เจ้าจอมทับทิม (แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทับทิม รับบทโดย ลินดา ดาร์เนล ในภาพยนตร์ฉบับปี พ.ศ. 2489
แอนนากับทับทิม รับบทโดยเดบอราห์ เคอร์ และริตา มอเรโนในภาพยนตร์ฉบับปี พ.ศ. 2499

เจ้าจอมทับทิม ในเรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม เป็นบุคคลที่แอนนา ลีโอโนเวนส์ กล่าวถึงในหนังสือเล่มที่สองชื่อ "นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน" (Romance of the Harem) และถูกนำมาขยายความในบทประพันธ์ของมาร์กาเรต แลนดอน เรื่อง "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" (Anna and the King of Siam) ในปี พ.ศ. 2487 และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของละครเวทีและภาพยนตร์ "เดอะคิงแอนด์ไอ" (The King and I) และ "แอนนาแอนด์เดอะคิง" (Anna and the King)

ประวัติ[แก้]

แอนนา ลีโอโนเวนส์ เขียนไว้ว่า ทับทิม (Tuptim) เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา เกิดประมาณปี พ.ศ. 2393-2394 เป็นอิสตรีที่มีหน้าตาสะสวยงดงาม ขณะอายุ 15 ปีได้รักใคร่เป็นผัวเมียกับนายแดง ต่อมาในปี พ.ศ. 2408 เมื่ออายุได้ 16 ปี ถูกเกณฑ์ไปเป็นคนงานก่อสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นนางทับทิมในวันพระราชพิธีฝังลูกนิมิตวัดประจำรัชกาล ตรัสถามข้าราชบริพารว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงได้มีผู้นำนางทับทิมเข้าวังเพื่อถวายตัวเป็นนางห้ามรับใช้ในพระบรมมหาราชวังอยู่ในความดูแลของเจ้าจอมมารดาเที่ยง โดยปกปิดว่าเป็นเมียของนายแดงอยู่ก่อนแล้ว ฝ่ายนายแดงได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จนได้เป็นพระครูใบฎีกา เรียกกันว่า พระครูปลัด (Balat)

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าจอมทับทิมได้หายตัวไปจากพระบรมมหาราชวัง ไม่มีผู้ใดพบตัวเป็นเวลาหลายเดือน รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งรางวัลนำจับเป็นเงิน 20 ชั่ง จนวันหนึ่งมีพระสงฆ์สองรูปพบตัวเจ้าจอมทับทิม ซ่อนตัวอยู่ในกุฏิของพระครูปลัด โดยโกนศีรษะ โกนคิ้ว สวมจีวรปลอมตัวเป็นพระ เจ้าจอมทับทิมจึงถูกจับขังพร้อมกับพระครูปลัด และเพื่อนสองคนชื่อ มะปราง (Maprang) และสุมาลา (Simlah)

จากการสอบสวนได้ความว่า เจ้าจอมทับทิมหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยปลอมตัวเป็นพระ และหลบออกมากับแถวพระภิกษุที่เข้าไปรับบิณฑบาตในวัง และได้เข้าไปอยู่ในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ร่วมกุฏิกับพระครูปลัด โดยเจ้าจอมทับทิมยืนยันว่า พระครูปลัดไม่ทราบว่าตนเป็นหญิง และเป็นเมียเก่า และไม่ได้มีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน

แอนนา ลีโอโนเวนส์ เขียนไว้ว่า เจ้าจอมทับทิม และพระครูปลัด ถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2410 โดยถูกเฆี่ยนตี ทรมาน และเผาทั้งเป็น และเขียนว่ารัชกาลที่ 4 ทรงสั่งให้สร้างเจดีย์ขึ้นสององค์ไว้ที่ข้างโบสถ์วัดสระเกศ เก็บอัฐิของเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัด ซึ่งหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุลเคยทูลถามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) เจ้าอาวาสในขณะนั้น ซึ่งได้ถวายพระพรว่าเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าจอมนั้นมีจริง หากแต่เพิ่งรื้อไปเมื่อมีการพัฒนาวัด[1]

ปัจจุบันมีศาลของเจ้าจอมทับทิมตั้งอยู่ที่กรมแผนที่ทหาร ถนนกัลยาณไมตรี โดยศาลหันหน้าไปทางทิศใต้ ไปทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าจอม เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นสวนเก่านอกกำแพงวังทางทิศตะวันออก และบริเวณศาลดังกล่าวน่าจะเป็นที่ที่เจ้าจอมและพระครูปลัดถูกประหาร[ต้องการอ้างอิง]

ข้อโต้แย้ง[แก้]

นักประวัติศาสตร์ไทยให้ความเห็นแย้งว่า เรื่องเจ้าจอมทับทิม ไม่น่าจะมีอยู่จริง เนื่องจากไม่มีบันทึกอยู่ในเอกสารอื่นเลยนอกจากบันทึกของนางลีโอโนเวนส์ อีกทั้งรายละเอียดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เช่น เจ้าจอมคนใดที่ต้องการจะกราบบังคมทูลลาออก เพื่อไปสมรส ก็สามารถกระทำได้ อีกทั้งในประเทศสยามไม่เคยมีการลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็น[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ส.ศิวรักษ์. รากงอกก่อนตาย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 200
  2. แอนนากับพระเจ้าแผ่นดินของไทย ราชบัณฑิตยสถาน
  • วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2542. 359 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7377-29-2