เจอราร์ด ปีเตอร์ ไคเปอร์
เจอราร์ด ปีเตอร์ ไคเปอร์ | |
---|---|
เจอราร์ด ไคเปอร์ วัยหนุ่ม (พ.ศ. 2506) | |
เกิด | 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 (1905) ฮาเริงการ์สเปิล (ปัจจุบันคือเมืองสคาเคิน) ประเทศเนเธอร์แลนด์ |
เสียชีวิต | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (1973) เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก |
สัญชาติ | สหรัฐอเมริกา |
การศึกษา | ปริญญาเอก สาขาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยไลเดิน |
อาชีพ | นักดาราศาสตร์, นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ |
องค์การ | หอดูดาวเยอร์คีส มหาวิทยาลัยชิคาโก, ศูนย์ปฏิบัติการดวงจันทร์และดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยแอริโซนา |
มีชื่อเสียงจาก | เฮนรี นอร์ริส รัสเซลล์ เลกเชอร์ชิป (พ.ศ. 2502), ชื่อไปตั้งให้กับรางวัลไคเปอร์ |
เจอราร์ด ปีเตอร์ ไคเปอร์ (อังกฤษ: Gerard Peter Kuiper) ชื่อเกิดคือ แคร์ริต ปีเตอร์ เกยเปอร์ (ดัตช์: Gerrit Pieter Kuiper; 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 — 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวดัตช์สัญชาติอเมริกัน เป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยในแถบไคเปอร์ รวมทั้งเทห์ฟ้าและสภาพของเทห์ฟ้ามากมาย ซึ่งช่วยขยายความเข้าใจในระบบสุริยะและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ประวัติ
[แก้]ไคเปอร์เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 (1905) ที่หมู่บ้านเตยเจินฮอร์น (Tuitjenhorn) ในเขตเทศบาลฮาเริงการ์สเปิล (Harenkarspel) เป็นบุตรของช่างตัดเสื้อในชนบททางเหนือของเนเธอร์แลนด์ เขาสนใจดาราศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และมีพรสวรรค์สามารถมองเห็นดาวที่มีความสว่างเพียง 7.5 แมกนิจูดด้วยตาเปล่า (ดีกว่าคนปกติ 4 เท่า)
เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไลเดิน ที่ซึ่งผลิตนักดาราศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก เขาสนิทกับบาร์ต บ็อก (Bart Bok) และปีเตอร์ โอสเตอร์โฮฟฟ์ (Pieter Oosterhoff) และได้เรียนกับไอนาร์ แฮตซ์สปร็อง (Ejnar Hertzsprung), อันโตนี ปันเนอกุก (Antonie Pannekoek), วิลเลิม เดอ ซิตเตอร์ (Willem de Sitter), ยัน โวลเจอร์ (Jan Woltjer), ยัน โอร์ต (Jan Oort) และเพาล์ เอเรินเฟ็สท์ (Paul Ehrenfest)
ไคเปอร์สำเร็จวิทยานิพนธ์เรื่องระบบดาวฤกษ์คู่ (binary stars) ส่งแฮตซ์สปร็องเมื่อ พ.ศ. 2476 (1933)
หลังจากที่ไปรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อศึกษาอยู่กับรอเบิร์ต แกรนต์ เอกเกน (Robert Grant Aitken) ที่หอดูดาวลิก
พ.ศ. 2478 (1935) ได้งานสอนที่หอดูดาววิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard College Observatory) ที่ซึ่งเขาได้พบกับซาราห์ พาร์กเกอร์ ฟุลเลอร์ และแต่งงานกันเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2479 (1936)
แม้วางแผนไว้ว่าจะย้ายไปรับงานที่หอดูดาวโบสซา (Bosscha Observatory) บนเกาะชวา แต่เขาก็ไปรับทำงานที่หอดูดาวเยอร์คีส (Yerkes Observatory) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก พร้อมกับได้สัญชาติอเมริกันเมื่อ พ.ศ. 2480 (1937)
ไคเปอร์ใช้ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก แต่ก็ย้ายไปเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา เมื่อ พ.ศ. 2503 (1960) เพื่อก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการดาวเคราะห์และดวงจันทร์ (Lunar and Planetary Laboratory) ที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาซึ่งเขาเป็นผู้อำนวยการ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 (1973) ขณะพักผ่อนพร้อมภรรยาในกรุงเม็กซิโกซิตี
ผลงาน
[แก้]ไคเปอร์ค้นพบ
- ดวงจันทร์มิแรนดา (Miranda) ของดาวยูเรนัส และดวงจันทร์นีรีด (Nereid) ของดาวเนปจูน
- การมีอยู่ของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในดาวอังคาร และมีก๊าซมีเทนเจือปนในชั้นบรรยากาศเหนือดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ เมื่อ พ.ศ. 2487 (1944)
- แถบไคเปอร์
- ดาวเคราะห์น้อย 1776 ไคเปอร์
- แอ่งไคเปอร์ บนดวงจันทร์
- หลุมอุกกาบาต (crater) ชื่อหลุมไคเปอร์บนดาวอังคารและดาวพุธ
และยังบุกเบิกการสังเกตการณ์รังสีอินฟราเรดทางอากาศโดยใช้เครื่องบินคอนแวร์ 990 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960
เกียรติประวัติ
[แก้]- พ.ศ. 2502 (1959) ได้รับรางวัลเฮนรี นอร์ริส รัสเซลล์ เลกเชอร์ชิป (Henry Norris Russell Lectureship) แห่งสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน
- ช่วงทศวรรษที่ 1960 ช่วยกำหนดตำแหน่งลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ให้กับโครงการอะพอลโล
- มีชื่ออยู่ใน
- แถบไคเปอร์
- ดาวเคราะห์น้อย 1776 ไคเปอร์
- แอ่งไคเปอร์ บนดวงจันทร์
- หลุมอุกกาบาตชื่อหลุมไคเปอร์บนดาวอังคารและบนดาวพุธ
- การสังเกตการณ์ทางอากาศของไคเปอร์ (Kuiper Airborne Observatory)
- ได้รับเกียรตินำชื่อไปตั้งให้กับรางวัลไคเปอร์ที่จัดโดยสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน สาขาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ เป็นรางวัลสำคัญประจำปีในวงการดาราศาสตร์ ซึ่งมอบตอบแทนแก่นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ผู้อุทิศตนโดดเด่นและพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดาวเคราะห์ของพวกเราให้ก้าวหน้ามากที่สุด ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ เช่น คาร์ล ซาแกน, เจมส์ แวน แอลเลน (James Van Allen), ยูจีน ชูเมกเกอร์ (Eugene Shoemaker)