เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี
(ท้วม บุนนาค)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2373
เสียชีวิต13 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 (83 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงสุ่น (หย่า)
บุพการี

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2373 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) กับหม่อมพึ่ง ธิดาเจ้าพระยาพลเทพ (บุญนาก บ้านแม่ลา) เข้ารับราชการในรัชกาลที่ 4 เป็นนายไชยขรรค์ หุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเป็นจมื่นทิพรักษา และจมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ตามลำดับ จนในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งครั้งนั้นมีพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตนั้น จมื่นราชามาตย์ (ท้วม บุนนาค) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ ที่จะนำไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อกลับมา โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรี ท่านเป็นแม่กองคุมการก่อสร้างพระนครคีรี ที่เขาวัง จังหวัดเพชรบุรี สร้างสะพานช้างข้ามแม่น้ำเพชรบุรี สร้างถนนจากเขาวังไปเขาหลวง และถนนราชวิถี เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

เมื่อพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือถึงอนิจกรรมลง รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระเพชรพิไสยฯ เป็นพระยาเทพประชุน ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกรมกลาโหม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปราชการเรื่องสายโทรเลข ที่เมืองสิงคโปร์และเมืองภูเก็ต เมื่อกลับเข้ามาพระนคร ในปี พ.ศ. 2411 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองการทำพลับพลาค่ายหลวงที่ว่าการแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเสด็จประทับทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ท่านทำหน้าที่กราบทูลพระกรุณามอบถวายสรรพสิ่งซึ่งเป็นเครื่องประดับพระบรมราชอิสริยยศ และราชสมบัติทั้งปวงตามพระราชประเพณีแทน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต่อมา พ.ศ. 2412 ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง และกรมท่า ทั้งว่าการต่างประเทศด้วย และในปี พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ชุดนี้ขึ้นและได้รับพระราชทานให้แก่เสนาบดีชั้นเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดีคนแรกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2418 หลังจากมีประกาศพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้น แยกราชการฝ่ายการคลังออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมากราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่า การต่างประเทศ เนื่องจากมีโรคภัยเบียดเบียน ท่านถึงอสัญกรรมเนื่องจากอัมพาต เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 เวลา 12.35 น. สิริอายุได้ 83 ปี ต่อมาเวลา 17.00 น. วันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านของเจ้าพระยาภาณุวงศ์เพื่อพระราชทานน้ำอาบศพ [1]

ครอบครัว[แก้]

ครอบครัวของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม)

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีมีบุตรธิดารวม 25 คน เป็นชาย 17 คน หญิง 8 คน โดย สมรสกับคุณหญิงสุ่น มีบุตร 2 คน ได้แก่

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีแยกกันอยู่กับคุณหญิงสุ่นราว 50 ปี และเกิดการพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์การเก็บค่าเช่าตึกจากที่ดินริมวังบูรพาภิรมย์ จนถึงขั้นฟ้องศาลเมื่อ พ.ศ. 2446 แต่ศาลพิเศษยกฟ้อง โดยชี้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกที่ดินผืนให้แก่เจ้าพระยาภาณุวงศ์กับคุณหญิงสุ่นในฐานะสินสมรส ทั้งสองจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน แต่ต่อมาคุณหญิงสุ่นได้ขอรับพระราชทานฟ้องหย่าเพื่อแบ่งสินสมรส เจ้าพระยาภาณุวงศ์ได้รับสินสมรสไปสามส่วน ส่วนคุณหญิงสุ่นในฐานะภรรยาได้รับสินสมรสไปสองส่วน[2]

และมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ที่สำคัญ ได้แก่[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวอสัญญกรรม
  2. ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 155-160
  3. "สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 4 สายเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-22. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "บัญชีพระราชทานตราเครื่องราชอิสริยยศ (หน้า ๓๘๖)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-29.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๖๔