เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค
เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค | |
---|---|
![]() | |
ชื่อเกิด | Claus Philipp Maria Schenk Graf von Stauffenberg |
เกิด | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 เย็ททิงเงิน จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 เบอร์ลิน นาซีเยอรมนี | (36 ปี)
รับใช้ | |
Branch | กองทัพบก |
Years | 1926–1944 |
ชั้นยศ | ![]() |
การยุทธ์ | |
บำเหน็จ | กางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง |
คู่สมรส | Magdalena Freiin von Lerchenfeld (สมรส ค.ศ. 1933) |
บุตร | 3 คน |
เคลาส์ ฟิลลิพ มารีอา เช็งค์ กราฟ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (เยอรมัน: Claus Philipp Maria Schenk Graf von Stauffenberg) เป็นนายทหารบกเยอรมัน มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำแผนลับ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 เพื่อสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคนาซี และยังถือเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการต่อต้านนาซีในเยอรมนี ภายหลังแผนการล้มเหลว เขาถูกประหารชีวิตพร้อมกับผู้ก่อการคนอื่นๆ
ประวัติ[แก้]
ชื่อเต็มของชเตาเฟินแบร์คคือ เคลาส์ ฟิลลิพ มารีอา ยุสทีนีอัน ตัวเขามีบรรดาศักดิ์ขุนนาง "กราฟ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค" เขาเกิดที่ปราสาทเย็ททิงเงิน ทางตะวันออกของภาคชวาเบิน ในราชอาณาจักรบาวาเรีย ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรคนที่สามในสี่คนของครอบครัว[1][2] ตระกูลชเตาเฟินแบร์คเป็นหนึ่งในตระกูลขุนนางคาทอลิกเก่าแก่ไม่กี่ตระกูลในภาคใต้ของเยอรมนี[3]
อาชีพทหาร[แก้]
ชเตาเฟินแบร์คได้ติดยศร้อยตรีในปีค.ศ. 1930 ชเตาเฟินแบร์คมีความคิดเห็นด้วยกับนโยบายชาติพันธุ์และชาตินิยมของพรรคนาซี และเขาสนับสนุนการบุกยึดโปแลนด์[4][5][6] เขายังลงคะแนนเสียงให้ฮิตเลอร์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1932 กระนั้น เขาไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคนาซี และคัดค้านนโยบายอื่นหลายอย่างของฮิตเลอร์ อาจกล่าวได้ว่าในจุดนี้เขาทั้งรักทั้งชังฮิตเลอร์ เหตุการณ์ที่ทำให้ชเตาเฟินแบร์คถอยห่างออกมาจากพรรคนาซีอย่างไม่มีวันกลับคือคืนมีดยาวและคืนกระจกแตก เขามองว่าฮิตเลอร์เป็นคนไร้คุณธรรม นอกจากนี้ การกดขี่ชาวยิวอย่างรุนแรงและการกดขี่ศาสนาได้ขัดแย้งกับหลักศีลธรรมในใจของชเตาเฟินแบร์ค เนื่องจากครอบครัวของชเตาเฟินแบร์คมีความศรัทธาต่อคาทอลิกอย่างเคร่งครัด[7][8]
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในปีค.ศ. 1939 ชเตาเฟินแบร์คและหน่วยของเขามีส่วนร่วมในการบุกครองโปแลนด์ เขาสนับสนุนให้เยอรมนียึดครองโปแลนด์และใช้ชาวยิวเป็นทาสแรงงานเพื่อความรุ่งเรืองของเยอรมนี[4] เมื่อเสร็จศึกโปแลนด์ ชเตาเฟินแบร์คเริ่มรับรู้ถึงความเลวร้ายของระบอบนาซี ลุงของเขาสังเกตเห็นได้จึงพยายามโน้มน้าวให้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านนาซี เขาถูกร้องขอให้เป็นทหารผู้ช่วยของจอมพลวัลเทอร์ ฟ็อน เบราคิทช์ ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพบกในขณะนั้น เพื่อร่วมวางแผนรัฐประหาร ชเตาเฟินแบร์คปฏิเสธโดยอ้างว่าทหารทุกนายได้ปฏิญาณความภักดีต่อฮิตเลอร์ไปแล้วในค.ศ. 1934[9]
