เกาะเหลาตรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกาะเหลาตรง
ภูมิศาสตร์
พื้นที่0.5 ตารางกิโลเมตร (0.19 ตารางไมล์)
การปกครอง
จังหวัดจังหวัดตรัง
อำเภออำเภอปะเหลียน
ตำบลตำบลท่าข้าม
ข้อมูลอื่น ๆ
เขตเวลา

เกาะเหลาตรง ตั้งอยู่ในตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง อยู่ในเขตน่านน้ำทะเลตรัง-สตูล เป็นแหล่งโบราณคดีทั้งที่ขุดค้นแล้ว และยังไม่ได้ขุดค้นโบราณวัตถุ[1]

เกาะเหลาตรงเดิมชื่อ เกาะปูเลา-ตะฮง เป็นภาษามลายู แปลว่า "เกาะมะเขือ" ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เกาะเหลาตรงยังไม่มีคนอยู่อาศัย ชาวประมงใช้เป็นที่หลบลมพายุ แวะจอดเรือหาน้ำจืดจากบ้านหยงสตาร์และแวะนำเรือที่ชำรุดขึ้นซ่อมบริเวณเกาะเหลาตรง ประมาณ พ.ศ. 2430 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำไม้ฟืนจากต้นแสม ตัดเป็นท่อนสั้น ๆ ผ่าเป็นดุ้น มัดบรรทุกเรือสำเภาไปขายที่ปีนัง และสิงคโปร์ เกาะมีป่าชายเลนที่มีต้นแสมและโกงกางเป็นจำนวนมาก ชาวจีนจึงเข้ามาทำงานและปลูกบ้านเรือนพักอาศัยอยู่บนเกาะ แต่เมื่อมีคนอยู่อาศัยมากขึ้นจึงมีปัญหาเรื่องน้ำจืดจึงได้อพยพออกจากเกาะไปปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัยบริเวณหน้าที่ทำการด่านศุลกากรหยงสตาร์ ทำให้เกาะเหลาตรงมีสภาพเป็นเกาะร้างนับแต่นั้นถึงปัจจุบัน[2]

จากหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับเครื่องถ้วยที่เกาะเหลาตรง พบว่ามีทั้งเครื่องถ้วยที่ผลิตในประเทศไทย เช่น โอ่ง ไห และเครื่องถ้วยที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เครื่องถ้วยยุโรป และเครื่องถ้วยจีน สำหรับเครื่องถ้วยยุโรปเป็นเครื่องถ้วยที่พบทั่วไปตามท่าเรือเก่าในจังหวัดสงขลา พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบเครื่องถ้วยยุโรปแบบเดียวกันในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในประเทศอินโดนีเชีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย สันนิษฐานว่าเครื่องถ้วยยุโรปที่พบ ผลิตในราว พ.ศ. 2343–2437 โดยมีตัวแทนนำเข้าคือ บริษัทดัตซ์ อีสต์ อินเดีย คอร์ปอเรชันของฮอลแลนด์ (Dutch East India Corporation) บนเกาะยังมีซากปรักหักพังของศาลเจ้าจีนโบราณตั้งอยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "แหล่งโบราณคดีแหล่งโบราณคดีเกาะเหลาตรง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. กรมศิลปากร. "เกาะเหลาตรง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  3. "เกาะเหลาตง". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).