวียดนามภาคใต้ นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วง อนุชาอีกสององค์ของพระอุไทยราชานักองค์จันเข้าร่วมกับฝ่ายสยาม เจ้าพระยายมราช (น้อย) มีสาส์นถึงองต๋ากุนแจ้งว่าการยกทัพมาครั้งมีจุดประสงค์เพื่อมาไกล่เกลี่ยเท่านั้น[3] แต่ทั้งนักองค์จันและองต๋ากุนไม่ตอบ ทัพของเจ้าพระยายมราช (น้อย) ที่ตั้งอยู่ที่เมืองอุดงนั้นขาดเสบียงอาหาร[3]จึงถอยทัพกลับพร้อมทั้งนำเจ้าชายเขมรทั้งสามได้แก่นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงกลับมาที่กรุงเทพฯด้วย เมื่อทัพฝ่ายสยามถอนกลับไปแล้ว องต๋ากุนเลวันเสวียตจึงนำพระอุไทยราชานักองค์จันมาครองราชสมบัติดังเดิมที่เมืองพนมเปญ

หลังจากเสร็จสิ้นศึกสงครามกัมพูชาแล้ว หลังจากที่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) ถึงแก่อสัญกรรม[2] พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก ในพ.ศ. 2356 โปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นแม่กองคุมการสร้างทำนบกั้นลำน้ำที่เมืองอ่างทอง[3]

เมื่อพ.ศ. 2368 นายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เดินทางมาถึงกรุงเทพฯในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเฮนรี เบอร์นี ได้เข้าพบกับ"เจ้าพระยาจักรี" หรือเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก ดังปรากฏในเอกสารของเฮนรีเบอร์นี "On the evening of this day I paid my first visit to Chou Pya Chakri, who is generally considered the First Minister of Siam-"[4] ซึ่งเฮนรีเบอร์นีได้บรรยายลักษณะของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ไว้ว่าอายุประมาณหกสิบปี เคยรบมีชัยชนะในกัมพูชา เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากกว่าเสนาบดีคนอื่นใดของสยาม[4]

พ.ศ. 2369 กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ยกทัพไปทางเพชรบูรณ์เพื่อเข้าโจมตีทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) บุตรของเจ้าอนุวงศ์ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่หล่มสัก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2370 เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ร่วมกับพระยาเพ็ชรพิชัย[5]เข้าโจมตีกระหนาบทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) สองด้าน ทัพของเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) แตกพ่ายไป จากนั้นเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) จึงยกทัพไปตั้งอยู่ที่พานพร้าวริมฝั่งแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในขณะนั้นเกิดไข้ป่วงระบาดขึ้นในค่ายพานพร้าว เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จึงมีพระราชบัณฑูร[5]ให้ญาติพี่น้องของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) นำศพของเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) กลับลงมายังกรุงเทพฯ

เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) มีบุตรธิดาดังต่อไปนี้[1]

  • เจ้าจอมเครือวัลย์ ในรัชกาลที่ 3
  • เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
  • พระยากลาโหมราชเสนา (กรับ)
  • พระยาสุรินทรราชเสนี (เมฆ)
  • พระยารามกำแหง (สิงห์)
  • จมื่นทิพเสนา (เผือก)
  • จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (สวัสดิ์)
  • หลวงอนุชิตพิทักษ์ (วงศ์)
  • หลวงจรเณนทร์ (เนียม)
  • หลวงปัถพีจร (ทองสุก)
  • ธิดาชื่อเพียน เป็นเถ้าแก่ในรัชกาลที่ 4
  • ธิดาชื่อส้มจีน
  • ท้าวมอญ
  • ธิดาชื่อลูกอิน
  • ธิดาชื่อลูกจันทร์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
  2. 2.0 2.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒.
  4. 4.0 4.1 Committee of the Vajirañāṇa National Library. The Burney Papers. 1910"
  5. 5.0 5.1 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.