ต่อมาเขาได้ถูกย้ายไปสังกัดหน่วยขึ้นตรงกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกในช่วงสงครามลวง ในตอนนี้เขายังไม่ได้คิดวางแผนรัฐประหารใดๆ แต่พี่ชายสองคนของชเตาเฟินแบร์คเริ่มติดต่อกับฝ่ายต่อต้านทั้งพลเรือนและทหารแล้ว ชเตาเฟินแบร์คถูกโอนย้ายไปสังกัดกองพลยานเกราะที่ 6 และทำหน้าที่เป็นนายทหารเสนาธิการในช่วงยุทธการที่ฝรั่งเศส ในช่วงนี้เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง[10] ในปีค.ศ. 1943 ชเตาเฟินแบร์คในยศพันโทถูกส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่นายทหารเสนาธิการของกองทัพน้อยแอฟริกาที่ประเทศตูนีเซีย เขาได้รับบาดเจ็บในสนามรบที่นี่ โดยสูญเสียตาซ้าย, แขนขวา, และสองนิ้วมือซ้าย[11]
หลังพักรักษาตัวอยู่หลายเดือน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 ชเตาเฟินแบร์คได้รับการจัดแจงโดยทหารระดับสูงในฝ่ายต่อต้านให้เป็นนายทหารเสนาธิการในกองบัญชาการกำลังสำรอง (Ersatzheer) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 เขาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและได้ตำแหน่งใหม่เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกำลังสำรอง พลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม[12] เมื่อได้ดำรงตำแหน่งนี้ สิ่งแรกที่เขาทำคือการนำร่างปฏิบัติการวัลคือเรอ ฉบับแก้ไขไปขออนุมัติต่อฮิตเลอร์ เพื่อที่จะใช้ก่อรัฐประหาร
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Gerd Wunder: Die Schenken von Stauffenberg. Müller & Gräff, 1972, p. 480
- ↑ "Gräfin von Stauffenberg: Abschied von einer Zeitzeugin". Augsburger Allgemeine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 June 2018. สืบค้นเมื่อ 23 June 2018.
- ↑ "Alfred Klemens Schenk von Stauffenberg". geneanet. สืบค้นเมื่อ 23 June 2018.
- ↑ 4.0 4.1 Housden, Martyn (1997). Resistance and Conformity in the Third Reich. New York: Routledge. p. 100. ISBN 0-415-12134-5. "He was endorsing both the tyrannical occupation of Poland and the use of its people as slave labourers"
- ↑ Peter Hoffman (2003). Stauffenberg: A Family History, 1905–1944. McGill-Queen's Press. p. 116.
- ↑ "Germans against Hitler. Who resisted the Third Reich and why did they do it?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2015. สืบค้นเมื่อ 14 July 2015.
- ↑ Peter Hoffman (2003). Stauffenberg: A Family History, 1905–1944. McGill-Queen's Press. p. 151.
- ↑ "Claus Schenk Graf von Stauffenberg," German Resistance Memorial Center. 2009. (Retrieved 2009-12-28.)
- ↑ Kershaw, Ian Hitler Hubris, New York: W.W. Norton, 1998 p 525.
- ↑ Hoffmann, Peter (2007). Claus Schenk Graf von Stauffenberg: Die Biographie. 4. Auflage. Pantheon. p. 114. ISBN 978-3-570-55046-5.
- ↑ Commire, Anne (1994), "Historic World Leaders: Europe (L–Z)", Gale Research Inc.: 769, ISBN 978-0-8103-8411-8, สืบค้นเมื่อ 2011-09-18
- ↑ Eberhard Zeller: Oberst Claus Graf Stauffenberg. Ein Lebensbild. Schöningh, 1994, ISBN 3-506-79770-0, S. 298–301.