ข้ามไปเนื้อหา

เครื่องถ้วยราคุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เครื่องถ้วยราคุ หรือ ราคุยากิ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อเปราะ ที่ขึ้นรูปโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า "เทะสึคุเนะ'' (การนวดด้วยมือ) ซึ่งปั้นโดยใช้มือและไม้พาย (เกรียง) ปาดแต่งทรงเท่านั้น โดยไม่ต้องใช้แท่นหมุนอย่างเครื่องปั้นทั่วไป เครื่องถ้วยราคุเผาที่อุณหภูมิ 750°C - 1,200 °C ขึ้นอยู่กับชนิดของเคลือบ ลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องถ้วยราคุคือ รูปทรงที่ไม่สมมาตร บิดเบี้ยวเล็กน้อยและเนื้อหนา เนื่องจากขึ้นรูปด้วยมือ ซึ่งสะท้อนถึงสุนทรียศาสตร์ของปรัชญาแบบเช็น

ถ้วยราคุสีขาว ชื่อ 'ฟูจิซัง' โดย ฮองอามิ โคเอ็ตสึ ยุคเอโดะ

ประวัติ

[แก้]

เริ่มขึ้นในสมัยเท็นโช (ปลายคริสตศตวรรษที่ 16 ) เมื่อ "โชจิโร" ต้นตระกูลราคุซึ่งเป็นช่างปั้นหม้อและช่างกระเบื้อง ได้สร้างถ้วยชามัทฉะ (ชาวัง) ที่สะท้อนหลักวาบิ-ซาบิ ในหลักความงามตามแบบเซ็นขึ้นภายใต้การแนะนำของ เซ็น โนะ ริคิว (ผู้วางรากฐานพิธีชงชา) โดยใช้ดินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ดินจูราคุ และในตอนแรกจึงเรียกเครื่องปั้นแบบนี้ว่า "เครื่องปั้นดินเผาจูราคุ''

มีทฤษฎีที่ยึดถือกันอย่างแพร่หลายว่า ทานากะ โจเค พ่อของ ทานากะ โซเค (รุ่นที่สองของตระกูลราคุ) ได้รับตราประทับเงินมาจาก โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ บนตราเป็นอักษร 樂 'ราคุ' (ที่นำมาจากคำว่า 聚樂第 'จูราคุได') ทานากะ โจเค จึงใช้ 'ราคุ' เป็นชื่อสกุล และเรียกเครื่องถ้วยที่ทำว่า เครื่องถ้วยราคุ หรือ ราคุยากิ

ในปี พ.ศ. 2521 ราคุรุ่นที่ 14 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ราคุขึ้นในเมืองเกียวโต [1] ปัจจุบันตระกูลราคุสืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ 16

เครื่องถ้วยราคุจากตระกูลราคุเรียกว่า เตาหลัก หรือ ฮงกามะ และเครื่องถ้วยราคุของเตาอื่นที่เกี่ยวข้องกับตระกูลราคุ เรียกว่า เตาสาขา หรือ วากิกามะ เช่น เครื่องถ้วยทามะมิซุ เครื่องถ้วยโอฮิ เป็นต้น

ประเภท

[แก้]
ถ้วยราคุดำ

ราคุดำ หรือ คุโระราคุ

[แก้]

จุดกำเนิดมาจากการสร้างสรรค์ถ้วยชามัทฉะโดยโชจิโรในช่วงประมาณ ปี 1581 ถึง 1586 วิธีการผลิตคือใช้หินแม่น้ำคาโมะ (คาโมะกาวะอิชิ) เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำเคลือบ หลังจากการเผาดิบแล้ว ชิ้นงานจะถูกเคลือบด้วยน้ำเคลือบที่ทำจากหินสีดำ ที่มีส่วนผสมของเหล็กออกไซด์ (หินแม่น้ำคาโมะ) โดยทำการเคลือบและทิ้งให้แห้ง และทำการเคลือบซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จากนั้นจึงเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1,000 - 1200 °C แบบรีดักชั่น[2] เมื่อเคลือบละลายได้ที่แล้วชิ้นงานจะถูกนำออกจากเตาและทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว

ถ้วยราคุแดง


ราคุแดง หรือ อากะราคุ

[แก้]

ว่ากันว่าเป็นเครื่องถ้วยราคุชนิดแรกที่ทำขึ้นมา โดยใช้ดินจูราคุ ที่มีสีส้มแดงเมื่อเผาที่ประมาณ 800 °C โดยเคลือบที่ใช้เป็นเคลือบสีใส ทำให้สีของถ้วยที่เห็นนั้นเป็นสีของเนื้อดินจูราคุที่มีสีแดง ต่อมาในยุคหลังคือช่วงราคุรุ่นที่ 3 มีการเปลี่ยนไปใช้ดินชนิดอื่นแทนดินจูราคุ โดนดินนั้นมีสีขาวนวลเมื่อเผา จึงต้องใช้สลิปหรือน้ำดินสีแดงมาทาที่ถ้วยเพื่อให้เกิดเป็นสีแดงแทนเนื้อดินแดงแบบดั้งเดิม

รายการที่เกี่ยวข้อง

[แก้]


เชิงอรรถ/แหล่งที่มา

[แก้]
  1. 樂美術館(2021年6月27日閲覧)
  2. ณ ต้นชา. "ราคุดำ ราคุแดง". natoncha. wordpress. สืบค้นเมื่อ 14 October 2024.