เกาะเกชม์

พิกัด: 26°41′43″N 55°37′06″E / 26.69528°N 55.61833°E / 26.69528; 55.61833
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกชม์
ภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะเกชม์ สิงหาคม ค.ศ. 2000
แผนที่แสดงตำแหน่งของเกาะเกชม์และบริเวณโดยรอบ
เกชม์ตั้งอยู่ในประเทศอิหร่าน
เกชม์
เกชม์
ที่ตั้งเกาะเกชม์ในประเทศอิหร่าน
เกชม์ตั้งอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย
เกชม์
เกชม์
ที่ตั้งเกาะเกชม์ในอ่าวเปอร์เซีย
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งช่องแคบฮอร์มุซ
พิกัด26°41′43″N 55°37′06″E / 26.69528°N 55.61833°E / 26.69528; 55.61833
พื้นที่1,491 ตารางกิโลเมตร (576 ตารางไมล์)
ความยาว135 กม. (83.9 ไมล์)
ความกว้าง40 กม. (25 ไมล์)
การปกครอง
จังหวัดโฮร์โมซกอน
เทศมณฑลเกชม์
อำเภอกลาง
เมืองใหญ่สุดเกชม์ (ประชากร 26,807 คน)
ประชากรศาสตร์
ประชากร148,993 (2016)
ความหนาแน่น67.07/กม.2 (173.71/ตารางไมล์)

เกาะเกชม์ (เปอร์เซีย: قشم, เสียงอ่านภาษาเปอร์เซีย: [ɢeʃm]) เป็นเกาะรูปร่างคล้ายลูกศรในประเทศอิหร่าน ตั้งอยู่ในช่องแคบฮอร์มุซโดยมีช่องแคบคลาเรนซ์หรือช่องแคบฆูรอนในอ่าวเปอร์เซียกั้นออกจากแผ่นดินใหญ่ (26°50′N 56°0′E / 26.833°N 56.000°E / 26.833; 56.000) เกาะเกชม์เป็นเกาะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิหร่านและในอ่าวเปอร์เซีย

ภูมิศาสตร์[แก้]

ชายหาดบนเกาะเกชม์

เกาะเกชม์ตั้งอยู่ในช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซียห่างจากชายฝั่งตอนใต้ของประเทศอิหร่านไม่กี่กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าสำคัญได้แก่แบนแดร์แอบบอสและแบนแดร์ฆอมีร์ ตัวเกาะมีความยาวประมาณ 135 กิโลเมตร และที่ตั้งของเกาะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือต่างประเทศสำคัญสองแห่งได้แก่เคาะศ็อบ ประเทศโอมาน (ประมาณ 60 กิโลเมตร) และมินาอ์รอชิด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (180 กิโลเมตร) ส่วนที่กว้างที่สุดของเกาะกว้าง 40 กิโลเมตร ในขณะที่ส่วนที่แคบที่สุดของเกาะกว้าง 9.4 กิโลเมตร เกาะมีพื้นที่ 1491 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่เกือบสองเท่าของประเทศบาห์เรน เมืองใหญ่ที่สุดบนเกาะได้แก่เมืองเกชม์ซึ่งตั้งอยู่ทางปลายด้านตะวันออกสุดของเกาะอยู่ห่างจากแบนแดร์แอบบอสประมาณ 22 กิโลเมตร ในขณะที่จุดที่อยู่ใกล้กับแผ่นดินใหญ่มากที่สุดห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตร

อุณหภูมิเฉลี่ยบนเกาะวัดได้ประมาณ 27 °C โดยอากาศจะอบอุ่นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม และจะหนาวเย็นในช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยวัดได้ประมาณ 183.2 มิลลิเมตร

เกาะเกชม์มีเมืองและหมู่บ้านตั้งอยู่รวมกัน 59 แห่ง และประชากรรวมบนเกาะเท่ากับ 117,774 (สำมะโน ค.ศ. 2011) ประชากรท้องถิ่นทำอาชีพประมง ต่อเรือดาวะ ค้าขาย และให้บริการ และมีประชากรบางส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร คนงานในโรงงาน และนักศึกษาประมาณ 30,000 คน โดยได้มีการวางแผนที่จะสร้างสะพานเชื่อมเกาะเกชม์เข้ากับแผ่นดินใหญ่ของประเทศอิหร่าน[1][2]

เกาะเกชม์เป็นที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง[3]

ถ้ำเกลือแนแมกดอน[แก้]

