เกอจัปมานิซ
![]() ขวดเกอจัปมานิซที่มีวางจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย | |
ประเภท | ซอสสำหรับปรุงอาหาร |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ![]() |
ภูมิภาค | ชวา |
ผู้สร้างสรรค์ | ชาวอินโดนีเซีย |
ส่วนผสมหลัก | ถั่วเหลืองหมักปรุงรสให้หวานด้วยน้ำตาล |
เกอจัปมานิซ (อินโดนีเซีย: kecap manis) เป็นซีอิ๊วที่มีกลิ่นหอมและรสหวานซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีสีเข้ม ลักษณะข้นเหนียวเหมือนน้ำเชื่อม และมีรสชาติเหมือนกากน้ำตาลเพราะว่าเติมน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลโตนดปริมาณมาก[1] เกอจัปมานิซนิยมใช้รับประทานเคียงกับสะเต๊ะ ซีอิ๊วนี้คล้ายกับซอสเถียนเมี่ยนของจีนแต่จะมีรสชาติละมุนกว่า[1] เกอจัปมานิซเป็นซีอิ๊วที่นิยมใช้มากที่สุดในอาหารอินโดนีเซียและกำลังการผลิตซีอิ๊วชนิดนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของการผลิตซีอิ๊วทั้งหมดในประเทศอินโดนีเซีย[2]
ส่วนผสม
[แก้]เกอจัปมานิซต่างจากเกอจัปอาซิน (อินโดนีเซีย: kecap asin) ซึ่งเป็นซีอิ๊วรสเค็มตรงที่เกอจัปมานิซจะข้นกว่าและหวานกว่ากันมาก ซีอิ๊วชนิดนี้ได้มาจากการนำถั่วเหลืองต้มและธัญพืชคั่วไปหมักในน้ำเกลือกับรา Aspergillus wentii จากนั้นจึงเติมน้ำตาลปี๊บให้มีรสหวาน[3] ปริมาณน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลโตนดที่เติมลงไปอาจมากถึงร้อยละ 50 เกอจัปมานิซมักจะปรุงแต่งเพิ่มเติมด้วยเครื่องเทศ เช่น โป๊ยกั้ก อบเชย พริกไทย ลูกผักชี และกานพลู เป็นต้น[2]
การใช้
[แก้]เกอจัปมานิซเป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารอินโดนีเซีย โดยจะให้รสชาติหวานอ่อนและอูมามิในอาหารหลายชนิดเช่น นาซีโกเร็ง มีโกเร็ง เกวอตีเยาโกเร็ง อายัมเกอจัป บาบีเกอจัป เซอมูร์ และเกอโตปรัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมใช้หมักเนื้อเพื่อใช้ย่าง เช่นสะเต๊ะ อายัมบาการ์ และอีกันบาการ์ เป็นต้น เกอจัปมานิซยังใช้เป็นเครื่องจิ้มโดยผสมกับหอมแดงและพริกขี้หนูสับเป็นเครื่องเคียงตาฮูโกเร็ง นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ชาวอินโดนีเซียโดยเฉพาะเด็กนิยมรับประทานข้าวสวยกับไข่ดาวเหยาะเกอจัปมานิซ
- อาหารอินโดนีเซียที่ใช้เกอจัปมานิซ
-
อีกันบาการ์ ปลาย่างซึ่งใช้ซีอิ๊วทั้งหมักและจิ้ม
-
อายัมเกอจัป ไก่ต้มซีอิ๊ว
-
เซอมูร์ดากิง สตูเนื้อวัวและมันฝรั่ง
-
บาบีเกอจัป หมูต้มซีอิ๊ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 William Shurtleff; Akiko Aoyagi (2011). History of Tempeh and Tempeh Products (1815-2011): Extensively Annotated Bibliography and Sourcebook. Soyinfo Center. p. 618. ISBN 9781928914396. สืบค้นเมื่อ 15 February 2016.
- ↑ 2.0 2.1 William Shurtleff; Akiko Aoyagi (2010). History of Soybeans and Soyfoods in Southeast Asia (13th Century To 2010): Extensively Annotated Bibliography and Sourcebook. Soyinfo Center. p. 537. ISBN 9781928914303. สืบค้นเมื่อ 15 February 2016.
Kecap manis Indonesian cuisine.
- ↑ "Sejarah Bango". Kecap Bango (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-01. สืบค้นเมื่อ 2024-11-17.