แครมบรูว์เล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เครมบรูเล)
แครมบรูว์เล
ชื่ออื่นครีมเผา, เกรมากาตาลานา, ครีมทรินิตี[1]
มื้อของหวาน
แหล่งกำเนิดฝรั่งเศส
อุณหภูมิเสิร์ฟอุณหภูมิห้อง
ส่วนผสมหลักคัสตาร์ด, คาราเมล

แครมบรูว์เล (ฝรั่งเศส: crème brûlée, แปลตามตัวอักษรว่า "ครีมที่ถูกเผาไหม้") เป็นของหวานชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคัสตาร์ดด้านล่าง (มักเป็นรสวานิลลา) ด้านบนเป็นชั้นคาราเมลแข็งซึ่งได้จากการเผาไหม้ของน้ำตาล เสิร์ฟที่อุณหภูมิห้อง

ประวัติ[แก้]

แครมบรูว์เลปรากฏชื่ออยู่ในตำราทำอาหารของพ่อครัวฟร็องซัว มาซียาโล (François Massialot) ฉบับปี ค.ศ. 1691[2] แต่ในตำราทำอาหารของมาซียาโล ฉบับปี ค.ศ. 1731 เรียกแครมบรูว์เลว่า "แครม็องแกลซ" หรือครีมแบบอังกฤษ (crème anglaise)[3] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของหวานชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "เบินต์ครีม" หรือครีมเผา (burnt cream) ในภาษาอังกฤษ

ส่วนในบริเตนใหญ่ มีการแนะนำแครมบรูว์เลอีกชนิดหนึ่งให้เป็นที่รู้จักในวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 1879 แครมบรูว์เลชนิดนั้นจึงมีชื่อท้องถิ่นว่า "ครีมทรินิตี" (Trinity Cream) หรือ "ครีมเผาแบบเคมบริดจ์" (Cambridge burnt cream) อย่างไรก็ตาม ครีมทรินิตีก็ไม่ได้รับการคิดค้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แต่อย่างใด[4] กล่าวกันว่าสูตรของครีมทรินิตีมาจากแอเบอร์ดีนไชร์ในสกอตแลนด์[5]

เกรมากาตาลานา[แก้]

ในแคว้นกาตาลุญญาของสเปนมีของหวานที่คล้ายกับแครมบรูว์เล เรียกว่า "เกรมากาตาลานา" (crema catalana, "ครีมแบบกาตาลุญญา") หรือ "เกรมากรามาดา" (crema cremada, "ครีมเผา") มักรับประทานกันในวันนักบุญโยเซฟ (19 มีนาคม) แต่ปัจจุบันหารับประทานได้ตลอดปี โดยคัสตาร์ดของเกรมากาตาลานามีส่วนผสมคือเปลือกส้มและอบเชย บางครั้งประดับด้วยสับปะรดด้านบน

การเสิร์ฟ[แก้]

การเผาให้น้ำตาลละลายด้วยเครื่องพ่นไฟ

แครมบรูว์เลมักเสิร์ฟมาในถ้วยเซรามิก โดยอาจเตรียมชั้นคาราเมลแยกไว้ก่อนแล้วนำมาจัดวางบนส่วนคัสตาร์ดเมื่อจะเสิร์ฟ หรืออาจทำชั้นคาราเมลบนส่วนคัสตาร์ดโดยตรงก่อนเสิร์ฟเลยก็ได้ ในกรณีหลังนี้ จะต้องโรยน้ำตาลลงบนผิวหน้าคัสตาร์ดให้ทั่ว แล้วเผาให้ไหม้ละลายจนมีสีน้ำตาลโดยใช้ความร้อนจากเตาหรือเครื่องพ่นไฟเล็ก ๆ จากนั้นจึงปล่อยให้คาราเมลแข็งตัว

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Foods of England - Burnt Cream, or Cambridge or Trinity Cream". foodsofengland.co.uk.
  2. Christianne Muusers. "Recipe for Crème Brûlée, the most delicious dessert ever". Coquinaria. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-13. สืบค้นเมื่อ 2015-09-12.
  3. Harold McGee, On Food and Cooking: The Science and Lore of the Kitchen (Simon and Schuster) 2004:97; McGee notes "An English model for 'English cream' hasn't yet been unearthed."
  4. "the story that crème brûlée itself was invented at the College almost certainly has no basis in fact." "Trinity Burnt Cream, Trinity College, Cambridge University". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-03. สืบค้นเมื่อ 2014-11-06.
  5. The story of its introduction to Trinity was published in 1908 in the Ocklye Cookery Book, as reported by Elizabeth David, Is There a Nutmeg in the House?: Essays on Practical Cooking with More Than 150 Recipes, p. 246

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]