ถ้ำเกลือแนแมกดอนมีความยาว 6.58 กิโลเมตร และเป็นถ้ำเกลือที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ที่ถ้ำแห่งนี้มีการทำเหมืองเกลือหินและกำมะถัน ซึ่งชื่อ "แนแมกดอน" มาจากคำว่า "แนแมก" ที่แปลว่าเกลือในภาษาเปอร์เซีย ถ้ำนี้เกิดขึ้นจากโดมเกลือก่อตัวในชั้นหินซึ่งสามารถสืบย้อนไปได้ถึงช่วงปลายบรมยุคโพรเทอโรโซอิก ถ้ำเกลือแนแมกดอนยังเป็นแหล่งศึกษาด้านธรณีที่สำคัญในอุทยานธรณีของยูเนสโก และยังได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้วย[4]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ป้ายหลุมศพในปราสาทโปรตุเกสบนเกาะเกชม์

หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนเกาะเกชม์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบย้อนไปได้ถึงยุคหินเก่า โดยมีการขุดพบเครื่องใช้จากยุคหินเก่าที่ Bam-e Qeshm[5] ในขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเกาะเกชม์นั้นสามารถสืบย้อนไปถึงสมัยก่อนอิสลามกาล สันนิษฐานว่าเกาะเกชม์คือเกาะที่ทอเลมีเรียกว่าอเล็กซานเดรียหรืออาราเซีย (Book 6, Chap. IV) ในศตวรรษที่ 2 (สากลศักราช) และที่อัมมีอานุส มาร์เซลลีนุสเรียกว่าอเล็กซานเดรีย (xxiii.6.42) ในศตวรรษที่ 4

ที่ตั้งของเกาะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญบริเวณปากอ่าวเปอร์เซีย ทำให้เกาะเกชม์ถูกโจมตีบ่อยครั้งทั้งจากชาวเอลาม ชาวอุมัยยะฮ์ และชาวอับบาซียะฮ์ ไปจนถึงชาวโปรตุเกสและชาวอังกฤษ ในสมัยจักรวรรดิซาเซเนียนเกาะนี้มีชื่อเรียกว่า Abarkawan และเป็นส่วนหนึ่งของแคว้น Ardashir-Khwarrah[6] หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเกาะเกชม์เป็นสถานีการค้าและนำทางที่สำคัญ เศรษฐกิจของเกาะเฟื่องฟูอย่างมากในสมัยเดย์แลมียอนและสมัยบูแย ซึ่งในสมัยนั้นจะมีเรือสินค้าเดินทางระหว่างเกาะเกชม์ไปยังจีน อินเดีย และแอฟริกา

ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับของจอห์น คาสเซลล์อ้างว่าเกาะเกชม์เป็นที่ตั้งของสวนเอเดน[7]

อิหร่านแอร์ เที่ยวบินที่ 655[แก้]

ในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1988 เครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ300 ของสายการบินอิหร่านแอร์ เที่ยวบินที่ 655 ถูกขีปนาวุธของกองทัพเรือสหรัฐยิงตกทางใต้ของเกาะเกชม์ ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 290 เสียชีวิตทั้งหมด[8] จุดที่เครื่องตกอยู่ห่างจากชายฝั่งด้านใต้ของเกาะประมาณ 2.5 กิโลเมตร

อ้างอิง[แก้]

  1. "Austrians to Construct Persian Gulf Bridge to Connect Qeshm Island to the Main Island". payvand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-20. สืบค้นเมื่อ 2016-10-05.
  2. "Qeshm – Dictionary definition of Qeshm | Encyclopedia.com: FREE online dictionary". www.encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ 2016-10-05.
  3. "Qeshm Island and its tourist attractions". IFPNews.com. สืบค้นเมื่อ 2016-10-05.
  4. "Namakdan Salt Cave". IUGS International Commission on Geoheritage. IUGS. สืบค้นเมื่อ 2 November 2022.
  5. "Iranian Archaeologists Uncover Paleolithic Stone Tools on Qeshm Island – Tasnim News Agency". Tasnim News Agency (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-09.
  6. Hinds, Martin (1984). "The First Arab Conquests in Fārs". Iran. 22: 39–53. doi:10.2307/4299735. JSTOR 4299735. S2CID 194982986.
  7. LTD, Kaspid. "Qeshm Island". www.arian-tour.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-02. สืบค้นเมื่อ 2016-08-26.
  8. "Iran Air flight 655 | Background, Events, Investigation, & Facts". Encyclopedia Britannica.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]